ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ย้อนรอยโครงการจัดซื้อฯ “กองทัพ” กับกรณีสั่งการนายกฯ ให้ใช้จัดซื้อจัดจ้างกองทัพเป็นแม่แบบของหน่วยงานรัฐ

ย้อนรอยโครงการจัดซื้อฯ “กองทัพ” กับกรณีสั่งการนายกฯ ให้ใช้จัดซื้อจัดจ้างกองทัพเป็นแม่แบบของหน่วยงานรัฐ

13 ตุลาคม 2016


ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. เป็นกฎหมายที่ทุกคนรอคอยและเฝ้าจับตา ที่จะนำมาใช้แทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับวิธีจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐไปบ้างแล้ว ทั้งการใช้ข้อตกลงคุณธรรมและ e-bidding แต่ร่าง พ.ร.บ. นี้ จะสร้างความชัดเจนมากขึ้น ช่วยให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด โดยขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้กับหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง รัฐวิสาหกิจ (ยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์) องค์การมหาชน องค์กรอิสระ (ยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบอำนาจรัฐ) มหาวิทยาลัยภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ฯลฯ และจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ รวม 5 ชุด ขึ้นมาดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่ผ่านมานโยบายหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาลคือการต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นหนึ่งในนโยบาย 11 ด้าน ที่ พล.อ. ประยุทธ์ แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 หลังจากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่นายกฯ นั่งเป็นประธานเอง

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา นายกฯ ได้มีข้อสั่งการให้นำระบบการจัดซื้อที่ใช้ในกองทัพมาลดปัญหาการฮั้วประมูลโดยเชื่อว่าจะตอบโจทย์ปัญหาได้ และเห็นควรจะต้องมีคณะกรรมการพิจารณาเป็นขั้นๆ โดยให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาว่าเมื่อกฎหมายหลักผ่านสภาฯ แล้ว จะสามารถออกกฎหมายลูกให้สอดรับกับแนวคิดของนายกฯ ได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อสอบถามไปยังผู้ปฏิบัติงานในสำนักงบประมาณยังไม่มีคำสั่งดังกล่าวส่งมาแต่อย่างใด โดยเชื่อว่าจะต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาจาก สนช. และประกาศใช้เสียก่อน

อย่างไรก็ตามหลังจากการสั่งการดังกล่าว ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2559 นี้ กระแสข่าวที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของระบบจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพคือ กรณีห้างหุ้นส่วนจัด (หจก.) คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ของนาย ปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชายของ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 พบว่าในปี 2557-2559 บริษัทดังกล่าวประมูลงานเป็นคู่สัญญารับเหมาหน่วยงานภาครัฐทั้งสิ้น 11 โครงการ วงเงิน 155.60 ล้านบาท โดยเป็นโครงการของกองทัพบก (กองทัพภาคที่ 3) จำนวน 7 โครงการ 97.65 ล้านบาท และกรณีการเดินทางของคณะ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐฯ ที่มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐฯ ที่ใช้งบประมาณไปเป็นจำนวน 20.9 ล้านบาท

และหากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2550 ในรอบเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมาระบบจัดซื้ออาวุธยุโธปกรณ์จะแยกต่างหากจากวิธีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุปกติ ก็ถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้ออยู่ตลอด โดยสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้สำรวจกรณีจัดซื้ออาวุธยุโธปกรณ์ และการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่ถูกสังคมตั้งคำถาม รวมเป็นวงเงินกว่า 111,277 ล้านบาท ได้แก่

โครงการจัดซื้อรถหุ้มเกราะ BTR 3E1 จากยูเครน

อนุมัติโครงการในรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ มี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. โดยมีการขออนุมัติงบประมาณในช่วงใกล้จะหมดปีงบประมาณปี 2550 ซึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้กองทัพบกผูกพันงบประมาณปี 2550-2553 วงเงิน 3,898,892,400 บาท

ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมประมูลได้ร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใส และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบพบว่า คุณสมบัติของรถหุ้มเกราะไม่ตรงกับที่กองทัพกำหนด ด้านการดำเนินการจัดหาของกองทัพบกไม่โปร่งใส โดยเลือกบริษัทที่ไม่ได้มีรายชื่อเข้าเสนอประมูลตามวันและเวลาที่กำหนด และราคาต่อคันที่ซื้อขายจริง (940,000-1,140,000 เหรียญสหรัฐต่อคัน) เพิ่มกว่าราคาที่เสนอขาย (800,000 เหรียญสหรัฐต่อคัน)

โครงการจัดซื้อฝูงบินกริพเพน

อนุมัติโครงการในรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 รวมงบประมาณ 39,000 ล้านบาท จำนวน 12 ลำ เมื่อหักค่าปรับปรุงอาคารสถานที่ (สำหรับเก็บรักษาฝูงบิน) และบริหารโครงการแล้วฝูงบินกริพเพนที่ไทยซื้อมีราคาเฉลี่ยลำละ 2,866 ล้านบาท

ทั้งนี้ได้รับการทักท้วงจากหลายฝ่ายว่าการจัดซื้อฝูงบินกริพเพนของไทยแพงกว่าประเทศอื่นๆ เช่น โรมาเนียที่ซื้อไปจำนวน 24 ลำ ในราคา 40,000 ล้านบาท และพบว่าในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ขณะนั้นมี พล.อ.อ. คงศักดิ์ วันทนา ผู้บัญชาการทหารอากาศ เคยมีการเจรจาจัดซื้อฝูงบินดังกล่าวในราคาเฉลี่ยลำละ 600 ล้านบาทเท่านั้น

หน่วยงานรัฐของไทยที่จัดซื้อ GT200

โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT 200

เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดถือเป็นกรณีการจัดซื้อที่โด่งดังที่สุด เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวได้รับการตรวจสอบและยืนยันแล้วว่า “ไร้ประสิทธิภาพ” หรือกล่าวได้ว่าไม่สามารถนำมาใช้งานได้ และบริษัทผู้ผลิตในประเทศอังกฤษได้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว

ข้อมูลจากหน่วยงานตรวจสอบอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า หน่วยงานรัฐของไทยที่จัดซื้อ GT200 และ Alpha 6 รวมกันอย่างน้อย 15 หน่วยงาน เป็นจำนวน 1,398 เครื่อง คิดเป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท ซึ่งกองทัพบกเป็นหน่วยงานที่จัดซื้อมากที่สุด โดยกรมสรรพาวุธ ทหารบก รวม 12 สัญญา จำนวน 757 เครื่อง (คิดเป็น 90% ของจำนวน GT200 ที่มีหน่วยงานรัฐของไทยจัดซื้อทั้งหมด) รวมเป็นเงินกว่า 682 ล้านบาท

สำหรับหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัดกระทรวงกลาโหมมีการจัดซื้อดังนี้ กองทัพเรือ โดยกรมสรรพาวุธ ทหารเรือ รวม 8 สัญญา จำนวน 38 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 39 ล้านบาท ด้วย “วิธีพิเศษ” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9.3 แสนบาท – 1.2 ล้านบาท) ด้านกองทัพอากาศ โดยกรมสรรพาวุธ ทหารอากาศ รวม 7 สัญญา จำนวน 26 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 21 ล้านบาท ด้วย “วิธีพิเศษ” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 5.6-9.9 แสนบาท) และกรมราชองครักษ์ รวม 3 สัญญา จำนวน 8 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 9 ล้านบาท ด้วย “วิธีพิเศษ” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสน – 1.2 ล้านบาท)

ทั้งนี้ เมื่อเทียบราคาเฉลี่ยต่อเครื่องของแต่ละหน่วยงานที่ทำการจัดซื้อ จะเห็นได้ว่ามีตั้งแต่ราคา 400,000 บาทต่อเครื่อง ไปจนถึงราคาสูงสุด 1.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กองทัพเรือทำสัญญาจัดซื้อ

โครงการจัดซื้อเรือเหาะ Sky Dragon

โครงการจัดซื้อที่มีข้อครหาของกองทัพ

โครงการดังกล่าวเป็นไปเพื่อใช้ในภารกิจแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสมัยที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับอนุมัติงบประมาณให้จัดซื้อด้วยวิธีพิเศษจากบริษัท เอเรียล อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน ในราคา 340 ล้านบาท (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เรือเหาะดังกล่าวมีราคาแพงเกินจริงเมื่อเปรียบเทียบกับที่บริษัทกันตนา กรุ๊ป ซื้อมาถ่ายทำภาพยนตร์ในราคาเพียง 30 ล้านบาท ด้านเรือเหาะที่บริษัทแอร์ชิป เอเซีย นำเข้าและจดทะเบียนเพื่อนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ มีขนาดใกล้เคียงกับที่กองทัพจัดซื้อ ก็มีราคาประมาณ 30-35 ล้านบาทเช่นกัน

ในปี 2552 เรือเหาะฯ ได้ถูกบรรจุที่กองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แต่ไม่เคยได้ใช้ปฏิบัติงานตามเป้าหมายการจัดซื้อ โดยที่ผ่านมาเรือเหาะมีปัญหาการรั่วซึมและได้ซ่อมแซมไปแล้วหลายครั้งรวมงบประมาณ 30 ล้านบาท และในปี 2556 ได้เกิดเหตุอุบัติเหตุขณะร่อนลงจอดฉุกเฉินหรือที่หลายคนเรียกว่า “เรือเหาะตก” จนเกิดความเสียหายอย่างหนักจึงมีการอนุมัติงบซ่อมแซมอีกครั้งประมาณ 50 ล้านบาท

โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ฝึกบิน Enstrom

เป็นโครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ขนาดเบาสำหรับฝึกบิน จำนวน 16 ลำ มูลค่า 1,187 ล้านบาท ของกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ในสมัย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.

ทั้งนี้ทาง สตง. โดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ได้ทำหนังสือลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ขอให้มีการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนการจัดซื้อดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจาก สตง. ได้รับข้อมูลว่า เฮลิคอปเตอร์แบบดังกล่าวไม่เหมาะสมใช้เป็นเครื่องบินฝึก และข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เคยใช้เฮลิคอปเตอร์แบบดังกล่าว คือ สถาบันการบินพลเรือน ซึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์ Enstrom แบบ 480B ในการฝึกบิน ได้ประสบปัญหาด้านสมรรถนะในการใช้งานและการซ่อมบำรุงรักษาหลายประการ ทั้งยังมีข้อมูลระบุภายหลังว่า โครงการจัดซื้อดังกล่าวเอื้อประโยชน์แก่ผู้ขายบางรายและมีการจัดซื้อแพงกว่าความเป็นจริง

โครงการจัดซื้อเรือฟริเกต

ในปี 2555 กองทัพเรือได้รับอนุมัติงบประมาณ 30,000 ล้านบาท สำหรับโครงการจัดซื้อเรือฟริเกต ในสมัยที่ พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ดำรงตำแห่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และมี พล.ร.อ. สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพเรือ (ผบ.ทร.) เพื่อเพิ่มเติมขีดความสามารถด้านการปราบ “เรือดำน้ำ” และเป็นการทดแทนการปลดระวางประจำการ “เรือฟริเกต” ชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

โดยบุคลภายในกองทัพเรือออกมาเปิดเผยว่า งบประมาณ 30,000 ล้าน สามารถเดินหน้าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำใหม่ได้ถึง 2 ลำ แต่ทางผู้ใหญ่ในกระทรวงกลาโหมได้ยุติโครงการเรือดำน้ำ และเปลี่ยนเป็นจัดซื้อเรือฟริเกต 2 ลำแทน และโครงการจัดซื้อดังกล่าวได้ถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นและความคุ้มค่า เมื่อนำไปเทียบกับ “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” ที่มีราคา 7,100 ล้านบาท

โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T

หลังโครงการดังกล่าวต้องล้มไปหลายรอบ เมื่อรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ กองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ โดยคณะกรรมการคัดเลือกเรือดำน้ำมีมติคัดเลือกซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน รุ่น S-26T รวมอาวุธและอะไหล่ โดยใช้งบประมาณ 36,000 ล้านบาท เพื่อนำมาเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารและพิทักษ์น่านน้ำของประเทศไทย

ทั้งนี้ โครงการจัดซื้อดังกล่าวได้ถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นและความเหมาะสมเนื่องจากเป็นการจัดซื้อช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะเศรษฐกิจขาลง และในภาวะปกติเรือดำน้ำมีสมรรถนะด้านการรบไม่ใช่การช่วยชีวิต ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ในด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหรือใช้ปราบโจรสลัดได้

ทริปฮาวาย ประชุมรมต.กลาโหมอาเซี่ยน-สหรัฐ

กรณี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ รวม 38 คน ปฏิบัติภารกิจเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ ณ เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2559 เป็นการเดินทางแบบเช่าเหมาลำเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ราคา 20.9 ล้านบาท

โดยได้มีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและจำเป็นในการใช้เครื่องบินโดยสาร 400 ที่นั่งขณะที่คณะเดินทางมีจำนวนเพียง 38 คน และในรายชื่อผู้ร่วมเดินทางที่ถูกนำมาเปิดเผยนั้นกลับพบชื่อของบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมด้วย

สำหรับค่าใช้จ่าย 20.9 ล้านบาท การบินไทยคิดค่าดำเนินการแบบหน่วยงานของรัฐ โดยบวกกำไรและค่าดำเนินการประมาณ 20% ที่เหลือเป็นต้นทุนทั้งค่าเครื่อง ค่าน้ำมัน รวม 10 ล้านบาท (ไป-กลับ 5 ล้านบาทต่อเที่ยว) ส่วนค่าอาหารประมาณ 600,000 บาท รวม 4 มื้อ เฉพาะที่นั่งชั้น 1 (first class) 9 ที่นั่งเท่านั้นที่มีการเสิร์ฟไข่ปลาคาเวียร์ ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าอาหารเที่ยวบินขากลับ

thaipublica-งบกลาโหม

งบประมาณกลาโหม 2550-2560

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่กองทัพถูกสังคมตั้งคำถามมาโดยตลอดคือ งบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้รับจากรัฐบาล หรือ “งบกองทัพ” ซึ่งที่ผ่านมางบประมาณที่จัดสรรให้กองทัพ ตั้งแต่ปี 2550-2559 มีวงเงินเพิ่มขึ้นทุกปี

  • ปี 2550 ได้รับจัดสรรจำนวน 115,024 ล้านบาท
  • ปี 2551 ได้รับจัดสรรจำนวน 143,519 ล้านบาท
  • ปี 2552 ได้รับจัดสรรจำนวน 170,157 ล้านบาท
  • ปี 2553 ได้รับจัดสรรจำนวน 154,032 ล้านบาท
  • ปี 2554 ได้รับจัดสรรจำนวน 168,501 ล้านบาท
  • ปี 2555 ได้รับจัดสรรจำนวน 168,667 ล้านบาท
  • ปี 2556 ได้รับจัดสรรจำนวน 180,491 ล้านบาท
  • ปี 2557 ได้รับจัดสรรจำนวน 183,820 ล้านบาท
  • ปี 2558 ได้รับจัดสรรจำนวน 192,949 ล้านบาท
  • ปี 2559 ได้รับจัดสรรจำนวน 207,718 ล้านบาท

และล่าสุดปี 2560 งบประมาณกระทรวงกลาโหมถูกตั้งไว้เป็นเงิน 211,649.94 ล้านบาท เมื่อสำรวจดูในแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นส่วนที่กองทัพจะนำไปจัดซื้ออาวุธยุโธปกรณ์เสริมแสนยานุภาพ ทั้ง 3 เหล่าทัพ ได้แก่ ทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ มีงบประมาณส่วนนี้รวม 6,75.64 ล้านบาท