ThaiPublica > คอลัมน์ > “Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์และนักอุดมคติ กับภาระกิจขจัดความยากจนในโลก”

“Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์และนักอุดมคติ กับภาระกิจขจัดความยากจนในโลก”

3 ตุลาคม 2016


ปรีดี บุญซื่อ

 Angelina Jolie และ Jeffrey Sachs ที่มาภาพ : http://africanarguments.org/wp-content/uploads/2012/07/Sachs_Jolie.jpg
Angelina Jolie และ Jeffrey Sachs ที่มาภาพ : http://africanarguments.org/wp-content/uploads/2012/07/Sachs_Jolie.jpg

ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องThe Diary of Angelina Jolie and Dr. Jeffrey Sachs in Africa ที่ดาราภาพยนตร์ของฮอลลีวูด Angelina Jolie และ Jeffrey Sachs พาคนดูไปเยือนเคนยาในปี 2005 เพื่อไปดูความก้าวหน้าของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่อยู่ในโครงการ Millennium Village Project โครงการที่ทดลองว่า อะไรคือยุทธศาสตร์การพัฒนาดีที่สุด เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ เรื่อง Millennium Development Goals (MDGs) ที่ประกอบด้วย การขจัดความยากจน ความอดอยาก โรคภัยไข้เจ็บ การไม่รู้หนังสือ การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการกีดกันสตรี

Angelina Jolie ที่เป็นผู้บรรยายภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ กล่าวว่า ตัวเธอเองนั้นไม่ได้ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัย “แต่ได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์และประสบการณ์ชีวิตจาก Jeffrey Sachs คนที่ฉลาดสุดในโลกคนหนึ่ง” ส่วน Jeffrey Sachs คือหัวหน้าโครงการ Millennium Village Project และเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่อง “ความยากจนแร้นแค้น” (extreme poverty)

อวสานของ “ความยากจน”

ในปี 2005 Jeffrey Sachs เขียนหนังสือออกมาชื่อ The End of Poverty: Economic Possibilities of Our Time หนังสือเล่มนี้มีการนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ แล้ว 18 ภาษา Sachs เขียนไว้ว่า ความยากจนแร้นแค้น ที่ธนาคารโลกให้ความหมายว่า คือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ต่อวัน สามารถขจัดให้หมดสิ้นไปได้ในปี 2025 โดยอาศัยการพัฒนาที่วางแผนอย่างรอบคอบ

สำหรับ Sachs ปัญหาของประเทศยากจน คือการที่ยังไม่สามารถที่จะก้าวขึ้นมายังบันไดขั้นแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจ หากได้ก้าวมายังบันไดขั้นแรกดังกล่าว ก็จะสามารถเริ่มไต่ขั้นบันไดสูงขึ้นเข้าสู่เศรษฐกิจการตลาดของโลก เมื่อถึงตอนนั้นแล้ว ความต้องการเงินช่วยเหลือจากภายนอกของประเทศที่ยากจน ก็จะหมดไป Sachs เขียนไว้ว่า

“ในระดับพื้นฐานที่ต่ำสุด กุญแจสำคัญที่จะขจัดความยากจนแร้นแค้น คือทำให้คนที่ยากจนสุดในบรรดาคนที่ยากจน สามารถวางเท้าของเขาลงบนบันไดขั้นแรกของการพัฒนา”

ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ยากจน Sachs ใช้วิธีการที่เขาเองเรียกว่า “เศรษฐศาสตร์แบบคลินิก” (clinical economics) แต่ละประเทศก็เหมือนคนไข้แต่ละราย ที่มีปัญหาที่ซับซ้อน ต้องการการวินิจฉัยโรคที่ต่างกัน และการให้ยารักษาที่ต่างกัน แต่ละประเทศเผชิญปัญหาไม่เหมือนกัน ที่จะเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของตลาดโลก เช่น การคอร์รัปชันของรัฐบาล การกีดกันคนในสังคมในด้านเพศและชาติพันธุ์ ปัญหาสุขภาพอนามัย เช่น โรคเอดส์ มาลาเรีย ฯลฯ การขาดโครงสร้างพื้นฐาน ระบอบการเมืองไม่มั่นคง และสภาพภูมิศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวย เป็นต้น

ส่วน Millennium Village Project (MVP) เป็นโครงการสาธิตของสถาบัน Earth Institute ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐฯ ที่ร่วมกับโครงการพัฒนาของสหประชาชาติ ที่ต้องการให้หมู่บ้านในโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงว่า การใช้วิธีการแบบบูรณการในการพัฒนาชนบทจะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมาย 8 ประการ ที่เรียกว่า Millennium Development Goalsภายในปี 2015

เมื่อโลกย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 สหประชาชาติได้มีคำประกาศ MDGs ออกมา 8 ประการ คือ ขจัดความยากจนแร้นแค้น เด็กได้เข้าเรียนโรงเรียนระดับประถมศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ การลดการตายของเด็ก การปรับปรุงสุขภาพของมารดา การต่อสู้กับโรคเอดส์และมาลาเรีย ฯลฯ การรักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้ยั่งยืน และสุดท้าย การสร้างความเป็นหุ้นส่วนจากนานาชาติเพื่อการพัฒนาดังกล่าว

Angelina Jolie กับ Jeffrey Sachs ไปเยี่ยมหมู่บ้านโครงการ Millennium Village Project ที่เคนยา   ที่มาภาพ : westernfreepress.com
Angelina Jolie กับ Jeffrey Sachs ไปเยี่ยมหมู่บ้านโครงการ Millennium Village Project ที่เคนยา
ที่มาภาพ : westernfreepress.com

โครงการหมู่บ้าน MVP เชื่อว่า การทำให้ชาวบ้านเข้าถึงน้ำสะอาด มีบริการสาธารณสุขพื้นฐาน เด็กได้เข้าโรงเรียนชั้นประถมศึกษา และการผลิตด้านเกษตร ที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น เมล็ดพันธุ์ที่ดีขึ้น และการใช้ปุ๋ย จะทำให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากความยากจนแร้นแค้น โครงการ MVP ดำเนินการเป็นครั้งแรกกับหมู่บ้านในเคนยา ชื่อ เซาริ (Sauri) ในภาพยนตร์สารคดีดังกล่าว Jeffrey Sachs พูดกับ Angelina Jolie ว่า “หมู่บ้านแห่งนี้กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ เพราะเป็นหมู่บ้านที่จะขจัดความยากจนแร้นแค้นให้หมดไป”

โครงการ MVP กระจายอยู่ 10 ประเทศในแอฟริกา แต่ละหมู่บ้านของโครงการมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการเกษตรและสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ในระยะเริ่มแรก โครงการอาศัยเงินกู้จากธนาคารโลกและการบริจาคของเอกชน โครงการกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี จาก 2005-2010 แต่ได้ขยายเวลาออกไปอีก 10 ปี เพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการบรรลุเป้าหมาย Jeffrey Sachs กล่าวว่า ที่ต้องขยายเวลาโครงการออกไป เพื่อให้เวลาสำหรับการยกระดับรายได้ของคนในหมู่บ้านสูงขึ้น

การพัฒนาหมู่บ้านตามโครงการ MVP ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก บางคนเห็นว่า หมู่บ้านสาธิตการพัฒนา คือ การพยายามสร้างเกาะแห่งความสำเร็จ แต่ไม่ได้จัดการกับปัญหาทะเลของความล้มเหลว ที่ล้อมรอบอยู่ บางส่วนเห็นว่า แทนที่จะเป็นหมู่บ้านการพัฒนาที่ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ กลับกลายเป็นหมู่บ้านที่ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากภายนอก บางคนเรียกการพัฒนาแบบนี้ว่า การท่องเที่ยวเชิงพัฒนาชนบท (rural development tourism) คือคนมีชื่อเสียงจากในเมือง มองปัญหาคนในชนบท จากทัศนะของคนที่มาจากอีกสภาพแวดล้อมหนึ่ง จึงไม่มีทางจะเข้าใจความยากจนในชนบท นักพัฒนาจากในเมืองก็เหมือนเจ้าหน้าที่ทางการไปเยี่ยมชมค่ายผู้อพยพ ผู้อพยพบอกว่า “คนพวกนี้มาเยือน ลงนามในสมุดเยี่ยม แล้วก็ไป”

แรงดลใจจาก Bury the Chains

Bury the Chains เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ Jeffrey Sachs
Bury the Chains เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ Jeffrey Sachs

แม้จะมีเสียงวิจารณ์มากต่อความสำเร็จของโครงการขจัดความยากจนของเขา แต่ Sachs มองว่า ภารกิจของเขาเป็นงานด้านมนุษยธรรม และก็ถามเชิงจริยธรรมกับพวกนักวิจารณ์ว่า เมื่อเราได้เห็นกับตาถึงสภาพความยากจนแร้นแค้น “เรามีทางเลือก คือปล่อยให้คนเหล่านี้ตายไป หรือเราตัดสินใจที่จะทำอะไรบางอย่างกับมัน”

ขณะที่คนจำนวนมากในโลกมองปัญหาความยากจนเหมือนกับปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ คือเกิดขึ้นมาแล้วเป็นเวลานานแสนนาน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะขจัดปัญหานี้ให้หมดไป เพราะฉะนั้น คนที่มีความมุ่งมั่นทำภารกิจใหญ่โตด้านมนุษยธรรม มุ่งขจัดปัญหาที่ดำรงอยู่มาแล้วเป็นพันปี ที่คนจำนวนมากเห็นว่าไม่มีทางประสบความสำเร็จนั้น ต้องเป็นคนที่ได้แรงดลใจจากอะไรบางอย่าง จึงจะสามารถทุ่มเทความพยายามเพื่อบรรลุภารกิจดังกล่าว

ในหนังสือชื่อ The Idealist: Jeffrey Sachs and the Quest to End Poverty ผู้เขียนคือ Nina Munk นักข่าวของนิตยสาร Vanity Fair กล่าวว่า Sachs ได้รับแรงดันดาลใจจากหนังสือชื่อ Bury the Chains ที่ Adam Hochschild เขียนถึงเรื่องราวเมื่อ 229 ปีมาแล้ว ที่นักอุดมคติชาวอังกฤษ 12 คน เริ่มต้นการรณรงค์ให้มีการเลิกระบบการใช้แรงงานทาสในอังกฤษ ภายในระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น รัฐสภาอังกฤษออกกฎหมายห้ามการค้าทาส ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจของอังกฤษในยุคนั้น ผลผลิตสำคัญๆ ที่ต้องใช้บริโภคในแต่ละวัน เช่น น้ำตาลและชา ต้องอาศัยแรงงานทาสในการผลิต แม้แต่ Church of England ศาสนจักรของอังกฤษ ก็ยังครอบครองพื้นที่ธรณีสงฆ์เพื่อเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่อาศัยแรงงานทาสเช่นกัน

ในเดือนพฤษภาคม 1787 นักอุดมคติชาวอังกฤษ 12 คน มาประชุมกันที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน จุดมุ่งหมายของคนเหล่านี้คือการรณรงค์ให้มีการเลิกระบบแรงงานทาส การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมที่มีเป้าหมายทะเยอทะยานมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรา Hochschild เขียนไว้ว่า ในปี 1787 ถ้าเรายืนอยู่บนมุมถนนสายหนึ่งในลอนดอน แล้วพูดปราศรัยว่า ระบบแรงงานทาสคือสิ่งที่ผิดศีลธรรม ควรจะยกเลิกไปเสีย คนฟัง 9 ใน 10 คน จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องตลกขบขัน และเห็นว่าคนที่พูดคือตัวตลก ส่วนคนที่ 10 อาจจะบอกว่า เห็นด้วยในหลักการ แต่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษล้มพังลง

The-Idealist หนังสือที่เขียนถึงความมุ่งมั่นของ Jeffrey-Sachs ที่จะขจัดความยากจนในแอฟริกา
The-Idealist หนังสือที่เขียนถึงความมุ่งมั่นของ Jeffrey-Sachs ที่จะขจัดความยากจนในแอฟริกา

แต่เพียงแค่ 2 ปีหลังจากนั้น ปัญหาแรงงานทาสกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองของอังกฤษ เมืองใหญ่ๆ ทุกเมืองมีกลุ่มรณรงค์ให้มีการเลิกระบบแรงงานทาส คนอังกฤษ 3 แสนคน ลงชื่อแสดงเจตนารมณ์จะไม่ซื้อน้ำตาลที่ผลิตจากพื้นที่เพาะปลูกที่ใช้แรงงานทาส ในปี 1792 รัฐสภาอังกฤษผ่านกฎหมายห้ามการค้าทาส ในปี 1807 การค้าทาสถูกยกเลิกในดินแดนอาณานิคมอังกฤษทั้งหมด และในช่วงไม่ถึง 100 ปีต่อมา ระบบทาสกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในแทบจะทุกประเทศ

ทัศนะต่อเศรษฐกิจชาวพุทธของภูฏาน

ปัจจุบัน Jeffrey Sachs เป็นผู้อำนวยการ UN Sustainable Development Solution Network ในปี 2015 สหประชาชาติให้ความเห็บชอบกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยัน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) สำหรับใช้ในช่วงปี 2015-2030 เพราะที่ผ่านมา โลกประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ล้มเหลวในด้านที่จะให้ความมั่งคั่งนี้กระจายไปทุกส่วนในสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้ยั่งยืน เป้าหมายของ SDGs คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของคนอย่างกระจายทั่วถึง ไม่มีคนกลุ่มไหนถูกทอดทิ้ง และมีการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ

ในปี 2010 Sachs เดินทางไปเยือนภูฏาน เพราะต้องการเข้าใจแนวคิดการพัฒนาของภูฏานที่เรียกว่า ความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) ที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ใช้ตัววัดเรียกว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Product (GNP) แนวคิดเรื่อง GNH ของภูฏาน คือ การพัฒนาที่สนองความจำเป็นพื้นฐานของประชาชน เช่น บริการสาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าและน้ำ เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึง การพัฒนาเศรษฐกิจของภูฏานที่ยังมุ่งตอบสนองสิ่งที่จำเป็นทางวัตถุในชีวิตของประชาชนถือเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะภูฏานยังเป็นประเทศรายได้ต่ำ

แต่แนวทางการพัฒนา GDH ของภูฏานไปไกลกว่าเรื่องนี้ โดยตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรจะให้การเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถอยู่ร่วมกันได้กับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ทำอย่างไรจะรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศ และทำอย่างไรที่ประชาชนแต่ละคนจะสามารถรักษาความสงบทางจิตใจ ในยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

 Jeffrey Sachsที่มาภาพ : http://jeffsachs.org/wp-content/uploads/2012/01/Sachs_Ruhiira.jpg
Jeffrey Sachsที่มาภาพ : http://jeffsachs.org/wp-content/uploads/2012/01/Sachs_Ruhiira.jpg

Sachs บอกว่า หัวใจสำคัญของแนวคิดการพัฒนาของภูฏานคือ การมองว่าความสุขมวลรวมประชาชาติเป็นเป้าหมายและการแสวงหาอย่างต่อเนื่อง ความคิดนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จง่ายๆ เป็นข้อๆ เอาไว้ท่องจำเวลาทำงาน เนื่องจากเป็นประเทศนับถือพุทธศาสนา ที่สอนว่าความสุขไม่ได้เกิดจากการติดยึดในวัตถุ แต่เกิดจากการที่คนเรารู้จักขบคิดใคร่ครวญภายในตัวเอง และการมีเมตตาธรรมต่อคนอื่น การพัฒนาของภูฏานจึงเป็นการเลือกเดินในเส้นทางที่มาจากการไตร่ตรองอย่างรอบครอบ ที่ประเทศอื่นๆ ควรทำอย่างเดียวกันนี้

Jeffrey Sachs เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีทักษะสูงมาก ในการสรุปปัญหาเศรษฐกิจที่ซับซ้อน ให้ออกมาเป็นสาระสำคัญเป็นข้อๆ รวมทั้งการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน คนที่มีความสามารถดังกล่าว ปัจจุบันเรียกกันว่าทักษะ “การสื่อสารเพื่อนำเสนอ” (articulate communication) ความสามารถในการนำเสนอสาระได้อย่างชัดเจน ทั้งในรูปการเขียนหนังสืออย่างเช่น The End of Poverty เป็นปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถขับเคลื่อนปัญหาความยากจนในโลก ให้กลายเป็นวาระของนานาประเทศ