ThaiPublica > คอลัมน์ > The Science of ความหมั่นไส้ที่เรามีต่อคนที่ชอบอวดดีกับเรา

The Science of ความหมั่นไส้ที่เรามีต่อคนที่ชอบอวดดีกับเรา

19 ตุลาคม 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ที่มาภาพ : http://www.iflscience.com/health-and-medicine/does-publication-bias-make-antidepressants-seem-more-effective-treating-anxiety/
ที่มาภาพ : http://www.iflscience.com/health-and-medicine/does-publication-bias-make-antidepressants-seem-more-effective-treating-anxiety/

เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมคนที่ชอบอวดดีถึงชอบอวดดี ถึงเเม้ว่าการอวดดีของเขาจะทำให้คนอื่นรำคาญเเละหมั่นไส้ก็ตาม

เเละถ้าเขารู้ว่าการอวดดีของเขาทำให้คนอื่นต้องรำคาญเเละหมั่นไส้ เเล้วเขายังจะอวดดีทำไม

วันนี้ผมจะมาเขียนถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ผมชอบมากของนักจิตวิทยาสามคน นั่นก็คือ Irene Scopelletti, George Loewenstein เเละ Joachim Vosgerau ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Psychological Science เกี่ยวกับจิตวิทยาของความต้องการในการอยากจะอวดดีของคน

โดยในงานวิจัยชิ้นนี้พวกเขาพบว่า คนเราเกือบทุกคนมีความต้องการที่อยากจะรู้สึกดีๆ กับตัวเองกันทั้งนั้น เเละในขณะเดียวกัน คนเราเกือบทุกคนก็ไม่อยากที่จะโดนคนอื่นๆ เกลียด หมั่นไส้ หรือเหม็นขี้หน้าเอา เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับตัวเรา เราก็จะหาจุดสมดุลในการบอกข่าวดีของตนให้คนอื่นๆ รู้ (เผื่อคนอื่นๆ จะได้ดีใจไปกับเราด้วย ซึ่งก็จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นกับตัวเอง) โดยไม่ทำเกินหน้าเกินตาจนเกินไปจนคนอื่นๆ รำคาญ

เเต่ปัญหาก็คือ คนเราส่วนใหญ่ไม่เก่งในการประเมินความรู้สึกของตัวเราเองถ้าเราต้องตกไปอยู่ในอีกสถานการณ์หนึ่งที่เราไม่ได้กำลังประสบอยู่ (คล้ายๆ กับ hot state versus cold state ที่ผมเคยเขียนในเรื่องที่ว่าทำไมคนดีถึงนอกใจน่ะครับ) พูดง่ายๆ ก็คือ คนเราส่วนใหญ่มี empathy gap หรือก็คือการที่เราไม่สามารถ “เอาใจเขาไปใส่ใจเรา” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่เวลาที่เรากำลังดีใจในสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับเรานั้นเรามักจะประเมินเกินความเป็นจริง (overestimate) ไปว่าคนอื่นๆ เขา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเรา กำลังรู้สึกดีๆ เหมือนกับเราอยู่

การ overestimation ของคนเราตัวนี้ทำให้เราคิดไปเองว่าคนอื่นๆ กำลังรู้สึกดีเท่าๆ กันกับเรา ซึ่งก็ทำให้เราอยากพูดถึงตัวเราเองมากขึ้นไปอีก ซึ่งก็อาจส่งผลในการทำให้คนอื่นๆ ยิ่งหมั่นไส้เราเข้าไปใหญ่ได้

ผมว่าคนเราเกือบทุกคน (รวมทั้งตัวผมเองด้วย) ก็คงจะเคยทำให้คนอื่นๆ หมั่นไส้นะครับ โดยเฉพาะคนที่ใช้ facebook เเละ twitter เยอะๆ (ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้นด้วย) เพียงเเค่เพราะว่าเราคาดคะเนความรู้สึกของคนที่อ่านโพสต์ของเราไม่ได้ดีเท่าที่ควรเท่านั้นเองนะครับ

มีวิธีอยู่สองวิธีในการขจัดปัญหานี้ให้หมดไปนะครับ

วิธีที่หนึ่งคือ เวลาเราเจอเรื่องดีๆ ในชีวิต ก่อนที่จะบอกคนอื่นๆ ให้รู้ เราก็ควรจะพยายามเอาใจเราไปใส่ใจคนอื่นๆ ดูก่อนนะครับ พูดง่ายๆ ก็คือพยายามทำให้ empathy gap ระหว่างเราเเละคนอื่นๆ นั้นเเคบลง

วิธีที่สองก็คือ ไม่จำเป็นต้องเเคร์ว่าคนอื่นจะหมั่นไส้เราครับ เพราะว่า those who mind don’t matter, and those who matter don’t mind(คนที่หมั่นไส้เราไม่สำคัญ เเละคนที่สำคัญไม่หมั่นไส้เรา)

อ่านเพิ่มเติม
Scopelliti, I., Loewenstein, G. and Vosgerau, J., 2015. You Call It “Self-Exuberance”; I Call It “Bragging” Miscalibrated Predictions of Emotional Responses to Self-Promotion. Psychological science, 26(6), pp.903-914.