ThaiPublica > คอลัมน์ > 10 ปีโครงการกำลังใจ – ที่เป็นมาและที่น่าจะเป็นไป – ข้อสังเกตและเสนอแนะเพื่อการพัฒนา-เปลี่ยนเรือนจำเป็นเรือนใจ

10 ปีโครงการกำลังใจ – ที่เป็นมาและที่น่าจะเป็นไป – ข้อสังเกตและเสนอแนะเพื่อการพัฒนา-เปลี่ยนเรือนจำเป็นเรือนใจ

30 ตุลาคม 2016


ณัฐเมธี สัยเวช

ผมได้ยินชื่อของโครงการกำลังใจมานาน ทราบแต่เพียงคร่าวๆ ว่าเป็นโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และที่ได้ยินอย่างโดดเด่นผ่านสื่อก็คือเป็นโครงการที่ทำงานด้านการรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง มารู้จักมากขึ้นเมื่อตัวเองได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม “จากวาทกรรมยาเสพติดสู่การผลิตซ้ำ…สื่อมวลชนกับทางออกปัญหาคนล้นคุก” เมื่อวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2558 จึงได้พบว่า ไม่เพียงการยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง แต่ความพยายามของโครงการกำลังใจนั้นได้ขยายพื้นที่ไปสู่การดูแลสถานะของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิง ให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังภายในเรือนจำเป็นไปในทิศทางของการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมีความพยายามในการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อเมื่อพ้นโทษไปแล้วจะไม่ก่อความผิดซ้ำ และล่าสุด ก็ยังมีความพยายามในการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดเพื่อให้การตัดสินลงโทษนั้นเป็นไปอย่างได้สัดส่วนต่อเจตนาและพฤติกรรมในการกระทำผิด อันเป็นแนวทางปฏิบัติใหม่ในการจัดการกับปัญหายาเสพติด เพื่อไม่ให้เป็นไปอย่าง “แก้เก่าไม่ได้-ใหม่ร้ายกว่าเดิม” ดังที่เป็นมาและที่ได้เล่าไปแล้วหลายครั้งว่า นอกจากจะลดปริมาณการใช้ยาบ้าไม่ได้ ยังนำมาซึ่งปัญหาคนล้นคุก จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

ในโอกาสที่โครงการกำลังใจจะดำเนินงานมาครบ 10 ปี ในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ผมจึงขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจากทางโครงการ เพื่อบอกเล่าถึงสิ่งน่าสนใจซึ่งโครงการกำลังใจได้ดำเนินงานมา และเพื่อตั้งคำถามรวมทั้งคิดต่อยอดถึงแนวทางที่น่าจะเป็นต่อไป โดยจะเน้นไปที่วัตถุประสงค์เรื่องการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ต้องขัง เพื่อสามารถกลับมายืนหยัดในสังคมอย่างเต็มคน มีศักดิ์ศรี และไม่มีเหตุจำเป็นต้องก่อคดีให้มีความผิดซ้ำอีกต่อไป

ที่เป็นมา

ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเยี่ยมเยียนและประทานสิ่งของแก่ผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขังหญิง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร

การเสด็จเยี่ยมดังกล่าว ทำให้ทรงเห็นปัญหาของผู้ต้องขังหญิง ที่เมื่ออยู่ในเรือนจำแล้วก็ต้องขาดโอกาสต่างๆ ในชีวิตไป โดยเฉพาะความรักความอบอุ่นจากครอบครัว รวมทั้งทารกบริสุทธิ์ไร้ความผิดที่ถือกำเนิดขึ้นในเรือนจำจากครรภ์ของแม่ที่เป็นผู้ต้องขัง ซึ่งก็ทำให้ความขาดโอกาสชีวิตในด้านต่างๆ เกิดการตกทอดและดำเนินต่อไปอย่างซ้ำซ้อน และการขาดโอกาสต่างๆ เหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งปัญหาต่อไปในอนาคต

ปัญหาที่ทรงค้นพบนั้นได้จุดไฟพระปณิธานในการที่จะทรงช่วยเหลือและให้กำลังใจแก่ผู้ต้องขังหญิงขึ้น ทำให้ใน 5 ปีต่อมา เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาเอก พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จึงทรงก่อตั้งโครงการกำลังใจขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร โดยแรกเริ่มนั้นทรงโปรดให้วิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย เข้ามาดำเนินงานภายใต้พระดำริที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตและเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์และทารกที่เกิดในเรือนจำ และเมื่อโครงการดังกล่าวนี้ได้ขยายไปสู่เรือนจำอื่นๆ ทั่วประเทศ ระดับของการช่วยเหลือก็ขยายไปสู่การฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำต่างๆ อันเป็นการเตรียมความพร้อมในการกลับสู่สังคมด้วย

นอกจากนี้ ยังทรงเล็งเห็นว่า การประทานสิ่งของบรรเทาทุกข์นั้นยังไม่ใช่การช่วยเหลือที่ตรงจุดและยั่งยืน เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปแล้วสิ่งของเหล่านั้นย่อมหมดไป จึงมีพระดำริให้มีการน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มาปรับใช้ในเรือนจำ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ต้องขังรู้คุณค่าของตัวเอง พึ่งพาตนเองได้ ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เพื่อเมื่อออกไปจากเรือนจำแล้วจะสามารถหยัดยืนได้ด้วยตัวเองโดยไม่หันไปกระทำผิดซ้ำ

ในการน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในเรือนจำนั้น นอกจากจะมีการอบรมทางด้านแนวทางทัศนคติที่ควรมีในการใช้ชีวิต ยังมีความพยายามทำให้เกิดการปฏิบัติอันเป็นรูปธรรมด้วยการอบรมการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต่อมาได้มีการขยายผลเพิ่มเติมเป็นโครงการพัฒนาระบบการผลิตมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สำหรับเรือนจำชั่วคราว จนกระทั่งเรือนจำนำร่องโครงการทั้ง 4 แห่งได้รับมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9000 เล่ม 1-2552 ส่วนพืชผักจากโครงการก็ได้ออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ “Inspire กำลังใจ” และในเวลาต่อมา ผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อนอินทรีย์ของเรือนจำชั่วคราวแคน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ โครงการกำลังใจยังได้เล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องของทุนในการประกอบอาชีพ กล่าวคือ เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษมาแล้ว แม้จะมีความรู้ในการประกอบอาชีพติดตัวมาจากการอบรมในเรือนจำ แต่ก็ยังอาจเป็นการยากในการหาเงินทุนเพื่อแปรเปลี่ยนความรู้ที่ตนมีเป็นการประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเอง จึงได้มีประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหาร “กองทุนตั้งตัวได้” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการมอบทุนให้กับผู้ต้องขัง จากที่เดิมกองทุนดังกล่าวเน้นการให้ทุนกับผู้ที่ศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา หรือจบการศึกษามาไม่เกิน 5 ปี

จาก ELFI สู่ข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules)

จากการศึกษาของโครงการกำลังใจ พบว่าปัญหาหลักที่ผู้ต้องขังหญิงต้องเผชิญนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้

  1. ความไม่เหมาะสมของสถานที่คุมขัง: การที่ทัณฑสถานหญิงมีจำนวนน้อยนั้นส่งผลให้ผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่ถูกคุมขังในเรือนจำที่อยู่ห่างไกลจากบ้านตัวเอง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการที่บุคคลในครอบครัวรวมทั้งบุตรจะเดินทางไปเยี่ยม เพราะนอกจากไม่สะดวกสบายในการเดินทางแล้ว ในบางครอบครัวที่มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจก็ย่อมไม่สามารถรับภาระจากค่าเดินทางได้

    การที่ไม่สามารถพบปะกับครอบครัวได้อย่างเพียงพอ ทำให้ผู้ต้องขังหญิงมีความเครียด ส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และในรายที่มีบุตร ก็ย่อมส่งผลกระทบถึงสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ละเด็ก ซึ่งจะมีผลต่อพัฒนาการของเด็กได้ในที่สุด

    นอกจากนี้ ด้วยความไม่เพียงพอของสถานที่ ยังทำให้บ่อยครั้งผู้ต้องขังหญิงต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำที่ออกแบบมาสำหรับผู้ต้องขังชายเป็นหลัก หรือถูกคุมขังในเรือนจำความมั่นคงสูงทั้งที่เป็นผู้ต้องขังความเสี่ยงต่ำ ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการติดต่อกับครอบครัว รวมทั้งโอกาสในการฝึกอาชีพ

  2. ความต้องการที่แตกต่างจากผู้ต้องขังชาย: ความแตกต่างทางชีววิทยาทำให้ผู้ต้องขังหญิงมีความต้องการการดูแลทางกายและใจที่แตกต่างจากผู้ต้องขังชายในหลายประการ เช่น เรื่องของสุขภาวะทางเพศ หรือกรณีการหมดประจำเดือนในผู้ต้องขังสูงอายุ รวมทั้งการดูแลก่อนและหลังคลอด ซึ่งรวมถึงการดูแลแม่และทารกให้เป็นไปอย่างส่งเสริมทั้งความสัมพันธ์แม่ลูกและพัฒนาการที่มีต่อทารก
  3. การเลือกปฏิบัติอันนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน: ผู้ต้องขังหญิงมักตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดและความรุนแรงทางเพศ ซึ่งมักเริ่มกันตั้งแต่ในขั้นตอนของการตรวจค้นร่างกาย ทั้งยังมักถูกกีดกันจากการฟื้นฟูศักยภาพเพื่อกลับคืนสู่สังคม หรือแม้แต่เมื่อเข้าถึง รูปแบบการฟื้นฟูที่ออกแบบมาก็มักไม่สอดคล้องกับความต้องการหรือเข้ากันไม่ได้กับเงื่อนไขของครอบครัว

ปัญหาที่พบ นำไปสู่การก่อตั้งโครงการ ELFI (Enhancing Lives of Female Inmates) ซึ่งเป็นโครงการระดับนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกให้ทันสมัย เพื่อนำมาเสริมเข้าไปใน “ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ” (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) ที่ร่างขึ้นและใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955

หลังจากได้มีการนำเสนอต่อนานาชาติ ในที่สุด ผลของโครงการ ELFI ก็คือการจัดทำ “Draft United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders” หรือก็คือ “ร่างข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง” ซึ่งต่อมาได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 (65th United Nations General Assembly – UNGA) ในวันที่ 21 ธันวาคม 2553 และได้รับการเรียกเพื่อเป็นเกียรติว่า “Bangkok Rules” หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพฯ”

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นหัวใจของข้อกำหนดกรุงเทพฯ นั้นมีอยู่ 2 ประการ คือ 1. การพยายามพิจารณาใช้มาตรการลงโทษแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การคุมขังในเรือนจำ 2. แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องคุมขังในเรือนจำจริงๆ สภาพแวดล้อมต่างๆ ในเรือนจำก็ต้องเอื้อให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ซึ่งข้อกำหนดกรุงเทพฯ นี้ได้ขยายผลไปสู่ความพยายามในการเปิดมุมมองใหม่ว่าด้วยความเข้าใจที่มีต่อยาเสพติด การปรับเปลี่ยนอัตราโทษและแนวทางในการพิจารณาโทษ เพื่อเกิดการจัดการกับปัญหายาเสพติดอย่างสร้างสรรค์และมีมนุษยธรรม

หลักสูตรกำลังใจ – ดอยราง Model

หลักสูตรกำลังใจคือกระบวนการปลายน้ำของความพยายามในการคืนผู้ต้องขังสู่สังคม เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น แม้จะมีกระบวนการในการเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนปล่อยตัว แต่ก็ยังมีลักษณะการเตรียมอย่าง one size fit all หรือก็คือเป็นการเตรียมการโดยไม่ได้มีการคำนึงถึงความแตกต่างของผู้ต้องขังแต่ละคนซึ่งย่อมส่งผลต่อทางเลือกในชีวิตที่แตกต่าง เช่น ปัญหาการไม่มีตลาดรองรับทักษะอาชีพที่ฝึกมาจากในเรือนจำ ไม่ว่าผู้ต้องขังจะเลือกกลับไปอยู่ในสังคมเดิมหรือพยายามเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสังคมอื่น ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นสู่การกระทำผิดซ้ำจนต้องโทษจำคุกได้อีก

ในการนี้ จึงมีการจัดตั้งโครงการนำร่อง “ศูนย์การเรียนรู้ดอยราง” หรือ “ดอยราง Model” ขึ้นที่เรือนจำชั่วคราวดอยราง จังหวัดเชียงราย ซึ่งพัฒนาขึ้นตามศาสตร์แห่งพระราชา “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” มุ่งสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับสังคมบนหลัก 3S คือ Survival (การอยู่รอด) Sufficiency (ความพอเพียง) และ Sustainability (ความนั่งยืน)

ดอยราง Model นั้นแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

1. ปรับทุกข์-ผูกมิตร: สร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อเรียนรู้ผู้อื่นและสะท้อนตัวเอง
2. ถอดรื้อ-สร้างใหม่: สะท้อนเหตุที่นำไปสู่การใช้ยาเสพติด เสริมสร้างกำลังใจสู่ชีวิตใหม่
3. ดูแลต่อเนื่อง: ภาคีเครือข่ายรวมทั้งบุคคลแวดล้อมร่วมกันดูแลผู้ต้องขังด้วยกัน

ในดอยราง Model นี้ ผู้ต้องขังจะเป็น Active Learner คือไม่ใช่ผู้ที่นั่งฟังการสั่งสอนอย่างเดียว แต่คือได้เข้าสู่การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ทั้งนี้ สิ่งสำคัญก็คือ ต้องมีการคัดกรองผู้ต้องขังที่ปรารถนาจะได้รับประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการจริงๆ ไม่ใช่เพียงเพื่อได้ย้ายมาอยู่ในเรือนจำชั่วคราวดอยรางที่มีความแออัดน้อยกว่าและสะดวกสบายกว่า และในส่วนของผู้คุมนั้น จะต้องไม่ทำหน้าที่ควบคุมสั่งสอน แต่คือสวมบทบาทของผู้เสริมสร้างวิธีคิดและประสานประโยชน์กับภาคีเครือข่ายภายนอก ทั้งเพื่อสามารถสร้างอาชีพที่เหมาะสมแก่ตัวผู้ต้องขัง มีตลาดรองรับ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้สังคมภายนอกยอมรับและให้โอกาสในตัวผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการทำให้อดีตผู้ต้องขังซึ่งพ้นโทษไปแล้วและสามารถตั้งตัวได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มช่วยเหลือ (peer support) เพื่อคอยประคับประคองชีวิตและจิตใจของผู้พ้นโทษที่ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตนอกเรือนจำได้ เพราะน่าจะเป็นกลุ่มที่เข้าอกเข้าใจผู้ต้องขังได้ดีที่สุด ทั้งยังเป็นผู้ที่สามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับการอบรมมาไปใช้ได้ผลในชีวิตจริง

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกลุ่ม “คนต้นแบบ” หรือก็คือผู้พ้นโทษที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรกำลังใจ-ดอยราง Model สามารถกลับออกไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพในสังคมได้ถึง 32 คน

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มคนต้นแบบ
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มคนต้นแบบ

ที่น่าจะเป็นไป – เปลี่ยนเรือนจำเป็นเรือนใจ

จากข้อมูลคร่าวๆ ทั้งหมดของผลงานที่โครงการกำลังใจดำเนินมา ผมคิดว่าสามารถขยายผลต่อภายใต้หลักการ “เปลี่ยนเรือนจำเป็นเรือนใจ”

ในการที่จะทำให้สำเร็จได้อย่างนั้น ในเบื้องต้น สังคมต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจว่า การตัดสินใจต่างๆ ของมนุษย์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในชีวิตนั้นสามารถส่งผลไปสู่การตัดสินใจของคนแต่ละคนได้

ดังนั้น การตัดสินใจของบุคคลหนึ่งนั้นย่อมสมเหตุสมผลเสมอภายใต้กรอบปัจจัยที่แวดล้อมตัวเองอยู่ ซึ่งภายใต้ความเข้าใจเช่นนี้ การตัดสินใจจะกระทำความผิดอันให้ผลเป็นการต้องโทษคุมขังก็สมเหตุสมผลพอกับการที่เราเดินไปซื้อข้าวสักจาน

แต่การตัดสินใจอันสมเหตุสมผลไม่จำเป็นต้องถูกต้องสำหรับกฎทุกประการที่มีอยู่ในสังคม การตัดสินใจประกอบอาชญากรรมนั้นอาจสมเหตุสมผลสำหรับบุคคลหนึ่งภายใต้เงื่อนไขที่แวดล้อมเขาอยู่ แต่ก็เป็นการตัดสินใจที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่เราน่าจะมองกันก็คือ ปัจจัยแวดล้อมแบบไหนที่เอื้ออำนวยหรือกระทั่งกดดันบีบคั้นให้ใครสักคนต้องเลือกตัดสินใจกระทำในสิ่งที่สุดท้ายแล้วสามารถทำร้ายทั้งตัวเองและคนอื่น

ความเข้าใจตรงนี้จะนำไปสู่การเข้าใจซึ่งแรงจูงใจในการกระทำผิด และสามารถขยายผลต่อเนื่องไปถึงปัจจัยแวดล้อมที่ไม่สามารถทำให้คนคนหนึ่งดำรงชีวิตได้โดยไม่ต้องทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เราสามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนกว่าการเอาคนเข้าคุกไปเรื่อยๆ โดยถ้าเข้าใจและพยายามสานต่อความเข้าใจเช่นนี้แล้ว เราจะทั้งสามารถป้องกันไม่ให้คนกระทำผิดและก็สามารถให้โอกาสคนที่กระทำผิด ไม่ว่าจะในตอนที่เขายังถูกคุมขัง หรือพ้นออกจากเรือนจำไปแล้ว

ปัญหาสำคัญก็คือ ทุกวันนี้คนมองว่าการกระทำผิดของบุคคลหนึ่งนั้นเป็นการตัดสินใจของตัวเองโดดๆ โดยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับปัจจัยแวดล้อมในชีวิตของคนผู้นั้น ส่งผลให้การตัดสินใจกระทำผิดเป็นเรื่องของความดีความชั่วส่วนบุคคล ทั้งที่ถ้าไล่หาสาเหตุกันจริงๆ จุดเริ่มต้นของหลายๆ การกระทำผิดก็อาจมาจากโครงสร้างนโยบายของรัฐที่ไม่อาจลดความเหลื่อมล้ำ ไม่สามารถสร้างความเท่าเทียม ไม่มีประสิทธิภาพในการทำให้คนสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความหวังโดยไม่ถูกบีบให้ตกไปสู่การตัดสินใจเลือกระหว่างการปฏิบัติตามกฎหมายแล้วอดตายกับการเสี่ยงกระทำผิดเพื่อให้มีชีวิตรอด (ไม่ใช่ทุกกรณีที่เป็นแบบนี้นะครับ นี่คือกล่าวโดยคิดถึงกรณีผู้ด้อยโอกาสในสังคม)

การโยนการตัดสินใจให้เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคลโดยตัดขาดจากสังคมได้ส่งผลให้เกิดความไม่เห็นใจและไม่ให้โอกาสกับผู้กระทำผิดเหล่านี้ สังคมจึงมักปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดอย่างต้องการกำจัดไปให้พ้นด้วยการเอาไปรวมกันไว้ในคุก และเมื่ออยู่ในคุก สังคมก็เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่สมควรจะมีความเป็นอยู่อย่างมนุษย์ปรกติทั่วไป เพราะหวังว่าคุณภาพชีวิตที่เลวร้ายและไม่สะดวกสบายจะทำให้หลาบจำ หรือไม่ก็คืออยากให้ได้รับการลงโทษอย่างกรรมสนองกรรม

เหล่านี้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการลดทอนมนุษย์ให้กลายเป็นวัตถุที่ใครจะทำอย่างไรด้วยก็ได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้ต้องขังคือผู้ที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยการลิดรอนโอกาสทุกอย่างในชีวิตไปจนหมดสิ้น แต่ก็ตลอดเวลาที่ผ่านมาเช่นกัน ที่เราน่าจะเห็นว่ากระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ที่เกิดขึ้นในเรือนจำนั้นไม่ได้ส่งผลให้คนเราเกิดความหลาบจำแต่อย่างใด

ถ้าลองคิดกันบนฐานต้นทุนที่จะเสีย-ผลประโยชน์ที่จะได้รับ การที่คนเราไม่ทำผิดนี่ไม่ใช่เพราะเป็นคนดีนะครับ แต่เพราะต้นทุนที่จะต้องเสียไป (การสูญเสียอิสรภาพเนื่องจากทำผิดกฎหมาย) นั้นไม่คุ้มกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ (เงินทองหรือสิ่งใดๆ ที่ได้รับจากการทำผิดกฎหมาย) และที่ไม่คุ้มก็เพราะว่า เรายังมี “โอกาส” ในการที่จะทำสิ่งอื่นๆ แล้วเป็นผลดีใดๆ ก็ตามกับชีวิตที่มากกว่าการพยายามสร้างผลดีเหล่านั้นผ่านการกระทำที่ผิดกฎหมาย

เพราะฉะนั้น ผมจึงเห็นควรที่จะเปลี่ยนเรือนจำเป็นเรือนใจ คือทำให้เรือนจำกลายเป็นสถานที่แห่งโอกาส เป็นที่ที่จะสร้างโอกาสให้ผู้กระทำผิดสามารถกลับออกไปใช้ชีวิตอย่างที่ต้นทุนที่ต้องเสียไปจากการทำผิดกฎหมายนั้นสูงกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำผิดกฎหมาย

ในการนี้นะครับ ผมเห็นว่าสิ่งที่โครงการกำลังใจได้เริ่มต้นนั้นนับได้ว่ามาถูกทางแล้ว แล้วก็สมกับชื่อโครงการอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่เราต้องเร่งคืนให้กับผู้ต้องขังก็คือกำลังใจในการดำเนินชีวิตโดยไม่ต้องทำผิดกฎหมาย เราต้องคืนสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ต้องขัง ให้ชีวิตเขามีโอกาสเพียงพอจะสามารถเคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าของตัวเองและผู้อื่นมากพอจะไม่ทำผิดกฎหมาย

แล้วเราต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถเปลี่ยนเรือนจำเป็นเรือนใจ

  1. ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ต้องทำความเข้าใจผู้กระทำผิดเสียใหม่ โดยเฉพาะผู้กระทำผิดที่ถือว่าเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม ต้องเลิกมองว่าการกระทำผิดเป็นเรื่องของความดี-เลวส่วนบุคคล แต่ควรคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมหรือกระทั่งปูมหลังของผู้กระทำผิดด้วย ซึ่งปัจจุบันโครงการกำลังใจได้เริ่มทำแล้วในส่วนของการเตรียมการก่อนปล่อยตัว แต่ผมคิดว่าเราต้องทำเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ยังไม่มีผู้กระทำผิด
  2. ต้องเบี่ยงเบนผู้กระทำผิดออกจากการคุมขังให้ได้มากที่สุด โดยการคุมขังนั้นควรเป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งปัจจุบันนี้ หลังจากโครงการกำลังใจได้เข้าไปศึกษาปัญหาคนล้นคุก ก็ได้ค้นพบปัญหาเกี่ยวกับความไม่ยืดหยุ่นและไม่ได้สัดส่วนในการลงโทษของข้อกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด นำไปสู่การผลักดันให้กระทรวงยุติธรรมยกร่างกฎหมายใหม่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้รับการลงโทษอย่างได้สัดส่วนแก่พฤติกรรมและเจตนาในการกระทำผิด ไม่ถูกลงโทษอย่างล้นพ้นสัดส่วนเช่นที่เป็นมา และก็น่าทำต่อไปกับการกระทำผิดอื่นๆ ด้วย โดยหาหนทางตัดสินโทษอื่นๆ ที่หลีกเลี่ยงการจำคุกในกรณีที่ทำได้
  3. สิ่งเดียวที่เรือนจำควรพรากไปจากผู้ต้องขังคืออิสรภาพในการไปไหนมาไหนตามใจ ไม่ใช่ความเป็นมนุษย์ อย่างน้อยที่สุด ชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำนั้นควรเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำตามหลักสิทธิมนุษยชนว่าคนคนหนึ่งนั้นควรจะได้รับอะไรบ้าง อาหารการกินที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย น้ำที่เพียงพอและได้คุณภาพต่อการอุปโภคและบริโภค สาธารณูปโภคพื้นฐาน การเข้าถึงข่าวสารจากโลกภายนอก การได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมเมื่อเจ็บป่วย การได้รับการติดต่อปฏิสัมพันธ์จากญาติหรือคนใกล้ชิด เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ต้องขังควรได้รับอย่างเพียงพอบนฐานความเป็นมนุษย์
  4. ควรหาทางให้ผู้กระทำผิดได้มีหนทางในการหารายได้ตั้งแต่ยังอยู่ในการคุมขัง โดยสร้างและประสานงานกับภาคีเครือข่ายภายนอกเพื่อนำงานมาป้อนให้ผู้ต้องขังหรือควบคุมผู้ต้องขังออกไปทำงานภายนอกตามสมควร ทั้งนี้ ค่าแรงที่ได้ควรเป็นไปอย่างเป็นธรรมตามข้อกำหนดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำหรือความยินดีจะจ่ายสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำของผู้จ้าง และค่าแรงที่ได้ควรสะสมไว้เป็นรายได้ส่วนตัวของผู้ต้องขังเพื่อเป็นทุนในการดำเนินชีวิตเมื่อพ้นโทษไปแล้ว ซึ่งตรงนี้โครงการผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ “Inspire กำลังใจ” น่าจะเริ่มออกแบบการหาทางสร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขังได้เลย และเท่าที่ทราบนั้น ในปัจจุบันก็มีการจ้างงานผู้ต้องขังจากภายนอกอยู่บ้างแล้ว ปัญหาคือการบริหารจัดการเรื่องค่าแรงให้เป็นไปอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้เรือนจำกลายเป็นที่ขูดรีดแรงงานค่าแรงต่ำ
  5. กรณีอย่างดอยราง Model นอกจากการติดตามผลว่าผู้ต้องขังรายใดที่สามารถกลายเป็นคนต้นแบบ คือพ้นโทษออกไปแล้วสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปรกติ ควรมีการติดตามด้วยว่า ในกรณีที่ไม่สำเร็จนั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุใด เพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ทั้งหมดนี้ คาดหวังว่าโครงการกำลังใจจะเป็นแม่งานในการแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มาร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจริงได้ต่อไป