ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 22-28 ต.ค. 2559: “สันหลังชาติร้าว ข้าวเปลือกโลละ 5 บาท” และ “สรรพากรยุติเก็บภาษี ‘ทักษิณ’ กรณีหุ้นชินคอร์ป”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 22-28 ต.ค. 2559: “สันหลังชาติร้าว ข้าวเปลือกโลละ 5 บาท” และ “สรรพากรยุติเก็บภาษี ‘ทักษิณ’ กรณีหุ้นชินคอร์ป”

29 ตุลาคม 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 22-28 ต.ค. 2559

  • สันหลังชาติร้าว ข้าวเปลือกโลละ 5 บาท
  • คสรท. ค้านขึ้นค่าจ้างไม่เป็นธรรม เสนอขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ
  • ชงใช้ ม.44 ยกเลิกสัมปทานรถร่วม ขสมก.
  • บึมญี่ปุ่น ตาย 1 เจ็บ 3
  • สรรพากรยุติเก็บภาษี “ทักษิณ” กรณีหุ้นชินคอร์ป<

    /li>

    สันหลังชาติร้าว ข้าวเปลือกโลละ 5 บาท

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (http://www.dailynews.co.th/regional/532542)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (http://www.dailynews.co.th/regional/532542)

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559 ชาวนาใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตจากนาข้าว กำลังประสบกับปัญหาราคาข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวนาปีตกต่ำ โรงสีข้าวรับซื้อเพียงกิโลกรัมละ 6 บาท บางแห่งรับซื้อต่ำสุดเพียงกิโลกรัมละ 5 บาทเศษ อ้างว่าต้องต้องหักค่าความชื้น ค่าสิ่งเจือปนออกด้วย

    นายสุริยา  เพชรวิเศษ  อายุ 50 ปี ชาวนาปลูกข้าวนาปีรายหนึ่งใน ต.ชีวาน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ชาวนาได้รับเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากราคาข้าวตกต่ำอย่างมาก ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวกลับสูงขึ้น แล้วยังจะต้องจ่ายค่ารถเกี่ยวอีกไร่ละ 500 บาท ค่าจ้างชาวบ้านให้ออกมาช่วยขนข้าวอีกในวันเก็บเกี่ยวอีกวันละ 300 บาท  ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายหมดทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น แต่ราคาข้าวกลับถูกที่สุดในรอบหลายปี ทั้งนี้เกษตรกรบางรายได้นำข้าวไปขายให้โรงสีก่อน ซึ่งขายได้เพียงราคากิโลกรัมละ 6 บาทเศษ จากในปีที่ผ่านมาราคา 9-12 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบหลายปี ขณะที่โรงสีบางแห่งรับซื้อต่ำสุดเพียงกิโลกรัมละ 5 บาทเศษ ถือว่าเป็นปีที่ชาวนาได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มขึ้นแต่ราคาข้าวกลับลดลง จึงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อหาทางให้ราคาข้าวสูงขึ้น

    คสรท. ค้านขึ้นค่าจ้างไม่เป็นธรรม เสนอขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์นักสื่อสารแรงงาน (http://voicelabour.org/?p=25065)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์นักสื่อสารแรงงาน (http://voicelabour.org/?p=25065)

    เว็บไซต์นักสื่อสารแรงงานรายงานว่าวันที่ 26 ต.ค. 2559 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมองค์กรสมาชิกกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ย่านสระบุรี ชลบุรี รังสิต ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง “ขอให้ทบทวนและพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ให้เท่ากันทั่วประเทศ” ผ่านทางนายพีระ ทองโพธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

    นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธาน คสรท. กล่าวว่า การที่มายื่นเรื่องครั้งเนื่องจากทาง คสรท. ไม่เห็นด้วยในการที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างที่ไม่เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งทางคณะกรรมการสมานฉันแรงงานไทยไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเลือกปฏิบัติในการปรับขึ้นค่าจ้างแบบไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานด้วยทุกพื้นที่มีค่าครองชีพที่ไม่ต่างกันในด้านสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน

    นายชาลีกล่าวอีกว่า คสรท. จึงมีข้อเสนอรวม 3 ข้อต่อรัฐบาล ดังนี้

    1. ค่าจ้างต้องเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ และเท่ากันทั่วประเทศ ถือว่าทำดีแล้ว ก็อยากให้ใช้มาตรฐานที่ดีนี้ต่อไปคือเน้นความเป็นธรรม และเท่าเทียม

    2. ให้รัฐบาลมีนโยบายโครงสร้างค่าจ้างที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีทุกสถานประกอบการ ซึ่งอาจต้องมีการปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบันให้สถานประกอบการทุกที่มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เนื่องจากมีสถานประกอบการจำนวนมากที่ยึดโยงกับการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คือหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างก็จะปรับตาม หากไม่มีการปรับก็ไม่ปรับค่าจ้างเลย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

    3. รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนอันนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาที่สำคัญของประเทศให้บรรลุความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วย เพราะว่าทุกวันนี้พอมีกระแสปรับขึ้นค่าจ้างแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ ราคาค่าครองชีพก็ปรับตัวขึ้นทุกครั้ง ซึ่งทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับอย่างไรก็ตามไม่ทันค่าครองชีพ เป็นต้น

    “อยากให้นายกรัฐมนตรีเห็นใจผู้ใช้แรงงานด้วย เนื่องจากข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ได้รับการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศแบบเท่าเทียมแล้ว แต่ส่วนของผู้ใช้แรงงานซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจยังไม่ได้ถูกมองให้เกิดความเท่าเทียม การมาของพวกเราครั้งนี้ก็เพยงแค่ยื่นหนังสือเพื่อให้รัฐบาลทราบถึงความเดือดร้อน ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวอะไร เพราะพวกเราก็คำนึงถึงประเทศชาติพี่น้องประชาชนที่กำลังโศกเศร้าด้วยกันอยู่จึงมากันไม่กี่คน ซึ่งการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ไม่เป็นธรรมจริงๆ อยากให้เห็นใจพี่น้องผู้ใช้แรงงานด้วย ” นายชาลีกล่าว

    ชงใช้ ม.44 ยกเลิกสัมปทานรถร่วม ขสมก.

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสด (https://www.khaosod.co.th/?p=71738)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสด (https://www.khaosod.co.th/?p=71738)

    วันที่ 28 ต.ค. 2559 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่านายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เปิดเผยถึงผลการประชุมเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559 ว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเตรียมนำเสนอนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณารายละเอียดการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 เพื่อยกเลิกสัญญาการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพและปริมณฑลของเอกชนที่ทำไว้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทั้งหมด 111 สัญญา โดยพบรายที่เหลืออายุสัญญามากสุดคือประมาณ 7 ปี ทั้งนี้เพื่อจัดระเบียบการกำกับดูแลการเดินรถโดยสารสาธารณะใหม่ทั้งหมด ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เข้ามาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานด้านกำกับดูแทน ขสมก. โดยให้ ขสมก. เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงอย่างเดียว

    ตามขั้นตอน นายอาคมจะพิจารณาข้อเสนอก่อนหากเห็นชอบ ก่อนส่งต่อไปยังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เสนอ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณา และต้องนำเข้า ครม. เพื่ออนุมัติด้วย จากนั้นจึงจะออกเป็นรอประกาศลงในราชการกิจจานุเบกษาจึงจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

    “เราจำเป็นต้องใช้ ม.44 เพราะอายุสัญญาของผู้ประกอบการเดินรถประจำทางแต่ละรายหมดอายุไม่เท่ากัน จึงต้องใช้ ม.44 มาช่วย โดยจะต้องยกเลิกไลเว๋นส์ใหม่ทั้งหมด หรือเซ็ตซีโร่ เพื่อทำให้ทุกสัญญาหมดอายุในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมกันทั้งหมด เมื่อการยกเลิกสัญญาทุกรายแล้ว ขบ. จะเป็นผู้พิจารณาเรื่องของการเยียวยาเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญา เช่น กรณีที่สัญญาเหลือ 3 ปี หรือ 5 ปี เบื้องต้นจะผ่อนผันให้ไปจนถึงสิ้นปี 2561 จากนั้นจะเปิดให้ยื่นคำขอเพื่อคัดเลือกแข่งขันกันเป็นผู้ให้บริการในเส้นทางที่กำหนดต่อไป โดย ขบ. ได้นำเสนอหลักเกณฑ์ให้ที่ประชุมทราบแล้ว แต่ที่ประชุมได้ให้ไปดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อนำมาเสนออีกครั้ง” นายดรุณกล่าว

    บึมญี่ปุ่น ตาย 1 เจ็บ 3

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/762147)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/762147)

    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อวันที่ 23 ต.ค. สำนักข่าวเอ็นเอชเคของญี่ปุ่น และสำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน เกิดเหตุระเบิดหลายครั้งในพื้นที่ 2 จุด บริเวณลานจอดรถใกล้สวนสาธารณะโจชิ ในเมืองอุสึโนะมิยะ จังหวัดโทชิงิ ของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือกรุงโตเกียว เมื่อช่วงใกล้เที่ยงของวันที่ 23 ต.ค. 2559 ตามเวลาท้องถิ่น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 3 ราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจของเมืองอุสึโนะมิยะกำลังเร่งสืบสวนสอบสวนสาเหตุระเบิดรุนแรงในครั้งนี้

    จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของเมืองอุสึโนะมิยะระบุว่า เหตุระเบิดเกิดขึ้นบริเวณลานจอดรถใกล้สวนสาธารณะในเมืองอุสึโนะมิยะ ซึ่งเป็นเมืองเอกและเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดของจังหวัดโทชิจิ โดยได้ยินเสียงระเบิดครั้งแรก เมื่อเวลา 11.31 น. และ 11.32 น. ตามเวลาท้องถิ่น จากนั้นอีก 15 นาทีต่อมา ได้ยินเสียงระเบิดครั้งที่ 3 ซึ่งดังกว่า 2 ครั้งแรก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพบร่างผู้เสียชีวิตรายหนึ่งใกล้กับที่จอดรถจักรยานภายในลานจอดรถ และห่างออกไปประมาณ 200 เมตร บริเวณที่จอดรถแบบหยอดเหรียญ ได้มีรถยนต์คันหนึ่งเกิดไฟไหม้หลังเกิดเหตุระเบิด โดย จากภาพถ่ายทางอากาศจากเฮลิคอปเตอร์รายงานข่าวของสำนักข่าวเอ็นเอชเค แสดงให้เห็นภาพ รถยนต์ 2 คัน โดนไฟเผาวอดเสียหายหมด

    สรรพากรยุติเก็บภาษี “ทักษิณ” กรณีหุ้นชินคอร์ป

    นายทักษิณ ชินวัตร  ที่มาภาพ: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา (https://goo.gl/vnPsfZ)
    นายทักษิณ ชินวัตร
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา (https://goo.gl/vnPsfZ)

    วันที่ 26 ต.ค. 2559 สำนักข่าวอิศรารายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้รับแจ้งหนังสือตอบกลับจากกรมสรรพากร กรณี สตง. ได้ขอกรมสรรพากร ประเมินเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ชินคอร์ป) โดยระบุว่า กรณีการประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญตามมาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องปรากฎว่าผู้เสียภาษีเป็นผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญที่แสดงว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และทรัพย์สินนั้นก่อให้เกิดเงินได้พึ่งประเมิน หรือเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินโดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น

    ทั้งนี้ เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีตามมาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีผู้เสียภาษีเป็นผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญ ซึ่งไม่มีหลักฐานหรือพยานอื่นมาพิสูจน์ หรือมีหลักฐานหรือพยานอื่นๆ แต่ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียภาษีเป็นตัวแทนเชิด

    แต่กรณีมีเอกสารหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดเป็นตัวการ เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีตัวการ ซึ่งจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 คำพิพากษาภาษีอากรกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 242-243 /2553 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 39/2555 สรุปประเด็นความเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงได้ว่า เจ้าของหุ้นที่แท้จริงยังคงเป็น นายทักษิณ และเมื่อมีการขายหุ้นดังกล่าว ผู้มีเงินได้จากการขายหุ้นจึงเป็นนายทักษิณ ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงต้องประเมินภาษีตัวการ คือนายทักษิณ สำหรับเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ป ให้แก่บริษัทในเครือเทมาเส็ก

    อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นชินคอร์ปดังกล่าว เป็นการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามหนังสือชี้แจงของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้มีเงินได้จึงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (23) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กรมสรรพากร จึงได้มีการยุติเรื่องดังกล่าวไปแล้ว 

    ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมเสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีนายพานทองแท้และนางพินทองทา บุตรชายและบุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กรณีเมื่อปี 2549 ทั้งสองคนได้ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นในราคาต่ำกว่าราคาในตลาดหลักทรัพย์ แม้เมื่อเร็วๆนี้ อธิบดีกรมสรรพากรจะได้ชี้แจงว่า ไม่อาจจะเรียกเก็บภาษีได้เพราะไม่ใช่เงินของคนทั้งสอง แต่เป็นเงินของอดีตนายกทักษิณที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ยึดทรัพย์ไปแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2553 

    โดยแนวทางกฎหมายที่ สตง. จะนำมาใช้ในกรณีนี้ คือ การเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใช้อำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ขยายกำหนดเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีออกไปเกิน 5 ปี คือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จนถึงวัน เดือน ปี ใดๆ ณ ปัจจุบัน เพื่อให้กรมสรรพากรออกหมายเรียกตรวจสอบและทำการประเมินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ได้

    “สตง. เห็นว่า รมว.คลังมีอำนาจที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร มาดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า ไม่อาจจะเรียกเก็บภาษีได้เพราะไม่ใช่เงินของคนทั้งสอง แต่เป็นเงินของอดีตนายกทักษิณที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ยึดทรัพย์ไปแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2553 นั้น สตง. ไม่เห็นด้วย และไม่ถูกต้อง เพราะมองว่าเป็นเรื่องคนละส่วนกัน”

    ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราถึงการหาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้ภาษีที่รัฐต้องสูญเสียไปจากกรณีนี้ว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่ากรมสรรรพากร คงไม่สามารถดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อีก เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า หุ้นที่นายพานทองแท้และนางพินทองทาถืออยู่เป็นหุ้นของนายทักษิณ และมีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ยึดทรัพย์ จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทของนายทักษิณมาเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเงินภาษีจำนวนนี้ก็รวมอยู่ในเงินก่อนนี้ด้วย

    “เงินภาษีจำนวนนี้ก็รวมอยู่ในเงินก้อน 4.6 หมื่นล้านบาท และมันก็ตกมาเป็นของหลวงหมดแล้ว ตอนนี้เงินทั้งหมดก็อยู่ที่กรมบัญชีกลางแล้ว ไม่รู้จะไปเงินอะไรกับใครอีก ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มข้าราชการที่ไปตอบข้อหารือ ศาลก็มีคำพิพากษาไปแล้วทุกอย่างก็น่าจะจบไปหมดแล้ว”

    อธิบดีกรมสรรพากรยังระบุว่า ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่กรมสรรพากรไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกากรณีที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ให้นายพานทองแท้และนางพินทองทาชนะคดีที่ยื่นฟ้องกรมสรรพากรซึ่งเรียกเก็บภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปนั้น ก็มีคำถามเหมือนกันว่า ทำไมถึงไม่ยื่นเรื่องอุทธรณ์

    “แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง ตนก็คงจะไม่เข้าไปทำอะไร เพราะถือว่าเรื่องมันจบไปแล้ว ส่วนหน่วยงานใดจะดำเนินการอะไรก็ว่าไป” อธิบดีกรมสรรพากรระบุ