ThaiPublica > คอลัมน์ > “หนูสาบานค่ะ!” Under the Sun

“หนูสาบานค่ะ!” Under the Sun

8 ตุลาคม 2016


1721955

open-poster

‘Under the Sun (2015) เป็นหนังที่จะทำให้คุณต้องอึ้งกรามค้างในความเซอร์เรียลและชวนขนหัวลุก เพราะนี่คืออีกเวอร์ชันหนึ่งของ The Trueman Show ในชีวิตจริง’ -เดอะ ฮอลลีวูด รีพอร์ตเตอร์ นิตยสารภาพยนตร์ชื่อดัง เปรียบเทียบสารคดีเรื่องนี้กับ The Trueman Show (1998) หนังฮอลลีวูดที่ทำให้นักแสดงตลกอย่าง จิม แคร์รี คว้าลูกโลกทองคำมาได้ จากบทของชายผู้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วชีวิตดี๊ดีสุดเพอร์เฟกต์ของเขาเป็นเพียงโลกสมมติในรายการเรียลลิตี้ทางทีวีเท่านั้นเอง

1-3

Under the Sun เปิดฉากด้วยภาพของเด็กหญิงวัยแปดขวบ ลี ซิน-มี ผู้น่ารักที่ถูกทางการคัดเลือกมาอย่างดี พูดขึ้นว่า “พ่อสอนฉันว่าเกาหลีคือส่วนที่งดงามที่สุดในโลกซีกตะวันออก และเป็นดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย…”

ก่อนจะให้ข้อมูลว่า ‘สคริปต์หนังเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นโดยคำสั่งจากฝ่ายเกาหลีเหนือ พวกเขาเตรียมการทุกอย่าง คอยดูแลสถานที่การถ่ายทำอย่างเข้มงวด และควบคุมฟุตเทจเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล หรือให้ข้อมูลผิดๆ ในการจะนำเสนอภาพที่ถูกต้องเกี่ยวกับ ‘ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศที่ดีที่สุดในโลก’ อันเป็นโครงการที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยท่านประธานาธิบดีตลอดกาล คิม อิล-ซุง ผู้ยิ่งใหญ่’

2-1

นี่คือสารคดีร่วมทุนสร้างโดย รัสเซีย, เยอรมัน, สาธารณรัฐเช็ก, ลัตเวีย และเกาหลีเหนือ ของผู้กำกับชาวลัตเวีย วิตาลี มันสกี้ เขาเล่าว่า “ความฝันของผมในการถ่ายทำในเกาหลีเหนือคือการค้นหารากเหง้าในอดีตของประเทศผม ซึ่งเคยเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน” มันสกี้เกิดและเติบโตมาในช่วงเวลาที่ประเทศของเขายังคงเป็นสหภาพโซเวียต ชีวิตของเขาจึงถูกแบ่งเป็น 2 ช่วงที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือ ช่วงก่อนและหลังปี 1991 หลังจากโซเวียตล่มสลายลงในปีนั้น สิ่งนี้เป็นแรงผลักให้เขาทำสารคดีเรื่องก่อนหน้านี้อย่าง Motherland or Death (2011) ที่ว่าด้วยแนวคิดแบบสังคมนิยมในคิวบา เพื่อจะเชื่อมโยงกับโซเวียตในยุค 70 อันเป็นวัยเด็กที่มันสกี้เติบโตมา

สารคดีเรื่องนั้นได้ฉายในเทศกาลหนังวลาดิวอสตอคในรัสเซีย ทำให้เขาได้พบกับตัวแทนจากเกาหลีเหนือในเทศกาลนั้น พวกเขาใช้เวลากันอยู่นานสองปี กว่าจะบรรลุข้อตกลงสุดท้ายที่เกาหลีเหนืออนุญาตให้เขาถ่ายทำ ประเด็นว่าด้วย ‘พิธีประดับเหรียญเข้าสู่การเป็นสมาชิกสหพันธ์ยุวชน’ ที่จะเกิดขึ้นทุกปีในช่วง ‘วันแห่งดาวจรัสฟ้า’ อันเป็นวันรำลึกวันคล้ายวันเกิดของท่านผู้นำสูงสุด คิม จอง-อิล

3-1

แต่มีข้อแม้ว่าทางการเกาหลีเหนือจะเป็นผู้เขียนสคริปต์ทั้งหมดขึ้น จัดหานักแสดง และทีมงานมาช่วยกำกับการแสดง โดยแต่ละวันจะมีกองเซ็นเซอร์มารับเอาฟุตเทจทั้งหมดไปตรวจสอบ และสามารถสั่งตัดทิ้งได้ตามอำเภอใจ โดยทุกฝีก้าวจะถูกจับตาโดยทีมควบคุม ที่จะคอยสอดส่องทีมงานของมันสกี้ ซึ่งมีเพียงตัวเขา ตากล้อง คนบันทึกเสียง (และ มันสกี้แอบจ้างล่ามชาวรัสเซียมาอยู่ในกองในฐานะผู้ช่วยของเขา โดยไม่ได้บอกให้ทางการเกาหลีเหนือรู้ว่าเธอคนนั้นรู้ภาษาเกาหลีเป็นอย่างดี) โดยมันสกี้ห้ามพูดคุยกับนักแสดง หรือชาวบ้านคนใดเลยในกรุงเปียงยาง

นี่จึงกลายเป็นสารคดีที่แปลกประหลาดโลกที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะแม้มันจะมีรูปแบบอย่างหนังสารคดี แต่มีการบอกบท กำกับ ควบคุมในแบบที่ไม่ใช่หนังสารคดี มันสกี้จึงแก้เกมโดยการแบ็คอัพฟุตเทจทั้งหมดซุกไว้ในเมมโมรีการ์ดอีกชุดหนึ่ง ที่นอกจากจะถ่ายสิ่งที่เกาหลีเหนือบอกให้ถ่ายแล้ว เขายังบันทึกภาพเบื้องหลังแต่ละฉากที่ถูกจัดฉากมาอย่างเนี้ยบเอาไว้ด้วย

4

“แอ็คชั่น!” ผู้กำกับการแสดงชาวเกาหลีเหนือสั่ง
พ่อ: “ซิน-มี กินกิมจิเยอะๆ สิลูก เพราะนี่คืออาหารประจำชาติของประเทศเรา ถ้าวันๆ หนึ่งหนูกินกิมจิร้อยกรัม และดื่มน้ำดองกิมจิวันละ 70 มล. หนูก็จะได้วิตามินสำคัญครบถ้วนเลยเชียวล่ะ”

นี่คือฉากพ่อแม่ลูกนั่งกินข้าวกันภายใต้รูปท่านผู้นำผู้ล่วงลับผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง คิม อิล-ซุง และคิม จอง-อิล
ซิน-มี: “หนูยังรู้อีกเรื่องหนึ่งด้วยค่ะ”
พ่อ: “เรื่องอะไรรึ?”
ซิน-มี: “กิมจิเป็นสุดยอดอาหารที่ทำให้พวกเรามีอายุยืนยาวเพราะมันมีสารต้านมะเร็งด้วยค่ะ”
พ่อ: “เก่งมากลูก หนูนี่ต้องอ่านหนังสือมามากแน่ๆ เลย ถึงได้มีความรู้มากมายขนาดนี้”
แล้วทันใดนั้นภาพก็ตัดฉับทันที เป็นฉากเดิม บทสนทนาเดิม แต่สลับตำแหน่งนั่ง จัดแสงใหม่ ซ้ำๆ

“คัท!” ผู้กำกับการแสดงสั่งเป็นภาษาเกาหลี “อย่าแสดงเหมือนแสดงหนังสิหนู ทำตัวให้เป็นธรรมชาติหน่อย เหมือนอยู่ในบ้านจริงๆ น่ะ”

ก่อนกล้องจะเผยให้เห็นจอทีวีที่เปิดคลออยู่ตลอดระหว่างการถ่ายทำ เป็นกรณียกิจต่างๆ ของท่านผู้นำคิมผู้ล่วงลับ ฉายวนๆ ซ้ำๆ ทั้งวันทั้งคืนทางจอทีวี (แม้ในยามค่ำคืนที่พลเมืองถูกสั่งให้ดับไฟเพื่อประหยัดไฟ) สลับกับภาพชาวบ้านเดินถนนข้างนอกที่ต่างก็มีสีหน้าซังกะตาย ไม่ยิ้มแย้ม

ความประหลาดอีกอย่างคือ อาชีพของพ่อแม่ ซิน-มี ความจริงพ่อของเธอเป็นนักหนังสือพิมพ์ และแม่เป็นคนงานในโรงอาหาร แต่ระหว่างถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ พวกเขาถูกเปลี่ยนสับให้พ่อไปรับหน้าที่วิศวกรในโรงทอผ้า ส่วนแม่ถูกมอบหมายให้ไปเป็นแรงงานในโรงเพาะถั่วเหลืองแห่งชาติ เนื่องด้วยทางการเห็นว่าสองอาชีพนี้แลจะสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่ประเทศได้มากกว่า

5

แต่ก็ไม่มีสิ่งใดจะฉุดรั้งความแสบของมันสกี้เอาไว้ได้ ในแต่ละฉาก เช่น คลาสเรียนของเด็กประถมที่สอนเรื่อง ‘ท่านผู้นำกำราบและขจัดศัตรูชาวญี่ปุ่น กับอเมริกันผู้รุกรานได้อย่างไร’ กล้องก็ไพล่ไปถ่ายภาพเด็กๆ แต่ละคนที่พยายามขืนสีหน้าให้ยิ้มแย้มขึงขัง แต่แอบปรือตาง่วงหาวฝืนข่มให้ตาโตใสแบ๊วแช่มชื่นตลอดเวลา

กล้องเคลื่อนไปหารูปของสองผู้นำที่ถูกแขวนเด่นสง่าอยู่เหนือกระดานดำหน้าชั้นเรียน หรือเมื่อในฉากที่มีรัฐบุรุษอาวุโสเข้ามาอบรมให้เด็กๆ รับรู้ถึงวีรกรรมอันหาญกล้ายิ่งใหญ่และมหาการุญคุณความดีของท่านผู้นำผู้ล่วงลับ กล้องก็จับเหรียญตราประดับยศที่ติดพรืดอย่างแน่นพื้นที่บนอกเสื้อของมหาบุรุษวัยแก่ชรา ซึ่งพร่ำพล่ามข้อมูลซ้ำๆ ชุดเดิมเดียวกับสิ่งที่ครูประจำชั้นเพิ่งสอนไป สิ่งเดียวกับที่ได้ยินบนจอทีวี สิ่งเดียวกับในสื่อตามสายที่ประกาศเจื้อยแจ้วตามถนนหนทางสาธารณะ ฯลฯ

6

“ปรัชญาจูเช เป็นปรัชญาสำคัญที่ท่านผู้นำมอบไว้ให้แก่พวกเรา ดังนั้นเราจึงควรเคารพและสำนึกในบุญคุณของท่านผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง ด้วยการคำนับรูปของพวกท่านเสมอ”

“ประเทศของเรานั้นสวยงามเหลือเกิน จะหาที่แห่งใดงดงามเท่าบ้านเราได้อีกล่ะ”

“จงคัด จงเขียน จงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อท่านผู้นำสูงสุดตลอดกาลจนกว่าโลกใบนี้จะแหลกสลาย”

ความอันตรายของการละเมิดกฎหมายเกาหลีเหนือคือคุณจะได้รับบทลงโทษอย่างแสนสาหัส ตัวอย่างที่ชวนขนหัวลุกคือระหว่างถ่ายทำในเดือนมีนาคมปี 2015 นักศึกษาชาวอเมริกันคนหนึ่งถูกลงโทษใช้แรงงานหนักถึง 15 ปี ในคุก เพียงเพราะเขาลักลอบฉีกโปสเตอร์พรอพากันดาภายในโรงแรมที่เขาพัก

7

แต่แล้วการถ่ายทำก็ถูกชะลอลง เมื่อการเดินทางเข้าเกาหลีเหนือครั้งหลังๆ ของมันสกี้ถูกยกเลิก อันเป็นสัญญาณให้เขารู้ว่าทางการเกาหลีเหนือรู้ตัวแล้วว่าถูกดัดหลัง มันสกี้จึงตัดสินใจตัดต่อฟุตเทจที่เขามี เช่น การซ้อมการแสดงต่อหน้าที่นั่งท่านผู้นำคิม จ็อง-อึน ที่ต้องขืนตายิ้มตลอดเวลา, ภาพชาวบ้านปรบมือใหักับแสนยานุภาพอาวุธสงครามที่ทัพทหารพาเหรดมาให้ชมเป็นขวัญตา ฯลฯ กลายเป็นสารคดีความยาว 106 นาที ที่แม้จะไม่มีคำบรรยายใดใด เป็นเพียงภาพชีวิตประจำวันซ้ำๆ แต่ก็กลับแสดงความไม่ชอบมาพากลในประเทศประหลาดๆ แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี จนหนังสามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังด็อคอะวีฟในอิสราเอล, รางวัลจูรี ไพรซ์ จากเทศกาลหนังฮ่องกง, รางวัลยอดเยี่ยมจากเทศหนังหนังมิลเลนเนียมด็อคส์ อะเกนส์ กราวิตี้ ในโปแลนด์ และเข้าฉายในเทศกาลต่างๆ อีกมากมายกว่า 50 เทศกาล

8

“สิ่งที่เกิดขึ้นในฉากสุดท้าย ผมไม่รู้ว่านั่นเป็นน้ำตาแห่งความซาบซึ้งของซิน-มีจริงๆ หรือเป็นเพียงบทบาทในการแสดงของเธอเท่านั้น เธออาจจะอินกับสิ่งที่ถูกกล่อมเกลาปลูกฝังมาจริงๆ ก็ได้” มันสกี้กล่าว ฉากนั้นเป็นการจับภาพซิน-มีอย่างแช่มช้า เนิ่นนาน ส่องมองอากัปกิริยาสีหน้าของเธอที่คาดเดาไม่ได้ว่าเธอรู้สึกอย่างไรกันแน่

“หยุดร้องไห้เถอะหนู” ผู้กำกับการแสดงชาวเกาหลีสั่ง “พยายามคิดถึงแต่สิ่งดีดี”

“อะไรนะคะ” เธอถามไปหลังกล้อง “สิ่งดีดี…หนูนึกไม่ออกค่ะ” ผู้กำกับบอกต่อว่า “ก็เรื่องอะไรสนุกๆ ตลกๆ ที่เคยเกิดขึ้นไง…กลอนปลุกใจก็ได้นะ” ซิน-มีเริ่มพล่ามท่องบทปลุกใจ “…สำนึกในบุญคุณของท่านผู้นำ เคารพยำเกรงท่านผู้นำ ผู้มอบปรัชญาจูเชอันดีงามให้แก่พวกเรา…หนูสาบานค่ะ”

ซิน-มีฝืนยิ้มแก้มปริด้วยแววตาเหนื่อยล้านองน้ำตา

9