ThaiPublica > เกาะกระแส > “บรรยง พงษ์พานิช” มองความย้อนแย้ง เราจะประสานพุทธศาสนาเข้ากับทุนนิยมได้อย่างไร

“บรรยง พงษ์พานิช” มองความย้อนแย้ง เราจะประสานพุทธศาสนาเข้ากับทุนนิยมได้อย่างไร

12 ตุลาคม 2016


นายบรรยง พงษ์พานิช
นายบรรยง พงษ์พานิช

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 มีการจัดงานประชุม “Sustainable Brands’16 Bangkok” ภายใต้หัวข้อหลัก “Activating Purpose” ในงานมีวิทยากรจำนวนมาก หนึ่งในนั้นมีนายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการธนาคารเกียรตินาคิน พูดในหัวข้อ “How to Apply Buddhism to Capitalism” มีรายละเอียดดังนี้

ก่อนอื่นจะขออนุญาตปรับหัวข้อนิดหนึ่ง อยากจะปรับกับคำว่า “ประยุกต์” มาเป็นคำว่า “ประสาน” เปลี่ยนคำว่า “apply” มาใช้คำว่า “reconcile” เพราะฉะนั้นหัวข้อก็จะเป็น “เราจะประสานพุทธศาสนาเข้ากับทุนนิยมได้อย่างไร” สาเหตุที่ขอปรับเปลี่ยนก็เป็นเพราะว่า คำว่าประยุกต์ ถ้าไปดูให้ดีมันแปลว่า “ปรับใช้” ซึ่งการที่เราจะไปปรับพุทธศาสนาซึ่งเป็นสัจจะที่จริงแท้ที่คงที่มากว่า 2600 ปี ไปเข้ากับทุนนิยมซึ่งเป็นแค่กระบวนการที่ไม่ถึง 250 ปี แถมยังขาดความสมบูรณ์อย่างมาก ยังตะกุกตะกัก เกิดวิกฤติอยู่เนืองๆ มันก็คงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะ

ครั้นจะไปปรับทุนนิยมให้เข้าพุทธศาสนา ก็คงจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไปที่จะเป็นไปได้ในเร็ววัน ก็เพราะพุทธมามกะทั้งโลกมีแค่ 6% คือ 420 ล้านคนเท่านั้นเอง ในขณะที่คนที่สมาทานทุนนิยมนั้นมี 6,000 กว่าล้านคน

ที่เลือกใช้คำว่า “ประสาน” ก็เพราะว่าคำนี้มันมีนัยอย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องของสองสิ่งที่แปลกแยกกันอยู่ ของสองสิ่งที่ไม่เหมือนกัน ดูเผินๆ เหมือนไปคนละทิศคนละทาง โดยเฉพาะในแง่ปรัชญาการมองทรัพยากรที่มีอยู่ในโลก และท่าทีที่มนุษย์ควรจะมีต่อทรัพยากรเหล่านั้น

ทุนนิยมนั้นมีสมมติฐานหลักที่สำคัญมาก คือ ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด เพราะฉะนั้น ระบบทุนนิยม ก็เป็นระบบที่ทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกทำให้เกิดผลิตผลมากที่สุด แล้วใช้แรงจูงใจ ความอยากได้ของมนุษย์เป็นเครื่องมือสำคัญ ให้มนุษย์แข่งขันกัน ให้มีประสิทธิภาพ ใครมีประสิทธิภาพก็ได้รับรางวัลไป ใน “ความอยาก” ชนิดนี้ทำให้ทุนนิยมมีชัยเหนือระบบเศรษฐกิจประเภทอื่น เช่น คอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่อนุญาตให้คนมีความอยาก ตั้งใจให้คนได้รับเท่าๆ กันทุกคน แต่ผลก็คือคนก็เลยยอมแบ่ง ไม่ค่อยมีคนทำ

ในส่วนของพุทธศาสนาก็มอง “ความขาดแคลนเป็นแค่มายาภาพในใจ” ทรัพยากรจะมีมากมีน้อยแค่ไหน ขอเพียงแค่ใจมนุษย์ไม่มีความอยาก เข้าถึงความพอ ความขาดแคลนนั้นก็ไม่มีความเป็นสาระสำคัญอันใด ถึงตอนนี้ก็คงจะเห็นแล้วว่าความแปลกแยกในปรัชญานั้นเป็นอย่างไร ทุนนิยมนั้นยืนยันว่า “ของทุกอย่างขาด ต้องอยาก ถึงจะทำ”

ในขณะที่พุทธศาสนาสอนเราว่า “ทุกอย่างมีพอ ต้องละ ถึงจะสุข” มันก็เลยดูเหมือนเป็นน้ำกับไฟ ที่ไปกันไม่ได้ จะให้ประสานกันได้อย่างไร

ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยก็เลยเชื่อว่า “ถ้าพุทธจะรุ่ง ทุนก็จะต้องโรย ถ้าทุนยังรุ่งอยู่ พุทธก็อาจจะต้องหลบไปก่อน”

ความคิดอย่างนี้ที่เป็นความแตกแยก มันเกิดจากการมองอย่างไม่ครบภาพ ถ้าเรามองให้ลึกลงไปกว่านั้น เราจะพบว่าทั้งทุนทั้งพุทธไม่ได้สนับสนุนหรือคัดค้านความโลภเพื่อเป็นวัตุประสงค์ในตัวของมันเอง “พุทธ” พยายามที่จะให้คนลดความอยาก เพื่อบรรเทาความขาดแคลน ขณะที่ “ทุน” พยายามให้มีการผลิตให้มากที่สุด ก็เพื่อลดความขาดแคลน เหมือนๆ กัน

พูดอย่างภาษาเศรษฐศาสตร์ พุทธศาสนานั้นก็คือการบริหารจัดการด้านอุปสงค์ ไม่ให้มนุษย์มีดีมานด์ในสิ่งที่ไม่จำเป็น ในสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ในขณะที่ทุนนิยมก็เป็นการจัดการบริหาร เพิ่มซัพพลายเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้มากขึ้น ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้เราก็จะเห็นว่า สองอย่างนี้ จริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นปฏิปักษ์กัน มันสามารถจะนำเอามาสอดประสานกันได้ และถ้าทำได้อย่างกลมกลืน มันก็จะทำให้แก้ปัญหาอันยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวกับความขาดแคลนของโลก หมดไปได้

ทำไมความเข้าใจอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับชาวพุทธ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการที่จะตั้งเป้าหมายของชีวิต เป้าหมายขององค์กร คิดดูว่าทำไมใจเรายังมีแต่ความย้อนแย้ง ใจหนึ่งก็ถูกสอนให้ละความอยาก ขณะที่อีกใจหนึ่งก็ยังจะต้องดำรงชีวิตในระบบที่ใช้ความอยากเพื่อขับเคลื่อน ถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจว่าพุทธศาสนากับทุนนิยมเป็นปฏิปักษ์ เราจะสมาทานไปทางใด ถ้าดูเผินๆ ก็หมือนหันหลังให้อีกทางหนึ่ง

ถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะมาสร้างเป้าหมายที่มีคุณค่า ทีมีความหมายได้อย่างไร เมื่อเป้าหมายไม่แข็งแรง ฉันทะก็ไม่เกิด ความเพียรก็ไม่ตามมา จะประสบผลสำเร็จได้อย่างไร คนเราย่อมไม่สามารถที่จะทำสิ่งที่ไม่ได้ศรัทธาจนหมดหัวใจให้ได้ดีได้หรอก โดยเฉพาะชาวพุทธเรามักจะไม่เข้าใจทุนนิยมในแง่ของกระบวนการจัดสรรทรัพยากร ที่ล้อไปกับธรรมชาติ ความชอบได้ เกลียดเสีย ของมนุษย์ เรามักไปมองทุนนิยมแบบตัดสินถูกผิด มองว่าเป็นเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบ มองว่าเป็นเรื่องของการโลภ เป็นเรื่องกำไรแต่เพียงอย่างเดียว

ความที่คิดอย่างนี้ แต่ตัวก็หนีไม่พ้นที่จะต้องดำรงชีวิตในระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันทั่วโลก การงานของเราก็เลยเป็นเรื่องว่างเปล่า เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะมีแก่นสาร นอกเหนือไปจากการค้ากำไร นอกเหนือไปจากการที่จะได้เงินเดือนไปวันๆ อย่างเก่งพอสะสมได้มากเข้า ก็ไปทำความดีโดยการบริจาค ตรงกันข้าม ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจ ปลูกฝัง ว่าพุทธกับทุนนั้นไม่ได้ย้อนแย้ง เป็นเรื่องที่สอดประสานไปด้วยกันได้ ถ้าทำอย่างนั้นได้ ธุรกิจการงานที่เราทำ ไม่ใช่แค่เรื่องหาเลี้ยงปากท้องไปวันๆ แต่เราสามารถทำให้เป็นกิจกรรมที่มีคุณประโยชน์ต่อโลก ได้ไม่แพ้ศาสนา

ดังนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น ก่อนที่จะไปบริจาค ไปทำ CSR งานที่เราทำมันจะมีความดี ความงาม และความเพื่อสังคมในตัวของมันอยู่ทุกขณะ หรือทุกกิจกรรมอยู่แล้ว

นอกจากนั้น ถ้าเราเลือกเอาหลักการทุนนิยมที่ดีมาสอดประสานกับแก่นแท้ของพุทธศาสนา ก็จะพบว่ามันไม่มีอะไรขัดแย้งกัน อย่างเช่น ฆราวาสธรรมทั้งหลายจะเป็น อิทธิบาท 4 พละ 5 พรหมวิหาร 4 เหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งใดๆ กับหลักการทุนนิยมที่ดีเลย แถมถ้าเราเอามาใช้ร่วมกันได้ มันก็ทำให้เราห่างไกลจากทุนนิยมสามานย์ไปได้ทุกที

อย่างพุทธศาสนาเอง ถ้าเราศึกษาให้ดี เราก็จะพบว่า พุทธศาสนาไม่ได้ห้ามความทุ่มเท พากเพียร เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์แต่อย่างใด แม้พระพุทธองค์เอง หลังที่ทรงตรัสรู้ และทรงตัดสินพระทัยที่จะเผยแผ่ศาสนาแล้ว พระองค์ก็ทรงพากเพียรอยู่ถึง 45 ปี ดำเนินด้วยพระบาทหลายพันกิโลเมตร เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะช่วยให้มนุษย์หลุดทุกข์ให้มากที่สุด พระอริยเจ้า พระมหาเถระ รุ่นต่อๆ มา ก็ล้วนแต่บากบั่นมุ่งมั่นในการนี้ทั้งสิ้น ธรรมะคือการทำหน้าที่ การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม

นายบรรยง พงษ์พานิช
นายบรรยง พงษ์พานิช

ประสบการณ์โดยตรง ถ้าเราสามารที่จะสร้างเป้าหมายร่วมขององค์กรให้มันสอดประสานไปกับเป้าหมายของสังคม เป้าหมายของลูกค้า เป้าหมายของพนักงาน เป้าหมายของมนุษยชาติได้ ผลประโยชน์รวมก็จะทำให้องค์กรมีทิศทางที่ชัดเจน มีพลังมหาศาล แล้วพนักงานก็จะรู้ว่าอะไรที่ไม่ตอบโจทย์สังคม ไม่ตอบโจทย์ส่วนรวม ก็จะไม่สามารถตอบโจทย์องค์กร และก็ไม่สามารถจะตอบโจทย์ของปัจเจกในระยะยาวได้ พนักงานก็จะมีพลัง เพราะรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้น นอกจากจะดีกับตน จะดีกับองค์กรแล้ว ก็ยังดีกับสังคมด้วย การที่ไม่รู้สึกย้อนแย้งภายใน ก็ทำให้เรามีพลัง วิ่งได้เต็มที่

ยกตัวอย่าง องค์กรของผม (ธนาคารเกียรตินาคิน) เราก็ตั้งเป้าหมาย ตั้งหลักการง่ายๆ ว่าเราจะทำธุรกิจทุกอย่างที่เราทำ ให้สอดคล้องกับการทำให้ตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนที่ดี ทำให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจได้ไปอยู่ในที่ๆ ควรอยู่ ได้สร้างประโยชน์ให้สูงสุด พอเรามีเวลาว่าง มีทรัพยากรเหลือ เราก็ใช้เวลาว่างและทรัพยากรเหล่านี้ไปช่วยส่วนกลางในการทุ่มเทให้ตลาดทุนให้ตอบโจทย์ของทุนนิยมที่ดีมากขึ้น ช่วยสังคมในด้านต่างๆ

แค่หลักง่ายๆ แค่นี้ กับความมีวินัย ยึดมั่นในหลัก ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญพอๆกัน ก็ทำให้องค์กรเล็กๆ สามารถจะพัฒนาเจริญยั่งยืนมาได้กว่า 30 ปี

ทุกท่านครับ เมื่อใดก็ตามที่เป้าหมายของธุรกิจกับของสังคมหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ขัดแย้งศรัทธาศาสนา ฉันทะย่อมเกิด ความเพียรย่อมตามมา ส่งผลให้เกิดความเจริญอย่างยั่งยืนที่แท้จริง