ThaiPublica > คอลัมน์ > เก็บค่าน้ำเสียอย่างไรให้เป็นธรรม

เก็บค่าน้ำเสียอย่างไรให้เป็นธรรม

9 กันยายน 2016


ดร.ดาว สุวรรณแสง จั่นเจริญ
ศ. ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีข่าวลงหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ในไทยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ว่าสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เห็นชอบผลการศึกษาที่จะให้มีการเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากคน กทม. โดยจะเสนอให้ฝ่ายบริหารของ กทม. พิจารณาให้ความเห็นชอบและนำไปดำเนินการต่อ ซึ่งเราสองคนในฐานะที่รับผิดชอบงานสอนหนังสือด้านนี้โดยตรงเห็นด้วยในวิธีคิดนี้ แต่มีข้อเห็นต่างและข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

1. ความกล้าหาญ

แนวคิดในการให้ผู้ทิ้งน้ำเสียต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าน้ำเสียนี้ เป็นแนวคิดที่ที่ไหนในโลกเขาก็ทำกัน กทม. เองก็มีแนวคิดนี้มากว่าสิบปีแล้ว โดยได้มีข้อบัญญัติเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2547 แต่ดำเนินการเก็บจริงไม่ได้ สาเหตุคือ นักการเมืองกลัวเสียคะแนนเสียงและไม่มีความกล้าพอ ผิดกับเมืองพัทยาและเทศบาลบางแห่งที่กล้าหาญพอและสามารถจัดเก็บได้แล้ว เรียกว่า กทม. ตัวใหญ่แต่ใจเล็ก ก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงนัก

2. ความยุติธรรม

ในการเก็บค่าน้ำเสียครั้งนี้ กทม. วางแผนที่จะเก็บจากคน กทม. ที่อาศัยอยู่ในแปดพื้นที่ที่มีการให้บริการการบำบัดน้ำเสีย ได้แก่ หนองแขม รัตนโกสินทร์ สี่พระยา บางซื่อ จตุจักร ดินแดง ช่องนนทรี ทุ่งครุ (รูปที่ 1) ซึ่งเราขอเรียกว่าเป็นการเก็บค่าน้ำเสียแบบใช้หลักการ Servicee Pays Principle (หรือ SPP) แต่วิธีการนี้เราเห็นว่าก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะ (ก) คนที่อาศัยอยู่นอกแปดพื้นที่บริการนี้ก็ปล่อยน้ำเสียทิ้งออกมาทุกวันเช่นกันและทำให้น้ำคลองเน่าได้เช่นกัน ซึ่งหากใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หรือ Polluter Pays Principle (PPP คือ คนไหนทำเลอะ คนนั้นต้องจ่ายค่าล้าง) คนที่อยู่นอกเขตพื้นที่บริการก็ต้องจ่ายค่าน้ำเสียเช่นกัน (ข) หากถามว่าเมื่อมีการบำบัดน้ำเสียในแปดพื้นที่นี้จนสะอาดและคลองมีสภาพดีขึ้น บ้านเมืองน่าอยู่มากขึ้น มีนักท่องเที่ยวมามากขึ้น ฯลฯ คนนอกแปดพื้นที่นี้ได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ ก็ชัดเจนว่าได้ประโยชน์เหมือนกัน ซึ่งนั่นหมายความว่าเขาก็ต้องจ่ายค่าที่ได้ประโยชน์นี้เช่นกัน หลักการนี้เราเรียกว่า Beneficiary Pays Principle (หรือ BPP) ซึ่งก็เป็นหลักการที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกด้วยเช่นกัน

รูปที่ 1 โรงบำบัดน้ำเสีย 8 แห่งของ กทม. และค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ ที่ 1 สิงหาคม 2559
รูปที่ 1 โรงบำบัดน้ำเสีย 8 แห่งของ กทม. และค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ ที่ 1 สิงหาคม 2559

3. ความ(ไม่)ยุติธรรม 2

สภา กทม. ดำริจะให้เก็บค่าบำบัดน้ำเสียเป็นเงินดังในตารางในรูปที่ 1 ซึ่งก็จะเห็นมีความไม่ยุติธรรมแฝงอยู่อีก โดยในที่นี้จะขอแสดงตัวอย่างของความไม่ยุติธรรมให้เห็นสักสองตัวอย่าง ตัวอย่างที่ 1 คือ อาคารที่ปล่อยน้ำเสียทิ้งออกมาในช่วง 10-100 ลบ.ม./เดือน ต้องจ่ายค่าบำบัดน้ำเสียเท่ากัน คือ 30 บาท/เดือน หรือคำนวณได้เท่ากับ 3 บาทต่อ ลบ.ม. ถึง 0.3 บาท (หรือ 30 สตางค์ต่อ ลบ.ม.) สำหรับอาคารที่ปล่อยน้ำเสียน้อย (10 ลบ.ม./เดือน) ไปจนถึงอาคารที่ปล่อยน้ำเสียมากกว่า (100 ลบ.ม./เดือน) ตามลำดับ นั่นหมายความว่า อาคารที่มีการปล่อยน้ำเสียมากกลับจ่ายน้อย ซึ่งไม่ยุติธรรม เพราะตามหลักการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องต้องเก็บคนที่ปล่อยมลพิษมากตามหลักเศรษฐศาสตร์การเก็บค่าบริการแบบก้าวหน้า (progressive rate) แบบที่เราต้องจ่ายค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าที่เราใช้กัน คือ ยิ่งใช้มากก็ยิ่งต้องจ่ายค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

ตัวอย่างที่ 2 เป็นในลักษณะเดียวกัน แต่ขอขยับไปดูที่ตัวเลขของอาคารที่ปล่อยน้ำเสีย 1,000 ลบ.ม./เดือนขึ้นไป ที่ต้องจ่ายค่าน้ำเสีย 1,500 บาทต่อเดือน ซึ่งคำนวณได้เป็นเพียง 1.5 บาท หรือน้อยกว่าต่อ ลบ.ม. ดังนั้น หากสถานประกอบการปล่อยน้ำเสียออกมา 2,000 ลบ.ม./เดือน ก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 0.75 บาทต่อ ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่ากรณีอาคารขนาดเล็ก เช่น บ้านเรือน (10 ลบ.ม./เดือน) ในตัวอย่างที่ 1 ที่ต้องจ่าย 3 บาทอย่างมาก ตัวอย่างการคำนวณนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตและปล่อยน้ำเสียรายใหญ่กลับจ่ายค่าบำบัดน้ำเสียน้อยกว่าผู้ปล่อยรายย่อย ซึ่งขัดกับหลักสากลที่ปฏิบัติกัน

4. ความยุติธรรม 3

กทม. ได้บอกเองว่ามีค่าใช้จ่ายในการจัดการสิ่งแวดล้อมสูงถึงปีละไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท เพราะค่าใช้จ่ายเฉพาะในการบำบัดน้ำเสีย 8 แห่ง (ซึ่งยังไม่ครบพื้นที่ทั้ง กทม. ด้วยซ้ำ งบส่วนนี้จึงเป็นเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของที่ควรจะเป็น) ที่นับรวมเพียงค่า “บำบัดน้ำเสีย” แต่ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายในการลงทุนใน “การก่อสร้าง” ท่อรวบรวมน้ำเสีย ท่อดักน้ำเสีย รวมทั้งตัวระบบหรือโรงบำบัดน้ำเสียเอง และค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร ตลอดจนค่าดอกเบี้ย ฯลฯ กทม. ก็ต้องจ่ายออกอยู่แล้วทุกเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

ถ้า กทม. เก็บค่าน้ำเสียไม่ได้ ก็เป็นภาระที่ กทม. ต้องควักเนื้อปีละหมื่นกว่าล้านบาท เงินงบประมาณส่วนนี้ต้องนำมาจากรายได้ส่วนอื่นของ กทม. เช่น งบประมาณจากรัฐบาลกลาง ภาษีท้องถิ่น ภาษีป้าย ภาษีธุรกิจการค้า ภาษีน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งเป็นการใช้เงินผิดประเภท เพราะภาษีส่วนนั้นไม่ควรนำมาใช้ในการนี้ เพราะบางคนที่เสียภาษีส่วนนั้น เช่น คนเชียงใหม่ที่ต้องเสียภาษีให้รัฐบาลกลาง อาจไม่ได้มีส่วนก่อมลพิษทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครเลย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ PPP และ BPP

ทางที่ดีและถูกต้องรวมทั้งเป็นธรรม คือ ต้องเก็บค่าใช้จ่ายหรือ “ค่าน้ำเสีย” (ไม่ใช่เพียงค่าบำบัด) ให้เพียงพอต่อการจัดการน้ำเสียในภาพรวม คือ ต้องรวมไปถึงค่าก่อสร้าง ค่าดอกเบี้ย ค่าเสื่อมสภาพ ค่าเสียโอกาสในการนำเงินนั้นไปทำอย่างอื่น ฯลฯ คือเก็บให้คุ้มทุนหรือแม้กระทั่งมีกำไร เพื่อที่จะนำรายได้ส่วนนี้ไปลงทุนขยายพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงบำบัดน้ำเสีย ซ่อมบำรุง จ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าสารเคมี และเงินเดือนรวมทั้งสวัสดิการของพนักงาน ฯลฯ

ตัวเลขที่เคยมีผู้คำนวณไว้เมื่อยี่สิบปีที่แล้วชี้ว่า กทม. ต้องเก็บค่าน้ำเสียให้ได้ไม่ต่ำกว่า 10-15 บาท/ลบ.ม. จึงจะคุ้มทุน และหากวิเคราะห์ตามภาวะปัจจุบันก็อาจต้องสูงขึ้นไปถึง 20-30 บาท/ลบ.ม. ซึ่งต้องขอชี้แจงว่าราคานี้ไม่แพงอย่างที่หลายคนคิด เพราะค่าบำบัดและจัดการน้ำเสียโดยปกติต้องมากกว่าค่าน้ำประปาอยู่แล้ว ที่ไหนในโลกก็เป็นเช่นนั้น และปัจจุบันค่าน้ำประปาของคน กทม. ก็ต้องจ่ายประมาณ 10 บาท/ลบ.ม. หรือมากกว่าอยู่แล้ว

5. ข้อดีของการเก็บค่าน้ำเสียแบบ PPP และ BPP

จากข้อ 2 ข้างต้น จะเห็นได้ว่าหาก กทม. จัดเก็บค่าน้ำเสียในรูปแบบ PPP หรือ BPP ก็จะมีฐานผู้จ่ายเงินค่าน้ำเสียมากกว่าคนในแปดพื้นที่ที่จ่ายในรูปแบบ SPP ขึ้นเป็นกว่า 2 เท่า นั่นหมายความว่า กทม. จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าวิธีคิดแบบเดิมเป็น 2 เท่า และสามารถนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากนี้ไปใช้เป็นงบลงทุนขยายพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสีย โดยไม่เสียโอกาสในการพัฒนาสิ่งดีๆ ด้านอื่นๆ ใน กทม.

6. ค่ากำจัดมลพิษจากนักท่องเที่ยว

ปัจจุบันนี้มีนักท่องเที่ยวมาเยือน กทม. ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคนต่อปี (สสช.) คนเหล่านี้บริโภครวมทั้งปล่อยมลพิษไม่ต่างจากคนในพื้นที่ จึงควรต้องรับผิดชอบในการเป็น PPP และ BPP ในส่วนนี้ด้วย กทม. จึงควรพิจารณาเก็บค่ามลพิษจากนักท่องเที่ยวเป็นรายหัว โดยนำไปรวมกับค่าที่พักตามโรงแรมและเกสต์เฮาส์ที่มีอยู่ทั่วไปใน กทม. หรือมาตรการอื่นๆ ที่มีประสิทธิผลมากกว่า

7. ทำเช่นไรจะให้คน กทม. จ่ายค่าน้ำเสีย

กุญแจแห่งความสำเร็จในการดูแลสิ่งแวดล้อมในการนี้ หนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจในหลักการการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อๆ ไป และยอมที่จะล้วงเข้าไปในกระเป๋าและควักเงินออกมาจ่าย ซึ่งจะทำให้สำเร็จได้ต้องอาศัยวิธีการและมาตรการทางการตลาดในรูปแบบที่เป็น “การตลาดเพื่อสังคม” ซึ่งบริษัทผู้เชี่ยวชาญทางนี้ในเมืองไทยก็มีอยู่ไม่น้อย หากสมมติว่าจำเป็นต้องจ่ายค่าความเชี่ยวชาญนี้เป็นเงิน 100 ล้านบาท แต่สามารถทำให้ประชาชนยอมรับในหลักการ PPP และ BPP จนนักการเมืองรวมทั้งผู้บริหาร กทม. กล้าที่จะเผชิญปัญหาและดำเนินการให้สามารถจัดเก็บค่าน้ำเสียได้ ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าจะเก็บได้เป็นหลายพันล้านบาทต่อปีและในทุกๆ ปีถัดจากนี้ ก็จะเป็นการคุ้มทุนเสียยิ่งกว่าคุ้ม

ผู้เขียนยอมรับว่าสิ่งที่เสนอมานี้พูดได้ไม่ยาก แต่ทำได้จริงไม่ง่าย แต่ก็คาดหวังว่าจะไม่เหนือไปกว่าความสามารถของผู้บริหาร กทม. ที่มีคนมีฝีมืออยู่มากมาย ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ (นะครับ)

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ