ThaiPublica > เกาะกระแส > Thailand SDGs Forum #3 “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ชี้ 3 ความเสี่ยงกับผลกระทบการพัฒนาอย่างยั่งยืน “ต้องเสี่ยงมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง”

Thailand SDGs Forum #3 “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ชี้ 3 ความเสี่ยงกับผลกระทบการพัฒนาอย่างยั่งยืน “ต้องเสี่ยงมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง”

27 กันยายน 2016


มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานสัมมนา “Thailand SDGs Forum #3: Thailand Sustainability Journey” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โอกาสและความท้าทายของประเทศไทยภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และเป็นแนวทางให้กับผู้แทนจากองค์กรภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสาธารณชนที่สนใจ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้บรรยายหัวข้อ “Sustainability, Risk and Opportunity” ในงาน “Thailand SDGs Forum #3: Thailand Sustainability Journey”

ดร.เศรษฐพุฒิเริ่มต้นโดยกล่าวถึงสมัยที่เคยทำงานอยู่ธนาคารไทยพาณิชย์ว่า “ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมต่างๆ หนึ่งในกิจกรรมที่ผมชอบที่สุดคือช่วยไปร่วมเป็นกรรมการดูเรื่องการประกวดการวาดรูปของเด็กประถม ตอนที่ไปร่วมงาน ปัญหาแรกที่เราเจอคือว่า เราให้หัวข้ออะไรเด็กไป อย่างไรเขาก็จะวาดรูปที่เตรียมมาในใจแล้ว มันเหมือนกับว่าไม่ได้ทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของเขา ตอนนั้นก็มีไอเดียเสนอเข้าไปว่าให้เด็กลองจับสลากขึ้นมา 3 คอนเซปต์ร่วมกัน เช่น หยิบขึ้นมาว่าไปทำบุญ ไปตลาด สัตว์ประหลาด โจทย์คือต้องวาดรูปที่รวม 3 คอนเซปต์นี้ให้ได้ แล้วต้องเล่าเรื่องผูกเรื่องให้มันเป็นเรื่อง แล้วในการให้คะแนนต่างๆ ก็ดูทั้งรูปและเรื่องที่เล่า”

ตอนที่ผมเห็นหัวข้อที่ให้มาพูดวันนี้ “Sustainability, Risk and Opportunity” ผมมีความรู้สึกว่าเป็นเด็กประถมที่ไปแข่งแบบนี้ เหมือนหยิบ 3 เรื่องมาด้วยกัน ความยั่งยืน ความเสี่ยง โอกาส แล้วบอกว่าคุณออกไปพูดให้ออกมาเป็นเรื่องให้ได้ ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ค่อยว่ากัน แต่อย่างไรให้การบ้านมาแล้ว ก็ขอลองพยายามแบ่งปันไอเดียกัน

ผมคงขอเน้นต่างจากที่วิทยากรท่านอื่นที่พูดเรื่อง SDGs คงไม่ได้ไปเน้นเรื่อง SDGs แต่จะแบ่งปันมุมมองเรื่องของความเสี่ยงว่ามีผลกระทบอย่างไรกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน มี 3 ประเด็นด้วยกัน

ต้องเสี่ยง “มากขึ้น” ไม่ใช่ “น้อยลง”

pp1

ประเด็นแรก อาจจะฟังดูแปลก คือ ถ้าเราต้องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราควรจะรับความเสี่ยงมากกว่านี้ ไม่ใช่น้อยกว่านี้ เวลาเรานึกถึงความเสี่ยงในการพัฒนาที่ยั่งยืน มันต้องความเสี่ยงน้อยๆ แต่ผมอยากจะแย้งว่าบ้านเราต้องรับความเสี่ยงมากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

ถามว่าทำไม ถ้าดูในภาพรวมตอนนี้ของเศรษฐกิจไทย ความเสี่ยงในแง่ของเศรษฐกิจมหภาคถือว่าต่ำมากๆ โอกาสที่เราจะเจอวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะฝั่งการคลัง ฝั่งธนาคารพาณิชย์ หรือฝั่งด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแบบที่เราเจอตอนปี 2540 เหล่านี้ต่ำมากๆ หรือตัวชี้วัดอะไรต่างๆ เรื่องหนี้สาธารณะ คุณภาพของหนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน ทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศ ทุกอย่างสื่อว่าโอกาสที่เราจะเกิดวิกฤติต่ำมากๆ เลย

แต่ถ้าดูไส้ในว่าทำไมความเปราะบางของเราในแง่ของโอกาสที่จะเกิดวิกฤติต่ำ มันส่งสัญญาณว่าจริงๆ ปัจจุบันเรากำลังรับความเสี่ยงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ตัวอย่างเช่น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 12-13% ของจีดีพี ถือว่าแทบจะสูงที่สุดในโลกเลย ถามว่าทำไมถึงเกินดุลขนาดนี้ หลักๆ เป็นเพราะบริษัทเราไม่ลงทุน พอไม่ลงทุนก็ไม่มีการนำเข้าเครื่องจักรอะไรต่างๆ เลยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาล ทำให้เรามีความเปราะบางที่จะเกิดวิกฤติในภาคต่างประเทศต่ำ

อีกด้านหนึ่งสะท้อนอะไร สะท้อนว่าบริษัทไทยระแวงมาก ไม่ยอมกล้าลงทุนอะไรต่างๆ

หรือถ้าเราดูมิติอื่นๆ เรื่องของความที่เราไม่ลงทุนวิจัยและพัฒนาอะไรต่างๆ มันต่ำ ทั้งหมดสะท้อนว่าเราไม่ค่อยยอมรับความเสี่ยงเท่าที่ควร ถามว่าทำไมสิ่งนี้เป็นปัญหา ถ้าเราดูสภาพโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เรากำลังเขาสู่สภาวะที่จำนวนแรงงานค่อยๆ หดตัว น้อยลงๆ ซึ่งมีผลต่ออัตราการเติบโต มาแน่ๆ ไม่ช้าก็เร็ว ถ้าเราคิดง่ายๆ พื้นฐานที่สุดเลยคือคิดว่าเศรษฐกิจเราผลิตได้เท่าไร มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีแรงงานกี่คนและแรงงานมีประสิทธิภาพเท่าไร ตอนนี้เราก็เห็นว่าแรงงานของเราเริ่มหดตัวด้วยสภาวะที่เราเข้าสู่สังคมชราภาพ มิหนำซ้ำประสิทธิภาพเรายังลดลง แปลว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราสามารถผลิตได้จะหดตัวลงตาม

วิธีเดียวที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะไม่ชะลอตัวอย่างมีนัยยะ คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ประสิทธิภาพแรงงานของเรากลับสูงขึ้นมาอีก ทำอย่างไร! ถ้าเราไม่ลงทุนแล้วจะให้ประสิทธิภาพแรงงานเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เป็นไปได้ยาก หรือไม่อย่างนั้นภาคเทคโนโลยีที่เราใช้ไม่มีการวิจัยและพัฒนา ไม่มีนวัตกรรม โอกาสที่ประสิทธิภาพต่างๆ จะโตเป็นไปได้ยากมาก

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

คนอาจจะบอกว่าถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้เป็นเรื่องปกติตามสังคมต่างๆ ที่เข้าสู่สภาพชรา ปล่อยไปตามยถากรรมไปของมัน ก็จริงอยู่ แต่ปัญหาของบ้านเราคือเรากำลังเข้าสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจเร็วเป็นพิเศษ เทียบเคียงเหมือนกับที่คนเราเข้าสู่วัยเกษียณแล้วยังออมไม่พอ ประเทศเราตอนนี้โตเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ แต่เขารวยกว่าเราเยอะ เราเจอปัญหาเร็วมาก

ถามว่าทำไมตรงนี้เป็นความเสี่ยงต่อเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน นึกภาพดูว่าถ้าเราในฐานะเศรษฐกิจและสังคมไม่สามารถสร้างโอกาสให้คนได้ โอกาสที่ทุกอย่างจะยั่งยืนจะเป็นไปได้แค่ไหน ความเหลื่อมล้ำที่เราทราบกันดีว่าเป็นปัญหาเยอะจะยิ่งทวีคูณเมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจการสร้างโอกาสมันน้อยลง คือถ้าทุกคนรู้สึกว่าผมอาจจะได้น้อยกว่าอีกคน แต่อย่างน้อยผมมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ อาจจะไม่ค่อยสนใจนักเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่เมื่อไรที่คนรู้สึกว่าพายเค้กไม่พอแล้ว ก็จะเริ่มใส่ใจแล้วว่าทำไมคนอื่นได้มากกว่าผม ตรงนี้จะสร้างโอกาสที่จะสร้างความขัดแย้งในสังคม ซึ่งจะยิ่งทวีคูณเข้ามา

แล้วประเด็นอีกอย่างที่อยากจะย้ำกับเรื่องของความเสี่ยงและการพัฒนาที่ยั่งยืน คือว่าจริงๆ การที่เราจะให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นในระดับบุคคลหรือบริษัท ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงในภาพรวมมันจะแย่ลงหรือสูงขึ้น ตรรกะอันนี้เหมือนกับตรรกะการลงทุนทั่วไป ถ้าเรามี portfolio หุ้น แล้วมีหุ้นอีกตัวเข้ามาที่มันเสี่ยง ความจริงคือถึงแม้ว่าหุ้นตัวนี้มันจะเสี่ยง แต่ถ้ามันไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงของหุ้นอื่นๆ ที่ถืออยู่ ความเสี่ยงโดยรวมของ portfolio จะลดลง แล้วผลตอบแทนจะดีขึ้นด้วย

แต่พูดแบบนี้มันดูวิชาการ ผมขอยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม ในอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งดูแล้วในระดับรายบุคคลรายบริษัทมีความเสี่ยงมาก แต่ในภาพรวมอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแรง มีนวัตกรรม มีพลวัตค่อนข้างสูง นึกถึงอุตสาหกรรมที่บ้านเราค่อนข้างแข็งแรงเลย คือเรื่องเกี่ยวกับร้านอาหาร พวกบาร์ ถ้าเปิดนิตยสารดู มีร้านเปิดใหม่ทุกอาทิตย์ แล้วมีหลากหลายมาก มีสารพัดแนว แล้วเราก็เห็นว่ามีการเกิดแก่เจ็บตายสูงมาก ตัวใหม่เข้ามาไม่ดีก็เจ๊งออกไป อันที่เปิดมาติดตลาดก็ขยายไปได้

“มันเป็นตัวอย่างของสิ่งที่เราเห็นว่า สำหรับตัวบุคคล แต่ละร้านความเสี่ยงสูงมาก ดูเหมือนว่ามีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งจริงสำหรับรายบุคคล เปิดมาโอกาสความเสี่ยงสูง ปิดไปตายไป แต่มันทำให้เป็นอุตสาหกรรมที่การแข่งขันสูงมาก เป็นอุตสาหกรรมที่ Innovative มีพลวัต และในที่สุดแข็งแรงและสามารถแข่งขันกับชาวบ้านได้ดี”

ตรงกันข้าม ในอุตสาหกรรมที่การแข่งขันน้อยมากๆ มีคนทำไม่กี่ราย อยู่มานาน ทุกอย่างดูนิ่งมาก แต่ปล่อยไปนานๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น ก็กลายเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งในที่สุดก็เห็นว่าเป็นความเสี่ยงจริงๆ ต้องใช้เงินภาษีภาครัฐเข้าไปอุดหนุนตลอด เวลาจะเจ๊งไม่เจ๊งแหล่ แล้วส่งผลในแง่มหภาค ทำให้ระบบขนส่งของประเทศมีปัญหา

เป็นตัวอย่างที่อยากจะสื่อว่าตอนที่เราดูความเสี่ยง โจทย์เรามันไม่ใช่แค่ว่าต้องไปลดความเสี่ยง แต่โจทย์เราคือทำอย่างไรให้มีความเสี่ยงในระดับที่เมื่อรายบุคคลเข้ามาเพิ่มขึ้นจะทำให้ความเสี่ยงโดยรวมมีเสถียรภาพ แข็งแรงขึ้น ซึ่งนำไปสู่ประเด็นที่ 2

เน้นบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่ลดความเสี่ยง

pp2

ประเด็นที่ 2 ถ้าเราจะให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เราต้องมีระบบในการจัดการและบริหารที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ การบริหารและกระจายความเสี่ยง เหมือนที่ผมเรียนไปก่อนหน้านี้ ไม่ได้หมายความว่าลดความเสี่ยง แต่ทำอย่างไรให้เรารับความเสี่ยงในรูปแบบที่ทำให้เรายังมีเสถียรภาพและแข็งแรงมากกว่าเดิม เราลองนึกภาพบริษัทเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องปกติที่มีนโยบายดูแลเรื่องความเสี่ยง มี risk appetite statement ในแง่นโยบายว่าผมพร้อมจะรับความเสี่ยงแค่ไหน เพื่อจะบรรลุเป้าประสงค์อะไรต่างๆ ของผม

เขาจะมีเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ อย่างเช่น การดู corporate risk มองไปข้างหน้าว่าความเสี่ยงมาจากไหน มีโอกาสเกิดขึ้นแค่ไหน ถ้าเกิดขึ้นมันกระทบผลประกอบการอย่างไร มีเครื่องมือต่างๆ นานา เขามีการเขียนในรายงานประจำปี ไล่เรียงทุกความเสี่ยงประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะความเสี่ยงด้านการเงิน ด้านการประกอบการ ด้านตลาดต่างๆ แล้วที่สำคัญมีหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดูแลเรื่องนี้เป็นเจ้าภาพชัดเจน ไม่ว่าจะฝ่ายจัดการที่ดูแลเรื่องการบริหารความเสี่ยง ในคณะกรรมการบริหารก็มีกรรมการบริหารความเสี่ยง ก็เห็นว่าของเอกชนมีการดูแลเรื่องของความเสี่ยง โดยเขาดูแบบบูรณาการ พยายามมองไปข้างหน้า (Pro Active) และมีเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจน

แต่ถ้าเรามาดูในระดับประเทศ หน้าต่างเป็นอย่างไรก็จะมีช่องว่าง มีช่องโหว่ทั้ง 3 มิติ

1) เรื่องของการบูรณาการ บ้านเราการดูความเสี่ยงระดับประเทศยังขาดการบูรณาการอย่างเห็นได้ชัด ผมขออนุญาตหยิบตัวอย่างที่ผมคุ้ยเคยหน่อย คือความเสี่ยงในภาคการเงิน ในภาคการเงินยังเป็นการแยกส่วนอยู่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูความเสี่ยงในแง่ของธนาคารพาณิชย์, ก.ล.ต. (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ดูเรื่องบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ, คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ดูความเสี่ยงในเรื่องของระบบประกัน

แต่จริงๆ ต้นตอของความเสี่ยงในหลายที่มันมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ว่าเราแยกส่วนกันดูเพราะว่าวิธีการบริหารความเสี่ยงแยกดูว่าผลกระทบเกิดขึ้นที่ไหน แต่จริงๆ อาจจะจากที่เดียวกันก็ได้ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดบ้านเรา ลูกหนี้รายใหญ่ที่มีความสำคัญเชิงระบบเกิดมีปัญหาเกิดหงายหลังขึ้นมา มันชัดเจนมากเลยว่ากระทบกับระบบกับทุกคนและมีโอกาสที่จะเกิดเป็นลูกโซ่ ความเชื่อมโยงกันในระบบการเงินมันเชื่อมโยงกันหมด แต่ตอนที่เราดูความเสี่ยง จับตาความเสี่ยง เราแยกกันดู นี่เป็นตัวอย่างจากภาคการเงิน แต่มันก็มีคณะกรรมการมาประชุมร่วมกัน มาคอยดูอะไรแบบนี้ก็ยังดี

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ลองนึกถึงความเสี่ยงอื่นๆ ดูข้ามอุตสาหกรรมเลย ไม่ได้อยู่ในภาคการเงินอย่างเดียว ตัวอย่างที่จบไป(เช้าวันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2559) การดีเบตระหว่างฮิลลารี คลินตัน กับโดนัลด์ ทรัมป์ สมมติว่าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีขึ้นมา ความเสี่ยงที่ตามมาคืออะไร ผมเชื่อว่าบ้านเราทาง ธปท. ก็ดูความเสี่ยงของตนเอง, ก.ล.ต. ก็ดูความเสี่ยงของตนเอง กระทรวงพาณิชย์ก็ดูความเสี่ยงตนเอง อาจจะเป็นว่าจะกระทบการค้าอะไรต่างๆ อะไรจะเกิดขึ้นตามมา แต่ถามว่าเราพยายามดูแบบองค์รวมหรือไม่ เพราะของแบบนี้ถ้าเกิดอะไรแรงๆ ขึ้นมาจะกระทบกันไปหมด อันแรกคือเราขาดการดูแลความเสี่ยงในระดับประเทศแบบเป็นบูรณาการ

2) เราดูแบบมองไปข้างหน้าหรือไม่ หรือ proactive หรือไม่ ปีที่แล้วผมมีโอกาสไปร่วมงานที่สิงคโปร์ เรียกว่า Singapore Foresight Conference ผมเห็นว่าเขาจะมีหน่วยงานเจ้าภาพ เรียกว่า risk assesment and horizon scanning เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้เลยโดยเฉพาะ คือให้พยายามมองไปข้างหน้าเลยว่ามีโอกาสมีความเสี่ยงจะเกิดจากที่ไหน แล้วจะกระทบอะไรกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งตอนที่เขาตั้งขึ้นมา ที่มามาจากปีที่เขามีผู้ก่อการร้ายที่สิงคโปร์เกิดขึ้นมา เขาบอกว่าช็อกเลย เขานึกไม่ถึงว่าจะเกิด ไม่มีสัญญาณอะไรเลยว่าจะเกิดขึ้นมา แล้วตอนที่เกิดขึ้นทำให้เขาตื่นตระหนก และสิงคโปร์ทำอะไรต้องเป็นระบบ เขาสร้างระบบที่จะประเมินว่าโอกาสที่เรื่องแบบนี้ เรื่องที่คาดไม่ถึงจะเกิดขึ้น มันเป็นอย่างไร หน่วยงานนี้ก็สังกัดกับสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วเชื่อมโยงกับกระทรวงต่างๆ

ถามว่าของไทยเป็นอย่างไร ไม่ต้องมองไปข้างหน้า แค่ตอบสนองหรือ reactive ยังไม่ค่อยได้เลย ไม่ต้องเล่าอะไรไกลตัว ช่วงนี้หน้าฝน ฝนตกเมื่อไรน้ำก็ท่วม รู้กันอยู่แล้ว มันก็ยังต้องจัดการกันอยู่

3) เรื่องของการมีเจ้าภาพที่ชัดเจน ผมคิดว่าเรายังขาดอยู่ อย่างที่เรียนไปก่อนหน้า เมื่อเชื่อมแต่ละหน่วยงานก็มีการดูแลความเสี่ยงในมุมแต่ละคน แต่ถามว่าเรามีตัวอย่างแบบที่เหมือนกับมี risk management committee หรือไม่ เป็นของประเทศที่ดูเรื่องความเสี่ยง บูรณาการ มองแบบ proactive ต่างๆ ที่มีเจ้าภาพชัดเจนว่า คุณมีหน้าที่ตรงนี้จริงๆ ยังไม่ค่อยมี แต่ละที่คงมีการดู เขียนเป็นรายงาน แต่ว่าที่เขียนชัดเจนว่าหน้าที่ มีหรือไม่ ผมว่ายังขาดอยู่

“หรือแม้กระทั่งการเขียนรายงาน ถ้าเรานึกภาพอย่างที่เรียนรายงานประจำปีแต่ละบริษัทต้องเขียนว่าประเมินความเสี่ยงต่างๆ ในมิติต่างๆ เป็นอย่างไร ถามว่าเรามีแบบนี้สำหรับประเทศหรือไม่ Thailand Risk Report ที่มานั่งดูเรื่องความเสี่ยง แล้วลองนึกภาพว่าทุกปี ทุกวัน เขียนมาสารพัด ไม่ว่าจะกระทรวงคลัง สภาพัฒน์ฯ แบงก์ชาติ เขียนเรื่องจีดีพีเยอะมาก แล้วเรื่องความเสี่ยงทำไมไม่เขียน เอาแรงมาใส่ใจเรื่องความเสี่ยง น่าจะเป็นประโยชน์”

เปลี่ยน “มโนทัศน์” ให้โอกาสคนพลาด

pp3

นำไปสู่ประเด็นสุดท้าย ถ้าเราจะสร้างระบบที่มันจะดูแลเรื่องความเสี่ยงได้ที่ดีขึ้น ระบบนี้หน้าตาจะเป็นอย่างไร จริงๆ ใช้คำว่าระบบนิเวศจะเหมาะกว่า เหตุผลเพราะถ้าเราคิดถึงระบบ ผมไม่อยากย้ำ เหมือนกับวิทยากรหลายท่านพูด มันไม่ใช่เฉพาะภาระของภาครัฐอย่างเดียว แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องของทุกคน เป็นบทบาทของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐในการดูแลหรือการสร้างระบบความเสี่ยงให้มันดีขึ้น แล้วระบบความเสี่ยงทำอะไร มันต้องเป็นระบบที่ไม่ใช่โจทย์แค่ไปลดความเสี่ยงแล้วให้เราพัฒนาได้อย่างยั่งยืน แต่ว่าทำให้เรารับความเสี่ยงมากขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น ทำให้เราสามารถรองรับทุกความเสี่ยงเหล่านี้ได้โดยไม่เสียเสถียรภาพ ซึ่งองค์ประกอบพวกนี้จะมีอะไรบ้าง

เริ่มแต่แรกเลย อาจจะฟังดูห่างไกลหน่อยและเป็นนามธรรม แต่สำคัญ คือ1.เรื่องของการสร้าง mindset หรือวัฒนธรรมเรื่องความเสี่ยงที่ยอมรับการลองผิดลองถูก สร้างวัฒนธรรมของการทดลอง วัฒนธรรมของนวัตกรรม พูดแบบนี้ทุกคนพยักหน้าฟังดูดีหมด แต่การจะยอมรับการลองผิดลองถูก หมายความว่าเราต้องยอมรับความที่มันจะไม่ถูกด้วย ซึ่งระบบของเราไม่ค่อยยอมรับโดยวัฒนธรรมหรืออะไรก็ตาม เราไม่ค่อยยอมรับการผิดพลาด เห็นได้จากมีการจับผิดกันค่อนข้างเยอะ

ถ้าจับผิดแบบทุจริต ผมเห็นด้วยเต็มที่ 100% แต่บางทีเราไม่แยก”การจับผิดกับการพลาด” คนเรามันพลาดกันได้ การที่ยอมรับว่าคนมันพลาดได้ คือลองผิดลองถูก มันเป็นองค์ประกอบจำเป็นจริงๆ ของการสร้างวัฒนธรรมของนวัตกรรม นวัตกรรมคือความเสี่ยง วิจัยพัฒนาคือความเสี่ยง ไม่รู้ว่าเราจะได้ถูกหรือได้ผิด แต่ถ้าเราไม่ยอมรับว่าเราผิดพลาดได้ เราจะให้นวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างไร

นโยบายของภาครัฐตอนนี้เน้นเราต้องมี innovation เราต้องมี startup พวกนี้ ล้วนแต่เป็นความเสี่ยงทั้งนั้น ทางหนึ่งบอกคุณต้องเสี่ยง คุณต้อง startup ต้อง innovation แต่อีกมือหนึ่งเราลงโทษว่าห้ามพลาดนะ ยกตัวอย่างง่ายๆ บางทีผมถูกเชิญต้องไปรับตำแหน่งเป็นกรรมการต่างๆ ผมจำได้ว่าคุณสมบัติระบุว่าต้องว่าห้ามเคยเป็นบุคคลล้มละลาย แล้วบอกว่าอยากได้คน startup และ innovative ซึ่งคำนี้มันมีโอกาสที่จะเจ๊งจะล้มละลายอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ถ้าคุณล้มละลาย คุณจะกลายเป็นเหมือนบุคคลที่น่ารังเกียจของสังคม ตรงนี้ผมว่าต้องเปลี่ยน กลายเป็นว่าวัฒนธรรมของเรายกย่องคนที่ไม่มีที่ติต่างๆ แต่วิธีที่ไม่มีที่ติที่สุดคือ ไม่ทำอะไรเลย ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นบรรทัดฐานหรือเป็นวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่สิ่งที่เราจำเป็น เรื่องนวัตกรรมต่างๆ

2.ภาคที่สองคือเอกชน หนีไม่พ้น เราต้องหาวิธีสร้าง สนับสนุนการแข่งขันแบบจริงๆ การแข่งขันที่มันมีการเกิดแก่เจ็บตาย คือยอมรับการแข่งขัน ไม่ว่าจะภาคในประเทศหรือนอกประเทศ เพราะว่าตัวนี้ ตัวอย่างที่ผมเล่าเรื่องร้านอาหาร มันจะทำให้เรื่องระบบแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันจริงๆ สามารถแข่งขันได้ต่อโลกหรืออะไรได้ แต่ถ้าเราดูบริษัทของเราส่วนมากจะเห็นว่า ตัวใหญ่ๆ ก็เป็นตัวใหญ่ๆ รายเดิมๆ การปรับเปลี่ยน การเกิดแก่เจ็บตาย มันไม่ค่อยเกิดขึ้น ต่างกับเมืองนอกที่จะมีบริษัทที่เคยใหญ่ General Motors เจอเทคโนโลยีก็เปรี้ยงไป ไมโครซอฟต์เคยยักษ์ใหญ่ตอนหลังโดนแอปเปิลแซงไป

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

หรือเคยมีบริษัทที่ไม่เคยมีคนนึกถึงเลย ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาใหม่ กูเกิลมาจากความคิดคนพวกนี้ใหญ่โตขึ้นมา บริษัทสไตล์นี้ในไทยมันหายไปไหน กูเกิลของไทย อาลีบาบาของไทย อยู่ไหน แล้วของที่มาจากวัฒนธรรมสร้างการแข่งขัน ทำให้ตลาดแข่งขันกันได้จริงๆ มันหายไปไหน

3.ประเด็นสุดท้าย บทบาทของภาครัฐเรื่องการสร้างระบบนิเวศ ถ้าสูตรสั้นๆ บอกว่าจำเป็นต้องปรับบทบาท ที่ผ่านมาจะเห็นว่าบทบาทของภาครัฐมีแต่จะเพิ่มขึ้นในแง่ของขนาดและบทบาทของภาครัฐ ซึ่งตรงนี้เราทราบกันดีว่าถ้าบทบาทของภาครัฐเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ศักยภาพลดน้อยลง การพึ่งพากลไกภาครัฐต่างๆ ก็มีความเสี่ยง

“แต่ผมไม่เถียงว่ารัฐมีบทบาทสำคัญที่ต้องเล่น แต่ต้องโฟกัสเป็นเรื่องๆ ไป อันหนึ่งอาจจะอย่างที่เรียน ทำอย่างไรให้เราสามารถที่จะสร้างเรื่องของการยอมรับเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เสถียรภาพสูงขึ้น”

ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของเจ้าภาพที่มาดูเรื่องความเสี่ยง ทำ Risk report ก็เป็นเรื่องปกติ และที่สำคัญกว่านั้น ผมคิดว่ามีอย่างน้อยสองเรื่อง

เรื่องหนึ่งคือการย้ายจากระบบที่เน้นเรื่องประชานิยมไปเป็นระบบสวัสดิการสังคม หรือ social protection ถามว่าทำไม ถ้าเราต้องการให้คน take risk มากขึ้น ลองอะไรใหม่ๆ แต่ว่าถ้าเขาพลาดแล้วเจ๊ง อดตาย แล้วไม่เกื้อหนุนไม่สนับสนุนให้คนทำอะไรใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยง โดยการที่เรามีระบบเรื่องของคน provide minimum เป็นกันชนให้เขา ผมว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้น

เรื่องที่สอง คือเรื่องของการสร้างโอกาส ตัวที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของให้โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งตรงนี้ทางสถาบันอนาคตไทยศึกษาของผมเพิ่งออกงานวิจัย ดูเรื่องค่าเสียโอกาสที่เราไม่สามารถที่จะปฏิรูปการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น เราคำนวณอกมาว่าเศรษฐกิจเสียโอกาสไป คิดเป็นตัวเลข 1.5 ล้านล้านบาท ในนั้นแค่เป็นตัวเลข แต่ตัวที่สำคัญกว่านั้นคือเราไม่สามารถสร้างโอกาสให้ generation ของเด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีและมีชีวิตที่ดี ซึ่งถ้าเราไม่สร้างโอกาสให้คน ตัวนั้นผมมองว่ามันเป็นสิทธิ ที่จะเป็นความเสี่ยงสูงที่สุด ต่อการพัฒนาอยางยั่งยืนของเรา