ThaiPublica > เกาะกระแส > Thailand SDGs Forum #3 “รพี สุจริตกุล” : ความยั่งยืนตลาดทุน แค่กฏระเบียบไม่พอ ต้องมี “จิตสำนึกในการปฏิบัติ – Market Force”

Thailand SDGs Forum #3 “รพี สุจริตกุล” : ความยั่งยืนตลาดทุน แค่กฏระเบียบไม่พอ ต้องมี “จิตสำนึกในการปฏิบัติ – Market Force”

29 กันยายน 2016


มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานสัมมนา “Thailand SDGs Forum #3: Thailand Sustainability Journey” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โอกาสและความท้าทายของประเทศไทยภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และเป็นแนวทางให้กับผู้แทนจากองค์กรภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสาธารณชนที่สนใจ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก (ก.ล.ต.)
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก (ก.ล.ต.)

ในงานนี้นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก (ก.ล.ต.)กล่าวในหัวข้อ “SDGs & Capital Market” โดยมีรายละเอียดดังนี้ว่าจากการที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนาม SDG (Sustainable Development Goals) กับ 193 ประเทศ ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับแรงงาน ความเป็นอยู่ของประชาชน สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่างประเทศตื่นตัว และให้ความสนใจกันมาก ในส่วนของตลาดทุนไทย มีบริษัทจดทะเบียนกว่า 600 บริษัท รวมมูลค่าของหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 100% ของ GDP บริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ ถือได้ว่าเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ และเป็นบริษัทที่ประชาชนทั่วไปมีความคาดหวังอย่างมาก ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องความโปร่งใส ยังมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ประเทศของเรา หรือว่าสังคมของเรา สิ่งแวดล้อมของเรา อยู่ได้อย่างยั่งยืน

แต่เรื่อง Sustainable Development Goals ไม่ใช่จะมีเพียงแค่หลักเกณฑ์ในทางปฏิบัติเพียงอย่างเดียว เวลาเราพูดถึงสำนักงาน ก.ล.ต.ทุกคนจะนึกกฎระเบียบต่างๆที่ ก.ล.ต. ประกาศออกมาหลายร้อยฉบับ บังคับให้บริษัทจดทะเบียนต้องทำ เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของบริษัท เรื่องการแต่งตั้งกรรมการอิสระ การเปิดเผยข้อมูล และมีคณะกรรมการควบคุมภายใน ดูแลการทำรายการระหว่างกัน แม้แต่เรื่องการดำเนินธุรกิจต่างๆ ก็มีกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต.เต็มไปหมด

แต่จริงๆแล้ว การดูหลักเกณฑ์อย่างเดียว มันอาจจะไม่ตอบโจทย์ แนวคิดของ ก.ล.ต.การมีกฎเกณฑ์ที่ทุกคนในสังคมปฏิบัติได้จริง ต้องมีองค์ประกอบสำคัญๆ 3 ประการ

1.กฎระเบียบขั้นพื้นฐานที่ ก.ล.ต.ประกาศออกมา

2.จิตสำนึกในการปฏิบัติ (Self-discipline)

3.แรงผลักดันสังคม (Market Force)

ทั้ง 3 ปัจจัยเป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกัน และมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมาก ถ้าขาดองค์ประกอบใดใน 3 องค์ประกอบ มันจะไม่สัมฤทธิ์ผล องค์ประกอบที่ 1 กฎระเบียบพื้นฐาน ยกตัวอย่าง ห้ามคนขับรถยนต์ ดื่มสุรา หากดื่มสุราแล้วถูกตำรวจจับเป่า ไม่มีเงินมาประกันตัว 20,000 บาท คืนนั้นก็ต้องนอนที่โรงพัก ตอนเช้าถ้าไม่มาประกันตัว ก็ต้องไปขึ้นศาล แต่การที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ได้ มันก็ต้องมีตำรวจจราจรมาตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์

องค์ประกอบที่ 2 จิตสำนึกในทางปฏิบัติ ตรงนี้สำคัญมาก คนที่กินเหล้า หรือ พวกเราทุกคน มองว่าตรงนี้เป็นหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าไม่มีตำรวจมาตั้งด่านตรวจ ก็ไม่ปฏิบัติกันดีกว่า หลายคนพยายามหาข้อมูลว่ามีด่านตำรวจตั้งอยู่ตรงไหน และถ้ารู้ว่าจุดไหนไม่มีการตั้งด่าน ก็จะดื่มสุรากันอย่างเต็มที่ นี่คือการขาดจิตสำนึก

โชคดี บ้านเราไม่ใช่พวกขี้ฟ้องเหมือนต่างประเทศ คนไหนดื่มเหล้ามากและจะต้องไปขับรถ โต๊ะข้างๆเห็นว่าเมาเหล้าแล้ว ก็จะโทรไปแจ้งตำรวจ หรือ บางครั้งเจ้าของร้านจะโทรไปแจ้งความเอง แต่คนไทยมีจุดอ่อนเรื่อง Self-discipline ทุกคนคาดหวังว่าทางการเป็นคนที่ออกกฎหมาย เพราะฉะนั้นทางการเองต้องทำทุกอย่างให้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่ลืมมองจุดสำคัญ 2 เรื่อง คือเรื่องเกี่ยวกับ Self-discipline และการบังคับใช้กฎหมาย

ดังนั้น ก.ล.ต.พยายามทำทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับ 3 องค์ประกอบ คือเรื่องเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเราจะเน้นในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมบ้าง เช่น การทำธุรกิจอย่างเป็นธรรม เคารพต่อสิทธิของมนุษยชน ปฏิบัติต่อแรงงาน ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นวัตกรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล หรือ เป็นแนวทางเปิดเผยข้อมูลที่ดีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด

ที่ผ่านมา เรื่องการเปิดเผยข้อมูลของไทย ก็ได้รับคะแนนดีมาก กล่าวคือ มีการทำ CG Rating 50 บริษัทชั้นนำของอาเซียน ปรากฎว่ามีบริษัทไทย 23 แห่งได้รับรางวัลเกี่ยวกับบริษัทที่มี CG ที่ดี ซึ่งเราต้องผลักดันเรื่องนี้ต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจที่ยั่งยืน หรือ เปิดเผยข้อมูล

กลับมาที่จิตสำนึก (Self-discipline) เป็นเรื่องใหญ่มาก เวลาเราพูดถึงเรื่องนี้ เราต้องมองไปที่กรรมการ หรือ ถ้าพูดลึกไปกว่านั้น ก็อาจจะต้องพูดถึงเรื่องความเป็นเจ้าของ ในประเทศไทย 70% ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จริงๆแล้วเป็นบริษัทกึ่งครอบครัว ซึ่งคนในครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นหลักอยู่ ผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญมากในการผลักดันให้ตัวบริษัทไปในทิศทางไหน อันนี้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง ที่เราพยายามดูเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัท โดยพยายามเพิ่มบทบาทของคณะกรรมการ

ppคุณรพี

pp CG code

ppคุณรพี

โดยเฉพาะกล่องแรก คือ เรื่อง When to Take Charge และ When to Partner with Management ที่ผ่านมาบทบาทของคณะกรรมการจะเน้นติดตามดูว่าผู้บริหารทำอะไร ทำผิดอะไร ทำตามหลักเกณฑ์หรือไม่ แต่จริงแล้วบทบาทของกรรมการที่ถูกต้อง คือจะต้องเข้าดูปัญหา ร่วมกันบริหาร และร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะตัวหนังสือที่ผมทำไฮไลท์สีแดงเอาไว้ ก็คือการ Building ที่เราเรียกว่า “Central Ideas” กับ Strategy ของตัวบริษัทที่จะเดินไปข้างหน้า ถ้าขาดแรงผลักดันจากเจ้าของบริษัท หรือ คณะกรรมการบริษัทแล้ว เรื่องต่างๆที่เรากำลังพูดกันอยู่จะไม่มีประโยชน์เลย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ ก.ล.ต.กำลังทำ คือ พยายามจะออกตัว CG CODE ฉบับใหม่ที่เน้นบทบาทของคณะกรรมการในการบริหารกิจการที่ดี ตอนนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการHearing ซึ่ง CG Code ฉบับนี้คณะกรรมการบริษัทจะมีบทบาทอย่างมากในเรื่องของการผลักดัน การสร้างคุณค่าให้กิจการ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน รวมทั้งต้องดูแลเรื่องการสร้างผลประกอบการที่ดีมีจริยธรรม ดูแลสังคม และกรรมการต้องมีแนวทางปฏิบัติชัดเจนที่จะเดินต่อไปข้างหน้า

เพราะฉะนั้น แนวความคิดที่จะออก CG CODE ความจริงมันก็ไม่ได้หนี สิ่งที่เราพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับความยั่งยืนมาโดยตลอด ตามหลักการของ OECD จะพูดถึงเรื่องผู้ถือหุ้นและความรับผิดชอบต่อสังคมผูกโยงกันเข้าไปด้วย ซึ่งการกำหนด CG CODE ในหลายประเทศ ที่มีบทบาทในการผลักดันเรื่องนี้ ตัวบริษัทเองต้องทำธุรกิจ ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำทุกอย่างให้ครอบคลุมปัจจัยทั้งหมดที่เราได้พูดกันมาแล้ว อันนี้ก็เป็นตัวเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมจากตัวหลักตรงนั้นว่า ในเรื่องเกี่ยวกับการผลักดันเรื่องพวกนี้

“จริงๆแล้ว บริษัทควรต้องดู ว่าคุณค่าร่วมของตัวบริษัทและสังคม กับเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมมันยังมีอยู่ และจะต้องตั้งคำถามต่อตัวเราเองว่าทำไมเราถึงจะมาอยู่ตรงนี้ เราต้องการที่จะบริการใคร และสิ่งที่เราต้องทำต่อไปเป็นเรื่องอะไร ตัวบริษัท หรือกรรมการ สามารถติดตาม และดำเนินการต่อไปได้ เป็นการสร้างจิตสำนึก แต่ในที่สุดมันจะกลับไปเรื่องเกี่ยวกับ Market Force”

ปัจจุบันคนที่คุมตลาดใหญ่ คือ นักลงทุนสถาบัน ก็หนีไม่พ้นกองทุนรวม ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท เกือบ 30% ของจีดีพี GDP ซึ่งนักลงทุนสถาบันนี้ประกอบด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม (SSO) และมีบริษัทประกัน ที่มีการบริหารเงินลงทุนระยะยาว นักลงทุนสถาบันเหล่านี้ต้องเป็นนักลงทุนสถาบันที่มีความรับผิดชอบ

กฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต.ที่กำลังรับฟังความคิดเห็นในปัจจุบัน เรามี Institution Invester Code มาบังคับใช้กับนักลงทุนสถาบันเหล่านี้ ก่อนนำเงินไปลงทุนในบริษัทใดๆก็ตามจะต้องมีกระบวนการในการวิเคราะห์และติดตามทุกเรื่องที่เกี่ยวกับบริษัทที่เขาเอาเงินไปลงทุน ในส่วนนี้ก็ต้องดูเรื่องธรรมาภิบาล ดูเรื่องความยั่งยืนของตัวบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนด้วย นักลงทุนสถาบันเหล่านี้ก็ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ ก็เป็นการสร้าง Market Force อีกทางหนึ่ง ยกตัวอย่าง ถ้าเรามองกลับข้างกัน ใครเป็นเจ้าของเงินและนำเงินไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ใครเป็นเจ้าของเงินที่ลงทุนในกบข. และใครที่เป็นเจ้าของเงินที่ใส่ไปใน SSO จริงๆมันย้อนกลับมาที่ประชาชนทั้งหมด

ถ้าพวกเราไม่ใส่ใจว่าคนที่บริหารเงินของเรา เขาเอาเงินของเราไปบริหารแบบไหน และเขาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด Sustainable Development Goals จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาด Market Force เพราะ CG CODE ที่เราจะนำออกมาบังคับใช้ และทุกคนต้องถือปฏิบัติ สิ่งนี้ก็จะเป็นตัวบังคับให้บริษัทจดทะเบียนเองจะต้องเกิด Self dicipine เพราะว่าจะมีคนคอยติดตาม คอยจ้องดู เขานำเงินไปลงทุนในที่ที่สมควรหรือไม่ ก.ล.ต.มีความคาดหวังว่า นักลงทุนสถาบันเหล่านี้จะเข้าพบบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเข้าไปใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น สร้างแรงกดดันทางสังคม ทำให้เกิดแรงผลักดันเรื่องพวกนี้

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก (ก.ล.ต.)
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก (ก.ล.ต.)

กล่าวโดยสรุป ผมคิดว่าสิ่งที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พูดชัดเจนว่าเรื่อง SDG เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน เราไม่สามารถไปชี้นิ้วบอกว่านี่เป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เปรียบเสมือนเรื่องเกี่ยวกับคอรัปชั่น เราไม่สามารถบอกได้ว่าคอรัปชั่นเป็นหน้าที่ของป.ป.ช.เพียงหน่วยงานเดียว ถ้าตราบใดที่เรายังเข้าไปลงทุน ยังไปใช้บริการ ซื้อของจากบริษัทที่คอรัปชัน หรือบริษัทที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ไม่มีหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งสามารถผลักดันเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จได้ เรื่องทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยแรงจากพวกเราทั้ง 3 ฝ่าย คือ กลต.มีหน้าที่ออกกฎระเบียบ เจ้าของบริษัทก็มีหน้าที่ และจิตสำนึกที่จะต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม และที่สำคัญที่สุด ก็คงต้องมาจาก Market Force ด้วย