ThaiPublica > เกาะกระแส > Thailand SDGs Forum #3 : From commitment to action – ความท้าทาย อุปสรรค ข้อเสนอ สู่เป้าหมาย SDGs 2030

Thailand SDGs Forum #3 : From commitment to action – ความท้าทาย อุปสรรค ข้อเสนอ สู่เป้าหมาย SDGs 2030

30 กันยายน 2016


เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานสัมมนา “Thailand SDGs Forum #3: Thailand Sustainability Journey” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โอกาสและความท้าทายของประเทศไทยภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และเป็นแนวทางให้กับผู้แทนจากองค์กรภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสาธารณชนที่สนใจ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย

เสวนา Thailand SDGs: From commitment to action โดยนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)(ที่2 จากซ้าย), ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ขวาสุด) , นางสาวลดาวัลย์ คำภารองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)(ที่20kd-;kX, และ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม(ซ้ายสุด) เป็นผู้ดำเนินรายการ
เสวนา Thailand SDGs: From commitment to action โดยนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)(ที่2 จากซ้าย), ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ขวาสุด) , นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)(ที่2จากขวา), และ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม(ซ้ายสุด) เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในงานนี้มีช่วงเสวนา Panel Discussion: Thailand SDGs: From commitment to action โดยนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา, นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), และ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินรายการ มีรายละเอียดดังนี้

ดร.บัณฑูร: ฟังจากเมื่อเช้า คงเห็นนะครับว่าเรื่อง SDGs เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กลายเป็นสิ่งที่มีความตื่นตัวกันทุกวงการ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา จากปัญหาความขัดแย้งต่างๆ เราเหมือนขาดสิ่งที่เป็นความหวังร่วมกัน สิ่งที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน มาสักระยะหนึ่งของสังคมไทย

พอมาถึงวันนี้ เรื่อง SDGs เลยกลายเป็นความหวังร่วม เป็นเป้าหมายร่วม ที่เราจะเดินต่อไปในอนาคตร่วมกัน 15 ปีข้างหน้า 20 ปีข้างหน้า และอาจจะยาวกว่านั้น เหมือนอย่างที่ดร.วิรไท สันติประภพได้นำเสนอความเห็นไว้

ทุกท่านที่เป็นวิทยากรเมื่อเช้าได้เน้นย้ำว่า เรื่อง SDGs ไม่ใช่ภารกิจของรัฐฝ่ายเดียว แต่เป็นภารกิจร่วมกันของฝ่ายรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และที่สำคัญ ที่มาร่วมกันในเวทีนี้ คือภาคธุรกิจ

จาก 2 เวทีที่ผ่านมาจนถึงเวทีนี้ แนวทางร่วมกันของภาคธุรกิจที่จะเดินไปกับ SDGs ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 3 แนวทาง แนวทางแรกจะเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจทำมาในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา คือสิ่งที่ทำในรูปแบบของ CSR (Corporate Social Responsibility)

อีกส่วนหนึ่งซึ่งเห็นแนวโน้มดีขึ้นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ การปรับมาสู่ core business ทั้ง 2 ส่วนนี้ท่านเลขา ก.ล.ต. ได้กล่าวถึงเมื่อเช้า เรื่องการกำกับควบคุมกันเอง เรื่องของ market force

อีกแนวทางหนึ่งคือ แนวทางที่เรียกว่า ความร่วมมือ collaboration เป็นพาร์ทเนอร์ชิป เป็นแนวทางที่ท่านรองลดาวัลย์ยกขึ้นมาว่าในอนาคตเราจะเดินต่อไปอย่างไร

ในแง่แนวคิดและมุมมองใหม่ซึ่งท่านผู้ว่า ธปท. และ ดร.เศรษฐพุฒิได้กล่าวถึงว่า เราต้องการแนวคิดใหม่ มุมมองใหม่ เกี่ยวกับการรับมือกับสภาวะความไม่แน่นอน ความเสี่ยง ต้องการ mindset ใหม่ ต้องการวัฒนธรรมใหม่ และนวัตกรรมใหม่

นี่คือสิ่งที่พูดกันเมื่อเช้า และนำมาสู่สิ่งที่จะชวนเสวนาในเบื้องต้น ก่อนที่จะเปิดให้ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามเพิ่มเติม

จากสิ่งที่ทั้ง 3 ท่านนำเสนอไป ถ้าจะมีแนวทางไปสู่การปฏิบัติ ท่านพอที่จะมองเห็นความท้าทาย ปัญหา อุปสรรค และมีข้อเสนออย่างไรบ้างครับ เพื่อเราจะร่วมเดินต่อไปในอนาคตข้างหน้าร่วมกัน เริ่มจากท่านเลขา ก.ล.ต

รพี: จริงๆ แล้วเวลาเราพูดถึง CSR ก็คงเป็นไปได้ 2-3 แนว เพราะ CSR ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในแต่ละบริษัทจดทะเบียนเราก็จะเห็นเสมอ ที่ผ่านมาก็มีการทำกิจกรรมปลูกป่า กิจกรรมเก็บขยะ แต่ผมว่าคีย์สำคัญที่จะต้องเปลี่ยน ซึ่งอาจจะโยงไปเรื่อง mindset ก็คือ

เรื่อง CSR ต้องทำในลักษณะเป็น in process คือไม่ใช่ทำบาปแล้วเอาเงินไปทำบุญ ไม่ใช่ว่าธุรกิจตัวเองทำให้เกิด pollution เต็มไปหมดเลย แล้วพอสิ้นปีก็ไปล้างบาปกันสักที ไปล้างบาปเสร็จ เอาเงินบริจาค ยืนถ่ายรูปกัน แต่ในขณะที่ธุรกิจของตัวเองทั้งปีในตลอดเวลาทำให้เกิดความเสียหาย ตรงนี้ก็ไม่ถูก

เพราะฉะนั้น คีย์สำคัญมันกลับมาเรื่องว่า ทำอย่างไรที่จะให้บริษัททั้งหลายมอง issue จริงๆ ว่า เรื่องเกี่ยวกับ sustainability มันเป็นของตัวของเขาเอง มันเป็นเรื่องของ sustainability ของการที่เขาต้องรักษาสภาพแวดล้อม ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมันพูดง่ายๆ ว่าทำยังไงให้เกิด mindset ในส่วนตรงนี้

mindset ในส่วนตรงนี้ มันก็กลับมาในเรื่องที่ผมคุยเมื่อเช้าว่า ในส่วนหนึ่งมันก็มาจาก market force แน่นอน แล้วคำว่า market force ในปัจจุบัน เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้นอย่างเดียวจึงจะสร้าง market force ได้

การที่เราเห็นว่ามีการใช้โซเชียลมีเดีย เรื่องเกี่ยวกับเฟซบุ๊ก เรื่องเกี่ยวกับไลน์ ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถจะมีส่วนร่วมในการฟ้องว่า บริษัทต่างๆ ไม่ได้ทำหรือทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า ผมคิดว่าตัวนี้เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของสังคมของเราเป็นอย่างมาก

นายรพี สุจริตกุล
นายรพี สุจริตกุล

เพียงแต่ว่า ความเร็วของ market force ที่จะมา force ทางด้านเจ้าของหรือตัวกรรมการเองรับเป็นเรื่องว่า เราจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้ เพราะว่าถ้าไม่อย่างนั้น ธุรกิจของเราจะไม่ sustainable

การไม่ sustainable ก็แปลว่า ลูกค้าของเรา ผู้ลงทุนของเราจะหยุดลงทุน เพราะว่ามีข่าวที่ไม่ดีเกี่ยวกับตัวบริษัทของเรา ประเด็นอยู่ตรงนั้นว่า ความเร็วของ mindset จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่

บัณฑูร: ทิศทางที่เราเห็นกัน อย่างที่ได้กล่าวเรื่อง CSR กำลังปรับไปสู่การปรับในส่วน core business การปรับตัวในกระบวนการผลิต ตรงนี้เองจะโยงกับเป้าของ SDGs ข้อที่ 12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน

หลายบริษัทที่ได้มีโอกาสเห็น เอาผัง SDGs และ supply chain ของบริษัทมาขึงดู แล้วก็ดูว่า ในแต่ละเป้า 17 เป้า บริษัทตัวเองเกี่ยวโยงอย่างไรบ้าง ก็สามารถที่จะไปได้ และไปในแนวทางที่ท่านเลขารพีพูดไว้คือ market force หรือพลังทางสังคม จะเป็นตัวกระตุ้น เร่งสปีดความเร็วของการปรับเปลี่ยน นี่เป็นทิศทางที่ท่านเห็นในอนาคตว่าจะเกิดขึ้นนะครับ คำถามเดียวกันครับ ขออนุญาตเรียนเชิญท่านรองลดาวัลย์ครับ

ลดาวัลย์: สำหรับเรื่องมองไปข้างหน้า ปัญหาและอุปสรรค ขอพูดในมุมมองภาครัฐนะคะ จากประสบการณ์ที่ได้ประสานเรื่องนี้มาและเรื่องอื่นๆ ด้วย ปัญหาของภาครัฐที่เป็นประเด็นสำคัญคือ “ความเข้าใจ”

ต้องยอมรับว่า ต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจน ถ้าเขาไม่เข้าใจ การที่จะเดินต่อไปจะลำบาก เพราะเขาจะรู้สึกว่าเขาต้องทำอะไรแค่ไหน เขาเกี่ยวหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ต้องสร้างให้เขาเข้าใจ เพราะว่าภาครัฐเองมีงานหลายแบบ หลายหน้า พอเราพูดถึง SDGs ขึ้นมา เขาก็เริ่มคิดว่า นี่เป็นงานใหม่หรือเปล่า มันงอกอีกแล้ว ทำไหวหรือเปล่า ไม่ใช่งานของเราใช่ไหม

เราต้องทำความเข้าใจว่าในแต่ละเป้า ท่านเกี่ยว เกี่ยวอย่างไร แล้วงานก็ไม่ใช่งานใหม่ เป็นงานที่ท่านทำนั่นแหละ แต่ว่าท่านจะต้องมีเป้าให้ชัดเจน ที่มันจะสอดประสานไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นี่คือประเด็นสำคัญประเด็นแรก ต้องคุยกันหลายรอบ ต้องคุยกันเรื่อยๆ

ถัดมาที่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนต่อไปก็คือ การที่จะมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในแต่ละเรื่อง อันนี้สำคัญ แม้ว่าจะได้เรียนไปแล้วว่าเรามีการกำหนดหน่วยงานหลัก หน่วยงานสนับสนุน สิ่งที่เกิดขึ้นที่เราเจอ และคงจะต้องเจอไปเรื่อยๆ เหมือนกันคือ

เวลาเราเชิญคุย เชิญหารือ เชิญประชุม หลายๆ กระทรวงก็จะเปลี่ยนคนมา คราวที่แล้วคนหนึ่งมา คราวนี้อีกคนมา ก็ต้องเริ่มทำความเข้าใจกันใหม่ ซึ่งก็อาจจะต้องใช้เวลา ดิฉันคิดว่าอีกหน่อยอาจจะต้องมีแบบที่เขาทำกัน มี mister หรือ miss ที่มีหน้าที่รับผิดชอบประจำกระทรวงโดยตรง เวลาตามหรือคุยก็คุยกับคนนี้ อาจจะต้องคิดในประเด็นระยะยาวต่อไป เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องระยะยาว

อีกอย่างที่เป็นประเด็นของราชการก็คือ มีการเปลี่ยนตำแหน่งและเกษียณอายุ บางท่านกำลังทำกับเราอยู่ดีๆ ท่านเปลี่ยนตำแหน่งแล้ว ไปอีกตำแหน่งหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวโดยตรง อันนี้เป็นวัฏจักรของทางราชการ

หรือถ้าท่านเกษียณ ปรากฏว่าคนใหม่ที่มาทำตำแหน่งแทนก็อาจไม่สนใจแล้ว ก็อาจจะเป็นประเด็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาของภาคราชการ ฉะนั้น เราต้องวางคนระยะยาวไว้ เพราะ SDGs เป็นเรื่องระยะยาว 15 ปี ต้องวางรากฐาน วางคนไว้ที่จะขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นถัดมา พูดไปแล้วคือเรื่อง “ข้อมูล” ดิฉันคิดว่าสำคัญมาก เพราะว่าถ้าเรายังไม่รู้ตัวตนของเราว่าเราอยู่ที่ไหน เราจะขับเคลื่อนต่อไปก็ไม่รู้จะไปยังไง ฉะนั้น สิ่งที่ต้องวางรากฐานอีกเรื่องหนึ่ง ที่จะเป็นประเด็นที่ต้องคุยกันเยอะในอนาคตก็คือเรื่องระบบข้อมูล

การจัดเก็บ การวางระบบ การเชื่อมต่อระหว่างกระทรวงต่างๆ ก็จะมีประเด็นที่ว่า บางหน่วยงานค่อนข้างจะเก็บข้อมูลไว้กับตัวเองเยอะ การแชร์อาจจะไม่ค่อยทำมาก ก็ต้องเปิดโอกาสให้แชร์มากขึ้น เพื่อว่าคนจะได้เข้าถึงและเอาไปใช้ประโยชน์และร่วมกันขับเคลื่อนได้

ประเด็นถัดมาของภาคราชการที่มองอนาคตก็คือ “การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” เรื่อง SDGs อาจจะเป็นเรื่องระยะยาว แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ความสนใจแต่ละชุดก็อาจจะแตกต่างกัน ก็ห่วงประเด็นนี้เช่นเดียวกัน

อย่างชุดปัจจุบัน ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ท่านลงมาเป็นประธานเอง แต่ชุดต่อไปเราก็ไม่ทราบว่าจะเป็นใคร จะสนใจหรือไม่อย่างไร ข้าราชการก็ทราบดีว่า เราจะเซนซิทีฟกับนโยบายของรัฐบาลค่อนข้างมาก

รัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนไป เราก็ต้องเปลี่ยนงาน บางกระทรวงที่เขาต้องทำงานตามนโยบายของรัฐมนตรีหรือของรัฐบาล อันนี้ก็จะเป็นข้อท้าทายของความต่อเนื่องของการที่จะขับเคลื่อนเรื่อง SDGs ต่อไป

นางสาวลดาวัลย์ คำภา
นางสาวลดาวัลย์ คำภา

อีกอันหนึ่งที่สำคัญ อย่างที่เรียนแล้วว่า SDGs ต้องทำทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมช่วยกัน วันนี้โชคดีที่มาก็คือว่า จะได้เปิดให้มีการเชื่อมประสานระหว่างภาครัฐกับเอกชนได้มากขึ้น

ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ภาคเอกชนทำก็เป็นประโยชน์ สิ่งที่รัฐทำ ถ้ามาเสริมกันได้ก็จะเป็นประโยชน์ การเชื่อมต่อตรงนี้ ข้อต่อมันยังไม่ค่อยชัด เราจะต้องหาทางที่จะให้เกิดการเชื่อมต่อให้เป็นระบบ แล้วก็ถึงกันได้ ภาคเอกชนทำอะไรเสริมกัน ภาครัฐก็ปรับ ก็ปรับตัวให้เสริมกัน ก็จะรวมพลังกันทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีพลังและถูกเป้าหมายได้

ดร.บัณฑูร: เป็นมุมมองจากผู้ที่รับผิดชอบงานโดยตรง 4 ประเด็นใหญ่ๆ เรื่องความเข้าใจร่วมกัน เฉพาะภาครัฐยังมีประเด็นจุดอ่อนตรงนี้อยู่ การเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามระยะเวลา เรื่องข้อมูลในสถิติตัวชี้วัดที่จะเอามาใช้ และท้ายสุด ประเด็นเรื่องความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน

ผมย้ำ 4 ประเด็นนี้เพราะว่า อยากจะฝากโจทย์ให้ท่านช่วยกันคิดเสนอแนวทางในการที่จะตอบโจทย์กับ 4 ประเด็นที่ท่านลดาวัลย์ยกขึ้นมา

ขยายให้เห็นประเด็นชัดเจน เช่น เรื่องข้อมูลที่พูดถึง หนึ่งในนั้นคือข้อมูลภาคเอกชนเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาที่ท่านผู้ว่าแบงก์ชาติยกขึ้นมา แล้วประเทศไทยก็เพิ่งเป็น commit ที่เป็นภาคีสมาชิกของความตกลงปารีส

ทุก 2 ปี เราต้องไปรายงานครับว่าประเทศไทยทำอะไรไปบ้าง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงไปเท่าไหร่ แล้วหนึ่งในข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลของภาคเอกชน ปัจจุบันไม่มีกฎหมายที่จะไปบังคับให้ท่านเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้

ตรงนี้เป็นความร่วมมือที่อยู่ในประเด็นที่ 4 ว่า แนวทางความร่วมมือในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างรูปธรรมนะครับ ท่านสุดท้ายเชิญ ดร.เศรษฐพุฒิ

ดร.เศรษฐพุฒิ: ผมว่า 2 เรื่องด้วยกัน ถ้าจะให้ achieve ตัว SDGs ยังไง อันแรกคือเราต้องมี อาจจะเรียกว่าวัฒนธรรมหรืออะไรต่างๆ ของการทดลอง culture of experimentation มากขึ้น ลองผิดลองถูก แล้วอันที่ 2 คือ ยังไงๆ ต้องพยายามอาศัยกลไกตลาด ถ้าจะให้มันเวิร์กจริงๆ ถามว่าทำไม

อันแรกเลย เรานึกภาพว่า เรามีเป้า เราเซ็ตไว้ เราเซ็ตเป้าไว้อยากจะได้ SDGs อะไรต่างๆ ถามว่า ตอนที่เราเซ็ตเป้า เรารู้คำตอบหรือเปล่าว่าจะไปให้ถึงเป้าตรงนั้น วิธีที่ดีที่สุดคืออะไร

ผมคิดว่ายากนะครับ คงต้องเป็นมนุษย์ที่สุดยอดวิเศษที่จะคิดทุกอย่างให้ออก แต่ว่าวิธีที่จะถึงเป้าตรงนั้น มันอาจจะมีคนที่สามารถคิดได้ ซึ่งเรานั่งอยู่ตรงนี้ บนเวทีนี้ อาจจะไม่รู้ คนในห้องก็อาจจะไม่รู้ แต่ผมเชื่อว่ามีใครที่อยู่ในประเทศไทยที่สามารถจะคิดได้

ซึ่งมายังไง มาจากการที่เรามีสิทธิ์ที่จะลองหลายๆ วิธี วิธีไหนเวิร์กก็แบ็คตัวนั้น วิธีไหนไม่เวิร์กก็ยุบกันไป แล้วโดยเฉพาะ SDGs มันหลากหลายมิติ ไม่มีทางที่จะหา solution อันเดียวที่มันจะเวิร์กทุกบริบทได้

เรื่องที่สองคือ เรื่องกลไกตลาด ผมคิดว่าถ้าจะยั่งยืนจริงๆ ยังไงๆ มันหนีไม่พ้นว่าต้องอาศัยกลไกภาคตลาดให้เวิร์ก เหมือนสารพัดปัญหาที่เราคุยกัน ก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ผมก็ไม่รู้ว่าวิธีแก้ไขปัญหาคืออะไร แต่ผมก็คงกล้าพูดว่า วิธีที่จะเวิร์ก ในที่สุดก็จะต้องอาศัยกลไกตลาด

เพราะถ้าไม่ใช้กลไกตลาด โอกาสที่จะทำได้อย่างยั่งยืนเป็นไปได้ยากมาก คือถ้าเราไปพึ่ง หวังความใจบุญของคน ในที่สุดมันคงไม่เวิร์ก การที่จะเอาแรงจูงใจที่มันถูกสร้างขึ้นมาจากกลไกตลาด ยังไงๆ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะบรรลุเป้า SDGs ทั้งหลายครับ
ดร.บัณฑูร: เห็นตรงกันนะครับ ดร.เศรษฐพุฒิยกขึ้นมาในประเด็นเรื่องกลไกตลาดที่ท่านเลขาฯ รพีพูด market force ซึ่งผมอยากจะมองให้กว้างไปถึงพลังทางสังคมที่จะมาร่วมกันปฏิบัติ ติดตาม ผลักดันเรื่องเป้า SDGs ซึ่งจะยั่งยืนกว่าภาคการเมืองซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี ในประเด็นภาคการเมืองท่านรองลดาวัลย์พูดไว้เมื่อเช้า การทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ทางรัฐบาล ทางท่านนายกฯ ได้ประกาศที่จะนำเอากรอบ SDGs มาเป็นตัวตั้งต้นและเชื่อมโยงไปกับการทำยุทธศาสตร์ชาติ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

จะเริ่มกระบวนการนี้สักมีนาคมปีหน้า ไปอีกหนึ่งปี ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าภายในหนึ่งปี เราจำเป็นที่จะต้องทำยุทธศาสตร์ชาติที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมกัน ท่านเลขาฯ รพีมีขยายเพิ่มเติมประเด็นไหนไหม

รพี: ผมลืมตอบที่ถามว่าอุปสรรคคืออะไร ความจริงอุปสรรคในเรื่องเกี่ยวกับตลาดทุนเป็นอุปสรรคที่เรียกว่าดูเหมือนเป็นเรื่องขัดกันเองระหว่าง sustainability กับเรื่อง เกี่ยวกับ short term goal อย่างที่ท่านผู้ว่าฯ วิรไทได้พูดแล้ว

ถ้าใครเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน หรือใครเป็นโบรกเกอร์ หรือใครเป็นอินเวสเตอร์ ก็จะเห็นว่าทุกไตรมาสบริษัทจะประกาศงบ แล้วสิ่งที่งบจะประกาศออกมา analyst หรือนักวิเคราะห์ก็จะคอยตามเสมอว่า งบที่ออกมาเป็นไปตาม target หรือไม่เป็นไปตาม target

earning ตกไม่ตก ถ้า earning ตก สิ่งที่นักวิเคราะห์เขียนก็คือบอกว่าขาย เพราะหุ้นตัวนี้ไม่สามารถทำตามเป้าได้ ราคาไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็เป็น pressure ของผู้บริหารจดทะเบียนทั้งหมด ที่ต้องพยายามรักษาเป้า

แล้วเราก็รู้ว่าเรื่อง sustainability นี้ ถ้าที่ผ่านมา ท่านไม่เคยทำแล้วมาเริ่มทำ สิ่งที่เกิดขึ้น อย่างแรกคือ มันเพิ่มต้นทุนของตัวเอง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า สมมติ waste management, waste treatment ถ้าเมื่อก่อนเราเป็นบริษัทไม่เคย ทำ waste treatment มาก่อนเลย ปล่อยให้น้ำเสียหรือ pollution ลงคลอง ลงอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ อยู่ๆ สักวันหนึ่งบอกว่า เรามาลงทุนระบบในเรื่องเกี่ยวกับการทำระบบ waste management ดีไหม ดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทันที ผมว่าเป็น investment ที่ลงไปแล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้

จริงๆ แล้วกลับข้างเสียอีก เป็นต้นทุน พอเป็นต้นทุน มันก็ไปกระทบ earning พอไปกระทบ earning ท่านนักลงทุนเองมองแต่ตัว short term goal บอกว่าตอนนี้เอง หุ้นตัวนี้ราคาเท่าไหร่

อย่างนี้ก็จะยากมากในการที่จะไปเปลี่ยน mindset ของผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน เพราะว่า market pressure ของเราที่เป็นนักลงทุนไปบอกเขาว่าไม่ได้ ถ้า earning คุณตก ต่อให้คุณตกด้วยการที่คุณไปทำดี ผมก็จะขายหุ้นของคุณทิ้ง นี่มันเป็นอะไรที่เป็น conflict อยู่ในตัว

และผมคิดว่าเป็นประเด็นปัญหาที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเจออยู่ ในการที่จะกล้าหาญมากเลยที่จะบอกว่า ผมยอมกำไรตก ในขณะที่สมมติว่ามีบริษัทคู่แข่งเป็นบริษัทจดทะเบียนเหมือนกัน อยู่ใน sector เดียวกัน แล้วเขาไม่ทำ แล้วกำไรเขาดี แล้วนักลงทุนแห่เทขายหุ้นของบริษัทผม ไปซื้อหุ้นของบริษัทอีกคน

อย่างนี้ผู้บริหารก็แย่ พอไปเจอผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นก็ยกมือขึ้นมาด่าบอกว่า ทำไมราคาหุ้นตก ทำไมไม่สามารถสู้คู่แข่งได้ มันก็จะกลายเป็น vicious circle (วงจรอุบาทว์)

ฉะนั้น สิ่งที่พยายามจะพูดก็คือว่า ตรงนี้ต้องเริ่มจากเราในฐานะเป็นเจ้าของเงิน ในฐานะเป็นอินเวสเตอร์ ที่บอกว่า เฮ้ย ไม่ได้นะ เราไม่ได้หวังจะได้ short term goal อย่างนี้อย่างเดียว

ถ้าคุณไปทำ short term goal แล้วในที่สุด คุณทำให้มันเกิดปัญหาต่อระบบ แล้วพวกเราก็จะอยู่กันไม่ได้ คนก็อยู่กันไม่ได้ เราก็จะไม่ซื้อหุ้นของคุณ ถึงแม้กำไรคุณดี

เรื่องพวกนี้มันพูดง่าย แต่ถ้า incentive ของทุกคนมันถูกเกียร์ว่าคุณต้องทำเงินให้ได้ คุณต้องทำกำไรให้ดีที่สุด คุณจะต้องเป็น fund manager คุณต้องบีบ performance ต้องสร้าง performance แม้ว่าบริษัทที่คุณไปลงทุนมันจะก่อให้เกิดมลภาวะ อย่างนี้มันก็จะไม่เวิร์ก

SDGs

ดร.บัณฑูร: นี่คือความท้าทายที่ตลาดทุนจะต้องรับมือแนวคิดเรื่องการปรับการมองในระยะยาว เป็นประเด็นที่ท่านผู้ว่าวิรไทก็ยกเป็นประเด็นไว้ แล้วโจทย์นี้ก็เป็นโจทย์ที่สอดคล้องที่ ดร.เศรษฐพุฒิพูดถึงนะครับ วิธีที่ดีที่สุดที่จะให้บรรลุเป้าในแต่ละเรื่องทำอย่างไร ตลาดทุนก็คงมีโจทย์ที่ชัดเจนที่ท่านเลขารพียกขึ้นมา

มีคำถามจากผู้ร่วมงานตั้งแต่คำถามว่า จากบทบาทของวิทยากรแต่ละท่าน หนึ่งปีหลังจากนี้ควรทำอะไรบ้าง, เรื่องการประสานความร่วมมือแล้วก็โยงกับเรื่องประชารัฐ, เรื่องตัวชี้วัดการเก็บข้อมูลจะมีแพลตฟอร์ม จะมีช่องทางของการเปิดรับเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีร่วมได้อย่างไรบ้าง เชิญท่านรองลดาวัลย์

ลดาวัลย์: มีประเด็นเกี่ยวข้องหลายประเด็น ขออนุญาตเรื่องข้อมูลก่อนนะคะ ข้อมูลมีอยู่กระจัดกระจาย ทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่มีข้อมูล ซึ่งบางคนก็เก็บไว้ไม่บอกใคร บางคนก็มี แต่ยังไม่บอก ให้มาเจอกัน

ดิฉันคิดว่าพอเรามีความชัดเจนในเรื่องของลำดับความสำคัญเรียบร้อยแล้ว ก็คงจะต้องมีการคุยเรื่องข้อมูลอย่างจริงจังว่า แต่ละเรื่องมีใครเกี่ยวข้องบ้าง แล้วใครมีอะไรบ้าง อย่างที่ใช้คำว่าโมดิฟาย ต้องมาโมดิฟายกันอีกทีว่า ใครมีแค่ไหนอย่างไร เก็บแบบไหน ทำอย่างไรที่จะปรับให้เข้ากันได้ หรือว่าเอามาใช้ได้ อันนี้เป็นอีกงานสำคัญอันหนึ่งที่ต้องรีบทำ

ตอนนี้เราคงจะไม่สามารถทำทีเดียวทั้ง 17 เป้า เราขอจัดลำดับความสำคัญก่อน แล้วก็จะเห็นภาพว่าอะไรที่จะเป็น priority ในการดำเนินการในปีนี้ จะมีภาพออกมาชัดว่าเป้าไหนสำคัญมาก อาจจะเป็นเป้าที่เกี่ยวกับ climate change ก็ได้ หรือเป็นเป้าที่เกี่ยวกับเรื่องความยากจนก็ได้ เพราะว่าเรามีความพยายามจัดลำดับความสำคัญอย่างที่เรียนแล้ว แต่ผลยังไม่ได้คุยกันให้ชัดเจน

เมื่อผลออกมาก็จะมาคุยเรื่องข้อมูล ดิฉันเห็นด้วยว่าเราจะต้องเปิดพื้นที่ให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีข้อมูลเข้ามาเจอกัน มาคุยกัน แลกเปลี่ยนเชื่อมโยงทำระบบต่างๆ ก็คิดว่าจะต้องทำเป็นเรื่องต้นๆ ของการขับเคลื่อน

ถัดมาคือเรื่องของการประสานความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน การประสานได้ก็ต้องเจอกันก่อน แล้วจัดให้มีเวทีให้ได้เจอกัน

วันนี้ส่วนใหญ่เท่าที่ดูเป็นภาคเอกชนเยอะ บางเวทีที่รู้จักจะเป็นภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ เราก็จะมี forum ในเวลาอันใกล้นี้ จัดให้เจอกันแต่ละเป้า เมื่อสักครู่ได้ฉายไปแล้วว่าใครเป็นเจ้าภาพในหน่วยงานรัฐ

แล้วเอกชนท่านใดสนใจหรือท่านใดเกี่ยวข้องก็อาจจะเชิญมาหารือคุยกัน ถ้าไม่เจอกันคุยกัน มันประสานลำบาก เพราะฉะนั้น ต้องจัดเวทีให้ ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพยายามสร้างความเชื่อมโยงของกลไก ซึ่งในฐานะสภาพัฒน์ฯ เป็น focus point จำเป็นต้องจัดเวทีเหล่านี้ให้แก่ท่าน

โยงมาถึงคำถามสุดท้ายที่พูดถึงเรื่องประชารัฐ ดิฉันคิดว่า แน่นอน SDGs เรื่องของ public, private, people, partnership อะไรต่างๆ สำคัญมาก ดิฉันคิดว่าคงอาจจะต้องมี กำลังคิดว่ากลไลต่อไป จากที่เราได้เวิร์กไปเรื่อยๆ ทางกระทรวงก็อาจจะมี mister หรือ miss ที่รับผิดชอบ

เราก็จับมา match กับทางภาคเอกชน ซึ่งต่อไปเราก็จะ focus point แล้ว focus point ในเรื่องเป้านี้เป็นใคร แล้วจับมาเจอกัน แล้วเราจะสร้าง อาจจะเป็นคณะทำงานเล็กๆ ประจำของกลุ่ม หรือเป้านั้นก็ได้ เพื่อจะได้เป็นกลไกติดตามว่าเรื่องนี้ คนนี้นะ ทำงานเรื่องนี้ 5 คน 10 คน ทำงานด้วยกัน แล้วก็เป็นตัวประสานหลัก เราก็เข้าไปแจม เข้าไปพูดคุย ให้เขาเป็นตัวหลัก นี่คือสิ่งที่คิดไว้ แต่ต้องเรียนว่าต้องทำไปทีละสเต็ปนะคะ ถ้าทำพรวดพราด บางทีเกิดความไม่เข้าใจ แล้วมันไม่ตกผลึก

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์

ดร.บัณฑูร: อีกสองท่านครับ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า SDGs มองยาว แต่ว่าหนึ่งปี ที่เป็นรูปธรรม ในบทบาทที่ท่านรับผิดชอบอยู่ น่าจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง

รพี: ในส่วนที่เรารับผิดชอบ อย่างที่เรียนว่า เราจะมี CG code มีเรื่อง institution investor Code ในเรื่องเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนออกมา แต่อย่างที่เรียนว่า อันนั้นเป็นแค่กฎเกณฑ์ แต่สิ่งที่หน่วยงานพยายามทำ ผมมีความเชื่อว่า เรื่องพวกนี้มันต้องทำหลายๆ ด้าน หลายๆ ทาง

เราอาจจะอยากได้ ให้มีใครสักคนหนึ่งลุกขึ้นมาจัดการให้มันเบ็ดเสร็จ ให้บูรณาการ แต่เราก็เห็นแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องที่หวังมากเกินไป เป็นฝันกลางวัน เพราะเป็นเรื่องอะไรที่มันยากมาก ที่จะทำ

แต่ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าต้องไม่ลืมว่า มันมีกระบวนการ หรือมีสิ่งที่กำลังทยอยเกิดขึ้นเป็นจุดๆ แล้วก็เป็นเรื่องอะไรที่เราต้องพยายามทำต่อเนื่อง

ลองนึกถึงภาพเรื่องเกี่ยวกับตัว anti-corruption ที่คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ท่านได้เป็นประธานของ ACT วันก่อนที่เราจัดงานที่สนามหลวง ก็มีคนไป 2 หมื่นคน แต่สิ่งที่น่าสนใจที่คุณประมนต์พูดก็คือว่า

ตอนที่คุณประมนต์เริ่มทำเรื่องนี้ เมื่อสัก 3 หรือ 4 ปีที่แล้ว มีแต่คนหัวเราะบอกว่า ลุกขึ้นมาทำ ไม่มีใครซัพพอร์ตคุณหรอก เพราะเป็นเรื่องที่ฝังลึกอยู่ในสายเลือด อยู่ในชีวิตของคนไทย ไม่มีใครจะลุกขึ้นมา joy movement กับคุณหรอก

แต่ในที่สุด วันที่เกิดขึ้นที่สนามหลวง มีคนไป 2 หมื่นกว่าคน มีรัฐมนตรีไปกันเต็มเลย มีเรื่องเกี่ยวกับการสร้าง awareness ผ่านกระบวนการต่างๆ ของ ACT มีเรื่องเกี่ยวกับการที่ ป.ป.ช. ลุกขึ้นมาออกกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีเรื่องที่รัฐบาลใช้อำนาจรัฐย้ายข้าราชการที่คิดว่ามีส่วนร่วมในการกระทำคอร์รัปชัน

เรื่องพวกนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำกันอย่างต่อเนื่องและทุกภาคส่วน หรือถ้าจะพูดกันจริงๆ ก็ต้องบอกว่า ถ้ามีเหมือนกับ ACT ขึ้นมา sustainability ก็จะดีมาก ที่เป็น national campaign ที่ mobilize ความรู้สึกของประชาชน ที่จะลุกขึ้นมา

แต่อันนี้เป็นอะไรที่ต้องมีคนคล้ายแบบคุณประมนต์ขึ้นมาสัก 30 คน ถ้าทำโคลนนิงได้ แล้วก็บอกว่า มาทำเรื่อง anti-corruption อีกคนมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมไหม อีกคนมาทำเรื่องอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ที่มันอยู่ในเรื่อง sustainability ผมว่าจะเป็นอะไรที่จะทำให้มันสร้าง snowball คือทำให้มันเริ่มก่อตัวจริงๆ จังๆ อันนั้นเป็นภาพแบบแมคโคร

ถามว่าไมโครที่ลงมาทางด้าน ก.ล.ต. ทำอะไรได้บ้าง สิ่งที่พยายามจะทำก็คือ ตอนนี้อยู่ในช่วงการเดินสายไปพบกับเจ้าของกิจการ เจ้าของครอบครัว เราก็รู้ว่าบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด 70% ถูกคอนโทรลโดยครอบครัว แล้วถ้าครอบครัวเองไม่ได้บอกว่ามี mindset ที่จะเปลี่ยน จะไปบอกให้ management เปลี่ยน มันแทบจะเรียกว่าไม่มีทาง

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ผมได้มาตอนที่ผมเคยไปช่วยงาน IOD (สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย) ในเรื่องเกี่ยวกับการทำเรื่องที่จะทำให้บริษัทมา certified ว่าตัวเองเข้ากระบวนการในเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันคอร์รัปชันยังไง

จำได้ว่าไปเจอกลุ่มบริษัทกลุ่มหนึ่ง เป็นของครอบครัว ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ ตอนแรกก็พยายามจะเข้าไปคุยกับทางด้านกรรมการอิสระ ไปคุยกับ management ไปคุยกับพนักงานของเขา บอกว่ามาจอยสิ ดีมากเลย ทุกคนก็บอกว่าเรื่องนี้เป็นคอนเซปต์ที่ดีมาก แต่ก็ไม่มีใครทำอะไร

จนกระทั่งวันหนึ่งได้รับเชิญไปพูดกับกลุ่มครอบครัวที่เป็นเจ้าของจริงๆ คือ ตัวเจ้าของเองท่านมานั่งฟังด้วย แล้วท่านก็บอกว่าขอให้กรรมการบริษัทในเครือทั้งกรุ๊ปมานั่งฟังบรรยายในกระบวนการว่ามันทำยังไง มีความยากความง่ายยังไง มีประโยชน์ที่ได้ยังไง

บรรยายไปได้แค่ชั่วโมงเดียว ท่านประธานหรือเจ้าของตัวจริงหันไปพยักหน้ากับตัวซีอีโอ แล้วหลังจากนั้นบริษัทในกลุ่มนี้ทั้งกลุ่มก็เข้ามาจอย

ฉะนั้น จริงๆ แล้วมันอาจจะทำหลายด้าน ด้านหนึ่งต้องไป mobilize ประชาชน การสร้าง awareness อีกด้านหนึ่งก็ไป target ของคนที่เป็น operator อีกด้านหนึ่งก็ต้องทำเรื่องเกี่ยวกับการ enforcement กฎหมาย ให้เกิดความชัดเจน

ดร.เศรษฐพุฒิ: เรื่องที่จะเห็นอะไรเป็นรูปธรรมใน 1 ปี ผมว่าไม่มี คือถ้าเราไปเน้นปัญหา ไปหวังว่าจะเห็นผลในระยะสั้น มันก็เลยทำแต่เรื่องระยะสั้น แต่ผมว่าเรื่องที่เราคุยเป็นเรื่องระยะยาว เลยถามว่า ถ้าหวังว่าจะเห็นอะไรระยะสั้น มันคนละโจทย์กัน

แล้วจริงๆ ของเราที่ผ่านมามันเหมือน…สมมติเราบริหารประเทศ 10 ปี แต่เราไม่ได้บริหารประเทศ 10 ปี เราบริหารประเทศเหมือนกับเป็นแผน 1 ปี 10 หน มองสั้นไปเรื่อยๆ มันก็เลยออกมาเป็นอย่างที่เราเห็นตลอดเวลา

คือกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรเป็นระยะสั้นมาก ซึ่งตอนนี้ผมว่าเราก็เห็น ผลมันฟ้องแล้ว เราทำอย่างนี้มานานแล้ว แล้วมันก็ได้อย่างที่เราเห็น ก็ไม่น่าจะกลับไปใน loop นั้น

อีกอย่างที่อาจจะตอบโยงกับ 2-3 คำถาม คือเรื่องว่าอยากเห็นอะไรจากภาครัฐหรือทำงานอะไรกันยังไง ผมว่าจริงๆ มันกลับมาแบบที่หลายวิทยากรพูด คือ อย่าไปเริ่มที่ภาครัฐเลย เรา มองตัวที่เราสามารถทำเองได้ดีกว่า

ถามว่าทำไม เพราะรัฐบาลก็เปลี่ยน ครม. ก็เปลี่ยน ถ้าเรามัวแต่พยายามไปจับเรื่องนโยบาย ผมไล่สมัยก่อน บางท่านอาจจะจำได้ว่าเคยพูดทิศทางภาพเศรษฐกิจจะเป็นดีทรอยต์เอเชีย, แฟชั่นแคปปิตอล, เทรดดิ้งเนชั่น, ดิจิทัลอีโคโนมี มีครีเอทีฟด้วยอยู่ช่วงหนึ่ง ล่าสุดเป็นเรื่องไทยแลนด์ 4.0 แล้ว

ของพวกนี้มันเปลี่ยนตามนโยบาย เปลี่ยนตามรัฐบาล เปลี่ยนตาม ครม. แต่ว่าของที่ยั่งยืนคือพวกเรา คือภาคประชาชน ภาคเอกชนที่ต้องอยู่ เลยกลับมาว่าเรามีอะไรบ้าง คือเข้าใจรัฐบาลมาก็ต้องมีนโยบายก็ต้องปรับเปลี่ยนอะไรออกไป

แต่ว่าภาคโดยรวม นักวิชาการ เอกชน ประชาชนต่างๆ เหมือนกับต้องเป็นกระดูกงูใต้ท้องเรือที่ทำให้เรือไม่โคลง ต้องเป็นอย่างนั้น เพื่อพยายามอย่างน้อยเป็นแนวไม่ให้มันโคลง

กลับมาเรื่องที่เราคุยกันคือเรื่อง SDGs หลายเรื่องมันก็เป็นเรื่องของเรา หนึ่งคือความสนใจ คือถ้าเรานึกภาพ เปิดหน้าหนังสือพิมพ์ สิ่งที่เราเห็นคืออะไร เราเห็นพวก SDGs พูดกันเยอะไหม เรื่องการสื่อสาร เรื่องจีดีพีจะเป็นเท่าไหร่ พวกนี้เป็นการสร้างบรรทัดฐาน ท่านอาจจะปรับตรงนี้

ก็คือต้องให้ความใส่ใจของเราไปกับเรื่องพวกนี้มากขึ้นกว่าในอดีต แล้วก็คล้ายกับว่า สร้างบรรทัดฐาน ไม่แคร์หรอกว่ารัฐบาลเป็นใคร ครม. จะเป็นยังไง แต่นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการ เช่น การศึกษาที่ดี โอกาสสำหรับลูก อะไรต่างๆ เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าจำเป็น

ดร.บัณฑูร: เป็นประเด็นท้าทายที่ชัดเจนนะครับ 1 ปีเรายังไม่เห็นผลสำเร็จ แต่ 1 ปีเราจะวางรากฐานของการทำงานระยะยาวได้อย่างไร กับทำอย่างไรจะไม่ให้เรื่องนี้ถูกเปลี่ยนไปตามวาระทางการเมืองกับการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล นี่เป็นโจทย์ที่ฝากไว้กับทุกคน

sdgs“>

คงเป็นสาระที่เป็นประโยชน์พอสมควรนะครับ จากความเข้าใจโจทย์ที่เราพยายามคลี่ให้เห็นว่ามีงานที่เกี่ยวข้อง มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับแต่ละภาคส่วนอย่างไรบ้าง เน้นย้ำในวันนี้คือ ภาคเอกชน

จาก CSR มาถึง self discipline ไปถึง market force แล้วต่อไปเราจะเป็นความร่วมมือ เป็น collaboration ซึ่งท่านรองเลขาสภาพัฒน์ฯ ได้เสนอไว้ว่าประมาณสักกลางเดือนตุลาคมที่เราจะมีเวทีร่วมกัน

นึกถึงที่ ดร.วิรไทกล่าวไว้ตอนท้ายปาฐกถาที่ท่านบอกว่า เราจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ที่จะรับมือความท้าทายใหม่ที่ เจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) ก็พูดไว้

อีกหนึ่งสิ่งที่เจฟฟรีย์ แซคส์ สรุปไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันนั้นคือ การพัฒนาที่ผ่านมาที่ไม่ยั่งยืน ปัจจัยหนึ่งเกิดจากจุดอ่อนในส่วนของภาคเอกชน วันนี้ภาคเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นนะครับ

ท่านฟังประเด็น ฟังโจทย์ในวันนี้แล้ว มีการบ้านที่ต้องไปคิด ไปทำต่ออีกพอสมควรทีเดียว แล้วเราจะเจอกันประมาณกลางตุลาคม เรื่อง SDGs เป็นเรื่องระยะยาว เริ่มทำวันนี้ ทำไปเพื่ออะไร เพื่อลูกเพื่อหลานเราในอนาคต เพื่อคนที่เรารักในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า

รพี: ถ้าเราพูดเรื่องนี้ จริงๆ อยากให้ทุกคนถามตัวเองมากกว่าว่าวันนี้พร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองหรือเปล่า เราพร้อมไหมที่จะบอกว่าถ้ามาสัมมนาอย่างนี้แล้วที่ทำงานเราให้อุณหภูมิเป็น 25 องศาฯ เปิดพัดลม

พร้อมไหมที่เดินออกไปจากวันนี้แล้ว เราไปซื้อของตามซูเปอร์มาร์เกตหรือตลาด ซื้อที่เป็นออร์แกนิกซึ่งแพงกว่าของธรรมดา 3 เท่า คือเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไข sustainability ความที่มันเป็นเรื่องดินพอกหางหมู มันมี cost แล้วมันเป็น cost ที่ทุกคนจะต้องแบก ถ้าคนไม่พร้อมจะแบก cost ตัวนี้ แล้วมาบอกว่าเราพยายามที่จะไปสร้างอะไรก็แล้วแต่ มันไม่มีทางที่จะสำเร็จ

ดร.บัณฑูร: เป็นการบ้านที่ฝากไว้กับทางภาครัฐด้วยนะครับว่า incentive ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนตรงนี้เป็นอย่างไร เป็นโจทย์หนึ่งที่เราเคยตั้งไว้เป็นประเด็นของการที่จะทำงานร่วมกัน