ThaiPublica > เกาะกระแส > Thailand SDGs Forum #3: “ลดาวัลย์ คำภา” สภาพัฒน์ระบุ 1 ปี ขับเคลื่อน SDGs จัดระบบคน – ชุดข้อมูล – เชื่อมโยงเครือข่าย สร้างขบวนการสู่เป้าหมาย 2030

Thailand SDGs Forum #3: “ลดาวัลย์ คำภา” สภาพัฒน์ระบุ 1 ปี ขับเคลื่อน SDGs จัดระบบคน – ชุดข้อมูล – เชื่อมโยงเครือข่าย สร้างขบวนการสู่เป้าหมาย 2030

29 กันยายน 2016


เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานสัมมนา “Thailand SDGs Forum #3: Thailand Sustainability Journey” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โอกาสและความท้าทายของประเทศไทยภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และเป็นแนวทางให้กับผู้แทนจากองค์กรภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสาธารณชนที่สนใจ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย

นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ในงานนี้ นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้บรรยายในหัวข้อ “Thailand Roadmap to the Goals” ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ของโลกทั้ง 17 ประการ โดยระบุว่า สภาพัฒน์ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในเรื่องนี้ เบื้องต้นรู้สึกหนักใจ เพราะเรื่อง SDGs ไม่ใช่เรื่องเล็ก ต้องมาดูว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี

ประเด็นแรกที่ได้เข้าไปดำเนินการและทำการทบทวน เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) หรือ MDGs ที่ทำมานั้นได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง อย่างไร โดย MDGs นั้นมี 8 เป้าหมาย ส่วนใหญ่เป็นด้านสังคม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม

“มีการประเมินเบื้องต้นว่า MDGs 15 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร ก็พบว่ามีทั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ เช่น เป้าในส่วนของความยากจนจะทำได้ดีในช่วงนั้น สามารถลดความยากจนได้ค่อนข้างที่จะชัดเจน ส่วนการศึกษากลายเป็นเป้าที่เราไม่สามารถพูดได้ว่าสำเร็จ เนื่องจากยังไม่สามารถทำให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถม หรือในระดับมัธยม ซึ่งจะโยงไปถึงเป้าถัดมาเรื่องความเท่าเทียมกันโดยเฉพาะความเท่าเทียมกันทางเพศ สามารถดำเนินการได้ดีให้เด็กไทยทั้งหญิงและชายได้เข้ารับการศึกษา เด็กหญิงได้รับการศึกษาดีขึ้นมาก”

ส่วนในเรื่องการเกิดและการตายในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ก็เป็นอีก 1 เป้าที่ทำได้ดี แต่ในเรื่องการตายของมารดายังทำได้ไม่ดีนัก ในส่วนของเรื่องโรคระบาดต่างๆ เราทำได้ค่อนข้างดี ส่วนเป้าที่ 7 และ 8 ทำได้บางส่วน และไม่สำเร็จบางส่วน แสดงให้เห็นว่าควรตั้งต้นเรื่อง SDGs ให้เป็นระบบ ไม่เช่นนั้นเราอาจเห็นแบบ MDGs ว่าผลสัมฤทธิ์ออกมาไม่สำเร็จเท่าที่ควร ทั้งที่จริงหลายเรื่องเรามีศักยภาพและสามารถทำได้

สำหรับเรื่อง SDGs นั้น ในระดับโลกมีการเตรียมการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2559 ก็ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศ สิ่งที่เห็นก็คือ 17 เป้าหมาย ที่มีความหลากหลายค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายของประเทศไทยเลยทีเดียว

แล้วทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับ SDGs อย่างที่ท่านผู้ว่าการ ธปท. ได้กล่าวไปแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาไทยเผชิญปัญหาและความเสี่ยงมากมาย ดังนั้น การที่ทำ SDGs จึงไม่ได้ทำแค่เพียงตอบสนององค์กรสหประชาชาติ (UN) แต่เราต้องการที่จะให้ SDGs เป็นตัวที่จะทำให้ประเทศก้าวข้ามความเสี่ยง กับดักต่างๆ ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้ได้ จากปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่เราเจอ ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจสังคม การที่เราเผชิญภาวะสังคมสูงวัย หรือพบกับปัญหาคุณแม่วัยใส และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อครั้งที่มีการเตรียมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ก็ได้มีการคุยกันมากเรื่องพื้นที่ป่าว่าจะตั้งเป้าเท่าไร ซึ่งหลายท่านให้ความเห็นว่าไม่ควรตั้งเป้าสูง เพราะอาจจะทำไม่ได้ แต่ทางสภาพัฒน์คิดว่าควรตั้งเป้าให้เหมาะสมกับสภาพนิเวศให้ได้ เป็นเรื่องที่เราจะต้องมุ่งไปที่เป้านั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น การทำ SDGs ยังทำให้ไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาร่วมกับประเทศต่างๆ ได้ มีการขับเคลื่อนร่วมกัน เป็นพันธมิตรกัน จึงทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับ SDGs

sdgs

จากที่สภาพัฒน์ได้หารือกับหลายหน่วยงาน ก็ได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่ควรเริ่มต้นคือการสร้างกลไกก่อน ซึ่งคนกลไกที่ว่านั้น ควรที่จะเริ่มต้นจากภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ถือว่าเป็นที่น่าสนใจมาก เนื่องจากเมื่อมีการประชุมในต่างประเทศทำให้ต่างประเทศมีความเชื่อถือว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับ SDGs เพราะมีผู้นำเป็นประธาน บางประเทศเขาก็ไม่ได้เป็นกรรมการได้ระดับนี้

นอกจากนั้น ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ชุดแรกคืออนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ชุดที่ 2 คือ อนุกรรมการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มี รศ. ดร.จุรี วิจิตรวาทการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นประธาน และชุดที่ 3 คือ อนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน มีนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด เป็นประธาน เป็นการดำเนินการเรื่องข้อมูล เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าในประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องข้อมูล

ทั้งคณะกรรมการใหญ่และคณะอนุกรรมการจะประกอบไปด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ เอกชน ประชาสังคม เพราะหากจะให้ภาครัฐขับเคลื่อนเพียงหน่วยเดียวก็คงทำไม่ไหว ต้องมีภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีคณะทำงานอีก 3 ชุด

โดยในชุดแรก คือ คณะทำงานบูรณาการการดำเนินงานและจัดลำดับความสำคัญในการขับเคลื่อน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สภาพัฒน์เป็นผู้ดูแลเอง ชุดที่ 2 คณะทำงานจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะต้องทำเป็นระยะ มีกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ ส่วนชุดที่ 3 คณะทำงานปรับปรุงกลไกมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมและกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเรื่องเกี่ยวกับทางด้านวิชาการ เรื่องมาตรการต่างๆ ทางเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และสังคม ที่จะเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนของเราในระยะต่อไป ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเข้ามาช่วยในส่วนนี้ ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

เป้าหมายต่างๆ นั้นมีหน่วยงานของภาครัฐแต่ละหน่วยงานคอยดูแลอยู่ หากเอกชนมีความสนใจที่จะพัฒนาหรือสร้างความร่วมมือในเป้าหมายใด ก็สามารถที่จะติดต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องต่างๆ นั้นได้ ซึ่งบางเป้าอาจจะมีหน่วยงานหลักเพียงหน่วยงานเดียว เนื่องจากมีความชัดเจนในเรื่องที่จะต้องรับผิดชอบ ขณะที่บางเป้าจะต้องมีหลายหน่วยงานในการดูแล

อาทิ เป้าที่หนึ่ง ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเป็นเจ้าภาพหลักให้ เป้าที่ 2 ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทาง อาหาร ปรับปรุงโภชนาการ และสนับสนุนเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพให้ ในเป้าที่ 3 สร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพ และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลัก เป้าที่ 4 สร้างหลักประกันให้การศึกษามีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพ เป้าที่ 6 บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง มีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าภาพให้ ส่วนเป้าที่ 6 สร้างหลักประกันให้มีน้ำใช้ และมีการบริหารจัดการน้ำและสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน ซึ่งเรื่องน้ำถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น จึงมีทั้งกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นต้น

อันนี้คือภาพที่อยากให้เห็นก่อนว่าภาครัฐนั้นทำงานกันอย่างไร (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

sdgs

ในการทำงานนั้น นอกจากมีคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานแล้ว การดำเนินการได้มีการพยายามทำงานในเชิงรุก มีการพยายามจัดเวทีเพื่อพูดคุยกันบ่อยๆ เพื่อสอบถามความก้าวหน้า ความเห็น และขอให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยทำโรดแมปในแต่ละเป้าในความรับผิดชอบ เพื่อดูสถานภาพปัจจุบันว่าขณะนี้สถานภาพการดำเนินงานของหน่วยงานหลักและหน่วยงานร่วมเกี่ยวกับเป้าประสงค์นั้นดำเนินการไปถึงไหน มีปัญหาอย่างไร จาก 17 เป้า มี 169 เป้าประสงค์ และอีกกว่า 200 ตัวชี้วัด

“จะมีแผนงานอะไรมารองรับเป้าหมายดังกล่าวในระยะเวลา 15 ปี หรือในบางเรื่องมีแผนระยะยาว 20 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว แต่บางเรื่องยังไม่มี ก็ต้องมีการพัฒนาต่อไป นอกจากนี้ ยังจะต้องดูไปถึงความท้าทายของกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นอย่างไร แล้วจะมีนโยบายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอย่างไร ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ก็ต้องให้หน่วยงานช่วยคิด พิจารณาแล้วมาคุยกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีการดำเนินการไประดับหนึ่งแล้ว”

โดยสิ่งที่สภาพัฒน์ฯ ขอให้หน่วยงานได้ดำเนินการและทำการวิเคราะห์มาแล้วเบื้องต้น ค่อนข้างจะมีประเด็นในเรื่องของกลุ่มข้อมูล เนื่องจากการดำเนินการต่างๆ ต้องอาศัยข้อมูลเป็นสำคัญ ว่าขณะนี้ในเรื่องดังกล่าวดำเนินการไปแล้วถึงระดับใด และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เนื่องจากในแต่ละเป้านั้นมีเป้าประสงค์ย่อยและตัวชี้วัดจำนวนมาก

เช่น ในเป้าที่ 1 มีทั้งหมด 12 ตัวชี้วัด ซึ่งต้องมาดูว่าตัวชี้วัดเกี่ยวกับเป้าประสงค์นั้นภาพรวมเป็นอย่างไร ก็พบว่าข้อมูลที่หน่วยงานรัฐเคยรวบรวมไว้พอจะมีอยู่บ้างแล้ว แต่ยังคงต้องดูในเรื่องความสอดคล้องของข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 8 เรื่อง มีข้อมูลที่ต้องทำการปรับปรุง 1 เรื่อง มีที่ยังคงต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้นอีก 3 เรื่อง โดยรวมทั้งหมด 17 เป้า 241 ตัวชี้วัด จากทั้งหมด 241 ตัวชี้วัด มีเรื่องที่มีข้อมูลอยู่แล้ว 119 เรื่อง มีข้อมูลที่ต้องปรับปรุง 14 เรื่อง มีข้อมูลที่ต้องตรวจสอบอีก 103 เรื่อง เป็นต้น

ดังนั้น คณะทำงานชุดที่ 3 ที่ดูแลในเรื่องข้อมูลจึงต้องทำงานหนัก เพื่อให้รู้สถานการณ์ และถือเป็นโอกาสในการพัฒนาด้านระบบข้อมูลของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ มีการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป การดำเนินงานครั้งนี้จึงถือเป็นการยกเครื่องในเรื่องของข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลเป็นระบบเดียวกัน ใช้ประโยชน์ในการประเมิน SDGs และประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อไป

สิ่งที่เราทำ อย่างที่ได้เรียนไปแล้ว คือการจัดให้มีการพูดคุยกันหลายเรื่องที่ผ่านมา ซึ่งในคณะอนุกรรมการแต่ละชุด นอกจากการทำโรดแมปที่กล่าวไปแล้ว มีการจัดลำดับความสำคัญ ก็ได้รับความกรุณาจากหลายๆ หน่วยงานซึ่งเป็นนักวิจัย เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น มาช่วยเหลือในการประเมินมิติต่างๆ ทั้งเรื่องผลกระทบ สภาพปัญหา กฎหมาย สังคม หรือองค์ความรู้ต่างๆ โดยแยกตามระยะว่าใน 5 ปีแรกจะดำเนินการอะไร และต่อไปในอีก 15 ปี หรือ 20 ปี ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างถูกต้อง รวมทั้งช่วยปรับปรุงโรดแมปให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น

เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายที่สอดคล้องกับ SDGs หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาฯ ที่ 12 ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 และเรื่องการเตรียมแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งหมดนี้นายกรัฐมนตรีได้พูดแล้วว่าในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้นจะต้องมีเรื่อง SDGs เข้าไปให้เกิดความสอดคล้องกัน ดังนั้น จึงต้องเตรียมการในเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น

ประเด็นที่สองที่ต้องยกเครื่อง ที่พูดไปแล้วในเรื่องของระบบข้อมูลนั้นจะต้องสร้างระบบความเชื่อมโยง ซึ่งได้รับเกียรติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ให้ และอีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าสำคัญมากและคิดว่าเป็นที่ยอมรับของหลายๆ ประเทศ คือ เรื่องการขับเคลื่อนบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกลไก ส่วนนี้จะต้องมีการเข้าไปศึกษาเชิงลึก ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 จะเป็นผู้ดำเนินการ

อีกเรื่องที่ให้ความสำคัญ คือ การเชื่อมโยงกับภาคเอกชน เนื่องจาก SDGs ถือเป็นเป้าของประเทศ และเป็นเรื่องระยะยาวถึง 15 ปี ฉะนั้น จึงต้องมีการสร้างความรู้สร้างความเข้าใจร่วมกันเป็นระบบไปเรื่อยๆ ต่อไปจะมีเวทีที่ร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งทางสภาพัฒน์และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กำลังจะมีการจัดเวทีดังกล่าวในไม่ช้านี้ ฉะนั้นก็ต้องฝากไว้ที่ภาคเอกชนว่า หากท่านสนใจมีส่วนร่วม เมื่อเราเชิญไป อยากให้เข้ามาด้วยกัน เพราะท่านจะได้รับประโยชน์ และเป็นโอกาสที่จะช่วยกันพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่นกันกับภาคประชาสังคมที่จะต้องมีการจัดเวทีพูดคุยเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจร่วมกันต่อไป

ดังนั้น เรื่องใดที่รัฐทำไม่ได้ เอกชนหรือภาคประชาชนทำได้ รัฐก็ยินดีให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเสริม ซึ่งการจัดเวทีพูดคุยจะช่วยให้มีการเสริมเพิ่มเติมองค์ประกอบส่วนของผู้รับผิดชอบเข้าไป ก็จะจัดเวทีอยู่เรื่อยๆ ซึ่งจะจัดเวทีในแต่ละเป้าหลายครั้ง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ

นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สุดท้ายคือ ต้องมีการรายงานการดำเนินงานทั้งหมดให้กับคณะกรรมการ ว่าการทำงานในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เนื่องจากหลายเดือนที่ผ่านมามีการก้าวหน้าไปมาก ต้องรายงานถึงท่านนายกฯ ประมาณเดือนตุลาคม 2559 แต่คงจะต้องมีการจัดเพื่อให้เกิดการพูดคุยกับภาคเอกชนก่อน

ทั้งนี้ เรื่อง SDGs คงไม่ได้มุ่งทำเพื่อเป้าประสงค์สำเร็จอย่างเดียว แต่ขบวนการทำงานจะต้องมีการสร้างความรับรู้ร่วมกันในทุกภาคส่วน ซึ่งจริงๆ แล้วหากนำเป้าทั้ง 17 เป้าของ SDGs มาดูประกอบกับแผนพัฒนาฯ ที่ 12 จะเห็นว่ามีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ฉะนั้น การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ที่จะประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 จึงถือเป็นกลไกที่จะขับเคลื่อน SDGs ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งในเบื้องต้นหน่วยงานรัฐอาจไม่เข้าใจ อาจรู้สึกว่าทำไมงานจึงเพิ่มขึ้น ได้อธิบายไปว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่เคยทำมา เพียงแต่มองเป้าให้ตรงกัน แล้วจะเห็นว่าสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกัน

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 ที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีเพื่อพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้ง 17 เป้าของ SDGs และพร้อมแล้วที่จะรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าวในเวทีโลกในปี 2560 นี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่เคยเข้าร่วมแต่ในปีนี้การดำเนินงานคืบหน้าไปมาก เป็นโอกาสที่จะได้พูดคุยกับประเทศต่างๆ เพื่อสานความร่วมมือกันต่อไปได้

ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เป้า SDGs หรือกระบวนการต่างๆ คงจะสามารถบรรลุได้ (สไลด์ประกอบการบรรยาย)