ThaiPublica > เกาะกระแส > อังค์ถัดเผยตลาดหุ้นทั่วโลกกว่า 70% เข้าร่วม “โครงการริเริ่มความยั่งยืน” เพื่อขับเคลื่อน “SDGs” สหประชาชาติ

อังค์ถัดเผยตลาดหุ้นทั่วโลกกว่า 70% เข้าร่วม “โครงการริเริ่มความยั่งยืน” เพื่อขับเคลื่อน “SDGs” สหประชาชาติ

12 กันยายน 2016


ที่มาภาพ : http://unctad.org/en/PublicationsLibrary/unctad_sse_2016d1.pdf
ที่มาภาพ : http://unctad.org/en/PublicationsLibrary/unctad_sse_2016d1.pdf

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) ออกรายงาน โครงการความริเริ่มเพื่อความยั่งยืนในตลาดหุ้น” [The Sustainable Stock Exchanges (SSE) initiative] ซึ่งริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2552 โดยนายบัน กีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ คนที่ 8 เพื่อพัฒนาตลาดทุนและระบบการเงินอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผ่านความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างตลาดหุ้นต่างๆ และดำเนินงานผ่านองค์กรต่างๆ ของสหประชาชาติ ได้แก่ อังค์ถัด, ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Global Compact), โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ด้านการเงิน [The United Nations Environment Programme Finance Initiative (UNEP-FI)] และหลักการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ [The Principles for Responsible Investment (PRI)]

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าอย่างมาก เพื่อจะบรรลุเป้าหมายตลาดทุนและระบบการเงินที่ยั่งยืนมากขึ้น ความคืบหน้าล่าสุดคือมี 58 ตลาดหุ้นที่เข้าร่วมโครงการจากตลาดหุ้นทั่วโลก 82 ตลาด เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีเพียง 6 ตลาดเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของจำนวนตลาดหุ้นทั่วโลก ประกอบด้วยด้วยบริษัทจดทะเบียนกว่า 30,000 ราย และมีมูลค่าราคาตลาดรวม (Market Capitalization) รวมกันมากกว่า 55 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายงานระบุว่า จาก 58 ตลาดหุ้นที่เข้าร่วมโครงการ มี 12 ตลาดหุ้นออกกฎให้บริษัทจดทะเบียนต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Report) แก่สาธารณชน, มี 15 ตลาดหุ้นได้กำหนดแนวทางอย่างเป็นทางการ (Formal Guidance) สำหรับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน และมี 23 ตลาดหุ้นได้ทำข้อตกลงในปีที่ผ่านมาที่จะนำแนวทางการเปิดเผยข้อมูลใหม่ดังกล่าวมาใช้กับบริษัทจดทะเบียน ขณะที่การกำหนดดัชนีชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG Indices) ถือว่าเป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญที่ตลาดหุ้น 38 แห่ง กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว

การพัฒนาที่สำคัญอีกประการคือการเติบโตของการระดุมทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Finance) ปัจจุบัน 11 ตลาดหุ้นได้นำเสนอข้อมูลหุ้นสีเขียว (Green bond listings) แก่ตลาด โดยคาดว่าภายในปี 2559 ขนาดตลาดจะเติบโตขึ้นถึงหลัก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกว่าครึ่งเป็นการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน อย่างไรก็ตามมีตลาดหุ้น 11 ตลาด ที่แสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและยังชี้ให้เห็นว่ายังมีช่องว่างอีกมากที่จะต้องพัฒนา

ในด้านนโยบายของรัฐบาลด้านการเปิดเผยข้อมูล ปัจจุบันรัฐบาลหลายแห่งสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Factors) โดย 30 ประเทศจาก 50 ประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดต่างออกกฎระเบียบอย่างน้อย 1 อย่างเกี่ยวกับการเปิดเผยดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในด้านของผู้ลงทุน รัฐบาลยังถือว่ามีส่วนร่วมในการพัฒนาค่อนข้างน้อย โดย 8 ประเทศจาก 50 ประเทศที่ออกหลักปฏิบัติด้านจรรยาบรรณแก่นักลงทุน (Investor Stewardship Code) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

ที่มาภาพ : http://unctad.org/en/PublicationsLibrary/unctad_sse_2016d1.pdf
ที่มาภาพ : http://unctad.org/en/PublicationsLibrary/unctad_sse_2016d1.pdf

จากตลาดหุ้นสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ถึงแม้ว่าข้อมูลจากโครงการความริเริ่มดังกล่าว แสดงให้เห็นก้าวหน้าค่อนข้างมากในตลาดทุนและระบบการเงิน แต่อีกด้านหนึ่งถือว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ตลาดหุ้นต้องดำเนินการ หากต้องการจะบรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งริเริ่มใช้ในปี 2558

การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ หากแรงจูงใจในตลาดหุ้นไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะประเด็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นที่จะต้องถูกนำไปรวมกับเป้าหมาย SDGs ซึ่งปัจจุบันได้มีแนวทางและกรอบแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์หลายประการ

นอกจากการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว อีกด้านหนึ่ง การบรรลุเป้าหมาย SDGs ยังต้องการเม็ดเงินจำนวนมาก ประมาณ 5-7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถึงแม้การระดมทุนและความช่วยเหลือจากภาครัฐจะยังคงมีความสำคัญ แต่ขนาดของการลงทุนที่ค่อนข้างใหญ่และท้าทาย แปลว่าภาคเอกชนจะต้องเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการระดมทุน ด้วยบทบาทของตลาดหุ้นในฐานะตัวกลางบริษัทและนักลงทุนเอกชน ถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมในการช่วยให้เป้าหมาย SDGs สามารถบรรลุได้ในที่สุด

ที่มาภาพ : http://www.un.org/sustainabledevelopment/sustainable-development-goals/
ที่มาภาพ : http://www.un.org/sustainabledevelopment/sustainable-development-goals/

ในเบื้องต้น รายงานคาดว่าตลาดหุ้นสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดได้ใน 5 ประเด็น ได้แก่ ข้อ 5 บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง, ข้อ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การจ้างงานเต็มอัตรา และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน, ข้อ 12 สร้างแบบแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน, ข้อ 13 ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับสถาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ และข้อ 17 เสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ มีบริษัทจดทะเบียน 634 บริษัทและมีมูลค่าดตลาดรวม 379,173 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในโครงการดังกล่าว โดยมีการสื่อสารระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, มีการกำหนดให้บริษัทต้องจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล, มีการกำหนดแนวทางอย่างเป็นทางการในการรายงานสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล, มีการเสนอการฝึกอบรมเกี่ยวกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างไรก็ตาม ยังขาดการกำหนดดัชนีชี้วัดที่เกี่ยวกับความยั่งยืนและยังไม่นำเสนอหุ้นสีเขียวในตลาด