ThaiPublica > คอลัมน์ > มูลค่ามนุษย์ในยุคหุ่นยนต์

มูลค่ามนุษย์ในยุคหุ่นยนต์

24 กันยายน 2016


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

หุ่นยนต์พูดได้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่แห่งชาติของญี่ปุ่น
หุ่นยนต์พูดได้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่แห่งชาติของญี่ปุ่น

ทุกวันนี้มนุษย์ทำมาหากินด้วยอวัยวะที่ธรรมชาติให้มา

บางคนหาเช้ากินค่ำด้วยมือและเท้า บางคนเลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วยมันสมอง แต่เราเคยคิดบ้างไหมว่าวันหนึ่งอวัยวะเหล่านี้อาจไม่สามารถสร้างมูลค่าได้มากเท่าแต่ก่อน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีรายงานหลายฉบับที่ทำนาย (เอาไว้อย่างหดหู่) ว่าในอนาคตหุ่นยนต์และสมองกลจะมีความสามารถก้าวไกลถึงขั้นที่จะมาแย่งงานของมนุษย์ไปเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยเองก็ตกเป็นหนึ่งในประเทศที่จะมีสัดส่วนงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยงถูกทดแทนโดย automation สูงมากที่สุดถึงราว 72 เปอร์เซ็นต์ของงานทั้งหมด

ที่มาภาพ : https://www.aei.org/wp-content/uploads/2015/10/mfg1.jpg
ที่มาภาพ : https://www.aei.org/wp-content/uploads/2015/10/mfg1.jpg

ในกราฟด้านบนจะเห็นว่ายุคหุ่นยนต์นั้นอาจเริ่มแล้วก็เป็นได้ เพราะว่าการจ้างงานในเศรษฐกิจขนาดยักษ์อย่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นร่วงลงทั้งๆ ที่ผลผลิตยังพุ่งทะยานขึ้นปีต่อปี

จะให้เราพูดว่าสิ่งที่เขาทำนายกันมันอยู่ใน “โลกอนาคต” ที่ฟังดูเพ้อฝันห่างไกล ที่จริงแล้วก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะว่าในปัจจุบันหุ่นยนต์และสมองกลได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตคนเราเรียบร้อยแล้ว

ทุกวันนี้หุ่นยนต์และสมองกลไม่ได้อยู่แค่ในโรงงาน (ซึ่งประเทศไทยเองก็ติดอันดับต้นๆ ในการติดตั้งหุ่นยนต์ในโรงงาน) แต่ยังสามารถช่วยนำทางและแปลภาษาให้เมื่อเราไปเที่ยว กวาดบ้านเวลาเราไม่อยู่ ดูแลความปลอดภัยและปรับสภาพอากาศในบ้านให้ ตอบคำถามสัพเพเหระให้ลูก เป็นโอเปอเรเตอร์ที่เป็นรับมือได้กับทุกอารมณ์ของลูกค้า เป็นเลขาส่วนตัวที่ไม่มีทางพลาดคิวนัดไม่พลาดตอบอีเมล เป็นคนงานล้างสระน้ำ เอาจานใส่เครื่องล้างจาน รีดและพับผ้าอย่างไม่มีอิดออด ขับรถให้แบบไม่มีหลง เลือกคัดเก็บผลไม้ที่สุกแล้วให้ (ปอกให้ด้วยยังได้) ช่วยให้คนพิการและคนชราเหาะเหินเดินอากาศได้อีกครั้ง หรือแม้กระทั่งช่วยฆ่าศัตรูของมนุษย์ (รวมถึงสู้กับเครื่องบินรบที่ขับโดยมนุษย์) ที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายหมื่นกิโลเมตร

เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังมาแรงอย่างเช่น Deep Learning ในวันนี้ก็ก้าวไกลไปถึงขั้นที่ว่าสมองกลเริ่มสามารถแก้ไขปัญหา “กรอบกว้าง” ที่ซับซ้อนอย่างเช่นการเข้าใจภาษาพูดของมนุษย์หรือการมองเห็นได้บ้างแล้ว ไม่ใช่แค่สามารถแก้ปัญหาที่มีลักษณะตายตัวอย่างเช่นการเล่นหมากรุก อีกไม่นานปัญหาหลายๆ ปัญหาที่มนุษย์เองก็ยังไม่เข้าใจก็อาจถูกแก้ได้ด้วยวิธีนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยี Cloud Robotics ยังจะทำให้ในอนาคตหุ่นยนต์แต่ละตัวสามารถเรียนรู้จากองค์ความรู้ของหุ่นยนต์อื่นๆ ได้อีกด้วย จึงทำให้ความสามารถของหุ่นยนต์ยิ่งทวีคูณเมื่อมีจำนวนหุ่นยนต์ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้หลายคนกังวลว่าในโลกอนาคตอันใกล้นี้ชีวิตของมนุษย์จะเป็นอย่างไร มูลค่าทางเศรษฐกิจของมนุษย์จะตกลงไปใกล้ศูนย์จริงๆ หรือว่ามนุษย์จะยังสามารถใฝ่หาช่องทางในการเอาตัวรอดได้อย่างในการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งที่แล้วๆ มา

1. หุ่นยนต์ไม่ได้ทดแทนเราได้เสมอ

ที่มาภาพ :  http://cdn.bgr.com/2016/02/screenshot-76.png?w=624&h=402
ที่มาภาพ : http://cdn.bgr.com/2016/02/screenshot-76.png?w=624&h=402

จริงอยู่ที่นวัตกรรมหุ่นยนต์และสมองกลใหม่ๆ มักมีต้นกำเนิดมาจากความต้องการในการทดแทนแรงงานมนุษย์ (คำว่า robot เองก็มาจากคำว่า robota ในภาษาเชคที่แปลว่า แรงงานทาส) แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะต้องมาทดแทนบทบาทของแรงงานมนุษย์ทั้งหมดเสมอไป

ในมุมมองเศรษฐศาสตร์นั้น การที่เราจะผลิตสินค้าอะไรก็แล้วแต่ มักจะมีปัจจัยในการผลิตหลักๆ สองปัจจัย คือ แรงงานมนุษย์ (labor) และทุน (capital) ซึ่งในยุคหุ่นยนต์ เราอาจมองว่าหุ่นยนต์เป็นทุนประเภทหนึ่งก็ได้

สิ่งที่หลายคนกังวลคือการที่ปัจจัยทั้งสองอย่างนี้สามารถทดแทนกันได้เต็มที่ และวิตกว่าหากเป็นเช่นนั้นใครจะยังจ้างแรงงานมนุษย์ที่ด้อยความสามารถและมีต้นทุนสูงกว่า

แต่การทดแทนกันของสองปัจจัยนี้เป็นการมองแค่ด้านเดียว มันมีความเป็นไปได้ที่แรงงานมนุษย์กับหุ่นยนต์จะสามารถเกื้อกูลกันได้ในเชิงที่ว่าทั้งคู่เป็นปัจจัยที่มีลักษณะใช้ร่วมกัน (complementary inputs)

ตัวอย่างล่าสุดจากงานวิจัยของ James Bessen คือผลของการติดตั้งเครื่อง ATM ทั่วสหรัฐฯ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนแรกทุกคนคิดว่านั่นคือจุดจบของอาชีพพนักงานธนาคารอย่างแน่นอน แต่ผลกลับกลายเป็นว่า ขณะนี้มีพนักงานธนาคารมากขึ้นทั่วสหรัฐฯ เหตุผลเป็นเพราะว่าเครื่อง ATM ทำให้การเปิดสาขาธนาคารแต่ละสาขามีต้นทุนที่ถูกลง ทำอะไรก็ไวขึ้น แน่นอนว่าแต่ละสาขาก็จะมีพนักงานประจำน้อยลง แต่เครื่อง ATM นั้นได้เพิ่มผลิตภาพของธนาคารถึงขั้นที่ว่าทำให้มีการขยายเปิดสาขาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 40 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้โดยรวมแล้วมีแรงงานอาชีพพนักงานธนาคารเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้สูญพันธุ์ไปแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารเองก็เริ่มมองเห็นถึงคุณค่าของพนักงานธนาคารที่ได้รับการ “อัปเกรด” ความสามารถด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ กลายเป็นว่าหน้าที่ของพนักงานธนาคารในยุคนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับลูกค้าและการขายผลิตภันท์ใหม่ๆ มากกว่าแค่การนับธนบัตร อัปเดตบุค หรือเปิดปิดบัญชี ที่เป็นไปอย่างนี้อาจเป็นเพราะว่าลูกค้าธนาคารส่วนมากยังมีความต้องการพบหน้าพบตาและสนทนากับพนักงานธนาคารตัวเป็นๆ แทนที่จะดุ่มๆ เข้าเว็บไซต์ไปซื้อผลิตภัณฑ์การเงินด้วยตัวเองเลย

ฉะนั้น จากมุมมองด้านการผลิตแบบนี้ การมาของยุคหุ่นยนต์ครั้งนี้มีโอกาสสร้างอุปสงค์สำหรับแรงงานที่ใช้ร่วมผลิตไปกับหุ่นยนต์ได้ด้วย ทั้งแรงงานแบบเดิมๆ อย่างในกรณีพนักงานธนาคาร หรือแรงงานชนิดใหม่ๆ เช่น ช่างซ่อมเครื่อง ATM หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้าน cyber security ประจำธนาคาร

2. สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ

จริงๆ แล้วหากเราไม่สนใจว่าใครได้ใครเสียจากการมาของยุคหุ่นยนต์ (หรือสมมติว่าทั้งโลกมีเราเพียงคนเดียว) แทนที่จะกังวลเราควรจะฉลองต้อนรับมันเสียด้วยซ้ำไป

หนึ่ง คือ เพราะมันเป็นเทคโนโลยีที่ “เสียน้อยแต่ได้มาก” ทำไมเราจะต้องเสียเวลาขับรถเองหรือเสียเหงื่อทำงานทั้งๆ ที่มันมีวิธีทำได้โดยที่เรานั่งอยู่เฉยๆ (หรือไปทำกิจกรรมอื่นๆ) จริงไหมครับ

สอง คือ ในขณะที่หลายสังคมมนุษย์กำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย (ประเทศไทยด้วย) แท้จริงแล้วหุ่นยนต์คือผู้กอบกู้เศรษฐกิจและสังคมในวันที่พวกเราชรา หากไม่มีหุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมใหม่ๆ นักเศรษฐศาสตร์ไม่ว่าจะค่ายไหนต่างเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจจะโตได้ลำบาก ในสังคมที่มีแต่คนชราและมีอัตราการเติบโตของประชากรต่ำ

ในเชิงทฤษฎีนั้นมีความเป็นไปได้ทั้งคู่ว่าหุ่นยนต์จะทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น (ผลิตภาพ ผลผลิต และเวลาพักผ่อนมากขึ้น) หรือแย่ลง (รายได้และความเป็นอยู่ลดลง) งานวิจัยทางทฤษฎีของ Jeffrey Sachs พบว่า หากลองดูยาวๆ ข้ามไปเกิน 5 ชั่วอายุคนแล้ว แม้ว่ายุคหุ่นยนต์จะเป็น productivity shock ที่ดีในวันนี้ มันจะดีต่อกับแค่คนไม่กี่ชั่วอายุ แต่จะทำให้ความเป็นอยู่ของคนรุ่นหลังๆ แย่ลงกว่าในโลกคู่ขนานที่ไม่มียุคหุ่นยนต์เสียอีก

หากเรามองว่ายุคหุ่นยนต์คือ productivity shock ที่ดีและหุ่นยนต์นั้นทดแทนแรงงานได้ตรงๆ ในแบบที่ Jeffrey Sachs มอง ผลิตภาพ กำไร และรายได้จากทุน (จากหุ่นยนต์นั่นเอง) จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้จากการทำงาน เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราโอบรับหุ่นยนต์เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ เราจะต้องเผชิญกับการปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะทวีคูณขึ้นอย่างแน่นอน

เพราะ “เค้ก” ที่สังคมเราแบ่งกันทานในวันที่หุ่นยนต์เข้ามาในระบบเศรษฐกิจจะก้อนใหญ่ขึ้น แต่คำถามคือ ใครบ้างจะได้ทานเค้กก้อนใหญ่ก้อนนี้ ใครจะได้ชิ้นใหญ่ ใครที่จะอดตาย

กลุ่มคนที่เสี่ยงตกงานหรือถูกกดรายได้ที่สุดคือแรงงานประเภทที่ไม่สามารถผลิตร่วมไปกับหุ่นยนต์ได้ เช่น พนักงานธนาคารที่พูดคุยกับลูกค้าไม่เก่ง คนขับรถที่ไม่ยอมเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Uber (หรือแม้กระทั่งคนขับ Uber เองก็ตาม ขณะนี้ในบางเมืองก็เริ่มจะถูกบริษัทที่ตนเองทำงานบี้ด้วยรถขับเองได้แล้ว)

บทความของนักเศรษฐศาสตร์แรงงานอันดับต้นๆ ของโลก David Autor ชี้ว่าผลกระทบของหุ่นยนต์ต่อตลาดแรงงานนั้นซับซ้อนกว่าแค่การคิดในมิติของการทดแทนกันหรือการผลิตร่วมกันของปัจจัยการผลิต แต่ยังต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงอื่นๆ ที่เป็นไปได้ด้วย เช่น หากหุ่นยนต์ทำให้รายได้ของแรงงานในภาคธุรกิจไฮเทคเพิ่มขึ้น จะมีผลกระทบทางบวกต่ออาชีพหรือธุรกิจที่หากินกับความมั่งคั่งของลูกค้า เช่น ธุรกิจภัตตาคาร ธุรกิจเทรนเนอร์ส่วนตัว หรือธุรกิจความงามทั้งๆ ที่ธุรกิจเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และสมองกลโดยตรง

ส่วนกลุ่มคนที่จะได้รับแบ่งเค้กก้อนใหญ่ที่สุดไปก็จะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้โดยตรงหรือเป็น “นายทุน” ของหุ่นยนต์เหล่านี้ ซึ่งผู้เขียนมองว่าก็คงเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มทอป 10 หรือ ทอป 1 เปอร์เซ็นต์ในหลายๆ สังคมวันนี้ที่มีความได้เปรียบเพียบพร้อมในด้านการศึกษา ทักษะ หรือเงินทุนที่จะพาพวกเขาเข้าถึงหุ่นยนต์ก่อนใครเพื่อน คนกลุ่มนี้จะชนะ “สามเด้ง” เพราะรายได้จากแรงงานไม่ตกมากนัก (เผลอๆ ขึ้น) รายได้จากทุนจะเพิ่มขึ้น แถมราคาสินค้ามีแนวโน้มต่ำลงเพราะน้ำแรงของหุ่นยนต์

ในมุมมองของ Jeffrey Sachs หากมองระยะยาว คนรุ่นหลังจะเสียเปรียบคนรุ่นเรามาก เนื่องจากพวกเขาเกิดมามีทรัพยากรแรงงาน (ความอึดอดทนและเวลาทำงาน) มากกว่ามีทุน แต่กลับใช้ประโยชน์จากแรงงานในวัยหนุ่มสาวได้ไม่เท่ากับพวกเราเนื่องจากรายได้ถูกกดโดยหุ่นยนต์ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสระหว่างชั่วอายุคนนี้เป็นตัวแปรสำคัญในเศรษฐกิจจำลองที่ทำให้สังคมในอนาคตอันไกลมีความเป็นอยู่ที่แย่ลงทั้งๆ ที่มีหุ่นยนต์คอยช่วยเหลือ

3. จะเตรียมตัวรับมือยุคหุ่นยนต์อย่างไร?

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/running-sprint-cinder-track-498257/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/running-sprint-cinder-track-498257/

การมาของยุคหุ่นยนต์นั้นมีส่วนคล้ายกับการมาของยุคเครื่องจักรและนวัตกรรมเมื่อหลายสิบปีที่แล้วที่ทำให้เกิด “การไหล” ของแรงงานมนุษย์จากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคบริการ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นลักษณะเด่นที่พบเห็นได้ในกลุ่มเศรษฐกิจที่ “ผ่านการพัฒนาแล้ว” และเป็นที่ขาดหายไปในกลุ่มเศรษฐกิจด้อยพัฒนาที่ยังมีแรงงานจำนวนมากตกค้างอยู่ในภาคเกษตรกรรมทั้งๆ ที่ value added ต่ำจนไม่คุ้นแล้ว แรงงานที่มีทักษะใหม่ๆ เช่น การใช้ Excel หรือการใช้คอมพิวเตอร์ที่ “ตลาดแรงงานออฟฟิศ” ต้องการก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่แรงงานที่ยังจมอยู่ในภาคเกษตรกรรมทั้งๆ ที่ควรจะไหลออกไปที่ภาคอื่นๆ แล้วจะมีความเป็นอยู่ที่แย่ลงมาก

ยุคหุ่นยนต์อาจจะเป็นคนละยุคกัน แม้ว่าความรวดเร็วของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นจะสูงและถี่กว่า แต่กลไกหลักๆ ของเศรษฐศาสตร์นั้นไม่เปลี่ยนแปลง

คำถามคือ จะเตรียมตัวอย่างไรให้เรา (หรือลูกหลานเรา) ไม่ตกที่นั่งลำบากก่อนการมาของยุคหุ่นยนต์?

อันดับแรก คือ เราไม่ควรจำกัดทักษะตัวเอง แต่ควรเพิ่มความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนงาน เพราะนิยามของหน้าที่การงานของพวกเราจะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

มนุษย์ส่วนมากทำนายอนาคตไม่ค่อยเก่ง ไม่มีใครทราบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่างานชนิดไหนจะถูกทดแทน (ยกเว้นชนิดที่ยังไงก็ถูกทดแทน เช่น นักรับจ้างพิมพ์ดีดหรือพนักงานขับรถ)

เพราะฉะนั้น เราจึงควรเปิดทางเลือกอนาคตตั้งแต่วันนี้ เริ่มพัฒนาทักษะที่สามารถถ่ายทอดไปสู่งานอื่นได้ด้วย และไม่ควรยืนยันว่าเราเป็นอาชีพนี้มาทั้งชีวิต เราจะกัดฟันสู้ต่อไปอย่างไม่มีประโยชน์

อันดับที่สอง คือ เราควรเลือกพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่ยังไม่ล้นตลาด (หรือกำลังจะล้นตลาดเพราะหุ่นยนต์) บางคนอาจคิดว่าการมาของยุคหุ่นยนต์จะทำให้ทักษะแบบ “มนุษย์ๆ ” ขายดีขึ้น เช่น รอยยิ้ม สัมผัส และการดูแลเอาใจใส่ เป็นต้น ทว่า ช้าก่อน…เศรษฐกิจยุคหุ่นยนต์จะไม่เต็มไปด้วยหมอนวดหรือพยาบาลหรอกครับ เพราะแนวคิดนี้ถูกแค่ตรงที่ว่าผู้บริโภคน่าจะมีความต้องการทักษะเหล่านี้เพราะหุ่นยนต์ยังคงเข้ามาทดแทนลำบาก แต่ผิดตรงที่ว่าเกือบทุกคนบนโลกอีก 7 พันล้านคนก็มีทักษะเหล่านี้เหมือนกับคุณ คล้ายๆ กับการที่ Uber ทำให้ความมั่นคงของอาชีพคนขับรถแท็กซี่สั่นคลอนไปทั่วโลกเพราะมันเป็นการ “เปิดเขื่อน” ทำให้เกือบทุกคนที่มีใบขับขี่ไหลเป็นน้ำท่วมเข้ามาในตลาด หากจะเลือกพัฒนาทั้งทีควรเลือกทักษะที่ทำให้คุณเป็น high-skilled labor เพราะยุคหุ่นยนต์มีแนวโน้มสูงที่จะมาทดแทน low-skilled labor มากกว่า high-skilled labor

อันดับที่สาม คือ พยายามถ่ายทุนสู่ลูกหลานให้เร็วไว เนื่องจากรุ่นลูกรุ่นหลานเราเสี่ยงภาวะรายได้ต่ำ ควรมองหาช่องทางถ่ายทอดทุนของเราสู่พวกเขา ไม่ว่าจะผ่านทางการให้โอกาสทางการศึกษา (ที่ดี) หรือผ่านทางเงินตราโดยตรงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการออกตัวเข้าใกล้ความเป็น “นายทุนหุ่นยนต์” ก่อนผู้อื่น

ส่วนสิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อไม่ให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำเกินไปก็คือนโยบายถ่ายเงินจากผู้ชนะสู่ผู้แพ้ในยุคหุ่นยนต์บ้าง ไม่ว่าจะจาก high-skilled labor สู่ low-skilled labor หรือ จากรุ่นพวกเราสู่รุ่นเหลน เพราะว่าหากทำได้จริงๆ ทุกคนในสังคมสามารถที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องมีใครอดตาย

แต่ทุกคนทราบดีว่า สิ่งที่วิชาเศรษฐศาสตร์แนะนำว่าดีต่อสังคมที่สุดมักทำได้ไม่ง่ายเท่ากับการเขียนสมการสองสามสมการบนกระดาษ

ไม่ว่าเราจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะในยุคหุ่นยนต์ ผู้เขียนหวังว่าอย่างน้อยๆ ขอให้พวกเราทุกคนได้รับ “เวลา” เพิ่มขึ้นก็แล้วกัน เพราะมันเป็นทรัพยากรแสนรักที่เราปล่อยเช่าไปอย่างไร้วิญญานเสียจนชิน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.comณ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559