ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไม The Structure of Scientific Revolution จึงเป็นหนังสือยอดนิยมของ Mark Zuckerberg

ทำไม The Structure of Scientific Revolution จึงเป็นหนังสือยอดนิยมของ Mark Zuckerberg

16 กันยายน 2016


ปรีดี บุญซื่อ

The Structure of Scientific Revolution เป็นหนังสือที่เขียนโดย Thomas Kuhn และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลทางความคิดเล่มหนึ่งในศตวรรษที่ 20 อิทธิพลทางความคิดของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะแวดวงวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อภาคธุรกิจอีกด้วย หนังสือเล่มนี้ท้าทายการมองปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่จากมุมมองความคิดแบบเดิมๆ ทำให้เกิดคำศัพท์ที่นิยมพูดแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น คำว่ากระบวนทัศน์ (Paradigm) หรือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) เป็นต้น Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook บอกว่า หนังสือเล่มนี้คือหนังสือที่เขาชอบมากที่สุด

Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook บอกว่า หนังสือเล่มนี้คือ หนังสือที่เขาชอบมากที่สุด ที่มาภาพ : http://static6.businessinsider.com/
Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook บอกว่า หนังสือเล่มนี้คือหนังสือที่เขาชอบมากที่สุด ที่มาภาพ: http://static6.businessinsider.com/

ทุกวันนี้ เหตุการณ์ความผันผวนที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจหรือการก่อการร้ายในประเทศต่างๆ ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า “ภาวะปกติใหม่” หรือ New Normal คำคำนี้เกิดขึ้นมาภายหลังจากการถดถอยทางเศรษฐกิจปี 2008 นับจากนั้นจนถึงปัจจุบัน วิกฤติเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก จนกลายเป็นภาวะปกติใหม่ การที่จะให้โลกเราหันกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนวิกฤติคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ปารีส สื่อมวลชนก็เรียกการก่อการร้ายว่าภาวะปกติใหม่ การมองว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นภาวะปกติใหม่นี้อาจสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทัศนะของคนเราที่ Kuhn เรียกว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์

แนวคิดเรื่อง “กระบวนทัศน์”

Thomas Kuhn เป็นนักประวัติศาสตร์ในเรื่องวิทยาศาสตร์ จึงสนใจการเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดความปั่นป่วน เมื่อความคิดเดิมทางวิทยาศาสตร์ที่ยึดมั่นกันอยู่ถูกแทนที่โดยความคิดใหม่ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การปฏิวัติของโคเปอร์นิคัสด้านดาราศาสตร์ การปฏิวัติของไอสไตน์ด้านฟิสิกส์ และการปฏิวัติของดาร์วินด้านชีววิทยา การปฏิวัติเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นมูลฐานของทัศนะทางวิทยาศาสตร์ เป็นการหักล้างระบบความคิดเก่าโดยระบบความคิดใหม่ทั้งชุด

แต่การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ในช่วงที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น Kuhn เรียกภาวะช่วงนี้ว่า “วิทยาศาสตร์ภาวะปกติ” (normal science) สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของช่วงภาวะปกติคือ ความคิดสำคัญของ Kuhn ที่เรียกว่า “กระบวนทัศน์” หรือ Paradigm คำคำนี้มีความหมายว่า ระบบความคิดที่ได้รับการยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเห็นพ้องกันในเรื่องที่เกี่ยวพันต่อเนื่องอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น จะวิจัยปัญหาเรื่องอะไร เมื่อเผชิญปัญหา จะใช้วิธีการแบบไหนมาแก้ไข เป็นต้น

การพัฒนาของวิทยาศาสตร์ในภาวะปกติ ก็คือการไขปัญหาปริศนาต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวพัน เพราะไม่ว่า “กระบวนทัศน์” ที่เห็นพ้องกันจะสมบูรณ์ขนาดไหนก็ตาม ก็ยังต้องเผชิญปัญหาต่างๆ อยู่ดี แต่การแก้ไขปัญหาจะไม่ไปแตะต้องตัว “กระบวนทัศน์” ที่เป็นอยู่ แต่จะใช้วิธีการพัฒนาปรับปรุงแทน ในทัศนะของ Kuhn กระบวนทัศน์จึงมีลักษณะอนุรักษนิยม นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์จะไม่พยายามค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่จะสั่นสะเทือนวงการ หากวิจัยไปแล้วเกิดผลวิจัยออกมาที่ไปขัดกับกระบวนทัศน์ สิ่งที่ผิดคือวิธีวิจัย ไม่ใช่ตัวกระบวนทัศน์

วิทยาศาสตร์ในภาวะปกติดำรงอยู่เป็นเวลาหลายสิบปีหรืออาจจะหลายศตวรรษ ในช่วงเวลาดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์จะศึกษาลึกลงไปในเรื่องต่างๆ พยายามแก้ปัญหาที่เป็นปริศนาต่างๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ก็จะค้นพบสิ่งผิดปกติที่ขัดกับกระทบวนทัศน์ เมื่อความผิดปกติสะสมมากขึ้น ก็จะเกิดวิกฤติในชุมชนวิทยาศาสตร์ ความเชื่อมั่นในกระบวนทัศน์เดิมพังทลายลง เกิดการค้นหาแนวคิดใหม่ๆ จนในที่สุดนำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ที่ได้รับการยอมรับ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวคือสิ่งที่ Kuhn เรียกว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือ Paradigm Shift

ธุรกิจกับ “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์”

ที่มาภาพ : http://www.unitedliberty.org/files/images/ParadignShift.jpg
ที่มาภาพ: http://www.unitedliberty.org/files/images/ParadignShift.jpg

The Structure of Scientific Revolution พิมพ์ครั้งแรกในปี 1962 ใน 2 ปีแรก ขายได้ไม่ถึงพันเล่ม แต่มาจนถึงปัจจุบัน พิมพ์ไปแล้วกว่าล้านเล่ม แม้คนจำนวนมากจะไม่เคยรู้จักหนังสือเล่มนี้ แต่ความคิดของคนในวงการต่างๆ ก็ได้รับอิทธิพลจากความคิดของ Thomas Kuhn โดยเฉพาะคำว่า “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์” หรือ Paradigm Shift ซึ่งเป็นคำที่นิยมนำมาใช้กับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ของสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงขององค์กร การเปลี่ยนรสนิยมของผู้บริโภค หรือความก้าวหน้าทางด้านองค์ความรู้ของคนเรา เป็นต้น

ในทางธุรกิจ แนวคิดเรื่องกระบวนทัศน์และการเปลี่ยนกระบวนทัศน์มีความสำคัญต่อความสำเร็จและความอยู่รอดขององค์กร เส้นทางสู่ความสำเร็จของธุรกิจ นอกจากจะต้องอาศัยนวัตกรรมและความเป็นเลิศในการดำเนินงานแล้ว ยังต้องอาศัยความคิดที่สามารถคาดหมายการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจะก่อให้เกิดทั้งลู่ทางโอกาสใหม่ๆ และกระทบต่อการดำเนินงานที่เป็นอยู่ แต่จะคาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้นนั้น องค์กรธุรกิจต้องคิดในเชิง proactive คือเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่คิดแบบ reactive คือรอคอยว่าตัวเองว่าจะรับมืออย่างไร หรือเมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นมาถึง จะแก้ปัญหาอย่างไร

ในทางธุรกิจ คำว่า “กระบวนทัศน์” หมายถึง กฎเกณฑ์หรือแบบแผน ที่กำหนดกรอบ (boundary) การดำเนินงานของธุรกิจ กฎเกณฑ์เหล่านี้จะกำหนดว่า ภายในกรอบธุรกิจดังกล่าว ควรจะดำเนินการอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ ในแง่นี้ กระบวนทัศน์จึงมีความหมายคล้ายกับคำว่า “แบบจำลองธุรกิจ” หรือ Business Model ตัวอย่างเช่น ร้านอาหาร Fast Food จะวางกฎเกณฑ์ที่พนักงานต้องปฏิบัติตาม ตั้งแต่การตระเตรียมอาหารจนถึงการปฏิบัติต่อลูกค้า กฎเกณฑ์เหล่านี้คือกรอบที่เป็น Business Model ของร้านอาหาร Fast Food

ส่วนคำว่า “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์” หมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ที่มีกรอบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ มีกฎเกณฑ์และพฤติกรรมการทำงานแบบใหม่ อย่างเช่น อุตสาหกรรมการผลิตบุหรี่ที่เป็นอยู่ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์อย่างไร เมื่อสภาพแวดล้อมของธุรกิจนี้เปลี่ยนไปตามเดิม เช่น ต้องเผชิญปัญหาเรื่องความกังวลด้านสุขภาพของคนทั่วไป ทัศนะคติของคนที่เปลี่ยนไป และการออกกฎเกณฑ์ควบคุมของรัฐ เป็นต้น

คำว่า “กระบวนทัศน์” มีสาระและความหมายสำคัญอยู่ที่ “ประสิทธิผล” และ “ความสำเร็จ” ระดับความสำเร็จมีประสิทธิผลของกระบวนทัศน์ วัดผลที่ความสามารถของกระบวนทัศน์นั้นในการแก้ไขปัญหาที่มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ยากลำบากมากยิ่งขึ้น กระบวนทัศน์นั้นก็มีอายุสั้น เพราะฉะนั้น อายุขัยของกระบวนทัศน์จึงขึ้นกับความสามารถในการแก้ปัญหาที่ยากๆ ที่เกิดขึ้น หากกระบวนทัศน์ที่เป็นอยู่ไม่สามารถแก้ปัญหาท้าทายใหม่ๆ ก็จำเป็นต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่ที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าว

paradigm3

คำถามมีอยู่ว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกิดขึ้นเมื่อใด ตราบใดที่กระบวนทัศน์หนึ่งยังสามารถแก้ไขปัญหายากๆ ที่เผชิญอยู่ ตราบนั้นก็ถือกันว่ายังเป็นช่วงความสำเร็จของกระบวนทัศน์ ความสำเร็จจากการแก้ไขปัญหา ทำให้คนที่เกี่ยวข้องเชื่อว่ากฎเกณฑ์และแบบแผนที่ตัวเองใช้ปฏิบัติอยู่นั้นมีความถูกต้อง กระบวนทัศน์เดิมยังได้ผล จึงยึดมั่นการแก้ปัญหาใหม่ๆ จากวิธีการแบบเดิมๆ แต่ไม่ช้าก็เร็ว กระบวนทัศน์ที่ยึดมั่นกันอยู่ก็จะต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ ที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อปัญหาสั่งสมมากขึ้น เมื่อถึงจุดนี้ จะมีคนบางส่วนทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร สามารถสังเกตเห็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ดังกล่าว เมื่อมาถึงจุดที่ว่านี้ เวลาของการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือ Paradigm Shift ได้มาถึงแล้ว

เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร ที่นักธุรกิจชั้นนำของโลกอย่าง Mark Zuckerberg จะบอกว่า The Structure of Scientific Revolution คือหนังสือยอดนิยมของเขา ความสำเร็จในระยะยาวของธุรกิจต่างๆ ขึ้นอยู่กับความสามารถด้านนวัตกรรมและการคาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้น ความสามารถในการคาดการณ์อนาคตทำให้ธุรกิจนั้นสามารถแก้ไขปัญหาใหม่ๆ หรือหลีกเลี่ยงไม่ต้องประสบปัญหาใหม่ๆ ที่จะเกิดขี้นในอนาคต

ส่วนนักธุรกิจทั่วไป มักนิยมอ่านหนังสือธุรกิจประเภท know how ที่ชอบวางขายในร้านหนังสือตามสนามบินต่างๆ หนังสือพวกนี้จะให้สูตรสำเร็จว่า ทำอย่างไรจะเป็นผู้นำตลาด ทำอย่างไรจะเจรจาธุรกิจให้สำเร็จ ฯลฯ สูตรสำเร็จในหนังสือประเภทนี้ อาจได้มาจากประสบการณ์ของคนที่เคยประสบความสำเร็จทางธุรกิจมาแล้ว แต่ฝรั่งก็มีคำพูดที่ว่า “นายพลทั้งหลายถูกฝึกฝนมาเพื่อจะรบกับสงครามหลังสุดที่ผ่านมาแล้ว เพราะเหตุนี้เอง ทำไมนายพลพวกนี้จึงรบแพ้ในสงครามครั้งต่อไป” (Generals are trained to fight the last war. That is why they will lose the next one.)