ThaiPublica > เกาะกระแส > อธิบดีบัญชีกลางเสนอ “รมต.คลัง – บิ๊กตู่” สั่งเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” 3.5 หมื่นล้าน ฐานประมาทเลินเล่อ

อธิบดีบัญชีกลางเสนอ “รมต.คลัง – บิ๊กตู่” สั่งเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” 3.5 หมื่นล้าน ฐานประมาทเลินเล่อ

24 กันยายน 2016


นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง

หลังจาก “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด” ที่มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นประธานฯ สรุปความเสียหายโครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วงเงิน 286,640 ล้านบาท ส่งให้ “คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง” ของกระทรวงการคลัง ที่มีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานฯ เพื่อพิจารณาและออกคำสั่งทางปกครอง เรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

ล่าสุดนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง เปิดเผยว่าเมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน 2559 ตนได้ลงนามรับรองมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ให้เรียกค่าเสียหาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 35,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าความเสียหาย 178,586 ล้านบาท พร้อมกับทำหนังสือผ่านรองปลัดกระทรวงการคลัง นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรี ร่วมกันลงนามคำสั่งทางปกครองแจ้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการดำเนินโครงการดังกล่าว หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เห็นด้วย สามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ แต่ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายจิรชัย มูลทองโร่ย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด สรุปความเสียหายกว่า 280,000 ล้านบาท เหตุใดคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง วินิจฉัยว่ามีความเสียหายแค่ 178,000 ล้านบาท รวมทั้งกำหนดให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบความเสียหายแค่ 20% (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ยิ่งลักษณ์ชดเชยค่าเสียจำนำข้าว

นายมนัสกล่าวว่า สำหรับสำนวนการสอบข้อเท็จจริงที่นายจิรชัย มูลทองโร่ย ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งวินิจจัยนั้น เป็นความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเฉพาะสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มี 4 ฤดูการผลิต เมื่อคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วได้แบ่งความเสียหายจากการดำเนินโครงการดังกล่าวออกเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงที่ 1 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 และนาปรัง ปี 2555 มีความเสียหาย 115,342 ล้านบาท ในช่วงปีการผลิตดังกล่าวนี้ ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำข้อเสนอแนะ ประเด็นปัญหา และความเสี่ยงต่างๆ ถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้หามาตรการป้องกัน และหลังจากที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับหนังสือทักท้วงจากหน่วยงานตรวจสอบทั้ง 2 แห่งแล้ว ได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุง เมื่อคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งพิจารณาจากพยานหลักฐานแล้ว ยังถือไม่ได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ประมาทเลินเล่อ หรือปล่อยปะละเลย ทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งในจุดนี้ทำให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งมีความเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด

ช่วงที่ 2 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/2556 และปี 2556/2557 มีความเสียหายเกิดขึ้น 178,586 ล้านบาท โดยคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งตรวจพบว่า กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี ขอให้ระงับ ยับยั้ง โดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว สรุปผลขาดทุนจากการดำเนินโครงการดังกล่าวกว่า 2 แสนล้านบาท และมีหนี้สินคงค้างกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนว่าโครงการรับจำนำข้าวเสียหาย และเมื่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทำหนังสือทักท้วงแล้ว ก็ไม่ระงับ ยับยั้ง ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบความเสียหายในส่วนนี้

ด้าน น.ส.เยาวนุช วิยาภรณ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและระเบียบการคลัง กล่าวถึงสาเหตุที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งลงความเห็นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบความเสียหายเฉพาะปีการผลิต 2555/2556 และ 2556/2557 เนื่องจากคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาจากหลักฐาน 3 ส่วน ดังนี้ คือ 1. ทั้ง สตง. และ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือเตือนเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งนี้ระบุถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นค่อนข้างชัดเจน 2. ช่วงที่มีการประเมินโครงการรับจำนำข้าว กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือเสนอความเห็นว่าโครงการนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณและมีภาระเงินกู้ และ 3. คณะอนุกรรมการปิดบัญชีรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล สรุปตัวเลขวงเงินความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวอย่างชัดเจนเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ทบทวนหรือสั่งชะลอ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ดำเนินการ นี่คือความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งแตกต่างจากคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด ที่มองว่าอดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด

นายมนัสชี้แจงถึงเหตุผลที่คณะกรรมการฯ ลงความเห็นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น 20% ว่า ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 วรรคที่ 2 ระบุว่าการเรียกค่าเสียหายให้คำนึงถึงความร้ายแรงของการกระทำ และต้องให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องชดใช้ความเสียหายเต็มจำนวนก็ได้ วรรคสุดท้าย ระบุกรณีมีเจ้าหน้าที่ร่วมกระทำความผิดหลายคน กำหนดให้รับผิดชอบเฉพาะในส่วนของตนเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากการคดีที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ประชุมไปทั้งหมด 13 ครั้ง จึงลงความเห็นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบความเสียหาย 20% ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น 178,586 ล้านบาท คิดเป็นเงิน 35,717 ล้านบาท ส่วนปีการผลิต 2554/2555 และนาปรัง 2555 ไม่ได้จงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

“หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ทำไมต้องรับผิดทางละเมิด ประเด็นต้องแยกระหว่างผู้กำหนดนโยบายกับผู้บังคับบัญชา กรณีผู้กำหนดนโยบายไม่ถือว่ากระทำผิดทางละเมิด แต่กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจหน้าที่ต้องระงับ ยับยั้ง เมื่อมีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าโครงการรับจำนำข้าวเกิดความเสียหาย แต่ไม่สั่งชะลอหรือทบทวนโครงการ ถือว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” นายมนัสกล่าว

(อ่านเพิ่มเติม)