ThaiPublica > เกาะกระแส > อุตสาหกรรมสื่อ ปลดพนักงาน-รุกหนักออนไลน์ ทางรอดสื่อยุคดิจิทัล? (1)

อุตสาหกรรมสื่อ ปลดพนักงาน-รุกหนักออนไลน์ ทางรอดสื่อยุคดิจิทัล? (1)

22 กันยายน 2016


โฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่รายได้จากโฆษณาบนสื่อดิจิทัลยังไม่โตเร็วเพียงพอที่จะชดเชยเม็ดเงินเงินที่หายไป ผนวกกับผู้อ่านที่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคข่าวจากอ่านจากหน้ากระดาษมาเป็นอ่านผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ที่อาจฟรีบ้าง จ่ายเงินบ้าง ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลก จนบางรายต้องโบกมือลาวงการ บ้างต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบจากสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่อออนไลน์เพียงอย่างเดียว และหลายแห่งยังกัดฟันทำสิ่งพิมพ์ต่อไป พร้อมๆ กับเร่งขยายธุรกิจในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง

แต่ใครจะอยู่รอดได้ในอนาคต ยังเป็นคำถามที่คงไม่มีใครกล้าฟันธงในตอนนี้

New York Times (NYT) ยกเครื่ององค์กรอีกรอบ

ที่มาภาพ : http://www.nytimes.com/
ที่มาภาพ: http://www.nytimes.com/

สื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริการายนี้ถือเป็นรายแรกๆ ของวงการที่ปรับตัวและหันมารุกโลกออนไลน์ โดยตั้งแต่ปี 2005 เว็บไซต์ของ NYT ได้เริ่มเก็บค่าบริการสำหรับคนที่ต้องการอ่านคอลัมน์ประจำวันในเว็บไซต์ข่าว แต่ต่อมาก็ได้ยกเลิกไป

จนกระทั่งในปี 2011 NYT ได้เริ่มเก็บเงินสำหรับผู้ที่ต้องการอ่านเนื้อหา (paywall) บนเว็บไซต์เพิ่มเติมนอกเหนือจากจำนวนบทความที่ให้อ่านฟรีในแต่ละเดือน นอกจากนั้น NYT ยังทำแอปพลิเคชันของตัวเองให้ผู้อ่านได้เลือกใช้บริการได้ทางสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตด้วย ปัจจุบันถือว่าระบบ paywall ของสื่อใหญ่รายนี้ประสบความสำเร็จพอตัว เพราะมีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านคน

พร้อมๆ กับการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล NYT ก็ได้เดินแผนอื่นไปด้วย คือการปลดพนักงานจำนวนหนึ่งเพื่อลดต้นทุน ถึงวันนี้ถือว่าการเดินเกมนี้ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพราะล่าสุดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2015 บริษัทกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ได้มากมายนักก็ตาม แต่ท่ามกลางสมรภูมิที่สื่อต่างๆ กำลังดิ้นรนเพื่ออยู่รอดให้ได้ การมีกำไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

และบริษัทเองก็ตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้จากสื่อดิจิทัลอีก 2 เท่าเป็นกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปีข้างหน้า แต่หากจะทำให้ได้ตามเป้า ก็คงต้องพยายามอย่างหนักมาก เนื่องจากรายได้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับทรงตัวเท่านั้น

หากเจาะลึกที่ตัวผลกำไร 63.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 ซึ่งสูงกว่าปี 2014 เกือบ 2 เท่า จะเห็นชัดเจนว่า ส่วนใหญ่มาจากการลดต้นทุน ไม่ใช่เกิดจากความสามารถในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ในปีนี้บริษัทจึงพร้อมจะปรับโครงสร้างองค์กรอีกรอบ ซึ่งจะมีการปรับลดพนักงานในส่วนของกองบรรณาธิการด้วย โดยน่าจะลดส่วนของผู้สื่อข่าวรุ่นใหญ่เงินเดือนสูง และหันไปจ้างคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ด้านดิจิทัล แต่มีเงินเดือนน้อยกว่า

ทั้งนี้ แม้ว่า NYT จะเป็นเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษรายใหญ่รายหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ รายได้จากโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ยังมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของรายได้โฆษณาทั้งหมดของบริษัท และในปี 2015 รายได้จากโฆษณาก็ลดลง 3.4%

ปัจจุบัน NYT มีรายได้จากธุรกิจดิจิทัลประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งมาจากโฆษณา และอีกครึ่งมาจาก paywall แต่รายได้เหล่านี้ก็ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากพอที่จะชดเชยเม็ดเงินจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ NYT จำเป็นต้องยกเครื่ององค์กรอีกครั้ง เพื่ออยู่รอดอย่างแข็งแกร่งในภาวะที่สื่อบางรายต้องล้มหายไปจากวงการ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

WSJ ปลดพนักงาน-รวมธุรกิจ

ที่มาภาพ : http://www.wsj.com/asia
ที่มาภาพ: http://www.wsj.com/asia

ด้าน Wall Street Journal หนังสือพิมพ์ชั้นนำอีกราย ได้ปลดพนักงานรอบล่าสุดไปประมาณกลางปี 2015 ซึ่งประเมินว่าเบื้องต้นมีนักข่าวได้รับผลกระทบไม่เกิน 30 คน แต่คนวงในบอกว่าอาจมีจำนวนมากกว่านั้น เพราะบริษัทได้ปรับองค์กรครั้งใหญ่ในส่วนของกองบรรณาธิการ โดย WSJ และ Dow Jones ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันได้ผนวกรวมงานบางส่วนกัน

การปรับองค์กรรอบนั้นยังรวมไปถึงการลดขนาดสำนักงานจำนวนหนึ่งในยุโรปและเอเชีย ปิดบล็อกที่ไม่ใช่บล็อกหลักขององค์รวม รวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ตลอดจนรวมทีมเศรษฐกิจในนิวยอร์กเข้าด้วยกัน

ขณะเดียวกัน WSJ ได้หันไปขยับขยายงานด้านสื่อดิจิทัล มีการจ้างงานใหม่ๆ หลายสิบตำแหน่ง เช่น ฝ่ายข้อมูล อินเทอร์แอคทีฟกราฟิก และโซเชียลมีเดีย รวมถึงจ้างนักข่าวเพิ่มในด้านสำคัญๆ เช่น ธุรกิจ การเงิน เทคโนโลยี การตลาด และเศรษฐกิจโลก

Gerard Baker บรรณาธิการของ WSJ ได้ระบุในจดหมายถึงพนักงานว่า “นี่คือการเปลี่ยนแปลงกองบรรณาธิการอย่างกล้าหาญโดยมีเป้าหมายธรรมดาง่ายๆ คือ การเป็นสุดยอดองค์กรข่าวดิจิทัลของโลก ซึ่งกระบวนการปรับเปลี่ยนทำให้ต้องเลิกดำเนินการธุรกิจบางอย่าง และลงทุนเพิ่มในด้านอื่น” (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

Time Inc. ปรับองค์กร-เลย์ออฟคนนับร้อย

ที่มาภาพ : http://www.timeinc.com/
ที่มาภาพ: http://www.timeinc.com/

เมื่อเดือนสิงหาคม 2016 Time Inc. เจ้าของนิตยสารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยว่า บริษัทได้ยกเครื่ององค์กร เพื่อทำให้การทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์เนื้อหา การพัฒนาแบรนด์ การตลาด และการขาย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้จำเป็นต้องปลดพนักงานจำนวนหนึ่ง หรือประมาณ 110 คนจากทุกแผนก หรือหากเทียบเป็นสัดส่วนจะอยู่ที่ประมาณ 1.5% ของพนักงานที่มีอยู่ประมาณ 7,200 คน

ภายใต้แผนดังกล่าว บริษัทยังได้ตั้งทีมใหม่ที่เน้นการโฆษณาพิเศษ เพื่อขายโฆษณาและบริการโฆษณาให้กับนิตยสารในเครือทั้งหมดด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

เมื่อข้ามฝั่งไปทางยุโรป ก็พบว่าสถานการณ์ของธุรกิจสื่อก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก สื่อชั้นนำหลายรายต่างต้องปรับตัว เพื่อแข่งขันในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

Guardian ตั้งเป้าคุ้มทุนภายใน 3 ปี-เลิกจ้าง 250 คน

ที่มาภาพ : https://www.theguardian.com/international
ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/international

Guardian Media Group เจ้าของหนังสือพิมพ์ “Guardian” และนิตยสาร “Observer” ในอังกฤษได้ประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2016 ว่า บริษัทวางแผนเลิกจ้างพนักงาน 250 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นฝ่ายข่าว 100 คน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการให้เข้าโครงการลาออกโดยสมัครใจ พร้อมกันนั้น บริษัทยังได้ปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจที่ไม่ทำกำไร เพื่อหวังจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 3 ปี

ผู้บริหารของ Guardian Media Group กล่าวว่า แผนดังกล่าวมีเป้าหมายเดียว คือ การรักษาความแข็งแกร่งของนักหนังสือพิมพ์และความเป็นอิสระทางการเงินของ the Guardian อย่างยั่งยืนไม่สิ้นสุด

นอกจากนี้ ช่วงกลางเดือนกันยายน 2016 บริษัทก็ยังได้ตัดสินใจเดินหน้าลดต้นทุนของธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ด้วยการลดพนักงานลงจาก 140 คน เหลือเพียง 100 คน

สำหรับสถานการณ์ด้านรายได้ของบริษัทนั้น พบว่า ยอดขายโฆษณาสิ่งพิมพ์ดิ่งหนักหรือราว 25% ในปี 2015 แต่รายได้จากธุรกิจดิจิทัลก็ยังไม่เพิ่มขึ้นมากเพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่หายไป

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมกราคม 2016 บริษัทได้เปิดเผยแผน 3 ปี ที่มีเป้าหมายถึงจุดคุ้มทุนในปี 2018/2019 หลังจากหันไปเน้นแหล่งรายได้ใหม่และขยายฐานสมาชิก และสามารถลดต้นทุนรวมได้ประมาณ 20% (อ่านเพิ่มเติมที่นี่และ ที่นี่)

The Independent เลิกตีพิมพ์-ลุยออนไลน์เต็มสูบ

ที่มาภาพ : http://www.independent.co.uk/
ที่มาภาพ: http://www.independent.co.uk/

ขณะที่ข่าวคราวของการปลดพนักงานในวงการหนังสือพิมพ์อาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสายตาของคนทั่วไปเสียแล้ว แต่ประเด็นหนึ่งที่สร้างความตกตะลึงให้คนทั่วโลกก็คือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 “The Independent” หนังสือพิมพ์รายใหญ่ของอังกฤษ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1986 ได้ประกาศเลิกตีพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ พร้อมหันมานำเสนอข่าวผ่านโลกออนไลน์เพียงอย่างเดียว หลังจากเห็นแนวโน้มชัดเจนว่า ยอดผู้อ่านหนังสือพิมพ์ลดลงมาก จากยุครุ่งเรืองสุดที่มียอดขายสูงถึง 428,000 ฉบับต่อวัน มาเหลือเพียง 28,000 ฉบับเท่านั้น

สวนทางกับ independent.co.uk ที่กลายเป็นเว็บไซต์ข่าวคุณภาพที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในอังกฤษในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และในช่วง 12 เดือนนับถึงเดือนมกราคม 2016 ยอดผู้อ่านข่าวออนไลน์ของเว็บไซต์ก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 33.3% หรือเรียกได้ว่าเป็นเว็บข่าวที่ทำกำไร และคาดว่ารายได้จะเติบโต 50% ในปีนี้

The Independent ได้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันฉบับสุดท้ายเมื่อวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2016 และหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ฉบับสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 มีนาคมปีเดียวกัน ก่อนมาทำธุรกิจสื่อออนไลน์เต็มตัว

Evgeny Lebedev เจ้าของ ESI Media ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ระบุว่า ตัดสินใจดำเนินการครั้งนี้เพื่อรักษาแบรนด์ Independent และทำให้บริษัทสามารถลงทุนในเนื้อหาข่าวคุณภาพสูง เพื่อดึงดูดผู้อ่านมาสู่เว็บไซต์ข่าวออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่และที่นี่)

ก็ต้องจับตากันต่อไปว่า แนวทางที่สื่อยักษ์ใหญ่ของโลกเหล่านี้ได้เลือก จะนำพาองค์กรไปรอดในยุคดิจิทัลได้ดีแค่ไหน…