ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯร่วมต้านโกง ชู “เว็บไซต์ Egov -ภาษีไปไหน” ตอกย้ำรัฐบาลโปร่งใส ตรวจสอบได้

นายกฯร่วมต้านโกง ชู “เว็บไซต์ Egov -ภาษีไปไหน” ตอกย้ำรัฐบาลโปร่งใส ตรวจสอบได้

13 กันยายน 2016


เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2559  เนื่องในโอกาสวันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดงานเป็นปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด "กรรมสนองโกง"ณ บริเวณท้องสนามหลวง
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2559 เนื่องในโอกาสวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดงานเป็นปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “กรรมสนองโกง” ณ บริเวณท้องสนามหลวง

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2559 เนื่องในโอกาสวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดงานเป็นปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “กรรมสนองโกง” ณ บริเวณท้องสนามหลวง เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงภัยของการคอร์รัปชัน และถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะต้องลุกขึ้นมามีส่วนในการต้อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น

ภายในงานมีการแสดงผลงานหนังสั้นต้านโกง จากโครงการประกวด Youth 2020 นิทรรศการพิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ 2559 โดยยกคดีทุจริตที่เป็นที่สนใจจากประชาชน 6 คดี ได้แก่ คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น, คดีโกง VAT 4.3 พันล้านบาท, คดีทุจริตซื้อปุ๋ย, คดียึดบ้าน, คดีจำนำข้าว และคดีช่วยเลี่ยงภาษี นอกจากทั้ง 6 คดีนี้แล้วยังมีคดีต่างๆ รวม 10 ดคีโกงที่ถูกนำมาตีแผ่เรื่องราว จำลองพฤติกรรมการโกง ให้คนไทยสามารถติดตามผลการตัดสินคดีได้ที่ www.museumofthaicorruption.com และเพื่อเน้นย้ำถึงภาพลักษณ์ความโปร่งใสของไทยที่ค่อยๆ ดีขึ้น ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 76 ในปี 2558 จากที่ในปี 2556 ไทยตกไปอยู่อันดับที่ 102 จึงมีการรวมตัวจากบุคลากรทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อเปิดไฟไล่โกงทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย

ตัวอย่างคดีทุจริตซื้อปุ๋ย
ตัวอย่างคดีทุจริตซื้อปุ๋ย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "มาตรการจัดการคอร์รัปชันของไทยอย่างเป็นรูปธรรม"
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “มาตรการจัดการคอร์รัปชันของไทยอย่างเป็นรูปธรรม”

นายกฯ ชูเว็บไซต์ Egov – ภาษีไปไหน บ่งชี้รัฐบาลโปร่งใส ตรวจสอบได้

ในงานดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “มาตรการจัดการคอร์รัปชันของไทยอย่างเป็นรูปธรรม” โดยระบุว่า การคอร์รัปชันเป็นต้นทางทำให้ประเทศเดินหน้าไปไม่ได้ และไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ วันนี้เราจึงต้องกลับมาย้อนดูตัวเองก่อนว่าเราจะเดินหน้าประเทศไทยอย่างไรในอนาคต

“เพราะไทยอยู่ในสังคมโลก ต้องค้าขายกับต่างชาติ และมีพันธกรณีต่างๆ มากมายที่ไปทำไว้ ไทยไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ เราจึงต้องทำตามข้อกำหนดของสากล หากไม่ทำให้เกิดความโปร่งใสอะไรก็เกิดไม่ได้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นนโยบายที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งในรัฐบาลของตน แต่การแก้ไขปัญหานี้ก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่คน ดังนั้น สิ่งที่ต้องพัฒนาเริ่มแรกเป็นพื้นฐานของทุกๆ เรื่องคือ “ทรัพยากรมนุษย์” จะแก้ปัญหาคนล้นคุกก็ต้องเริ่มจากการเสริมสร้างจิตสำนึก และให้ประชาชนเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดในเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการสร้างหลักสูตร “โตไปไม่โกง” บรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนรู้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลของตนได้เตรียมการเพื่อส่งต่อการบริหารประเทศให้รัฐบาลต่อไป พร้อมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้สอดคล้องกับแผนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบกับรัฐบาลได้พยายามปรับวิธีการ ปรับรูปแบบ หากลไกที่เหมาะสม พร้อมทั้งจัดทำกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

“เราปรับหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ตำรวจ แต่ดำเนินการเร็วไม่ได้ วันนี้รัฐบาลนี้เข้ามามีกฎหมาย 3-4 ร้อยฉบับที่ออกมาในระยะเวลาเพียง 2 ปี แต่ 12 ปีที่ผ่านมามีกฎหมายออกมาเพียง 120 ฉบับ เกิดอะไรขึ้น ในส่วนระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ที่เอื้อให้เกิดการทุจริต ต้องจัดการเหล่านี้ให้หมด ต้องให้มีระบบตรวจสอบ มีการถ่วงดุล และต้องให้เร็วให้ไว ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม”

เว็บไซต์ "ภาษีไปไหน" และเว็บไซต์ "egov" ที่เปิดเผยข้อมูลโครงการต่างๆ ของรัฐบาล
เว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” และเว็บไซต์ “egov” ที่เปิดเผยข้อมูลโครงการต่างๆ ของรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรื่องการอำนวยความสะดวกเป็นเรื่องที่มีการทุจริตมากที่สุด และทุกหน่วยงานมีปัญหาเรื่องนี้ ตั้งแต่การจดทะเบียน การขอน้ำ ขอไฟ ถนนหนทางอยู่ในนั้นหมด ซึ่งส่งผลไปถึงเรื่องการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้จัดทำการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้https://www.egov.go.th/ และเว็บไซต์ภาษีไปไหน ข้อมูลโครงการของรัฐบาลทุกอย่าง ที่ใช้งบประมาณทั้ง 2.75 แสนล้าน สามารถเปิดดูได้ผ่านมือถือ

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการกับผู้ทุจริต คอร์รัปชัน ทั้งการยึดทรัพย์หลายพันล้าน กวาดล้างนอมินี ยึดรถหลายพันคัน ทั้งหมดทำตามกระบวนการยุติธรรม ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะเปลี่ยนประเทศไทยให้ปราศจากปัญหาคอร์รัปชัน และตนยืนวันว่าจะไม่พ่ายแพ้หรือหลงไปกับสิ่งที่เป็นหัวโขน เพราะวันนี้มีอำนาจ วันหน้าก็หมดอำนาจ

“บิ๊กต๊อก” เปิดแผนรัฐบาลแก้ทุจริต วางรากให้รัฐบาลต่อไป

นอกจากนี้ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน ว่าปัญหาเรื่องทุจริตไม่ใช่ปัญหาที่เราไม่ทราบมาก่อน ทุกรัฐบาลต่างทราบปัญหาเหล่านี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี

“นายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งพูดเมื่อ 40 ปีที่แล้วว่า หากประเทศไทยหยุดการโกงได้สัก 2 ปี ถนนจะต้องราดด้วยทองคำ นั่นหมายความว่าตั้งแต่ 40 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้การทุจริตก็ยังมีมาตลอดเวลา แล้วก็ไม่ใช่รัฐบาลชุดไหนๆ จะไม่ทราบ ไม่ใช่ราชการยุคไหนจะไม่รู้เรื่อง คำว่าทุจริตนั้นหลายคนคงเข้าใจว่าเป็นแค่เรื่องเงินอย่างเดียว นั่นไม่ใช่ ถ้าคนเรานั้นเสพอำนาจกับเสพผลประโยชน์เข้าไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้น ไม่ว่าการใช้อำนาจในทางที่ผิด หรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชาติในการหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง การทุจริตเพื่อแลกเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ให้ตัวเองก็ถือเป็นการประพฤติมิชอบ” พล.อ. ไพบูลย์ กล่าว

พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยสำคัญมี 3 ประการด้วยกัน ที่เป็นปมของปัญหาทุจริต อันดับแรก คือ “คน” ที่มีปัญหามากที่สุด คือ ข้าราชการการเมือง และข้าราชการฝ่ายปกครอง การทุจริตจะไม่เกิดขึ้นเลยหากคน 2 กลุ่มนี้ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดเสียเอง ไม่สนับสนุนการทุจริตของเอกชน อันดับต่อมาคือ “องค์กร” คือ องค์กรที่เข้ามาดำเนินคดีทุจริต เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม องค์กรที่ดูแลปัญหาทุจริตส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบองค์กรอิสระ เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน แต่ยังคงได้รับเสียงร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับปัญหาคดีทุจริตที่คั่งค้างและล่าช้า และอันดับที่สาม คือ “กฎหมาย” ที่หลายๆ ส่วนเอื้ออำนวยให้เกิดการทุจริต มีความล้าสมัย เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ที่แม้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างเป็นงบประมาณของแผ่นดิน แต่ก็มีแค่ระเบียบซึ่งไม่สามารถลงโทษได้ถึงชั้นรัฐมนตรีหรือผู้บริหารระดับสูงได้เลย

ในรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ ได้คิดแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นได้มีการตั้งองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระยะสั้นขึ้นมา คือ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) อยู่ภายใต้ คสช. โดยกว่า 70% ของคนในองค์กรมาจากภาคเอกชน มีเพียงฝ่ายปราบปรามเท่านั้นที่เป็นข้าราชการที่จะเข้ามาดูแลและสนับสนุน มีการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 44 เข้ามาลงโทษข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีทุจริต เนื่องจากได้รับร้องเรียนมากเหลือเกินว่าการดำเนินคดีทุจริตใช้เวลานับ 10-20 ปี จากผู้อำนวยการ เลื่อนตำแหน่งเป็นอธิบดีก็ยังไม่ถูกลงโทษ อย่างไรก็ตาม พล.อ. ไพบูลย์ ยืนยันว่า หลังจากรัฐบาลชุดนี้ไปแล้วไม่ควรมีการใช้กฎหมาย มาตรา 44 อีกต่อไป

“เมื่อข้าราชการการเมืองและปกครองเป็นหลักในการทุจริต แล้วทำไมต้องใช้ข้าราชการการเมืองเท่านั้นมาแก้ปัญหา รัฐบาลชุดนี้จึงต้องใช้ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามา และบูรณาการให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้นสามารถที่จะดำเนินการได้อย่างมีดุลยภาพกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. สตง. ศาล อัยการ หรือหน่วยงานรัฐที่ทำงานเชื่อมโยงกับปัญหาทุจริตอย่างกรมสรรพากร กรรมสรรพสามิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” พล.อ. ไพบูลย์ กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

นอกจากนี้ พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะเมื่อทำงานร่วมกับองค์กรอิสระ การเข้าไปประสานงานเชื่อมโยงกับการเข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซงเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่มาก ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า คตช. ไม่มีปัญหาเรื่องการแทรกแซงแม้แต่ครั้งเดียว

ส่วนในระยะยาว พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้พยายามแก้ปัญหาโดยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาการทุจริตแห่งชาติ (ศปท.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นหน่วยงานถาวร หรือการแก้ไขระบบราชการ โดยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาทุจริตประจำแต่ละกระทรวงใน 40 หน่วยงาน เนื่องจากแค่เพียง คตช. คงรับมือกับงานและข้าราชการทั้งประเทศไม่ได้ ซึ่ง ศปท. จะเป็นผู้ดำเนินงานต่อจาก คตช.

สำหรับเรื่องกฎหมายนั้นคงไม่ได้มองไปที่การทุจริตเพียงเรื่องเดียว แต่มองไปถึงปัญหาอื่นๆ ที่จะมีความเชื่อมโยงถึงการทุจริต ทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องเกี่ยวกับการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาการดำเนินการธุรกิจการค้าในยามวิกาล กฎหมายเหล่านี้ก็ออกมาทั้งที่เป็น พ.ร.บ. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. อาทิ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2558 ที่ดูแลเกี่ยวกับการเปิดร้านเหล้ายามวิกาล การค้าประเวณี ก็มีองค์กรที่ดูแลร่วมกัน มหาดไทย สาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น

จากการดำเนินงานอย่างบูรณาการกับหลายหน่วยงานกันจึงมีการตราร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ. พ.ศ. …. เกิดแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐในศาลอาญา และสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตในสำนักอัยการสูงสุด มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่แก้ไขให้คดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการของ ป.ป.ช. ไม่มีการขาดอายุความ ซึ่งเป็นข้อเสนอของภาคเอกชนในที่ประชุม คตช.

“ปัญหาด้านกฎหมายเชื่อว่าจำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งที่จะต้องดำเนินการและทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่ากฎหมายออกมาแล้วจะประสบความสำเร็จเลย ไม่ใช่ หลายเรื่องเรามี เช่น พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ที่มีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ร้องเรียนความล่าช้า ความเอารัดเอาเปรียบ หรือสินบน แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งนี้ สิ่งที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาทุจริตคือระบบการป้องกัน สิ่งที่เราแก้ไม่ว่า ม.44 การโยกย้ายข้าราชการ การออกกฎหมาย ก็ตาม มันไม่ได้ช่วยแก้ไขไปในระยะยาวได้ การปราบปรามหมายถึงการสูญเสียทรัพยากรทั้งสิ้น แม้เราจับคนทุจริตได้แต่ก็ไม่สามารถหางบประมาณมาคืนได้ ไม่สามรถพัฒนาประเทศไปตามขั้นตอนได้เลย เพราะการทุจริตทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามขั้นตอน ระบบการป้องกันการทุจริตจึงควรนำมาใช้มากที่สุด เพราะไม่ทำให้เกิดความสูญเสียอะไรเลย” พล.อ. ไพบูลย์ กล่าว

พิพิธภัณฑ์ต้านโกง1

วันคอร์รัปชัน3

วันคอร์รัปชัน2

วันคอร์รัปชัน1

พิพิธภัณฑ์ต่านโกง2

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%81%e0%b8%877

[youtube https://www.youtube.com/watch?v=3dGyPoOq910&w=560&h=315]