ThaiPublica > คอลัมน์ > Clinton หรือ Trump

Clinton หรือ Trump

12 สิงหาคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

ทีมาภาพ :http://15130-presscdn-0-89.pagely.netdna-cdn.com/wp-content/uploads/2016/05/Trump__Clinton-2.jpg
ทีมาภาพ :http://15130-presscdn-0-89.pagely.netdna-cdn.com/wp-content/uploads/2016/05/Trump__Clinton-2.jpg

ใครๆ ก็อยากรู้อนาคต สถิติเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการพยากรณ์เรื่องการเลือกตั้งโดยโพลเป็นวิธีการที่ใช้กันทั่วไป แต่ก็เห็นกันแล้วว่า ทุกครั้งของการเลือกตั้งไทยเรา คนทำโพลหน้าแตกแบบหมอปฏิเสธเย็บกันอยู่เป็นประจำ

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 58 ในวันอังคารที่สองของเดือนพฤศจิกายน หรือ 8 พฤศจิกายน 2016 มีผู้ใช้วิธีการพยากรณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างน่านำมาเล่าสู่กันฟัง

Nate Silver เป็นคนที่ผู้สนใจติดตามเรื่องนี้นึกถึงเป็นคนแรก เขาดังมากจากการพยากรณ์ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2012 ที่ Obama ชนะได้ถูกต้องทุกรัฐโดยมิได้ทำโพลเองเลย แต่ใช้โพลที่มีคนทำมาประกอบการพิจารณาหลายปัจจัย เช่น พฤติกรรมการลงคะแนนของประชาชนกลุ่มต่างๆ สิ่งแวดล้อมทางการเมือง สัดส่วนของผู้มาลงคะแนน ประวัติศาสตร์ความจงรักภักดีต่อพรรค บทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ

ในครั้งนี้เขาใช้หลากหลายวิธีการ เช่น สร้างโมเดลทางสถิติของเขาเองในหลากหลายลักษณะ และใช้ผลโพลที่น่าเชื่อถือมาประกอบวิจารณญาณ ถึงแม้จะเหลือเวลาอีกประมาณ 100 วันก่อนเลือกตั้ง แต่เขาก็ทำนายว่า Clinton มีความเป็นไปได้เกินกว่าร้อยละ 59 ที่จะชนะ (probability ที่จะชนะมีมากกว่า 0.59) หรืออาจถึงร้อยละ 69 ด้วยซ้ำ

มีอีกวิธีการพยากรณ์ผลการเลือกตั้งที่น่าสนใจมาก เจ้าของคือ Allan Lichtman ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ แห่ง American University กับ Voladia Keilis-Borok นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ไม่มีการใช้โมเดลทางสถิติหรือโพลใดๆ แต่ใช้การตอบคำถาม 13 ข้อที่เขาคิดค้นขึ้น หากตอบว่า “ถูกต้อง” เกินกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 7 ข้อขึ้นไปแล้ว ผู้แข่งขันที่มาจาก “พรรคที่อยู่ในอำนาจ” (พรรคสังกัดของผู้เป็นประธานาธิบดีซึ่งคือพรรคเดโมแครตในปัจจุบัน) จะเป็นผู้ชนะ วิธีการนี้เขาใช้พยากรณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีถูกทุกครั้งตั้งแต่ ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา

คำถามมีดังต่อไปนี้ (1) หลังจากการเลือกตั้งกลางเทอมประธานาธิบดีครั้งหลังสุดแล้ว พรรคที่อยู่ในอำนาจมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าการเลือกตั้งกลางเทอมก่อนหน้านั้น (2) ไม่มีการแข่งขันที่จริงจังเพื่อเป็นตัวแทนพรรคของพรรคที่อยู่ในอำนาจ (3) ตัวแทนพรรคที่อยู่ในอำนาจที่ลงแข่งขันคือตัวประธานาธิบดี (4) ไม่มีผู้แข่งขันที่มาจากพรรคที่ 3 หรือแข่งแบบอิสระที่มีความสำคัญ (5) เศรษฐกิจไม่อยู่ในภาวะตกต่ำในช่วงเวลาของการหาเสียง (6) รายได้ต่อหัวที่แท้จริงขยายตัวในช่วงวาระของการเลือกตั้ง (2 ปี) ที่ผ่านมาเท่ากับหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยของ 2 วาระก่อนหน้า

(7) รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของนโยบายในระดับชาติ (8) ไม่มีความไม่สงบเรียบร้อยทางสังคมระหว่างวาระการเลือกตั้งที่ผ่านมา (9) รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจไม่มีมลทินจากเรื่องฉาวโฉ่ (10) รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจไม่ประสบความล้มเหลวสำคัญในด้านทหารหรือการต่างประเทศ

(11) รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจประสบความสำเร็จที่สำคัญในด้านทหารหรือการต่างประเทศ (12) ตัวแทนจากพรรคอยู่ในอำนาจมีเสน่ห์ หรือเป็นวีรบุรุษ (หรือวีรสตรี) ของชาติ และ (13) ตัวแทนจากพรรคคู่แข่งไม่มีเสน่ห์ หรือไม่ใช่วีรบุรุษ (หรือวีรสตรี) ของชาติ

ในการแข่งขันครั้งนี้ Hilary Clinton เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคที่อยู่ในอำนาจ หากพยายามลองตอบคำถามข้างต้นโดยเอาที่สามารถตอบได้ชัดๆ ก็จะเห็นว่าที่สามารถตอบได้ว่า “ถูกต้อง” คือ ข้อ (2), (4), (5), (7), (8), (9) และ (13)

สำหรับข้อ (2) อาจกล่าวได้ว่าการแข่งขันกับ Bernie Sanders ไม่จริงจังเพราะ Clinton ชนะขาดโดยไม่มีช่วงเวลาใดที่น่าหวาดหวั่นว่าจะแพ้เลย สำหรับข้อ (7) และข้อ (8) นั้นบางคนอาจบอกว่าไม่จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ข้อ (9) นั้นต้องยอมรับว่าจริงอย่างยิ่งเนื่องจาก Obama ไม่มีเรื่องฉาวโฉ่ใดๆ ส่วนข้อ (13) นั้นสามารถตอบได้เต็มปากเพราะ Donald Trump นับวันยิ่งเป็นตัวตลกยิ่งขึ้น

เมื่อสามารถตอบได้ว่า “ถูกต้อง” 7 ข้อซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่ง จึงหมายความถึงชัยชนะของ Clinton แต่ก็เป็นไปอย่างฉิวเฉียดภายใต้วิธีพยากรณ์นี้

ลองดูกันต่อไปว่าอาจารย์ 2 คนนี้จะผิดพลาดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1988 เมื่อ George H. Bush (ผู้พ่อ) ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหรือไม่

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 9 ส.ค. 2559