ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 เคลียร์สต็อกรถหรู – รถดับเพลิง กทม. 978 คัน ค้างในฟรีโซนเกิน 2 ปี – ไม่จ่ายภาษี ยึดขายทอดตลาด

“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 เคลียร์สต็อกรถหรู – รถดับเพลิง กทม. 978 คัน ค้างในฟรีโซนเกิน 2 ปี – ไม่จ่ายภาษี ยึดขายทอดตลาด

26 สิงหาคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 51/2559 เรื่องการดำเนินการกับของที่เก็บในเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี (Free Zone) และของที่ใช้เป็นยุทธภัณฑ์เพื่อบรรเทาสาธารณภัย ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

โดยที่ปัจจุบันได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีรถยนต์และของที่จัดเก็บในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตลอดจนเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฝากหรือเก็บอยู่เป็นเวลานานหลายปีโดยเปล่าประโยชน์ มิได้มีการนำรถยนต์และของนั้นออกจากเขตพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่าผู้นำของเข้าจะต้องดำเนินการให้มีการนำของออกจากเขตพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด ซึ่งการที่รัฐต้องจัดเก็บรถยนต์และของนั้นไว้นานปี โดยไม่มีกำหนดเวลา เป็นเหตุให้เกิดภาระในการจัดหาสถานที่เพื่อการจัดเก็บ และภาระด้านค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บรักษา ทั้งรถยนต์และของนั้นก็มิได้ผ่านกระบวนการหรือพิธีการในการตรวจปล่อยของออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร รัฐจึงขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรจากรถยนต์หรือของนั้น

ขณะที่รถยนต์และของที่จัดเก็บก็เสื่อมสภาพ เสื่อมราคาและเสื่อมประโยชน์ไปเรื่อยๆ อันส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณแผ่นดินและระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์บางประเภทที่ทางราชการนำเข้ามาเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ต้องเก็บรักษาไว้เพราะมีคดี จนบัดนี้คดีสิ้นสุดลงแล้วก็ยังไม่สามารถนำรถยนต์ดังกล่าวออกมาใช้งานตามความประสงค์ของทางราชการได้ ในขณะที่รถยนต์เหล่านั้นเสื่อมสภาพไม่พร้อมจะใช้งานลงเรื่อยๆ รัฐเองก็เสียค่าใช้จ่ายในการฝากหรือเก็บรักษานับพันล้านบาท หากทิ้งไว้โดยไม่นำมาซ่อมเพื่อใช้งานก็จะเสียประโยชน์ เสียงบประมาณหลายพันล้านบาท และยังต้องเสียงบประมาณเพิ่มในการจัดหาใหม่มาทดแทน การทิ้งไว้จึงกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ประโยชน์สาธารณะ และราชการแผ่นดินในการมีพาหนะเพื่อบรรเทาสาธารณภัยที่ควรนำมาซ่อมเพื่อใช้ในราชการบรรเทาสาธารณภัยและราชการอื่นในฐานะเป็นยุทธภัณฑ์

ดังนั้น หากได้มีการดำเนินการเพื่อนำรถยนต์หรือของที่จัดเก็บอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าวออกมา จะเป็นการลดภาระในด้านงบประมาณหลายพันล้านบาททางหนึ่ง และก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐด้านภาษีอากรอย่างมากอีกทางหนึ่ง อีกทั้งรถยนต์บางประเภทที่จัดเก็บอยู่ยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการในการบริการสาธารณะ หรือเพื่อป้องกันบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ประชาชนได้อีกด้วย

ซูเปอร์คาร์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในคำสั่งนี้
“เขตปลอดอากร” หมายความว่า เขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
“เขตประกอบการเสรี” หมายความว่า เขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ข้อ 2 ให้ผู้ที่นำรถยนต์ใหม่สำเร็จรูปตามประเภทพิกัดศุลกากร 8702 และ 8703 เข้ามาในราชอาณาจักร และได้นำเข้าเก็บในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองปีหรือรวมกันไม่น้อยกว่าสองปีแล้วแต่กรณี ก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับโดยเป็นของที่ยังไม่ได้ตรวจปล่อยออกไป ให้นำรถยนต์ดังกล่าวออกจากเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี เพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยชำระภาษีอากรให้ถูกต้อง หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรภายใน 90 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ

ในกรณีที่มิได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นของตกค้างตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และให้อธิบดีกรมศุลกากรดำเนินการกับของตกค้างนั้นตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

ข้อ 3 รถยนต์ใหม่สำเร็จรูปตามประเภทพิกัดศุลกากร 8702 และ 8703 ที่เก็บอยู่ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้เก็บไว้ต่อไปได้ไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่นำเข้าเก็บครั้งแรก

ข้อ 4 ของที่เก็บอยู่ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ 2 และข้อ 3 ก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้เก็บของดังกล่าวไว้ต่อไปได้ไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ

ข้อ 5 ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและได้นำเข้าเก็บในเขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรี นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้เก็บได้ไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่นำเข้าเก็บครั้งแรก

ข้อ 6 กรณีมีการโอนย้ายของที่เก็บไว้ตามข้อ 3 ข้อ 4 หรือข้อ 5 แล้วแต่กรณี ไปยังเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรีอื่น ให้นับระยะเวลาที่เก็บของดังกล่าวต่อเนื่องไปในกรณีจำเป็น อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อาจขยายระยะเวลาตามข้อ 3 ข้อ 4 หรือข้อ 5 แล้วแต่กรณี ได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนด

ข้อ 7 ของที่นำเข้าเก็บไว้ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรีเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6 แล้วแต่กรณี ให้นำของนั้นออกจากเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี เพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยชำระภาษีอากรให้ถูกต้อง หรือส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร หากมิได้ปฏิบัติเช่นว่านี้ ให้ถือว่าสิทธิการยกเว้นภาษีอากรสำหรับของดังกล่าวสิ้นสุดลง และให้จัดเก็บภาษีอากรสำหรับของนั้นตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลา โดยให้ถือว่าวันที่ครบกำหนดนั้นเป็นวันนำเข้าสำเร็จตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

ข้อ 8 มิให้นำข้อ 4 และข้อ 5 มาใช้บังคับกับของที่เป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรม ซึ่งได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรและได้นำเข้าไปในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี

ข้อ 9 ให้รถดับเพลิง รถกู้ภัย รถไฟส่องสว่าง และรถบรรทุก ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ในโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ทางท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2549 จำนวน 176 คัน และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 จำนวน 139 คัน เป็นยุทธภัณฑ์ที่ผู้นำของเข้ารับไว้ใช้ในราชการ เพื่อการบรรเทาสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ และให้ได้รับยกเว้นอากรตามประเภท 13 ภาค 4 ของที่ได้รับยกเว้นอากร แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 นับแต่วันที่นำของดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร และให้ผู้นำของเข้าดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์และกฎหมายว่าด้วยศุลกากรต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ ให้กรุงเทพมหานครทำความตกลงร่วมกับกระทรวงกลาโหมในการดำเนินการกับยุทธภัณฑ์ตามข้อนี้

ข้อ 10 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสต็อกรถหรูที่นำมาเก็บไว้ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรีเพื่อรอการขายหรือส่งออก ในขณะนี้มีประมาณ 633 คัน ส่วนรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ซึ่งคดียุติแล้วประมาณ 345 คัน หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 51/2559 มีผลบังคับ รถหรูที่นำมาเก็บไว้ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรีเกิน 2 ปี ผู้นำเข้าต้องนำออกจากเขตดังกล่าว เพื่อส่งออกหรือนำมาเสียภาษีภายใน 90 วัน หากพ้นกำหนดระยะเวลา ผู้นำเข้าไม่ดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ถือเป็นของตกค้าง ให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจยึดเป็นของกลางและนำมาขายทอดตลาด ส่วนรถที่นำเข้ามาหลังคำสั่ง คสช. มีผลบังคับ สามารถนำมาเก็บในเขต Freezone ได้ไม่เกิน 2 ปี สำหรับรถดับเพลิงของ กทม. คำสั่ง คสช.ให้ถือเป็นยุทธภัณฑ์ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์จะได้รับยกเว้นอากร ตามประเภท 13 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร 2530