ThaiPublica > เกาะกระแส > กกต. รับรองผลประชามติอย่างเป็นทางการ “ประยุทธ์” เผยบันได 3 ขั้นสู่การเลือกตั้ง – คาด 4 เหตุผล “โหวตเยส” ชนะขาด

กกต. รับรองผลประชามติอย่างเป็นทางการ “ประยุทธ์” เผยบันได 3 ขั้นสู่การเลือกตั้ง – คาด 4 เหตุผล “โหวตเยส” ชนะขาด

10 สิงหาคม 2016


เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการ กกต. (ที่ 2 จากขวา) ร่วมกับกรรมการ กกต. อีก 3 คน ได้แก่  นายสมชัย ศรีสุทธิยากร (ซ้ายสุด) นายประวิช รัตนเพียร(ที่2 จากซ้าย) และนายบุญส่ง น้อยโสภณ(ขวาสุด) ร่วมกันแถลงผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... และคำถามพ่วง
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการ กกต. (ที่ 2 จากขวา) ร่วมกับกรรมการ กกต. อีก 3 คน ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร (ซ้ายสุด) นายประวิช รัตนเพียร(ที่2 จากซ้าย) และนายบุญส่ง น้อยโสภณ(ขวาสุด) ร่วมกันแถลงผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. และคำถามพ่วง

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการ กกต. ร่วมกับกรรมการ กกต. อีก 3 คน ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นายประวิช รัตนเพียรและนายบุญส่ง น้อยโสภณ ร่วมกันแถลงผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. และคำถามพ่วง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา อย่างเป็นทางการ

นายศุภชัยกล่าวว่า ที่ประชุม กกต. วันนี้ ได้พิจารณาผลการลงประชามติ พบว่า จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 50,071,589 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 29,740,677 คน คิดเป็น 59.4% เป็นบัตรดี 28,804,432 ใบ (96.85%) และบัตรเสีย 936,209 ใบ (3.15%)

  • การลงประชามติในประเด็นที่ 1 (เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งฉบับหรือไม่) มีคะแนนเสียงเห็นชอบ 16,820,402 เสียง (คิดเป็น 61.35%) ไม่เห็นชอบ 10,598,037 เสียง (38.65%)
  • การลงประชามติในประเด็นที่ 2 (คำถามพ่วง ที่ให้ ส.ว.สรรหา ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส.เลือกตั้ง ในช่วง 5 ปีแรก) มีคะแนนเสียงเห็นชอบ 15,132,050 (คิดเป็น 58.07%) และไม่เห็นชอบ 10,926,648 เสียง (41.93%)

นายศุภชัยกล่าวว่า เมื่อไม่มีการร้องคัดค้านเข้ามาภายใน 24 ชั่วโมงหลังการลงประชามติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 49 ที่ประชุม กกต. จึงได้มีมติประกาศผลการลงประชามติครั้งนี้ ใน 2 ประเด็นอย่างเป็นทางการ และได้รายงานผลให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นที่เรียบร้อย โดยขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้การลงประชามติเป็นไปอย่างอย่างเรียบร้อย

นายประวิชกล่าวว่า การลงประชามติครั้งนี้ ไม่มีจังหวัดใดเลยที่มีผู้มาใช้สิทธิไม่ถึง 50% เทียบกับการลงประชามติเมื่อปี 2550 ที่มีหลายจังหวัดมีผู้มาใช้สิทธิไม่ถึง 50% สิ่งที่ กกต. จะทำหลังจากนี้ก็คือการนำบทเรียนที่ได้ไปใช้เพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ที่น่าจะมีขึ้นในปี 2560 หากทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป

นายสมชัยกล่าวว่า การลงประชามติครั้งนี้ มีผู้มาใช้สิทธิถึง 59.4% มากกว่าการลงประชามติเมื่อปี 2550 นอกจากนี้ จำนวนบัตรเสียที่มีเพียง 3.15% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ หากเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มักจะมีจำนวนบัตรเสีย 4-5% อย่างไรก็ตาม คงจะต้องไปศึกษาหาคำตอบว่า เหตุใดจำนวนบัตรเสียใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงมีเป็นจำนวนมาก เพราะจังหวัดที่มีบัตรเสียมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ส่วนจังหวัดที่มีบัตรเสียน้อยที่สุด ก็คือ กทม. ซึ่งก็เป็นไปตามคาดหมาย เพราะเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้ชิดกับข้อมูลข่าวสาร

สำหรับจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด 5 จังหวัดแรก ได้แก่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และเชียงราย โดยมีข้อสังเกตว่าเป็นจังหวัดในภาคเหนือทั้งหมด ซึ่งต้องชื่นชมคนภาคเหนือที่มาใช้สิทธิป็นจำนวนมาก

สำหรับจังหวัดที่มีคะแนนเสียงเห็นชอบในการลงประชามติครั้งนี้มากที่สุด 5 จังหวัดแรก ผลปรากฏว่า ทั้งประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 2 มีข้อมูลเหมือนกัน คือ ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และระนอง ซึ่งมีข้อสังเกตว่าเป็นจังหวัดในภาคใต้ทั้งหมด

ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ฉีกบัตรลงประชามติทั้งหมด 58 เหตุการณ์ อยู่ใน 34 จังหวัด โดย กกต. ได้แสดงเจตนาว่า หากเป็นการฉีกบัตรโดยไม่เจตนาก็ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดี เพราะอาจมีสาเหตุมาจากว่าไม่ได้จัดการเลือกตั้งมานาน, ลักษณะของบัตรอาจทำให้เข้าใจผิด, คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับบัตร 2 ใบ ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมว่าจะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ กกต. ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้

“ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่า การรณรงค์ประชามติครั้งนี้ไม่เปิดกว้างอย่างเพียงพอ ผมอยากบอกว่า พ.ร.บ.ประชามติได้เปิดโอกาสให้อย่างเต็มที่ โดยมีข้อห้ามเพียงว่า ไม่ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ไม่หยาบคาย และไม่ปลุกระดม นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีดีเบตเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ มากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งในประวัติศาสตร์ โดยจัดขึ้นในสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสถึง 10 ครั้ง ในสถานีโทรทัศน์ระดับชาติอื่นๆ อีก 6 ครั้ง ไม่รวมถึงในสื่อมวลชนแขนงอื่นๆ อีกที่มีนับไม่ถ้วน” นายสมชัยกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงถึงแนวทางการดำเนินการตามโรดแมปหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ และคำถามพ่วง ผ่านทางทีวีพูล
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงถึงแนวทางการดำเนินการตามโรดแมปหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ และคำถามพ่วง ผ่านทางทีวีพูล

นายกฯ เปิดบันได 3 ขั้นก่อนเลือกตั้งปลายปี 2560

วันเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงถึงผลการลงประชามติและการเดินหน้าตามโรดแมปหลังจากนี้ ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) มีใจความว่า ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติ โดยเฉพาะประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเกือบ 60% และขอบคุณที่ช่วยกันรักษากฎเกณฑ์จนทำให้การลงประชามติผ่านไปด้วยความเรียบร้อยไม่เกิดเหตุร้ายอย่างที่มีการคาดเดา และอยากให้ช่วยกันรักษาบรรยากาศดีๆ เช่นนี้ต่อไปจนถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้า

แม้ผลการลงประชามติครั้งนี้อาจทำให้มีผู้ที่ทั้งสมหวังและผิดหวัง ดีใจและเสียใจ แต่อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับ ทิ้งความเห็นต่างไว้ในหีบลงคะแนน และก้าวไปข้างหน้า เพราะยังมีภารกิจรออยู่อีกมาก ทั้งการสร้างความเจริญให้บ้านเมือง การปฏิรูปประเทศ การยุติความขัดแย้ง การสร้างความปรองดอง

ถึงเวลานี้ อะไรที่เคยคลุมเครือก็ชัดเจนแล้วว่าการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปที่เคยประกาศไว้ โดยสิ่งที่จะต้องทำหลังจากนี้คือ

  1. คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะของร่างรัฐธรรมนูญฯ ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความถูกต้อง แล้วให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์เขียนลงในสมุดไทย ก่อนที่ตนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรามาภิไธย คาดว่าจะใช้เวลาราว 3 เดือน
  1. เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ก็จะถูกนำมาใช้บังคับแทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดย กรธ. จะจัดทำกฎหมายลูกอีก 10 ฉบับ ซึ่งกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รวม 4 ฉบับจะต้องเสร็จก่อน ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะผลักดันร่างกฎหมายที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ กำหนดว่าต้องมี ให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่งระหว่างนี้องค์กรแม่น้ำทั้งสี่สาย ได้แก่ คสช. ครม. สนช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีองค์กรอื่นมารับช่วงต่อ
  1. การจัดทำกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รวม 4 ฉบับ เป็นงานที่ละเอียดอ่อนและยุ่งยาก ซึ่งต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย คาดว่าจะเสร็จสิ้นช่วงกลางปีหน้า จากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้งภายใน 5 เดือน จึงคาดว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ น่าจะมีขึ้นช่วงปลายปี 2560 หากสถานการณ์บ้านเมืองยังสงบเรียบร้อยเช่นทุกวันนี้

ตนอยากให้ทุกคนเปรียบเทียบสถานการณ์ตอนนี้กับช่วงก่อนการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วถามตัวเองว่ามีความสุขมากขึ้นหรือไม่ แต่ก็ใช่ว่าบ้านเมืองทุกวันนี้จะไม่มีปัญหา เพราะยังมีผู้ที่ไม่พอใจหรือผิดหวังกับความปกติสุขเช่นนี้ ยังคงมุ่งมั่นทำลายและทำร้ายประเทศ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม อีกทั้งยังมีการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงโดยใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ส่งข้อความมาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐในการดูแลความสงบเรียบร้อย โดยยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างจะเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งตนในฐานะหัวหน้า คสช. จะยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 44 เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนไปอีกระยะเวลาหนึ่ง

ผลการลงประชามติครั้งนี้ เป็นสัญญาณว่าจะมีการเลือกตั้งในอีกปีเศษข้างหน้า แต่รัฐบาลก็ยังมีหน้าที่ในการดูแลแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมถึงมีหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลายาวนาน โดยต้องทำคู่ขนานไปกับสิ่งอื่นๆ และค่อยๆ สร้างความรับรู้ให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการออกกฎหมายไปแล้วกว่า 190 ฉบับ ที่ต่างก็เป็นกฎหมายที่จำเป็นและรอคอยกันมานาน

“ปัญหาที่ท้าทายและหนักหน่วงยังรอเราอีกมาก ผมซาบซึ้งและขอบคุณที่ยังไว้วางใจ คสช. และรัฐบาล พลังของการลงประชามติครั้งนี้มีความสำคัญมาก อย่างน้อยได้แสดงให้โลกรู้ว่าคนไทยคิดอย่างไรกับรัฐบาล ดังนั้น เราจะทุ่มเททำงานในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ให้หนักขึ้น เพื่อให้สมกับความเชื่อมั่น โดยยึดหลักความสุจริต มีธรรมาภิบาล และไม่ประมาท รวมทั้งจะเคารพสิทธิเสรีภาพทุกอย่างที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ทุกคนจะต้องเดินเคียงคู่ไปด้วยกัน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้จะยังมีบางคนที่เห็นต่างอยู่ก็ตาม” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

แผนที่ผลการลงประชามติ ในคำถามที่ 1 (เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งฉบับหรือไม่) กับคำถามที่ 2 (เห็นชอบกับคำถามพ่วงหรือไม่) นอกจากบางจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังลงประชามติ "ไม่รับ" ทั้ง 2 คำถาม ที่มาภาพ : http://vote2016.voicetv.co.th/
แผนที่ผลการลงประชามติ ในคำถามที่ 1 (เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งฉบับหรือไม่) กับคำถามที่ 2 (เห็นชอบกับคำถามพ่วงหรือไม่) นอกจากบางจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสานที่ “ไม่รับ” ทั้ง 2 คำถาม สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ก็ยังลงประชามติ “ไม่รับ” ทั้ง 2 คำถามด้วย ที่มาภาพ: http://vote2016.voicetv.co.th/

4 เหตุผล เสียง “โหวตเยส” ทิ้งขาด “โหวตโน”

คำถามที่น่าสนใจก็คือ เหตุใดผลการลงประชามติจึงออกมา โดยคะแนนเสียง “เห็นชอบ” ทิ้งขาด “ไม่เห็นชอบ” ทั้งในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญฯ ถึง 5.77 ล้านเสียง และในส่วนของคำถามพ่วงถึง 3.89 ล้านเสียง

ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายๆ คนออกมาวิเคราะห์กันด้วยหลากหลายเหตุผล แต่โดยสรุปมีอยู่ 4 เหตุผลหลักที่มักถูกนำมาพูดถึง กล่าวคือ

  1. ฝ่ายคัดค้านรณรงค์ไม่ได้อย่างเต็มที่ ต่างกับฝ่ายสนับสนุน
  2. กลัวความวุ่นวายหากร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่ผ่านประชามติ
  3. อยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ
  4. ประชาชนเห็นด้วยกับสิ่งที่ คสช. และ พล.อ. ประยุทธ์ กำลังทำอยู่

สื่อต่างชาติหลายแห่งที่เกาะติดการลงประชามติครั้งนี้ของไทย เช่น สำนักข่าวบีบีซี สำนักข่าวเอพี ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ผลประชามติออกมาเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลไม่ให้เปิดให้มีการรณรงค์อย่างเต็มที่

นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชื่อดัง ระบุว่า เหตุที่ผลการออกเสียงประชามติเป็นเช่นนี้ เนื่องจากไม่มีการเปิดให้พูดคุยถกเถียงกันอย่างเสรี ทำให้คนจำนวนมาก “เลือกสิ่งที่ง่ายไว้ก่อน” อย่างไรก็ตาม คสช. คงเอาไปอ้างความชอบธรรมได้เพียงแค่ครึ่งเดียว ในเมืองไทยคงพอฟังได้ แต่จะอ้างกับโลกคงยาก คนเห็นไม่ยุติธรรมมาแต่ต้น

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ และผู้ร่วมรณรงค์โหวต “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ระบุว่า คนไปโหวตรับน่าจะอยากให้มีการเลือกตั้งเร็ว พวกเขาอาจสนใจเนื้อหาของรัฐธรรมนูญน้อยกว่าเรื่องอยากกลับไปสู่ระบบเลือกตั้ง

“อีกส่วนคือคงไม่ได้ทราบมากนักถึงเนื้อหา เอกสารที่ไปถึงบ้านประชาชนเป็นเอกสารสีฟ้าๆ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะเขียนส่วนดีของรัฐธรรมนูญ สารที่ฝ่ายโหวตไม่รับไปไม่ถึง” นายวรเจตน์กล่าว

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ชุดที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ระบุว่า ประชาชนดูเหมือนจะยอมรับสิ่งที่ คสช. และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำมาสองปีนี้ และรับรองสิ่งที่รัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงต้องการทำ

“พูดง่ายๆ คือ จากนี้ไปจนถึงเลือกตั้งและห้าปีหลังจากนั้น อาจจะมีคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ มี ส.ว. ที่มาจาก คสช. ทั้ง 250 คน และ ส.ว. นี้มีอำนาจร่วมกับ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีนั้นอาจเป็นคนนอกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้” นายเอนกกล่าว

ขณะที่ในมุมมองของสื่อมวลชน นายบัณรส บัวคลี่ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ ระบุว่า คนที่เลือก เขาเลือกสิ่งที่มองเห็น สิ่งที่พอจับต้องได้ บ้านเมืองที่เป็นเสถียรภาพมีความมั่นคง เพราะถ้าไม่เห็นด้วย เขามองไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่นเดียวกับนายอธึกกิต แสวงสุข เจ้าของนามปากกา “ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์หลายฉบับ และพิธีกรข่าวของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ระบุว่า เสียงข้างมากน่าจะรับเพราะเชื่อว่าเป็นหนทางกลับไปสู่เลือกตั้งอย่างสงบ กลัวว่าถ้าไม่รับแล้วจะวุ่นวาย กลัวอนาคตที่มองไม่เห็น อย่างที่ พล.อ. ประยุทธ์ เตือนไว้ ประกอบกับการโหมรณรงค์ข้างเดียวของกลไกรัฐ ขณะที่ฝ่ายไม่รับถูกปิดกั้น ถูกจับกุม ถูกบล็อกไม่ให้เคลื่อนไหว

ส่วนผลการลงประชามติใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ซึ่งมีถึง 28 อำเภอ จากทั้งหมด 33 อำเภอ ที่ลงประชามติ “ไม่รับ” ทั้งร่างรัฐธรรมนูญฯ และคำถามพ่วง ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ได้วิเคราะห์ว่า น่าจะมาจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่ถูกใจคนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม เช่น มาตรา 67 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ให้น้ำหนักการอุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนาพุทธเป็นหลัก, มาตรา 31 ที่พูดถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาและประกอบพิธีกรรม แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย และไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ ซึ่งถูกตีความได้หลากหลาย ฯลฯ ประกอบกับการใช้กลไกการเมือง ซึ่งกลุ่มตรงข้าม คสช. มีในพื้นที่อยู่แล้วในการกระจายข่าว ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “โหวตโน” มากกว่า “โหวตเยส”

สำหรับท่าทีจากฝ่ายการเมืองและนักกิจกรรม แม้ทุกคนจะออกมายอมรับผลการลงประชามติ แต่บางคนก็ยอมรับแบบมี “เงื่อนไข” หรือวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการออกเสียงประชามติย้อนหลัง เช่น

  • น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ระบุว่า น้อมรับการตัดสินใจของประชาชน แต่ไม่แปลกใจกับผลประชามติที่ออกมา เพราะไม่เปิดโอกาสให้วิพากษ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฯ เต็มที่ และเสียดายที่ประเทศไทยจะต้องก้าวถอยหลังจากการกลับไปใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
  • นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่า พวกตนมีจิตใจเป็นนักกีฬาเพียงพอที่จะยอมรับผลประชามติ แต่ก็รู้ว่าอยู่ในสงครามที่ไม่มีสิทธิจะชนะ จึงขอให้พี่น้องที่รักประชาธิปไตยอย่าเพิ่งเสียขวัญ
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ขอน้อมรับผลประชามติ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับเช่นกัน จากนี้ไปจะเป็นหน้าที่ของ คสช. ในการเดินหน้าจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2560 ตามโรดแมป
  • กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่ระบุว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญฯ จะผ่านประชามติไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความกว่าการกระทำของ คสช. เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวบรวมจำนวนคดีเกี่ยวกับการลงประชามติ พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 195 คน ด้วยข้อหาหลักเบาแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ที่มาภาพ : http://www.tlhr2014.com/th/?p=1508
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวบรวมจำนวนคดีเกี่ยวกับการลงประชามติ พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 195 คน ด้วยข้อหาหนักเบาแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ที่มาภาพ: http://www.tlhr2014.com/th/?p=1508

ย้อนรอยประชามติ – “กระบวนการ” ที่ถูกท้วงติง

สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย (หลังการลงประชามติครั้งแรกเมื่อปี 2550) เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่มีเสียงเรียกร้องให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ของ คสช. ต้องมีการจัดทำประชามติ นำไปสู่มติที่ประชุมร่วม คสช. กับ ครม. ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้

ซึ่งเดิมควรจะมีการทำประชามติในช่วงต้นปี 2559 แต่เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ กมธ. ยกร่าง ซึ่งมีนายบวรศักดิ์เป็นประธาน ถูกที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำไป จึงต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฯ ใหม่อีกฉบับ และนำไปสู่การลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา

ครม. ได้อนุมัติงบให้ กกต. กว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดให้มีการลงประชามติ รวมถึงอนุมัติร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) ให้ กกต. ใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยในการลงประชามติ

ทว่า นับแต่ พ.ร.บ.ประชามติมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2559 ก็ได้สร้างความสับสนจนทำให้บรรยากาศการรณรงค์เกี่ยวกับประชามติครั้งนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร

และมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้มากมาย โดยเฉพาะฝ่ายที่ออกมารณรงค์ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมข้อมูลผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการลงประชามติ ระหว่างวันที่ 23 เมษายน – 5 สิงหาคม 2559 ปรากฏว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 195 คน ซึ่งหลายคนถูกพ่วงด้วยข้อหาหนัก เช่น ทำผิดกฎหมายอาญา ฐานอั้งยี่และซ่องโจร หรือขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน) ทำให้จะต้องไปถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ไม่ใช่ศาลพลเรือน ตามปกติ

นานาชาติที่ติดตามเรื่องนี้อยู่ก็ได้ส่งสัญญาณ อยากให้เปิดพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากนายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เช่นเดียวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้อยให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการลงประชามติ

อีกปัญหาก็คือการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง โดยจุลสารสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 20 ล้านฉบับของ กกต. ที่ควรจะส่งไปให้ถึงผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ กลับเป็นไปอย่างล่าช้า กระทั่งต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกกว่า 10 ล้านบาท เพื่อตีพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับเต็ม ในหนังสือพิมพ์ระดับชาติ เพื่อแก้ไขปัญหา

หลากหลายปัญหาเหล่านี้ ทำให้แม้ทุกฝ่ายจะประกาศยอมรับ “ผล” แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์ “กระบวนการ” ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ และเป็นเหตุผลให้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ไต่สวนเอาผิดกับ กกต. ทั้ง 5 คน ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่อย่างชัดเจน ทั้งการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่ทั่วถึง และเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประชามติ ไม่เอาผิด พล.อ. ประยุทธ์ ที่ชี้นำให้รับร่างรัฐธรรมนูญฯ กับคำถามพ่วงอย่างชัดแจ้ง ทำให้ผลประชามติไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม

โดยนายศรีสุวรรณกล่าวว่า อาจเดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยให้การลงประชามติครั้งนี้เป็นโมฆะ

แม้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต. จะออกมาระบุว่า “ประเด็นที่นายศรีสุวรรณเตรียมยื่นมีความเบาบางมาก ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเพียงพอที่จะทำให้การลงประชามติครั้งนี้เป็นโมฆะได้” ก็ตาม