ThaiPublica > เกาะกระแส > สปท. ผลักดัน “พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” รับ รธน.ใหม่ บังคับรัฐต้องเปิดข้อมูลมากขึ้น – สขร. ติงยังมีจุดอ่อนอยู่

สปท. ผลักดัน “พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” รับ รธน.ใหม่ บังคับรัฐต้องเปิดข้อมูลมากขึ้น – สขร. ติงยังมีจุดอ่อนอยู่

19 สิงหาคม 2016


ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ที่ได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ได้เพิ่มเติมหมวดใหม่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือหน้าที่ว่าด้วยการเปิดเผย “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ โดยปรากฏอยู่ในมาตรา 59 ที่ว่า

ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ผ่านการออกเสียงประชามติไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 ที่ผ่านมา ในมาตรา 59 ได้กำหนดบทบัญญัติใหม่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ผ่านการออกเสียงประชามติไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา ในมาตรา 59 ได้กำหนดบทบัญญัติใหม่ว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ” ที่ต้องเปิดให้ประชาชนเข้าถึง “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ

แม้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะของหน่วยงานของรัฐจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2540 มาตรา 58 และรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2550 มาตรา 56 โดยมีการออก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขึ้นมาใช้บังคับ แต่สิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ ใหม่มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฯ เดิม ก็คือ การเปลี่ยนจากสิ่งที่เป็นเพียง “สิทธิของประชาชน” ให้มาเป็น “หน้าที่ของรัฐ” แทน นั่นคือรัฐต้องเปิดเผยอย่างอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นที่ประชาชนจะต้องไปร้องขอด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม กว่าที่มาตรา 59 ของร่างรัฐธรรมนูญฯ จะใช้บังคับได้ จะต้องมีการออก “กฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่” มารองรับ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความพยายามทั้งจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในการยกร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ใช้ชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. …. ซึ่งที่ประชุม สปช. ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 และที่ประชุม สปท. ก็ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559

ปัจจุบัน ร่างกฎหมายนี้ถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมวิปสามฝ่าย (คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นที่เรียบร้อย แต่นายสุวพันธุ์ได้ส่งร่างกฎหมายนี้มาให้กับสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ที่อยู่ภายใต้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่นายสุวพันธุ์กำกับดูแลอยู่ ทำความเห็นชอบประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงปลายปี 2559 เพื่อส่งต่อไปให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาเพื่อออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

[ดูตารางเปรียบเทียบ ข้อแตกต่างของกฎหมายข้อมูลข่าวสาร 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. …. (ฉบับ สปช.) และ ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. …. (ฉบับ สปท.)]

ขยายนิยามข้อมูลที่รัฐ “ต้องเปิด” เพิ่ม – ดึงนายกฯ มาร่วมผลักดัน

นายอนุสิษฐ คุณากร
นายอนุสิษฐ คุณากร

นายอนุสิษฐ คุณากร สมาชิก สปท. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา เสนอแนะ มาตรการและกลไกการปลูกฝังและป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ของ สปท. ในฐานะผู้ยกร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. …. กล่าวว่า ร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่จะเป็นการยกเลิกกฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่ใช้มากว่า 20 ปีแล้ว แต่พบว่าไม่มีประสิทธิภาพ เห็นได้จากการที่ประชาชนยังต้องมาร้องเรียนต่อ สขร. หรืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ให้ช่วยสั่งให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายนี้ จะกำหนดนิยามคำว่า “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ให้หมายรวมถึงข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของเอกชน ซึ่งใช้ทรัพยากร อำนาจ หรืองบประมาณของรัฐ เช่น การให้สัมปทาน ที่แม้กฎหมายเดิมจะขอดูได้ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่การที่เขียนไว้ไม่ชัดเจนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะกรณีหน่วยงานของรัฐไม่ยอมเปิดข้อมูลให้ประชาชนรับรู้

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่า ข้อมูลแบบใดเปิดได้-เปิดไม่ได้ รวมถึงการกำหนดขั้นตอนการขอตรวจสอบดูข้อมูลต่างๆ ให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และมีการกำหนดประเภทของข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐ “ต้องเปิดเผยโดยอัตโนมัติ” ไว้ให้มากขึ้นจากกฎหมายเดิม

ที่สำคัญ จะมีการเปลี่ยนแปลง “โครงสร้าง” ของ สขร. จากกฎหมายเดิมที่มีสถานะเป็นเพียง “สำนักงาน” เล็กๆ อยู่ภายใต้ สปน. ตามร่างกฎหมายใหม่จะไป “ขึ้นตรง” กับนายกรัฐมนตรี (และเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักข่าวคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ หรือ ขสธ.) และเปลี่ยนสถานะเป็น “กรม” เพื่อให้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของหัวหน้ารัฐบาลในการสั่งการให้กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบมากขึ้น

“ผมอยากให้พวกเราช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ เพื่ออนาคตของประเทศ เหมือนกับเราเอากระจกใสไปครอบประเทศ บังคับให้เปิดข้อมูลที่ก่อนหน้านี้เคยซุกไว้ใต้พรม ทำให้คนทุจริตได้ยากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ทุจริตได้ เพราะคนเขามองไม่เห็น” นายอนุสิษฐกล่าว

เมื่อถามว่า เชื่อหรือไม่ว่าร่างกฎหมายนี้จะออกมาใช้บังคับได้ในรัฐบาลชุดนี้ นายอนุสิษฐกล่าวว่า ตอนนี้สังคมรับรู้แล้วว่ามีร่างกฎหมายนี้อยู่ ซึ่งถ้าออกมาได้จะเป็นผลดีต่อบ้านเมือง และไม่เคยมีใครพูดว่าร่างกฎหมายนี้จะทำให้เกิดความเสียหาย กระทั่งภาคเอกชนและภาคประชาชนก็ยังเห็นด้วย แต่อาจต้องรอฟังความเห็นชอบจากภาครัฐหน่อย เพราะภาครัฐมีขนาดใหญ่ ทำอะไรก็อืดอาดหน่อย แต่ยืนยันว่าการปฏิรูปเรื่องนี้มันอืดอาดไม่ได้

ชี้ร่าง กม. ยังมีจุดอ่อนมาก ลุยทำ “คู่มือ” เปิดข้อมูลให้ส่วนราชการ

นายวิริยะ รามสมภพ
นายวิริยะ รามสมภพ

นายวิริยะ รามสมภพ ผู้อำนวยการ สขร. กล่าวว่า ขณะนี้นายสุวพันธุ์ได้ส่งเรื่องมาให้ สขร. ทำความเห็นประกอบร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. …. ซึ่งเบื้องต้น สขร. ไม่เห็นชอบด้วยกับร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่หลายจุด โดยเฉพาะการที่กำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ไปเลย เพราะแม้แต่ สปท. ที่ผลักดันเรื่องนี้เองก็ยังตอบไม่ได้ว่ากฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับเดิมมีปัญหาอย่างไร และส่วนตัวในฐานะผู้ปฏิบัติงานใน สขร. มากว่าสิบปี ก็เห็นว่าหน่วยงานของรัฐรวมถึงประชาชนมีความเข้าใจกฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับเดิมดีอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับปรุงแก้ไขอะไรที่เป็นจุดอ่อนให้ดีขึ้น เช่น กำหนดโทษของการไม่เปิดเผยข้อมูล กำหนดประเภทข้อมูลที่ต้องเปิดเผยโดยอัตโนมัติให้ชัดเจนขึ้น ฯลฯ ถ้าไปออกร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่ ก็เหมือนกับต้องกลับไปเริ่มต้นชี้แจงทำความเข้าใจใหม่อีก

ส่วนการปรับโครงสร้างไปขึ้นตรงต่อนายกฯ ยอมรับว่า สขร. เองก็ได้ประโยชน์ เพราะจะได้คนมาช่วยทำงานเพิ่มเติม และมีความอิสระคล้ายๆ องค์การมหาชน แต่ถามว่ามีความจำเป็นถึงขนาดนั้นเลยหรือ เพราะเรื่องนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ทักท้วงมา เพราะการยกระดับจากสำนักงานไปเป็นกรมจะต้องเพิ่มกำลังพล ทำให้ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับการที่กำหนดนิยามของคำว่า “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ให้ไปพันกับเอกชนด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะมีแนวปฏิบัติอย่างไร

“ผมยังไม่เห็นด้วยกับการที่ร่างกฎหมายใหม่กำหนดบทลงโทษกรณีที่ขอข้อมูลโดยไม่สุจริตไว้ด้วย เพราะสุดท้ายก็ต้องมาวินิจฉัยกันอีกว่าการขอข้อมูลโดยไม่สุจริตมันคืออะไร นอกจากนี้ เราอยากจะส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ไม่ใช่หรือ แล้วจะกำหนดบทลงโทษไว้ทำไม ประชาชนจะใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ก็เรื่องของเขา ที่กลัวว่าเขาได้ข้อมูลไปแล้วจะเอาไปแกล้งหน่วยงานของรัฐ ถ้าหน่วยงานของรัฐนั้นๆ ทำถูกต้องแล้วจะไปกลัวอะไร” นายวิริยะกล่าว

นายวิริยะยังเปิดเผยว่า หลังจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ใช้บังคับมากว่า 20 ปี หน่วยงานของรัฐรวมถึงประชาชนก็มีความเข้าใจมากขึ้นแล้ว ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้ให้นโยบายลงมาว่า ภายในปี 2560 ให้ทุกหน่วยงานของรัฐต้องมี “ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร” และให้นำข้อมูลข่าวสารที่ต้องเปิดเผยโดยอัตโนมัติขึ้นเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ ให้หมดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก

ขณะที่ สขร. จะทำงานเชิงรุกมากขึ้น เบื้องต้นได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สรุปแนวคำวินิจฉัยของ กวฉ. ที่ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลว่า อะไรเปิดได้-เปิดไม่ได้ เพื่อเป็น “คู่มือ” ให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชน เพราะปัจจุบัน เรื่องที่ร้องเรียนหรืออุทธรณ์ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เคยมีการวินิจฉัยไปแล้วทั้งสิ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2559 นี้