ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์เผยเศรษฐกิจไทย Q2/59 โต 3.5% สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส ชี้ปัจจัยภายในหนุน

สภาพัฒน์เผยเศรษฐกิจไทย Q2/59 โต 3.5% สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส ชี้ปัจจัยภายในหนุน

16 สิงหาคม 2016


นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2559 ว่ายังฟื้นตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาจาก 3.2% เป็น 3.5% โดยเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2556 ซึ่งเติบโตได้ 5.2%

“ตัวเลขไตรมาสนี้จะเห็นชัดว่าปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ในประเทศเริ่มสมดุล มีตัวช่วยมากขึ้น ที่แถลงมาทุกครั้งต้องยอมรับว่าพระเอกคือภาครัฐและการท่องเที่ยว แต่ไตรมาสนี้เกษตรกรกลับขึ้นมา ภาคอุตสาหกรรมกลับมาผลิตมากขึ้น การใช้จ่ายของครัวเรือนก็เริ่มเห็นเพิ่มขึ้น ส่วนการเมืองก็เดินตามโรดแมปไปสู่การเลือกตั้ง ดังนั้น โดยรวมก็คาดว่าทั้งปีจะโน้มเอียงว่าจะโตได้ 3.4-3.5 แต่เรายังคงประมาณการไว้เท่าเดิมที่ 3-3.5%” ดร.ปรเมธีกล่าว

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงหลักมากจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้ต่ำ, ประเด็นผลกระทบของ Brexit ในอนาคต, เศรษฐกิจจีนที่แม้จะปรับตัวดีขึ้นแต่ก็ถือว่ายังชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา และความผันผวนของตลาดการเงินจากนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งมีทิศทางผ่อนคลาย ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคต

 “รายได้เกษตรกร” ฟื้นในรอบ 10 ไตรมาส ดันบริโภคโตทะลุ 3%

ดร.ประเมธีกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมาได้รับปัจจัยเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะเกษตรกรที่เริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นในรอบ 10 ไตรมาส ภายหลังภาวะภัยแล้งและปัจจัยราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 4.9% ขณะที่ภาวะภัยแล้งที่หมดไปจะส่งผลให้เกษตรกรกลับมาเพาะปลูกและมีผลผลิตเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณการบริโภคสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์นั่งที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาสที่ 5% หลังจากไตรมาสก่อนหน้าหดตัวถึง 26.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดตัวรถยนต์ใหม่และกิจกรรมส่งเสริมการขาย ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าไม่คงทน ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ส่งผลให้โดยรวมการบริโภคของเอกชนในไตรมาส 2 ของปี 2559 ขยายตัวที่ระดับ 3.8% เร่งตัวจาก 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 2.7% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3%

Q2_2016_NESDB

กังวลส่งออกไม่ฟื้น กระทบลงทุนเอกชน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ 3.1% จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 1.4% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าที่ชะลอตัวลง สอดคล้องกับราคาสินค้าที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเป็นการลดลงในปริมาณสินค้าส่งออก 2.3% และลดลงในราคาสินค้าส่งออก 0.8% อย่างไรก็ตาม หากหักการส่งออกทองคำ ซึ่งมีการส่งออกจำนวนมากในไตรมาสแรก จะพบว่าการส่งออกสินค้าทั้ง 2 ไตรมาสหดตัวที่ระดับประมาณ -5% เท่ากัน

ดร.ปรเมธีกล่าวต่อไปว่า การส่งออกที่ไม่ฟื้นตัว ส่งผลโดยตรงต่อการลงทุนของเอกชนที่เชื่อมโยงกับตลาดโลกเป็นหลักจนทำให้มีกำลังการผลิตเหลือค่อนข้างมากและชะลอการลงทุนใหม่ๆ ออกไป อย่างไรก็ตาม ยังเห็นภาพการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้เชื่อมโยงกับตลาดโลกและการส่งออกของไทย เช่น กลุ่มพลังงานทดแทน กลุ่มบริการ กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มสาธารณสุข เป็นต้น

นอกจากนี้ หากดูความต้องการลงทุนของเอกชนจากคำขอการส่งเสริมการลงทุน ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะพบว่า ในไตรมาส 2 ของปี 2559 มียอดขอส่งเสริมการลงทุนแตะระดับ 220,000 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 418.9% เร่งขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 191.6% อย่างไรก็ตาม ยอดการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ระดับ 187,000 ล้านบาท โดยลดลง 4.3% จากปีก่อนหน้า แต่ถือว่าดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งยอดการอนุมัติฯ หดตัวไปถึง 49.9%

ส่งผลให้โดยรวมการลงทุนของเอกชนในไตรมาส 2 ของปี 2559 ขยายตัว 0.1% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.1% และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 1.5% ลดลงจากการประมาณการก่อนหน้าที่คาดว่าจะโตได้ 2.1%

“เรื่องของกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่ลงทุนน่าจะพอดึงให้การลงทุนของเอกชนโดยรวมเพิ่มขึ้นได้ แต่ว่าต้องดูบีโอไอที่มีคำขอมาก็เยอะ แต่อาจจะไปติดอะไรอยู่หรือเปล่าจึงยังไม่ได้ลงทุนออกมา ก็ต้องไปเร่งด้วยให้มาลงทุนได้จริง นอกจากนี้ ตัวการลงทุนภาครัฐก็ต้องเร่งรัด พวกโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะช่วยส่งเสริมให้เอกชนมาลงทุนตามได้ด้วย” ดร.ปรเมธีกล่าว

ครึ่งปีหลังเม็ดเงินรัฐ “รออัดฉีด” กว่า 1.7 ล้านล้านบาท

ขณะที่ปัจจัยภาครัฐและการท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินภาครัฐ ทั้งจากงบประมาณประจำและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจไปแล้วกว่า 1.5 ล้านล้านบาทและคาดว่าในครึ่งปีหลังจะมีเม็ดเงินอีกประมาณ 1.64 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะมาจากงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ นอกจากงบประมาณประจำของรัฐแล้ว ยังมีแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ประกาศเพิ่มเติมในช่วงเดือนกันยายน 2558 – เมษายน 2559 วงเงิน 671,422 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายในปี 2558 และครึ่งแรกของปี 2559 ไปแล้ว 229,628 ล้านบาท และ 217,033 ล้านบาทตามลำดับ โดยคาดว่าจะเบิกจ่ายในครึ่งปีหลังได้อีก 100,488 ล้านบาท

โดยรวมคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ทั้งปีที่ 10% ลดลงเล็กน้อยจากการประมาณครั้งก่อนหน้าที่ 11.7% เนื่องจากรัฐวิสาหกิจปรับกรอบวงเงินลงทุนจาก 553,000 ล้านบาท ลดลงเป็น 429,000 ล้านบาท ภายหลังจากรัฐวิสาหกิจเปิดประมูลบางโครงการได้ถูกกว่าที่คาด รวมไปถึงปรับลดลงวงเงินให้สอดคล้องกับโครงการที่สามารถดำเนินการได้จริง อย่างไรก็ตาม หากมีการผลักดันโครงการเพิ่มเติมการลงทุนภาครัฐอาจจะขยายตัวได้มากขึ้นกว่าที่ประมาณการ

สำหรับปัจจัยท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 2 ที่ 7.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.2% จากปีก่อนหน้าและเพิ่มในทุกภูมิภาคยกเว้นนักท่องเที่ยวจากโอเชียเนีย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 33.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 29.9 ล้านคนในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 12.1% และสร้างรายได้ถึง 1.7 ล้านล้านบาท

Q2_2016_NESDB1