ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรีชี้หมดยุค “Black Gold” … คาดราคาน้ำมันต่ำลากยาว

วิจัยกรุงศรีชี้หมดยุค “Black Gold” … คาดราคาน้ำมันต่ำลากยาว

5 สิงหาคม 2016


วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้วิเคราะห์ “แนวโน้มราคาน้ำมันและผลกระทบต่อธุรกิจไทย” ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น้ำมันถูกเรียกได้ว่าเป็น Black Gold จากการที่ราคาทะยานขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับมากกว่า 120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ดีการที่สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกลดลงอย่างมากในช่วงสองปีหลัง และมีผลให้ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประเด็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจหลายคนคงไม่พ้น “แล้วราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไรในอนาคต”

วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะไม่พุ่งสูงเช่นในอดีต แต่จะมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อไปในระยะ 3 ปี ข้างหน้า จากแรงกดดันด้านอุปทานล้นตลาด โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะค่อยๆ ขยับเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ตามการปรับตัวของอุปสงค์และอุปทานในตลาดน้ำมันโลก ในปี 2560 วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยจะอยู่ที่ 47 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

Fig 1

อุปสงค์น้ำมัน

ในระยะต่อไปความต้องการใช้น้ำมันของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนุนจากความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นมากในประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้จะบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้นรวมกันแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้น้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตของโลก จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จำนวนประชากร และการแผ่ขยายของสังคมเมือง อย่างไรก็ตาม กระแสการพัฒนาเครื่องยนต์ประหยัดพลังงาน/เครื่องยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนน้ำมัน ความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากประเด็นการออกจากการเป็นสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักร ยังเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันในอนาคต

อุปทานน้ำมัน

อุปทานน้ำมันสะสม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ OECD ที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 และการเปิดศึกชิงส่วนแบ่งตลาดระหว่างกลุ่มประเทศ OPEC ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานที่ถือว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งพลังงานโลก ถือเป็นปัจจัยกดดันราคาที่เกิดจากอุปทานน้ำมันดิบของโลก

การแย่งส่วนแบ่งตลาดน้ำมันโลกของกลุ่มประเทศ OPEC และสหรัฐฯ มีแนวโน้มทำให้ระดับการผลิตน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจอธิบายได้จากทฤษฏีที่เรียกว่า “Game of Chicken” ที่สรุปว่า หากฝ่ายใดลดการผลิตก่อนจะเป็นฝ่ายที่เสียประโยชน์และส่วนแบ่งตลาดไป จากทฤษฏีจึงเป็นไปได้มากที่ทั้ง OPEC และสหรัฐฯ จะไม่ยอมลดปริมาณการผลิตน้ำมัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะยังคงระดับการผลิตเดิม ก็ยังมีโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะเสียประโยชน์

Fig 2

ในช่วงที่ผ่านมา OPEC ได้ใช้กลยุทธ์เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจนทำให้ราคาน้ำมันต่ำลง เพื่อบีบให้ผู้ผลิตน้ำมันที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าอย่างสหรัฐฯ ต้องลดการผลิตน้ำมัน เนื่องจากการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานในสหรัฐฯ ใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ที่สามารถหยุดการผลิตชั่วคราวและกลับมาผลิตน้ำมันได้อีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานในสหรัฐฯ จะสามารถทำกำไรได้หากราคาน้ำมันเกิน 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล

ดังนั้น หากราคาน้ำมันขยับสูงขึ้นจนดึงดูดให้ผู้ผลิตในสหรัฐฯ กลับมาขุดเจาะน้ำมันอีกครั้ง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่ม OPEC จะเพิ่มระดับการผลิตเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้การแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของประเทศผู้ผลิตในกลุ่ม OPEC เอง เช่น ซาอุดิอาระเบีย อิรัก อิหร่าน ก็มีส่วนเพิ่มแรงกดดันทางอุปทานให้กับตลาดน้ำมันโลก

ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน

ปัญหาความตึงเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสำคัญของโลก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อตลาดน้ำมันโลก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะอุปทานขาดแคลนแบบฉับพลันขึ้นเป็นระยะๆ ได้ โดยจะส่งให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นและผันผวนมากขึ้นในระยะสั้น

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่า จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งราคาน้ำมันในสายตาผู้ถือเงินสกุลอื่นมีราคาแพงขึ้น เมื่อตีราคากลับมาเป็นค่าเงินสกุลท้องถิ่น ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าลดลง และเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันราคาน้ำมันให้ลดลง

แน่นอนว่า ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำย่อมส่งผลต่อธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ แตกต่างกันออกไป โดยมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และผู้ที่เสียประโยชน์ ซึ่งผู้ที่เสียประโยชน์คงต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ในสภาวการณ์ที่ราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอย่างน้อย 3 ปี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ต่ำก็นับเป็นโอกาสของเศรษฐกิจและธุรกิจไทยที่จะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง