ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 6-12 ส.ค. 2559: “ผลประชามติเป็นทางการ ‘รับ’ ร่าง รธน.” และ “ระเบิด-ไฟไหม้ภาคใต้ หลายจุด”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 6-12 ส.ค. 2559: “ผลประชามติเป็นทางการ ‘รับ’ ร่าง รธน.” และ “ระเบิด-ไฟไหม้ภาคใต้ หลายจุด”

13 สิงหาคม 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 6-12 ส.ค. 2559

  • ผลประชามติเป็นทางการ “รับ” ร่าง รธน.
  • ไม่พระราชทานอภัยโทษคดีข่มขืน
  • สุภิญญาแจง กสทช. ไม่มีอำนาจแบน “โปเกมอน โก” แต่ประสานโซนนิ่งได้
  • คณิตชง ยกฟ้องคดีการเมือง-ประชามติ สร้างปรองดอง
  • ระเบิด-ไฟไหม้ภาคใต้ หลายจุด
  • ผลประชามติเป็นทางการ “รับ” ร่าง รธน.

    แผนที่ผลการลงประชามติ ในคำถามที่ 1 (เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งฉบับหรือไม่) กับคำถามที่ 2 (เห็นชอบกับคำถามพ่วงหรือไม่) นอกจากบางจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังลงประชามติ "ไม่รับ" ทั้ง 2 คำถาม ที่มาภาพ : http://vote2016.voicetv.co.th/
    แผนที่ผลการลงประชามติ ในคำถามที่ 1 (เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งฉบับหรือไม่) กับคำถามที่ 2 (เห็นชอบกับคำถามพ่วงหรือไม่) นอกจากบางจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังลงประชามติ “ไม่รับ” ทั้ง 2 คำถาม ที่มาภาพ : http://vote2016.voicetv.co.th/

    หลังจากการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ได้ผ่านไป ล่าสุด วันที่ 10 ส.ค. 2559 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ารายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แถลงผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีใจความโดยสรุป ดังนี้

    1. จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 50,071,589 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 29,740,677 คน คิดเป็น 59.4% เป็นบัตรดี 28,804,432 ใบ (96.85%) และบัตรเสีย 936,209 ใบ (3.15%)
    2. การลงประชามติในประเด็นที่ 1 (เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งฉบับหรือไม่) มีคะแนนเสียงเห็นชอบ 16,820,402 เสียง (คิดเป็น 61.35%) ไม่เห็นชอบ 10,598,037 เสียง (38.65%)
    3. การลงประชามติในประเด็นที่ 2 (คำถามพ่วง ที่ให้ ส.ว.สรรหา ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส.เลือกตั้ง ในช่วง 5 ปีแรก) มีคะแนนเสียงเห็นชอบ 15,132,050 (คิดเป็น 58.07%) และไม่เห็นชอบ 10,926,648 เสียง (41.93%)
    4. จำนวนผู้มาใช้สิทธิมากกว่าการลงประชามติเมื่อปี 2550 และจำนวนบัตรเสียที่มีเพียง 3.15% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
    5. จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด 5 จังหวัดแรก ได้แก่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และเชียงราย
    6. มีจำนวนผู้ฉีกบัตรลงประชามติทั้งหมด 58 เหตุการณ์ อยู่ใน 34 จังหวัด โดย กกต. ได้แสดงเจตนาว่า หากเป็นการฉีกบัตรโดยไม่เจตนาก็ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดี
    7. จังหวัดที่มีคะแนนเสียงเห็นชอบในการลงประชามติครั้งนี้มากที่สุด 5 จังหวัดแรก ผลปรากฏว่า ทั้งประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 2 มีข้อมูลเหมือนกัน คือ ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และระนอง

    ทั้งนี้ นอกจากการแถลงผลประชามติอย่างเป็นทางการแล้ว ไทยพับลิก้ายังรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ ถึงสาเหตุที่ผลการลงประชามติอกมาในลักษณะดังกล่าว โดยสามารถอ่านได้ที่นี่

    ไม่พระราชทานอภัยโทษคดีข่มขืน

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (http://www.dailynews.co.th/crime/514563)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (http://www.dailynews.co.th/crime/514563)

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ 2559 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิ.ย. 2559 และโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 ส.ค. 2559 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้ผู้ต้องโทษมีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี พ.ร.ฎ. มี 17 มาตราหลักเกณฑ์ผู้ต้องโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว คือ เป็นผู้ต้องกักขัง ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ เว้นแต่ผู้ซึ่งต้องโทษตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ฎ. นี้ หรือผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 8 ปีในความผิดคดียาเสพติด

    สำหรับนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับอภัยโทษ ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือได้รับโทษแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และผู้ต้องโทษอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ เช่น ผู้พิการตาบอดสองข้าง มือเท้าด้วน ทุพพลภาพชัดเจน ผู้เจ็บป่วยโรคเรื้อน ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เอดส์ หรือโรคจิต ที่แพทย์รับรองว่าไม่สามารถรักษาในเรือนจำให้หายได้ โดยต้องจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ผู้ต้องโทษหญิงที่ต้องโทษครั้งแรกจำคุกมาไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ผู้ต้องโทษอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ผู้ต้องโทษที่จำคุกครั้งแรกอายุไม่ครบ 20 ปี จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี สำหรับผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว มีหลักเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษลดโทษตามลำดับ

    ส่วนผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ เช่น ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 8 ปี จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตหลังวันที่ประกาศนี้บังคับใช้ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ต้องขังชั้นกลาง ชั้นเลวชั้นเลวมาก ผู้ต้องขังเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในความผิดมาตรา 276 วรรค 3 (กระทำชำเราโดยใช้อาวุธหรือเข้าข่ายโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน) มาตรา 277 มาตรา 277 ทวิ มาตรา 277 ตรี (เกี่ยวกับการกระทำชำเราเยาวชนต่ำกว่า 15 ปี) มาตรา 280 (กระทำจนผู้ถูกกระทำถึงแก่ชีวิต) มาตรา 285 (กระทำชำเราผู้อยู่ภายใต้ปกครอง) หรือมาตรา 343 ตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ในการพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ รวมถึงผู้ต้องโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารด้วย โดยให้ รมว.กลาโหมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

    สุภิญญาแจง กสทช. ไม่มีอำนาจแบน “โปเกมอน โก” แต่ประสานโซนนิ่งได้

    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กบีบีซีไทย (https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1806943726193326)
    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กบีบีซีไทย (https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1806943726193326)

    วันที่ 11 ก.ค. 2559 เฟซบุ๊กบีบีซีไทยรายงานว่าhttps://www.facebook.com/BBCThai/posts/1806943726193326 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ชี้แจงว่า อำนาจ กสทช. โดยตรงคือการกำกับดูแลผู้ให้บริการมือถือเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคในแง่คุณภาพของสัญญาณ ราคา ไม่มีอำนาจในการแบนแอพพลิเคชัน และเชื่อว่าการแบนเกมไม่ใช่ทางออก แต่การขอร้องให้จำกัดการเข้าถึงบางพื้นที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และในหลายประเทศก็มีการขอร้องผู้ดูแลระบบให้จำกัดพื้นที่บางแห่งเช่น สุสาน หรือสถานที่รำลึกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

    “กสทช. ไม่มีอำนาจแบนเกมเพราะบริการ ‘แอป’ ทั้งหลายไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาต ส่วนการขอให้ผู้พัฒนาเกมลบบางพื้นที่เป็นกระบวนปรกติ ขอไปก็รอเขาตอบกลับมา นอกจาก กสทช.(ยัง)ไม่มีอำนาจ ‘แบน’ เกมออนไลน์แล้ว ก็ไม่มีอำนาจกำหนดเวลาประชาชนทั่วไปในการเล่นเกม แต่ขึ้นอยู่กับกฎหมายเฉพาะหรือกฎของหน่วยงานนั้น” น.ส.สุภิญญาระบุ

    กรรมการ กสทช. กล่าวด้วยว่า กรณีของเกมโปเกมอนนั้นยังไม่ได้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกสทช. แต่อย่างใด แต่อยู่ในระดับสำนักงานที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ตามที่มีการขอความร่วมมือมา โดย น.ส.สุภิญญาชี้ว่า การแบนเกมออนไลน์ไม่ใช่ทางออก แต่การขอร้องให้ลบบางพื้นที่ออกจากระบบเป็นเรื่องที่เกิดในหลายประเทศ และได้รับความร่วมมือจากผู้ดูแลระบบช่วยลบออกให้ในพื้นที่ที่ได้รับการร้องขอ เช่นสุสาน หรือสถานที่รำลึกเหตุการณ์สงครามโลก ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

    วานนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยว่าทาง กสทช. กำลังดำเนินการเพื่อส่งหนังสือถึง บริษัท นีอานติค ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเกม โปเกมอน โก ว่าจะดำเนินการขอให้เพิกถอนพิกัดโปเกมอนในพื้นที่ต้องห้าม ได้แก่ 1. เขตอันตราย เช่น ริมแม่น้ำ ริมทางรถไฟ ภูเขา ถนน แม่น้ำ 2. เขตพื้นที่ศาสนสถาน คือ วัด โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ 3.สถานที่ราชการ คือ โรงเรียน สถานที่ราชการต่างๆ และ 3. พื้นที่ส่วนบุคคล โดยความคืบหน้าของการทำหนังสือถึงบริษัทผู้ผลิตเกมโปเกมอนนั้นอยู่ระหว่างการประสานงานบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อรวบรวมข้อมูล และจากนั้น ต้องให้ฝ่ายต่างประเทศของสำนักงานกสทช.ตรวจสอบและแก้ไขร่างจดหมายให้เป็นในรูปแบบของหนังสือราชการ คาดว่าจะส่งจดหมายได้ในวันนี้

    นายฐากรระบุว่าหากไม่ได้รับความร่วมมือ ก็จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อรายงานไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อไป โดยย้ำว่าไทยไม่ได้ต้องการปิดกั้นแต่ต้องการให้เกิดความปลอดภัยในการเล่นเกม

    คณิตชง ยกฟ้องคดีการเมือง-ประชามติ สร้างปรองดอง

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/685063)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/685063)

    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2559 นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และอดีตประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติว่า ตนไม่ค่อยได้ติดตามเท่าไร แต่คิดว่าตอนนี้ทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบเกิดความปรองดองก่อน ส่วนตัวเสนอให้รัฐบาล คสช. ยกฟ้องคนที่โดนคดีการเมือง และคดีเกี่ยวกับการลงประชามติครั้งนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงคอขาดบาดตาย ถือเป็นเรื่องแนวความคิดที่แตกต่างกันได้ และมันผ่านไปแล้ว จึงทำให้บ้านเมืองสงบได้ เดินไปสู่ประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยอมรับ

    “คนที่วิพากษ์วิจารณ์ คนเห็นต่างล้วนโดนคดี แจกใบปลิว ฉีกบัตร ถูกจับเพราะแนวคิดแตกต่างพวกนี้ ไม่ควรสั่งฟ้องทั้งหมด เป็นเพียงอาชญากรรมทางความคิด ควรมาทำอย่างไรให้มันเกิดบ้านเมืองสงบก่อน น่าจะทำให้เกิดความปรองดอง คิดว่าทำอย่างไรให้สงบ ค่อยแก้ปัญหาทีละเปลาะจะดีกว่า ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ออกมาลงคะแนนประชามติเพราะอยากให้บ้านเมืองสงบ และเบื่อหน่ายความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมานาน ทุกคนไม่อยากให้เกิดอีก ตอนที่ผมทำงาน คอป. คนชุมนุมเกิน 10 คน เสนอให้ถอนฟ้อง ถ้าเราอยากให้บ้านเมืองสงบต้องยอมรับความคิดเห็นต่าง ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ข้อสำคัญต้องทำให้บ้านเมืองมีช่องทางให้สงบได้ ก็จะเกิดประโยชน์ อย่าให้กลายเป็นเชื้อปะทุมาอีก ให้นานาชาติมองว่าเราแยกแยะได้ ผมมองว่าขบวนการยุติธรรมต้องแก้ปัญหาได้ ทำให้เกิดความสงบในชาติได้ ที่ผ่านมามันแก้อะไรไม่ได้ ขนาดความผิดเกิดชัดๆ ยังไม่ทำ เรื่องนี้ต้องคิดกัน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยเฉพาะอัยการ ต้องมีการปฏิรูปอันดับแรก” นายคณิต กล่าว

    ระเบิด-ไฟไหม้ภาคใต้ หลายจุด

    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กไทยรัฐ (https://goo.gl/E2lRIf)
    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กไทยรัฐ (https://goo.gl/E2lRIf)

    วันที่ 12 ส.ค. 2559 เกิดเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้หลายจุดในหลายจังหวัดภาคใต้ โดยสรุปได้ตามรายงานของเฟซบุ๊กไทยรัฐ ดังนี้

    ไฟไหม้
    2.00 น. ตลาดนัดบางเนียง อ.ตะกั่วป่า พังงา
    2.30 น. ห้างฯ ลีมาร์ท ซุปเปอร์ ค้าส่ง อ.เมือง ตรัง
    3.00 น. ร้านขายเสื้อผ้า-ของที่ระลึก อ่าวนาง กระบี่
    3.30 น. ร้านทวีสินพลาสติก อ.เมือง สุราษฎร์ธานี
    4.00 น. ห้างฯ เทสโก้โลตัส อ.เมือง นครศรีธรรมราช

    ระเบิด
    8.02 น. ป้าย กก6 บก.รน. อ.เมือง สุราษฎร์ธานี
    8.32 น. หน้า สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี
    8.50 น. หาดป่าตอง ป้อมตำรวจกะหลิม อ.กระทู้ – หาดโลมา อ.ป่าตอง ภูเก็ต
    9.00 น. หอนาฬิกา หน้าวัดหัวหิน
    9.30 น. ตลาดนัดบางเนียง อ.ตะกั่วป่า พังงา
    10.30 น. วัตถุต้องสงสัยใกล้สถานีรถไฟหัวหิน

    นอกจากนี้ เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษา พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ โดยระบุว่า รองนายกรัฐมนตรีได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราดูแลความปลอดภัย โดยในพื้นที่ที่เกิดเหตุ ให้ตั้งกองบัญชาการขึ้นมาเพื่อดูแลและควบคุมปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว

    เมื่อถามถึงความเชื่อมโยงของเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นกับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้นั้น นายปณิธานกล่าวว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน แต่ยอมรับว่ามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มหลายกลุ่มตั้งแต่ก่อนวันที่ 7 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ทราบชื่อและตัวบุคคลทั้งหมด แต่ยังมีข้อสังเกตว่ากลุ่มดังกล่าวอาจเคลื่อนไหวเพียงเพื่อล่อเป้าให้เกิดความสับสนของเจ้าหน้าที่ และอาจใช้คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีรายชื่อในระบบบัญชีของเจ้าหน้าที่มาก่อเหตุแทน ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ส่วนปัญหาทางการเมืองนั้นก็ยังไม่ตัดทิ้งไปทั้งหมด แม้เจ้าหน้าที่จะสามารถดูแลคนการเมืองบางกลุ่มที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาแล้วก็ตาม ซึ่งก็พบว่ากลุ่มเหล่านี้ก็มีความเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงวันที่ 7 ส.ค. 2559 เช่นเดียวกัน แต่เคลื่อนไหวในลักษณะเปิดเผยซึ่งทำให้ยังไม่มั่นใจว่าเป็นการล่อเป้าอีกด้วยหรือไม่

    ส่วนคำถามเรื่องการเลือกก่อเหตุในวันสำคัญของประเทศไทยนั้น นายปณิธานกล่าวว่า ลักษณะคล้ายการก่อนเหตุที่ระเบิดราชประสงค์ ที่เลือกก่อเหตุหลังวันสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งกลุ่มผู้ก่อเหตุอาจคาดว่ากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากปฏิบัติงานในช่วงวันลงประชามติกันอย่างเต็มที่

    เมื่อถามถึงความเชื่อมโยงกับกลุ่มต่างประเทศว่าเป็นไปได้หรือไม่นั้น นายปณิธาน กล่าวว่า ในด้านต่างประเทศท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยกล่าวแล้วว่าพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านสถาบันเคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ แต่ก็อีกเช่นกันที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการเกิดเหตุครั้งนี้ เกิดจากกลุ่มไหน ต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนตามหลักฐานที่ปรากฏก่อน จึงจะสามารถสรุปได้

    โดยขณะนี้มีภาพผู้ต้องสงสัยที่เก็บได้จากกล้องวงจรปิดในหลายพื้นที่เข้ามาแล้ว เจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบเพื่อหาตัวกลุ่มผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีต่อไป ส่วนแนวคิดการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในบางพื้นที่เพื่อคุมสถานการณ์นั้น ยังไม่มีการหารือเรื่องนี้ และจากการประเมินคาดว่าจากนี้ไป การก่อเหตุจะลดลงเนื่องจากเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำคัญๆ หลายจุดแล้ว ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ไม่หวังดีอาจทำได้ยากขึ้น