ThaiPublica > คอลัมน์ > FinTech ในบริบทของตลาดทุนไทย

FinTech ในบริบทของตลาดทุนไทย

24 สิงหาคม 2016


ทิพยสุดา ถาวรามร
รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมฟังการบรรยาย เรื่อง “เศรษฐกิจดิจิทัล โอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย (Digital Economy Policy: Opportunity and Challenge for Thailand)”

ที่มาภาพ : http://dontapscott.com/wp-content/uploads/BlockchainRevolution-674x1024.jpg
ที่มาภาพ : http://dontapscott.com/wp-content/uploads/BlockchainRevolution-674×1024.jpg

โดย Mr.Don Tapscott นักคิดระดับแนวหน้าของโลกด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ขอถือโอกาสขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จัดงานนี้ขึ้น

ดิฉันชอบหนังสือของ Mr.Tapscott เล่มใหม่ที่ชื่อว่า “Blockchain Revolution: How the Technology Behind Bitcoin is Changing Money, Business, and the World” มาก และอยากเชิญชวนให้ท่านที่ยังไม่ได้อ่านได้ลองอ่าน เพราะหนังสือเล่มนี้อธิบายถึงการที่ Blockchain จะเปลี่ยนแปลงโลกหรือธุรกรรมต่างๆ ที่เราทำอยู่ในทุกวันนี้ แบบพลิกโฉมอย่างไร ได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ Blockchain จะมาทำให้ลักษณะการทำธุรกรรมแบบเดิมๆ ที่เป็นแบบรวมศูนย์ (centralized) กลายเป็นรูปแบบกระจาย (decentralized) ทั้งในภาคการค้า การเงิน การลงทุน ตลอดจนสังคมและการเมือง

เรื่องของเทคโนโลยี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินและการลงทุน (FinTech) เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต. (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ให้ความสำคัญและติดตามอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยเล็งเห็นว่ามีประโยชน์มาก เป็นสิ่งที่ต้องเปิดรับ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนทั้งหมดต้องปรับตัวให้เท่าทัน โดยเริ่มต้นจากหน่วยงานกำกับดูแลคือ ก.ล.ต. เอง หลายคนอาจมองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องใหม่ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ดิฉันเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็น FinTech ที่ทำให้เกิดรูปแบบหรือโมเดลการทำธุรกิจใหม่ๆ หรือการทำธุรกิจในลักษณะเดิม ต่างก็มีความเสี่ยงเช่นกัน และในหลายๆ เรื่อง การทำธุรกรรมแบบดิจิทัลกลับมีความปลอดภัยที่สูงกว่า

ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ก.ล.ต. สามารถใช้ประโยชน์จาก FinTech เพื่อประโยชน์หลายด้าน ทั้งการลดต้นทุนและเพิ่มความน่าเชื่อถือในการกำกับดูแล เช่น การใช้เทคโนโลยีมาวิเคราะห์หรือตรวจสอบการทุจริต การตรวจสอบการฟอกเงิน การทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า (Know Your Customer/Customer Due Diligence: KYC/CDD) การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการข้อมูล และการตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในเร็วๆ นี้ ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินและหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วยงานจะจัด FinTech Challenge Program ที่เป็นโครงการพัฒนาความคิดและประกวดผลงานด้านนวัตกรรมการเงินการลงทุนขึ้น หากใครมีแนวคิดที่น่าสนใจในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับงานของ ก.ล.ต. หรือบริการทางด้านการเงินการลงทุนอื่นๆ ก็เสนอกันมาเข้ามาได้ ก.ล.ต. ยินดีรับพิจารณา

ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน FinTech จะเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ (landscape) ของการทำธุรกิจ เช่น ปัจจุบัน บริษัทหลักทรัพย์จะทำธุรกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่การทำ KYC การทำบทวิจัย การให้คำแนะนำการลงทุนแก่ลูกค้า การรับคำสั่งซื้อขาย ถ้าลูกค้าต้องการเงินก็ให้กู้ยืมแบบมาร์จิน หลังจากส่งคำสั่งซื้อขาย การส่งมอบหลักทรัพย์และชำระเงินก็ต้องผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่ช่วยส่งผ่านและเก็บข้อมูล รวมถึงการที่บริษัทจดทะเบียนมีการดำเนินการต่างๆ เช่น จ่ายเงินปันผล หรือประชุมผู้ถือหุ้น ก็ต้องอาศัยข้อมูลส่วนใหญ่จากบริษัทหลักทรัพย์อีกเช่นกัน

แต่ FinTech จะทำให้เกิดการ unbundle บริการต่างๆ ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ผู้ทำ KYC กลางด้วยเทคโนโลยี Blockchain ที่ผู้ที่ต้องการทำ KYC สามารถมาร่วมกันใช้ข้อมูลได้ บทวิจัยก็สามารถใช้การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการคาดการที่ถูกต้องแม่นยำขึ้นและลดการพึ่งพาความเห็นของมนุษย์ การให้คำแนะนำก็มี Robo Advisor การ execute คำสั่งจนถึงชำระราคาและส่งมอบอาจจะเกิดได้โดยไม่ต้องพึ่งตัวกลาง เรื่องเหล่านี้ ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว มองหาสิ่งที่ตนเองสามารถสร้างคุณค่าเพิ่มได้เหนือกว่าคู่แข่ง

ในส่วนผู้ลงทุนหรือผู้ใช้บริการ ก็จะได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมของ FinTech ก.ล.ต. จึงต้องมีบทบาทในการทำให้มั่นใจได้ว่าเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง (effective competition) การเปลี่ยน landscape จะเกิดขึ้นไม่ได้หากมีสิ่งกีดขวางไม่ให้เข้ามาสู่อุตสาหกรรม (barrier to entry) กฎหมายหลักทรัพย์ฯ ที่เราใช้กันอยู่มานานเกือบ 25 ปีแล้วนี้อาจมีข้อจำกัด ไม่รองรับ FinTech ได้อย่างครอบคลุม

ผู้กำกับดูแลในหลายประเทศเริ่มสนับสนุนให้เกิดสนามทดลองที่มีสภาพแวดล้อมให้ FinTech สามารถทดลองผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเองได้จริง (sandbox) โดยอาจจำกัดปริมาณธุรกิจ จำกัดปริมาณผู้ที่เกี่ยวข้อง และให้เป็นการทดลองชั่วคราว และทางการก็จะได้มีโอกาสเรียนรู้ไปในเวลาเดียวกัน เพื่อสามารถสร้างกติกาที่เหมาะสมได้ต่อไป ขณะนี้ ก.ล.ต. ก็กำลังหาทางเปิด sandbox สำหรับตลาดทุนไทยเช่นกัน เมื่อเปิดให้มีการแข่งขันกันให้บริการแล้ว สิ่งที่จะต้องมีควบคู่ตามมาก็คือการติดอาวุธให้แก่ผู้ลงทุนหรือผู้ใช้บริการด้วย โดยจะต้องมีกระบวนการและเครื่องมือที่ทำให้สามารถเปรียบเทียบได้ว่า บริการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านี้ มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอ

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่ารายไหนดีกว่า ก็ต้องสามารถเปลี่ยนไปใช้บริการได้ง่าย (ease of switching) เช่น การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่ ในอนาคตก็อาจไม่ต้องกรอกเอกสารหรือทำ KYC กันใหม่หมดทั้งกระบวนการ อาจเพียงแค่แจ้งว่าจะเปิดบัญชี ก็ดึงข้อมูลทั้งหมดที่เคยกรอกไว้แล้วจากฐานข้อมูลของบริการ KYC กลางได้ทันที ในต่างประเทศก็เริ่มมีตัวอย่างให้เห็นในเรื่องนี้ เช่น ที่อังกฤษก็กำลังจะมีกฎหมายที่ให้สถาบันการเงินต้องทำ Open API ให้ลูกค้าสามารถดึงข้อมูลของตนและแชร์ให้บุคคลที่ 3 ได้ แบบนี้ก็จะทำให้เกิด ease of switching

นอกจากนี้ การลดสภาพผูกขาดในตลาดทุน ก็จะช่วยผลักดันให้เกิด FinTech ได้เร็วขึ้น ธุรกิจบางอย่างอาจแก้การผูกขาดได้โดยการแก้ไขกฎหมายเท่านั้น เช่น ปัจจุบันกฎหมายรองรับระบบไร้ใบหุ้น (scripless) ของศูนย์รับฝากที่อยู่ในกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น หรือการที่กฎหมายห้ามสมาชิกซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการปิดกั้นระบบซื้อขายทางเลือกอื่นๆ แบบนี้ต้องแก้กฎหมาย ซึ่ง ก.ล.ต. ได้เสนอแก้ไขไปที่กระทรวงการคลังแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันได้เห็นบทสัมภาษณ์คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย ในนิตยสารa day Bulletinฉบับวันที่ 8-14 สิงหาคม 2599 สำหรับคำถามที่ว่า “หัวใจในการทำ FinTech ให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยคืออะไร” ซึ่งคุณกรณ์ได้ตอบว่า “สำหรับประเทศไทย ณ วันนี้ น่าจะเป็นเรื่องของฝ่ายกำกับดูแล ว่าจะเปิดพื้นที่ให้แค่ไหน ผมว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักและสำคัญที่สุด” ดิฉันเห็นด้วย และขอยืนยันว่า ก.ล.ต. มีความมุ่งมั่นที่จะเปิดพื้นที่ค่ะ