ThaiPublica > คอลัมน์ > e-Government กับบล็อกเชน: บทเรียนจากเอสโทเนีย

e-Government กับบล็อกเชน: บทเรียนจากเอสโทเนีย

1 สิงหาคม 2016


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วผู้เขียนเกริ่นเรื่องการทำงานของบล็อกเชน (blockchain) เทคโนโลยีเบื้องหลังบิตคอย์น์ (bitcoin) เงินตราดิจิทัล ซึ่งมีพลังที่จะปฏิวัติวงการและสังคมทุกระดับ ไม่นับเฉพาะภาคการเงินเท่านั้น

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีศักยภาพที่จะสร้าง “ความไว้วางใจ” แทบทุกวงการ ในทางที่ถูกกว่า ง่ายกว่า ทรงพลังกว่าในอดีต และอาจทำให้อาชีพ “คนกลาง” จำนวนมากต้องสูญพันธุ์

ตัวอย่างหนึ่งซึ่งน่าจะเข้ากับกระแสการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ได้เป็นอย่างดี คือ ประโยชน์ของบล็อกเชนในเรื่อง “รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์” หรือ e-Government

e-Government เป็นแนวคิดที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังตื่นตัวอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากช่วยทั้งประหยัดเงินงบประมาณมหาศาล อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการของรัฐ อีกทั้งยังช่วยสร้างความโปร่งใสและลดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ด้วย

อย่างไรก็ดี e-Government เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าคิดปุ๊บแล้วจะเห็นผลสัมฤทธิ์ได้ทันที เพราะต้องดำเนินการอย่างถูกวิธีและมีมาตรการรักษาความปลอดภัย (เช่น จากมิจฉาชีพ แฮกเกอร์ด้านมืด และผู้ก่อการร้าย) อย่างรัดกุม

วันนี้ลองมาดู e-Government ของ “เอสโทเนีย” (Estonia) ประเทศเล็กๆ ในยุโรปที่ได้ชื่อว่า เป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก และเป็นประเทศแรกๆ ที่รัฐบาลประกาศใช้บล็อกเชน

โฮมเพจ e-Estonia
โฮมเพจ e-Estonia

เพียงเข้าหน้าเว็บ https://e-estonia.com/ ไม่กี่นาที ทุกคนก็จะถึงบางอ้อว่า e-Estonia ทำอะไรได้บ้าง รัฐบาลเอสโทเนียประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า วันนี้ประชาชนทุกคนสามารถออกเสียงเลือกตั้งออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบายจากในบ้านของตัวเอง (ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการออกไปหย่อนบัตร แต่ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง) การยื่นแบบภาษีเงินได้ใช้เวลาเพียงห้านาที ลงนามในสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายผ่านอินเทอร์เน็ตได้จากที่ไหนก็ได้ในโลก ผ่านโทรศัพท์มือถือ ผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนธุรกิจได้ภายในเวลา 18 นาที ตรวจสอบเอกสารทางกฎหมายของบริษัท ทรัพย์สิน และทะเบียนต่างๆ ออนไลน์ ธุรกิจในเอสโทเนียทำได้ถึงขนาด “บูรณาการ” บริการออนไลน์ของตัวเองเข้ากับบริการของรัฐ!

ผลลัพธ์ของ e-Estonia คือ ทำให้รัฐบาลเอสโทเนียโปร่งใสและประชาชนสามารถเข้าถึงรัฐได้อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ข้อมูลของปัจเจก เอกชน และรัฐสามารถแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้ในทางที่ปลอดภัย สะดวกสบาย และยืดหยุ่น ประชาชนเองก็ได้เข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ อย่างทั่วถึงและรวดเร็วกว่าเดิม ส่วนธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ก็สามารถก่อตั้งธุรกิจใหม่และแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมทางกฏเกณฑ์ที่แสนสะดวก

เอสโทเนียบังคับให้พลเมืองทุกคนใช้บัตรประชาชนฝังชิพที่ระบุตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (digital ID) ทุกคนสามารถ “เซ็น” เอกสารออนไลน์ได้ ข้อนี้หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในเอสโทเนียอาจสงสัยว่า ชาวเอสโทเนีย “ไว้ใจ” รัฐบาลขนาดนี้ได้อย่างไร ไม่ห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวเลยหรือ คำตอบสั้นๆ คือ ชาวเอสโนเนียโดยรวมไว้ใจรัฐบาลเพราะเคยชินกับสังคมที่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่บนเว็บ ทำธุรกรรมทุกรูปแบบออนไลน์ ที่สำคัญคือ การบังคับใช้กฎหมายในเอสโทเนียค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมามีตำรวจบางคนถูกศาลตัดสินลงโทษอาญามาแล้วจากการจำคุกประชาชนโดยไม่มีเหตุอันควร

นอกจากนี้ รัฐบาลก็ออกแบบระบบ e-Estonia ให้มีความโปร่งใสสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ตลอดเวลาว่า มีใครบ้างที่มาเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เขาหรือเธอลงทะเบียนออนไลน์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือใครก็แล้วแต่

รัฐบาลเอสโทเนียไม่ได้มุ่ง “เก็บ” ข้อมูลของประชาชนและเอกชนไปเพื่อ “ควบคุม” แต่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทุกฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารในเอสโทเนียสามารถใช้ข้อมูลเกี่ยวกับภาษีและที่ดิน (ซึ่งก็ไม่ได้เปิดแบบอ้าซ่าหมดทุกอย่าง) ของภาครัฐประกอบการกลั่นกรองสินเชื่อ ส่วนบริษัทต่างๆ ก็สามารถเข้ามาใช้ระบบ e-Estonia เพื่อเปิดข้อมูลของลูกค้าให้ลูกค้าเข้าถึงผ่านทางออนไลน์ เช่น ข้อมูลการใช้น้ำใช้ไฟของผู้บริโภค หรือแม้แต่ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ของผู้ป่วยก็ยังได้!

เอสโทเนียวางแผนจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ “รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์” เต็มรูปแบบตั้งแต่ปี พ.ศ 2540 ปีเดียวกันกับที่ไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” รูปร่างหน้าตาของระบบนี้ก่อรูปในปี 2544 ในงานของนักวิจัยชื่อ อาร์น แอนสเปอร์ (Arne Ansper) เขามีความคิดว่ารัฐควรใช้ระบบแบบ “กระจายศูนย์” ให้หน่วยงานของรัฐกับภาคเอกชนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้แบบ peer-to-peer

ไม่ใช่ให้เซิร์ฟเวอร์ของรัฐเป็น “ศูนย์กลาง” ที่มีอำนาจควบคุมข้อมูลแบบที่รัฐบาลบางประเทศอยากทำ

ทูมัส อิลเวส (Toomas Ilves) ประธานาธิบดีเอสโทเนีย อธิบายว่า ระบบ “กระจายศูนย์” ของ e-Estonia นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ แต่หลังๆ ก็มีบางประเทศทำตาม อิลเวสบอกว่า เหตุผลหลักที่เอสโทเนียเลือกใช้ระบบนี้ตั้งแต่ต้น คือ “เรายากจนเกินกว่าจะลงทุนติดตั้งเซิร์ฟเวอร์กลางได้”

ประธานาธิบดี ทูมัส อิลเวส กับทีมงานบางส่วนของ e-Estonia ที่มาภาพ: http://www.workinestonia.com/
ประธานาธิบดี ทูมัส อิลเวส กับทีมงานบางส่วนของ e-Estonia ที่มาภาพ: http://www.workinestonia.com/

การทำงานของ e-Estonia ทั้งหมดตั้งอยู่บน “ถนนออนไลน์” (backbone) เรียกว่า “X-Road” ซึ่งทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลไปมาระหว่างระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่เป็นอิสระเอกเทศจากกัน เนื่องจากคอมพิวเตอร์แต่ละระบบใช้เทคโนโลยีแตกต่างกัน แต่ละระบบจึงต้องอาศัย “ตัวแปลง” (adapter) เพื่อให้สามารถส่งและรับข้อมูลในรูปแบบที่ X-Road เข้าใจ และเพื่อป้องกันความลับของข้อมูล ระบบคอมพิวเตอร์ทุกระบบก็จะต้องมีเซิร์ฟเวอร์ที่มีความปลอดภัย (secure server) และเข้ารหัสข้อมูลทุกชิ้น

ระบบ "กระจายศูนย์" - X-Road ที่รองรับ e-Estonia
ระบบ “กระจายศูนย์” – X-Road ที่รองรับ e-Estonia

ธรรมชาติ “กระจายศูนย์” ของ X-Road ทำให้มันมั่นคงปลอดภัยกว่าถ้าเป็นระบบรวมศูนย์ (แตกต่างสุดขั้วกับความคิดที่จะทำ single gateway ซึ่งวันนี้กระทรวงไอซีทียืนยันว่าเลิกล้มไปแล้ว) อีกทั้งยังสามารถรองรับระบบฐานข้อมูลและคอมพิวเตอร์หลากหลายรูปแบบของภาครัฐและภาคเอกชน และทำให้ใช้เงินค่อนข้างน้อยในการลงทุนและบำรุงรักษา

รัฐบาลเอสโทเนียเปิดเผยว่าระบบนี้ทั้งระบบใช้เงินเพียง 50-60 ล้านยูโร หรือราว 1,900-2,400 ล้านบาทต่อปีเท่านั้นเอง

ธรรมชาติ “กระจายศูนย์” ของระบบ X-Road แปลว่ามันสามารถขยายขนาด (scalable) ได้อย่างไม่สิ้นสุด อีกทั้งยังสอดคล้องกับลักษณะกระจายศูนย์ของบล็อกเชน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลเอสโทเนียจะประกาศในปี 2015 ว่า ได้จับมือกับบริษัท บิตเนชั่น (Bitnation) ในการนำบล็อกเชนมาใช้พัฒนาโครงการ e-Residency

เว็บโครงการ e-Residency
เว็บโครงการ e-Residency

e-Residency เปิดให้ทุกคนในโลกสมัครเป็น “พลเมืองดิจิทัล” ของเอสโทเนีย โดยไม่ต้องมีที่อยู่ในเอสโทเนีย หรือแม้แต่เคยไปเหยียบแผ่นดินเอสโทเนียเลย!

โปรดติดตามตอนต่อไป.