ThaiPublica > คอลัมน์ > ลบความเกลียด Matt Shepard Is a Friend of Mine

ลบความเกลียด Matt Shepard Is a Friend of Mine

31 สิงหาคม 2016


1721955

open

ถ้าปีนี้ แมทธิว เชฟเพิร์ด ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะอายุ 39 ปี แต่น่าเสียดายที่ต้องมาจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 21 สารคดีเรื่องนี้ Matt Shepard Is a Friend of Mine (2014) ต้องใช้เวลากว่า 12 ปี เพื่อที่ผู้กำกับจะมีความพร้อมที่จะเล่าเรื่องนี้ออกมาได้

“ตอนที่แมทท์เสียชีวิต ฉันยังอายุแค่ 19 ปีเอง ความตายของเขากระทบชีวิตของฉันอย่างมาก เป็นความยากลำบากที่จะทำความเข้าใจเรื่องแบบนี้ เรื่องของเขากลายเป็นประเด็นครึกโครมไปทั่วโลก เขากลายเป็นภาพจำ เป็นบุคคลตัวอย่าง สื่อต่างๆเปลื้องผ้าเขาออกทีละชิ้นด้วยข้ออ้างเพื่อมนุษยธรรม ตีแผ่ความรุนแรง ความเกลียดชังต่างๆนานา ทำให้ฉันสัญญากับตัวเองว่าสักวันเมื่อสภาพจิตใจของฉันพร้อม และฝีมือในทางศิลปะของฉันดีพอ ฉันจะแชร์ให้โลกนี้ได้รับรู้เกี่ยวกับแมทท์ตัวจริงๆที่ฉันรู้จัก และหนทางเดียวที่ฉันจะทำได้คือหนังเรื่องนี้ ที่ฉันเริ่มโปรเจกต์ในปี2010 และใช้เวลาอีก 3 ปีกว่าจะจบเรื่องนี้ลงได้” มิเชล โจซู ผู้กำกับหญิงเชื้อสายเอเชีย และเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของแมทท์เล่าถึงที่มาของโปรเจกต์นี้

ภาพถ่ายของ เชฟเพิร์ด กับ โจซู
ภาพถ่ายของ เชฟเพิร์ด กับ โจซู

ส่วนจูดี้ แม่ของแมทท์ ซึ่งภายหลังผันตัวมาเป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิ์ ได้กล่าวถึงสารคดีเรื่องนี้ว่า “ฉันหวังว่าผู้คนจะรำลึกได้ว่าแมทท์เคยเป็นเด็กหนุ่มธรรมดาๆคนหนึ่ง ที่ต้องต่อสู้กับความขัดแย้ง และมีชัยชนะต่อการเลือกเพศวิถีของตนเอง เขามีตัวตนจริงๆอยู่ในชีวิตผู้คนมากมาย มีทั้งด้านดีและด้านร้าย เขาไม่ใช่ทั้งบุคคลตัวอย่าง หรือไอคอนภาพจำต่อการต่อสู้เพื่อชาวเกย์เท่านั้น แต่เขามีความรู้สึก มีความรัก มีความเจ็บปวด มีความสุขและเศร้า เช่นเดียวกับเราทั้งหลายที่ทั้งไม่ใช่เกย์และเป็นเกย์ แน่นอนว่าผู้คนมากมายต่างเป็นพยานได้ว่าเขาเป็นคนดี เป็นเด็กหนุ่มอนาคตไกล แต่หลายๆปีที่ผ่านมา สามีกับฉันสรุปกันว่า แมทธิว เชฟเพิร์ด ที่ผู้คนพูดถึงกัน ไม่ใช่แมทท์ที่เรารู้จัก ผู้คนทำให้แมทท์เป็นเหมือนเทวดาสูงส่ง เป็นมนุษย์สุดเพอร์เฟ็คที่โลกต้องโศกเศร้าต่อการสูญเสียเขาไป แต่นั่นไม่ใช่ตัวตนของเขาเลยสักนิด…สารคดีเรื่องนี้มาจากมุมมองของเพื่อนๆของแมทท์ ซึ่งช่วยให้ผู้คนรู้จักแมทท์ในมิติต่างๆ ไม่ใช่แค่จากข่าวที่ถูกละเลงบนหน้าหนังสือพิมพ์

แมทธิว เชฟเพิร์ด เกิดเมื่อปี1976 เป็นเด็กหนุ่มหน้าใส ร่างเล็ก มีแววฉลาด ชาวไวโอมิ่ง เป็นที่รักของพ่อแม่ และเป็นเกย์ไม่แสดงออก แต่แล้วในคืนวันที่ 12 ตุลาคม 1998 เขาก็ถูกชายหนุ่มสองคนลวงไปทุบตีทำร้าย แล้วตรึงเขาบนรั้วของฟาร์มเปลี่ยวแห่งหนึ่ง ปล่อยร่างเขาทิ้งไว้กว่า 24 ชั่วโมง ก่อนจะจบชีวิตลงที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา สารคดีเปิดฉากด้วยการเล่าถึงเหตุการณ์นี้ที่กลายเป็นข่าวครึกโครม ฆาตกร 2 หนุ่มเป็นพวกโฮโมโฟเบียเกลียดเกย์ ชื่อว่า แอรอน แมคคินนีย์ และ รัสเซลล์ เฮนเดอร์สัน

แอรอน แมคคินนีย์ และ รัสเซลล์ เฮนเดอร์สัน
แอรอน แมคคินนีย์ และ รัสเซลล์ เฮนเดอร์สัน

ครึ่งแรกของหนังเล่าอย่างเป็นกลาง ไม่แสดงน้ำเสียงกราดเกรี้ยว หรือคร่ำครวญฟูมฟาย ในการไต่สวนคดี ทนายของแมคคินนีย์พยายามจะให้ลูกความของเขารอดคุก ด้วยการอ้างถึงกรณีที่เรียกว่า Gay panic defense อันเป็นการตีความว่าจำเลยมีอาการคลุ้มคลั่งชั่วคราว ทำให้ร่างกายของพวกเขากระทำความรุนแรงผิดปรกติ เพื่อสนองตอบต่ออาการที่เรียกว่าตื่นตระหนกต่อเกย์ (กฎหมายนี้เพิ่งถูกแบนในปี2014 โดยรัฐแคลิฟอร์เนียยกเลิกเป็นที่แรก ต่อมาสมาคมควบคุมคุณภาพวิชาชีพทนายความแห่งอเมริกา หรือ ABA ได้ยึดถือเป็นบรรทัดฐานเหมือนกันหมดทั่วสหรัฐ)

3

เหตุการณ์นี้ต่อมากลายเป็นข้อกฎหมายที่เรียกว่า Matthew Shepard and James Byrd Jr. Hate Crimes Prevention Act ซึ่งผ่านความเห็นชอบในปี 2009 (เจมส์ เบิร์ด จูเนียร์ ในชื่อกฎหมายข้อนี้ คือคนผิวสีอายุ 49 ที่ถูกฆ่าจากการถูกเหยียดผิว อันเป็นอีกเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในปีเดียวกับที่เชฟเพิร์ดเสียชีวิต) ซึ่งเพิ่มมาตรการและงบประมาณในการปกป้องเหยื่อที่ถูกทำร้ายอันเกี่ยวเนื่องจากความเกลียดชังทางเพศหรือผิวสี

และนอกจากนี้ พ่อแม่ของแมทท์ ต่อมายังได้รวบรวมเงินทุนเพื่อก่อตั้ง มูลนิธิ แมทธิว เชฟเพิร์ด เพื่อช่วยเหลือเกย์ที่ถูกทำร้าย รณรงค์ต่อต้านการเกลียดชังLGBT รวมถึงทำความเข้าใจกับบรรดาพ่อๆแม่ๆที่มีลูกเป็นLGBT ให้คำปรึกษากับLGBTวัยทีน ด้วยการชูคำขวัญ Erase Hate เพื่อหวังจะลบความเกลียดชังของผู้คนในสังคม

ส่วนใหญ่ของสารคดีเรื่องนี้เป็นการปะติดปะต่อตัวตนของเชฟเพิร์ด จากแหล่งข้อมูลต่างๆทั้งจากเพื่อนๆ คนในครอบครัว คลิปวิดีโอ และจากจดหมายที่เชฟเพิร์ดส่งกลับมาบ้านเมื่อครั้งต้องไปเรียนโรงเรียนประจำ สมัยที่พ่อเขาไปทำงานในบ่อน้ำมันที่ซาอุฯ บางเรื่องที่แม่เขาเพิ่งนึกได้ระหว่างสัมภาษณ์ เช่น ลูกชอบขอจะแต่งตัวเป็นนักร้องคันทรีหุ่นแซ่บ ดอลลี พาร์ตัน ในวันฮาโลวีนอยู่บ่อยๆ และตอนนั้นเธอก็ไม่เห็นด้วย ขณะที่พ่อเห็นว่าการตัดสินใจเป็นเกย์ของเขาไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร แต่ความลับหนึ่งที่ถูกเปิดเผยคือ ทริปที่โรงเรียนจัดไปเที่ยวโมร็อคโค ตอนนั้นเชฟเพิร์ดเคยถูกคนแปลกหน้าข่มขืนที่นั่น สร้างบาดแผลใหญ่ต่อเขา ถึงกับทำให้ต้องลาออกจากโรงเรียนประจำ แล้วย้ายกลับมาเรียนในไวโอมิง จนอีกไม่นานต่อมาเขาก็ถูกฆ่าตายในเมืองนั้นเอง

4

เรื่องราวของเชฟเพิร์ดส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมป๊อป ศิลปินมากมายต่างแต่งเพลงเกี่ยวกับเขา อาทิ เพลง Merman ของ โตริ อามอส , Into the Sun ของ จานน์ อาร์เดน , American Triangle ของ เอลตัน จอห์น กับ เบอร์นี ทาวปิน , Above the Clouds ของ ซินดี ลอเปอร์ , รวมถึงหนังอย่าง The Laramie Project (2002), The Matthew Shepard Story (2002) หรือซีรีส์เรื่องดัง Six Feet Under มีตอนที่ชื่อว่า A Private Life ก็อิงมาจากคดีนี้ และนักบาสทีมบรูคลิน เน็ตส์ ที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ เจสัน คอลลินส์ ได้บริจาคเงิน 3.3 ล้านบาทจากการขายเสื้อของเขาซึ่งมีหมายเลข 98 อันหมายถึงปีที่เชฟเพิร์ดเสียชีวิต ก็ได้มอบเงินดังกล่าวแก่มูลนิธิของเชฟเพิร์ดด้วย

มีอยู่ตอนหนึ่งแม่ของเชฟเพิร์ดกล่าวว่า “การตายของแมทท์ทำให้ทั่วโลกตาสว่าง รวมถึงฉันเองด้วยที่ได้รู้ว่าชาวเกย์ต้องใช้ความพยายามมากมายขนาดไหน ในการต่อสู้กับความเกลียดชัง แม้กระทั่งจนทุกวันนี้”

5

แน่นอนว่าเชฟเพิร์ดไม่ใช่เหยื่อรายสุดท้ายที่ตายเพราะอาชญากรรมด้วยความเกลียดชังจากการเป็นเพศทางเลือก หลังจากนั้นยังคงมีคดีอื้อฉาวอีกมากมาย อาทิ แบรนดอน ทีนา ชายข้ามเพศที่ถูกข่มขืนจนเสียชีวิตในวัย 21 ปีที่เนบราสกา เมื่อปี1993 (เรื่องราวของเธอถูกทำเป็นหนังออสการ์ Boys Don’t Cry), ซาเกีย กันน์ เลสเบียนชาวแอฟริกัน อเมริกัน วัย 15 ปี ที่ถูกคนผิวสีด้วยกันเองฆาตกรรมในนิวเจอร์ซี เมื่อปี 2003 (เรื่องของเธอกลายเป็นสารคดี Deferred: The Sakia Gunn Film Project)

รวมถึงการยังคงมีอยู่ของกลุ่มคลั่งศาสนาจากโบสถ์ เวสต์โบโร แบบติสต์ ที่คอยไปชูป้ายกระหน่ำซ้ำเติมสร้างความเกลียดชังต่อชาวเกย์

แต่ความน่าหงุดหงิดใจที่สุดคือ เป็นไปได้ว่าคนกลุ่มโฮโมโฟเบียที่ควรจะดูหนังเรื่องนี้อย่างยิ่ง จะไม่อยากดูหนังเรื่องนี้ และไม่อยากรับรู้เลยโลกนี้มีชาวเกย์อยู่ร่วมสังคม

6