ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. แจงยอดหนี้เสียเพิ่มต่อเนื่องทั้ง “เอสเอ็มอี -Re-Entry ” เหตุปรับโครงสร้างหนี้ไม่สำเร็จ เอ็นพีแอลใหม่เพิ่มอัตราชะลอลง

ธปท. แจงยอดหนี้เสียเพิ่มต่อเนื่องทั้ง “เอสเอ็มอี -Re-Entry ” เหตุปรับโครงสร้างหนี้ไม่สำเร็จ เอ็นพีแอลใหม่เพิ่มอัตราชะลอลง

12 สิงหาคม 2016


ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ของปี 2559 ว่าคุณภาพสินเชื่อยังคงแย่ลงต่อเนื่อง โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล เพิ่มขึ้น 16,954 ล้านบาท จาก 357,400 ล้านบาทในไตรมาสแรกเป็น 374,354 ล้านบาท และส่งผลให้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.64% เป็น 2.72%

เมื่อจำแนกตามประเภทของเอ็นพีแอลพบว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.69% เป็น 3.77% ทั้งนี้ หากไม่นับรวมสินเชื่อที่ให้กับบริษัทในเครือธุรกิจรายหนึ่ง เพื่อซื้อกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ในลักษณะ Holding Company ซึ่งตามนิยามของกระทรวงอุตสาหกรรมระบุให้จัดเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี จะส่งผลให้เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนมากที่สุดที่ 3.88% เทียบกับเอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เพิ่มจาก 2.58% เป็น 2.6% และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่เพิ่มจาก 1.85% เป็น 1.73%

ดร.ดอนกล่าวต่อไปถึงสาเหตุที่เอ็นพีแอลยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นว่า เกิดจากเอ็นพีแอลที่เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้กลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีกครั้ง หรือ Re-Entry เป็นหลัก โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่เอ็นพีแอลใหม่ยังเพิ่มขึ้น แต่ชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ข้อมูลของไตรมาส 2 ของปี 2559 ยังอยู่ระหว่างการจัดทำเผยแพร่ต่อไปภายในเดือนสิงหาคม

ทั้งนี้ ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของเอ็นพีแอลของ ธปท. ล่าสุดไตรมาสแรกของปี 2559 ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์มีเอ็นพีแอลใหม่เพิ่มขึ้น 47,335 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 49,244 ล้านบาท ขณะที่ยอด Re-Entry ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 14,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 11,373 ล้านบาท

“ปัจจัยหลักๆ ตอนนี้มาจาก Re-Entry มันเร่งตัวค่อนข้างเยอะ ถ้าเขาจัดการตรงนี้ได้ ผมคิดว่าเอ็นพีแอลมันคงจะหยุด แต่คงไม่ได้จัดการได้เร็วขนาดนั้น คิดว่าไตรมาส 3 ยังไงก็ต้องเพิ่ม ตัวที่จะดูคือไตรมาส 1 ของปี 2560 เทียบกับไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งน่าจะสูงที่สุด ส่วนไตรมาส 4 ของปีอาจจะเทียบไม่ได้เพราะมันบริหารหนี้ ขายหนี้เยอะ ดูยาก ต้องรอดูไตรมาสแรกปีหน้าว่าจะหยุดหรือไม่ ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ไตรมาสแรกไม่เกินไตรมาสสามปีหน้า เอ็นพีแอลจะต้องหยุด สถานการณ์จะสงบจะดีต้องดูตอนนั้น” ดร.ดอนกล่าว

ขณะเดียวกัน ในด้านการเติบโตของสินเชื่อรวม ดร.ดอนกล่าวว่า ที่ผ่านมาสินเชื่อแทบไม่เติบโต ส่งผลให้สัดส่วนของเอ็นพีแอลยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยทั้งจากความระมัดระวังของธนาคารพาณิชย์ที่จะปล่อยสินเชื่อ จากตัวเลขยอดการอนุมัติที่ลดลงของสินเชื่อธุรกิจ 72% ในไตรมาสแรกของปี 2559 ลดลงเป็น 69% ในไตรมาสสอง ขณะที่ยอดการอนุมัติสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่แม้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับต่ำจาก 50% ในไตรมาสแรกเป็น 53% ในไตรมาสสอง สอดรับกับอุปสงค์ต่อสินเชื่อที่ยังไม่มาก จากตัวเลขการใช้วงเงินสินเชื่อที่ยังใช้ไม่ครบ ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อใหม่ๆ ลดลงตามไปด้วย(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

การเปลี่ยนแปลงของ NPL-1

หนี้เสียและหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ_update

ทั้งนี้ สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในระดับต่ำที่ 3.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินเชื่อเพื่อซื้อกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่เป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง

สินเชื่อธุรกิจ (67.9% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 2.0% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวดีในภาคธุรกิจการเงิน (จากสินเชื่อเพื่อซื้อกิจการในธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่) ภาคบริการและก่อสร้าง ขณะที่สินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์หดตัว และสินเชื่อในภาคพาณิชย์กลับมาขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยหลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 2 ไตรมาส

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (32.1% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 6.0% ชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากครัวเรือนยังไม่มั่นใจในการใช้จ่าย ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังระมัดระวังการขยายสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะในสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ดีแม้จะชะลอลงหลังสิ้นสุดมาตรการรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ในเดือนเมษายน สินเชื่อรถยนต์ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม สอดคล้องกับตลาดรถยนต์ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐในเดือนเมษายน ทำให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีเสถียรภาพในระดับสูง โดยมีการกันสำรองสำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 24,200 ล้านบาท ส่งผลให้มีเงินสำรองเป็น 492,800 ล้านบาท และมีสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 161.3% จากไตรมาสก่อนที่ 160% และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,273.7 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ร้อยละ 17.5

จากการกันสำรองที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงในไตรมาสนี้ และกำไรจากเงินลงทุนและธุรกรรมบริหารเงินจะลดลงจากผลของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กำไรและผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 97,600 ล้านบาท ขยายตัวที่ 3.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน เทียบกับไตรมาสแรกที่ขนาดตัวได้ 15.8% โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารต้นทุนเงินฝากและรายได้จากเงินปันผล

ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 50,900 ล้านบาท ลดลง -4.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน เทียบกับไตรมาสแรกที่เติบโตได้ 1.6% เป็นผลจากการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset: ROA) ทรงตัวที่ 2.6% และ 1.2% ตามลำดับ