ThaiPublica > คอลัมน์ > “คุณค่า”…เสียงที่คมและชัด

“คุณค่า”…เสียงที่คมและชัด

24 กรกฎาคม 2016


ปพนธ์ มังคละธนะกุล
www.facebook.com/Lomyak

“KonMari” เป็นวิธีในการจัดการกับสิ่งของที่รกรุงรังในบ้านเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ โดย Marie Kondo หญิงสาวชาวอาทิตย์อุทัยที่หลงใหลกับการดูแลและจัดระเบียบบ้านเรือนให้สะอาดเรียบร้อย ปราศจากของรกรุงรังเกินความจำเป็น ตามสไตล์ Minimalist และขนบธรรมเนียมแบบญี่ปุ่น

เธอผู้นี้เป็นผู้แต่งหนังสือที่ขายดีหลายล้านเล่ม ติดอันดับหนังสือขายดีของ New York Times ชื่อ “The Life Changing Magic of Tidying Up: The Japanese Art of Decluttering and Organizing” กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก และได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของโลกโดยนิตยสาร Time เมื่อปี 2015

เทคนิคและวิธีการในการจัดระเบียบให้แก่บ้าน และชีวิตของเธอนั้นก็แสนเรียบง่ายแต่ช่างทรงพลังเหลือเกิน เริ่มแรก เธอแนะนำให้เริ่มการจัดระเบียบตามประเภทของสิ่งของ แทนที่จะเริ่มเวียนไปตามห้องอย่างที่คนทั่วไปทำกัน โดยหลักง่ายๆ ที่เธอแนะนำในการพิจารณาว่าสิ่งของชิ้นใดควรเก็บไว้ หรือควรโยนทิ้งก็คือการดูจากความสม่ำเสมอในการนำมาใช้งาน เธอแนะนำว่า หากเรามีความคิดว่าสิ่งของชิ้นใดน่าจะได้ใช้ในอนาคต เช่น หนังสือที่ซื้อมาตั้งนานแต่ไม่ได้อ่าน หรือเสื้อผ้าที่ซื้อมาเก็บไว้แต่ไม่เคยได้ใส่ สิ่งของเหล่านั้นไม่มีทางที่จะถูกหยิบจับมาใช้งาน ดังนั้นควรโยนทิ้งไปเสีย

นอกจากนั้น เธอยังแนะนำอีกว่า เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แทนที่จะเลือกว่าสิ่งของชิ้นใดควรโยนทิ้ง (อย่างที่คนทั่วไปใช้กัน) เธอกลับคิดว่า ให้พิจารณาใหม่ว่าสิ่งของชิ้นใดควรเก็บไว้ พูดง่ายๆ ก็คือ เธอให้เริ่มต้นว่าสิ่งของทุกชิ้นเป็นสิ่งเกินความจำเป็น หากไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเก็บไว้ ให้ทิ้งไปเสีย ดังนั้น หากเราต้องการเก็บสิ่งของชิ้นใดไว้ เราต้องสามารถตอบได้อย่างชัดเจนกับตัวเราเองว่า ทำไมถึงต้องเก็บเอาไว้ และมันจะเป็นประโยชน์กับเราอย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น เธอไปไกลถึงขั้นว่า สิ่งของที่ควรจะเก็บรักษาไว้คือ สิ่งของที่เมื่อเราได้สัมผัสมันแล้วทำให้เรารู้สึกมีความสุข หรือคำที่เธอใช้ในหนังสือว่า “spark joy” ให้แก่เรา หากไม่สามารถจุดไฟแห่งความหฤหรรษ์ได้แล้ว เธอบอกว่าป่วยการที่จะเก็บมันไว้

หลังจากเลือกสรรที่จะเก็บสิ่งของชิ้นใดได้แล้ว เธอยังแนะนำวิธีการในการจัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ และให้แน่ใจได้ว่าสิ่งของทุกชิ้นจะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันในการรับใช้เจ้าของ เธอแนะนำให้พับเสื้อผ้าเก็บตามตู้ด้วยวิธีใหม่ แทนที่จะพับเสื้อผ้าเป็นสี่เหลี่ยมและวางเรียงทับกันในลิ้นชัก เธอแนะนำให้พับเสื้อผ้าม้วนเป็นก้อน และวางเรียงเป็นแถวในลิ้นชักแทน

ที่มาภาพ : https://minnesotascatterbrain.files.wordpress.com/2015/04/konmari-day-2-tank-tops.jpg
ที่มาภาพ : https://minnesotascatterbrain.files.wordpress.com/2015/04/konmari-day-2-tank-tops.jpg

ความต่างของสองวิธีนี้คือ หากเราเรียงวางทับกัน เราจะเห็นแต่เสื้อชั้นบนๆ เท่านั้น ชั้นล่างๆ จะถูกลืมไปโดยปริยาย การพับม้วนและวางเรียงเป็นแถว จะทำให้เราเห็นเสื้อทุกตัว เมื่อเห็นเสื้อทุกตัวทำให้เราไม่หยิบจับแต่เสื้อชั้นบนๆ มาใส่ตามความสะดวกและความคุ้นชิน เท่านี้ก็ทำให้โอกาสในการใช้เสื้อได้ทั่วถึงมากขึ้น และยังย้ำเราทุกครั้งเสียอีกว่า เรามีเสื้อผ้ามากเกินไปหรือเปล่า เพราะเราจะเริ่มเห็นเลยว่าของบางชิ้นเราไม่เคยหยิบจับเลย ถึงแม้จะมองเห็น เป็นโอกาสที่จะกำจัดสิ่งของเพิ่มขึ้นไปอีก

อาชีพปัจจุบันของเธอ นอกจากการเขียนหนังสือ และไปบรรยายแล้ว เธอยังมีอีกบทบาทหนึ่งชื่อว่า “Organizing Consultant”

ใช่ครับ…เธอทำงานเป็น “ที่ปรึกษา”

คนเราหากมีความชำนาญด้านใดมากๆ เป็นพิเศษ ก็มักจะทำหน้าที่ “ที่ปรึกษา” ได้แหละครับ แต่ต่างกันที่เธอให้คำปรึกษา รวมถึงช่วยจัดการ จัดระเบียบสิ่งของ เพื่อให้บ้านเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง ซึ่งโดยปกติเรามักคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่น่าที่จะมีธุรกิจประเภทนี้เกิดขึ้นมาได้

อย่าทำเป็นเล่นไปนะครับ เธอเป็นสาวคิวทองทีเดียว หากวันนี้คุณอยากใช้บริการของเธอ (ถ้าเธอยินดีบินมาให้บริการถึงเมืองไทย ซึ่งแน่นอน คุณต้องออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ นอกเหนือจากค่าที่ปรึกษา) คุณต้องเข้าคิวรอไม่ต่ำกว่า 4-5 เดือน

โลกเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง…

ผมมีความเห็นว่า ทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เริ่มจะสุดขั้วมากขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์เรามีกิเลสโดยกำเนิดอยู่แล้ว มิเช่นนั้นพระพุทธเจ้าท่านคงไม่สั่งสอนให้เราละทิ้งกิเลส ความอยากมีอยากได้ไปเสียหรอก แต่เจ้าระบบทุนนิยมนี่มันทำให้เราเริ่มสะสมกิเลสมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกินพอดี ทุกคนมุ่งมั่นที่จะหาเงินให้ได้มากๆ เพื่อที่จะได้ซื้อของให้มากขึ้น การวัดความสำเร็จมักดูหลักชัยจากสิ่งของที่ครอบครอง เพราะมองเห็นได้ง่ายที่สุด หาใช่ประโยชน์ที่ทำให้แก่สังคมหรือประเทศชาติ เราบูชาคนมี “วัตถุ” มากกว่าคนมี “เกียรติ”

หลักการตลาดยุคใหม่นั่นก็ตัวดี กลยุทธ์ต่างๆ ถูกงัดกันออกมาใช้อย่างเต็มที่ เพียงเพื่อกระตุ้นให้เราอยากได้สิ่งของต่างๆ มาครอบครอง โดยเน้นเรื่อง Impulse Buying ที่พยายามเร่งเร้าให้ซื้อเสียเหลือเกิน ไล่ตั้งแต่การดีไซน์สินค้า บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ให้สวยหยดย้อย ขุดหลุมพรางล่อเราให้เดินตาม ผลาญเงินไปกับการโฆษณาต่างๆ เพื่อสร้าง “สถานะ” และ “ตัวตน” ของสินค้าต่างๆ เพื่อให้เราเดินตามต้อยๆ เข้าสู่หลุมพราง พร้อมตบด้วยโปรโมชั่นกระหน่ำกันเข้าไป เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะเดินลงหลุมพรางไปจริงๆ ตามแผน

ทั้งนี้ เพราะในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม บริษัทต่างๆ ถูกครอบงำความคิดให้ลุ่มหลงกับเรื่อง “อัตราการเติบโต” ของธุรกิจ ธุรกิจที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง บริษัทนั้นก็จะได้รับการตีมูลค่าสูงตามไปด้วย ซึ่งแน่นอน เจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นก็จะมีความมั่งคั่งตามไป

ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนจึงต้องวิ่งสร้างยอด “การเติบโต” กันอย่างหัวหมุน ทุกวันนี้หากเอากำลังการผลิตของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกมาเปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการใช้ตามความจำเป็นจริงๆ ผมเชื่อว่าเรามีกำลังการผลิตเกินอยู่ 3-4 เท่าเป็นอย่างน้อย แต่ที่ยังอยู่ได้ไม่ล้มหายตายจากไปนั้น ก็เพราะไอ้เจ้ากลยุทธ์ล่อลวงให้ผู้บริโภคซื้อเกินความจำเป็นนั่นแหละครับ

และทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ กำลังการผลิตส่วนเกินนั้นก็จะถูกลดลงบ้างตามความต้องการที่ต้องลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ

ครรลองข้างต้นเป็นประโยชน์กับบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะมีทรัพยากร มีเงินทุนหนา ใช้ทุ่มตลาดเท่าไรก็ได้ไม่สะเทือน “คนตัวเล็ก” ทั้งหลายจะไปสู้อะไรได้ จะสู้ได้อย่างเดียวคือคุณต้องกลับมาสู่พื้นฐานสามัญของมนุษย์เรา คือ “คุณค่า”

คุณไม่สามารถเล่นเกมขุดหลุมพราง ล่อซื้อ แข่งกับยักษ์ได้ เพราะแรงกระตุ้นของเขาเยอะกว่ามหาศาลจากทรัพยากรที่มีมากกว่า งบเยอะ “เสียง” ก็ดังกว่าเป็นธรรมดา ในตลาดจึงอบอวลและอื้ออึงด้วย “เสียง” ของยักษ์ทั้งหลาย กลบ “เสียง” อันแผ่วเบาจากคนตัวเล็กๆ

คนตัวเล็กจึงต้องเลือกที่จะสื่อสารกับคนที่มีจริตตรงกัน เห็นและให้ “คุณค่า” ในเรื่องเดียวกัน ดังนั้น แทนที่จะพยายามตะเบ็งเสียงแข่ง คุณควรไปปรับเรื่องความคมชัดของ “เสียง” ที่ส่งออกไปจะดีกว่า ว่าคุณมีตัวตน ให้คุณค่ากับสิ่งใด ด้วย “เสียง” ที่คมชัด ต่อให้เสียงรอบข้างจะอื้ออึงเพียงใด คนที่จริตตรงกันก็จะได้ยินคุณอยู่ดี

เมื่อ “คุณค่า” ตรงกัน และมิได้เกิดจากการล่อซื้อ ก็จะไม่ถูกกำจัดหรือโยนทิ้งไปเสียเมื่อกาลเวลาผ่านไป การเติบโตจึงเกิดจากการซื้อเพื่อทดแทนของเก่า หรือซื้อเพิ่มเพราะซาบซึ้งกับ “คุณค่า” มากขึ้น กิจกรรมการตลาดจะเปลี่ยนจากการพยายาม “กระตุ้น” ไปสู่การสร้างการรับรู้และตระหนักถึง “คุณค่า”

ไม่หวือหวา แต่ยั่งยืนและมั่นคงครับ