ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “วิรไท สันติประภพ” แจง “ฟินเทค” ที่ ธปท. อยากเห็น ต้องมาคู่กับ financial literacy – เทคโนโลยีพร้อมประชาชนต้องพร้อม

“วิรไท สันติประภพ” แจง “ฟินเทค” ที่ ธปท. อยากเห็น ต้องมาคู่กับ financial literacy – เทคโนโลยีพร้อมประชาชนต้องพร้อม

22 กรกฎาคม 2016


เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้กล่าวในงานสัมมนา “Positioning Thailand’s FinTech Ecosystem” ซึ่งจัดโดย C asean Forum (CaF) ว่า วันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผมได้มีโอกาสมาร่วมงานของชมรมฟินเทค ได้ฟังท่านรัฐมนตรี กรณ์ (จาติกวณิช) พูดถึงวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ข้อ เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะว่ามุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อเรื่อง Fintech ได้ตรงกันทั้ง 4 ข้อ ถ้าดูแผนพัฒนาระบบการเงินระยะที่ 3 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีก็มีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับชมรมฟินเทคทั้ง 4 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่เรามุ่งลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินทุกประเภทให้กับคนไทย กับการทำให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้มากขึ้น การส่งเสริมให้มีการแข่งขันในระบบการเงินที่โปร่งใสเป็นธรรม โดยเฉพาะสำหรับลูกค้ารายย่อย แล้วการส่งเสริมให้เกิดผู้ประการทางการเงินในไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่เป็นขนาดใหญ่ อย่างเช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ประกอบการทางการเงินใหม่ๆ และในวันนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่เกิดการรวมพลังของชาวฟินเทคขึ้นในประเทศไทย และจะร่วมมือกันทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

วันนี้ขอใช้เวลาพูดถึง 3 หัวข้อสำคัญ หัวข้อแรก คือ ฟินเทคที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอยากเห็น หัวข้อที่ 2 คือ แนวทางการกำกับดูแลในเรื่องที่เกี่ยวกับฟินเทคของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะอย่างไรก็ดี ธปท. นอกจากจะมีหน้าที่ส่งเสริมนวัตกรรมแล้ว เราก็มีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และหัวข้อที่ 3 ขออนุญาตเล่าให้เพื่อนชาวฟินเทคได้ทราบว่าวันนี้ ธปท. กำลังทำเรื่องอะไรอยู่บ้างที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจที่เรียกว่าฟินเทค

ในเรื่องแรกคือ ฟินเทคที่ ธปท. อยากเห็น หรือมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าท่านดูแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 ที่ผมได้เรียนไปเมื่อสักครู่หัวข้อสำคัญมากเรื่องหนึ่งในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 ก็คือเรื่องการส่งเสริม Digitization ของระบบการเงินไทย

เราเห็นความสำคัญว่าต้นทุนของระบบการเงินไทยจะลดลงได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้บริการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์หรือมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการใช้บริการทางการเงินหรือการให้บริการทางการเงิน

การบริการทางเงิน ถ้าประชาชนจะเข้าถึงได้เท่าทันกับการแข่งขันที่เกิดขึ้นในโลกก็หนีไม่พ้นที่บริการทางการเงินจะต้องเป็นลักษณะที่เป็น any where-any time-any devices รวดเร็ว เข้าถึงได้ตลอดเวลา มีช่องทางการให้บริการได้อย่างทั่วถึง และที่สำคัญ ต้องเป็นการแข่งขันที่ทำให้เกิดราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม

ต้นทุนจะลดลงได้หนีไม่พ้นเรื่องเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญมาก และไม่ใช่เป็นเพียงแค่เทคโนโลยีทางด้านหน้าบ้านแค่นั้น เทคโนโลยีทางหลังบ้านของผู้ให้บริการทางการเงินวันนี้เป็นต้นทุนที่สูงมาก นอกจากนี้ ถ้าเราจะก้าวไปสู่ดิจิทัลอีโคโนมีได้อย่างจริงจัง เรื่องของฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าจะมีความสำคัญมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย

เพราะฉะนั้น หนีไม่พ้นเลยว่าระบบการเงินไทยต้องเอื้อเศรษฐกิจไทยจึงจะแข่งขันได้ ต้องมีต้นทุนที่ถูกลง และต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเรียกฮาร์ดอินฟราสตรักเจอร์ หรืออินฟราสตรักเจอร์ใหม่ๆ อีกเรื่องของ Big Data

ดังนั้น คำว่าฟินเทคเป็นคำใหญ่มากอย่างที่เราทราบกัน ถ้าดูรายชื่อผู้ประกอบการที่มาร่วมวันนี้ก็จะเห็นว่ามีความหลากหลายอยู่ในหลายอุตสาหกรรม

ฟินเทคที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มต้นก็คือในเรื่องของระบบการชำระเงิน หากเราดูธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคทั่วโลก พบว่าธุรกรรมที่เกี่ยวกับระบบการชำระเงินเป็นธุรกรรมส่วนใหญ่ที่ฟินเทคทั่วโลกให้ความสนใจ

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มาภาพ : CaF
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มาภาพ : CaF

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเริ่มต้นผลักดันโครงการที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนต์มากขึ้นและเป็นโครงการอิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนต์ที่พยายามจะเข้าถึงผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการที่เป็นรายย่อย เมื่อก่อนถ้าสังเกตดูว่าโครงการที่เกี่ยวกับระบบการชำระเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเน้นเรื่องของหลังบ้าน เรื่องระบบที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบาทเน็ตหรือระบบเคลียริ่งเช็ค

วันนี้เราได้พยายามที่จะส่งเสริมระบบที่เข้าถึงผู้ใช้บริการรายย่อยมากขึ้น อย่างเช่น กรณีของพร้อมเพย์หรือเรื่องของเดบิตการ์ดที่อาจจะได้ทราบกัน

แต่ระบบการชำระเงินไม่ใช่แค่เพียงสิ่งเดียวที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอยากเห็นฟินเทคมีบทบาทมากขึ้น ในเรื่องของการเข้าถึงบริการทางด้านสินเชื่อก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน วันนี้ประชาชนไทยจำนวนไม่น้อยและธุรกิจไทยหลายประเทศยังมีปัญหาในการเข้าถึงบริการทางด้านสินเชื่อที่มีคุณภาพด้วยราคาที่เป็นธรรม เราอยากเห็นฟินเทคเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเรื่องของการเข้าถึงบริการทางด้านสินเชื่อ

แต่ก็อยากให้เป็นสินเชื่อที่ไม่ได้ไปซ้ำเติมหรือไปเพิ่มปัญหาที่มีอยู่ เช่น ในเรื่องของการกระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น อันนี้เป็นเรื่องที่อาจจะต้องระมัดระวังเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เรื่องของการลงทุน การออมก็จะเป็นจุดสำคัญ ซึ่งคุณกรณ์ได้พูดถึงเมื่อสักครู่ว่าดอกเบี้ยในระบบการเงินโลกก็คงจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน การที่จะทำให้ผู้ออมผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น หนีไม่พ้นว่าเราต้องมาลดต้นทุนของการให้บริการทางการเงิน ถ้าเราสามารถลดต้นทุนไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ distribution fee หรือ marketing fee ได้ จะทำให้ประชนได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยคงจะต่ำกับเราไปอีกนาน

ต้นทุนการประกอบการของสถาบันการเงินก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เรื่องระบบหลังบ้าน ระบบการให้บริการของสถาบันการเงินที่จะทำให้เข้าถึงประชาชน ทั้งประชาชนที่อยู่ในเมืองและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ปีนี้เป็นปีแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับคำขออนุญาตปิดสาขาธนาคารพาณิชย์มากกว่าขออนุญาตเปิดสาขา อันนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสถาบันการเงินที่พยายามจะลดต้นทุนการให้บริการ และแน่นอน เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

การบริหารความเสี่ยงก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่เราคิดว่าฟินเทคจะเข้ามามีบทบาทมาก ถ้าเราสามารถมีระบบการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ ข้อมูลรายธุรกรรม หรือที่เรียกว่าบิ๊กดาต้าเข้ามามีบทบาท ก็จะช่วยทำให้สามารถติดตามพฤติกรรมลูกค้าได้ใกล้ชิดมากขึ้นและมีลักษณะที่เป็นพลวัตมากขึ้น เรื่องเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนของการเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้าลดลงได้

และอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเวลาที่เราพูดถึงเรื่องฟินเท็ค ที่ ธปท. อยากเห็นคือเรื่องของการเพิ่มความรู้ความเข้าใจทางด้านการเงิน การวางแผนทางการเงิน ความรู้ความเข้าใจในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือ financial literacy เพราะว่าทางเทคโนโลยีจะพร้อมแค่ไหนก็ตาม ถ้าประชาชนผู้ใช้บริการไม่พร้อมใช้ ก็ไม่มีทางที่เราจะบรรลุวัตถุประสงค์ 4 ข้อที่ท่านรัฐมนตรีกรณ์ได้พูดถึงตั้งแต่ต้น

ดังนั้น ความคาดหวังของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องที่เกี่ยวกับฟินเทค เราพร้อมที่จะสนับสนุนให้ฟินเทคของไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการมีความน่าเชื่อถือ การได้รับการยอมรับจากประชาชน มีระบบที่ปลอดภัยและมั่นคง เราหวังว่าฟินเทคจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเติมเต็มช่องว่างของการให้บริการทางการเงินในประเทศไทยด้วยบริการที่มีคุณภาพ ด้วยราคาที่ถูกลง และตรงกับความต้องการของมาร์เก็ตเซ็กเมนต์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่รัฐเรียกว่าเป็นนีชเซกเมนต์ (niche segment) ซึ่งสถาบันการเงินขนาดใหญ่อาจจะมองข้ามไปหรือให้บริการได้ไม่ทั่วถึง

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ฟินเทคเข้ามาเพิ่มความเสี่ยงเชิงระบบให้กับระบบสถาบันการเงินหรือระบบเศรษฐกิจจนเป็นปัญหาได้เหมือนกับในบางประเทศที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น นอกจากเราจะส่งเสริมเรื่องของการใช้ฟินเทคให้มีความมั่นคงปลอดภัยแล้ว เรื่องของความคุ้มครองผู้บริโภค การคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภค ก็จะเป็นเรื่องสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานทางการหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ อาจจะมี 3-4 มิติในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคที่ ธปท. คาดหวัง

อย่างแรก คือ การที่ผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ สอง ผู้ใช้บริการต้องสามารถเลือกซื้อหรือเลือกใช้บริการได้ตามความต้องการของตนเอง สาม เมื่อมีปัญหาต้องมีกระบวนการดูแลและแก้ไข รับข้อร้องเรียนจากผู้ใช้บริการได้ และถ้าไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องได้รับค่าชดเชยหรือการดูแลอย่างสมควร และท้ายที่สุด คือ ต้องรักษาข้อมูลความลับของผู้ใช้บริการ ต้องสอดคล้องกับธรรมาภิบาลของผู้ให้บริการฟินเทคต่างๆ

นี่เป็นเรื่องที่สำคัญในมิติที่ 1 ในเรื่องของความคาดหวังของ ธปท. ที่อยากเห็นในฟินเทค

มิติที่ 2 อาจจะขออนุญาติใช้เวลาเล่าให้เพื่อนๆ ฟินเทคได้รับทราบ คือ มุมมองหรือแนวทางในการกำกับดูแลฟินเทคที่ ธปท. กำลังคิดอยู่ในวันนี้ เราเหมือนกับหน่วยงานกำกับดูแลหลายๆ ประเทศที่ฟินเทคเป็นเรื่องใหม่และเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว เพราะฉะนั้น กลไกหรือกรอบการกำกับดูแลต้องมีลักษณะที่เป็นพลวัต เราให้ความสำคัญใน 3 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก อย่างที่ผมได้เรียนไป คือเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องที่ 2 คือการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ขึ้น กฎเกณฑ์การกำกับดูแลจะต้องไม่เป็นอุปสรรคจนทำให้นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่ได้ และประเด็นที่ 3 จะต้องให้แน่ใจว่าไม่สร้างปัญหาให้กับเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม

เพราะฉะนั้น แนวคิดที่คิดว่าจะเป็นแนวคิดหลักที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ เป็นแนวคิดที่เรียกว่าแนวคิด regulatory sandbox อันนี้เราจะประยุกต์ใช้กะบะทราย เชื่อว่าหลายท่านคุ้นเคยกับแนวคิดเรื่อง regulatory sandbox ค่อนข้างดี

มี 2-3 ประเทศได้เริ่มต้นไปก้าวหน้าไปกว่าที่เรากำลังทำ แนวคิดเรื่อง Regulatory sandbox เราคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อสถาบันการเงิน ซึ่งวันนี้สถาบันการเงินเป็นฟินเทคขนาดใหญ่ของประเทศ แต่สถาบันการเงินก็อาจจะต้องการเพิ่มช่องทางเสนอบริการใหม่ใหม่ที่หลากหลาย ดังนั้น จึงเป็นกลไกที่ทดลองพวกเทคโนโลยีใหม่หรือเทคโนโลยีการทำธุรกรรมใหม่ๆ หรือทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ เช่น บริษัทฟินเทคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นสำหรับลูกค้าบางกลุ่ม

กฎเกณฑ์กติกาเดิมของเราอาจจะมีลักษณะ one size fit all คือเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้กับทุกเรื่องเหมือนกันหมด ไม่ค่อยได้มีกฎเกณฑ์ที่จะสามารถผ่อนคลายหรือว่ายกเว้นเงื่อนไขบางอย่างที่จะสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ได้

ดังนั้น เวลาที่เราจะทำเรื่อง regulatory sandbox มาใช้ก็จะสามารถที่จะช่วยตอบโจทย์แบบนี้ได้

นอกจากสถาบันการเงินทุกวันนี้ กลุ่มฟินเทคที่เป็นสตาร์ทอัปผมก็เชื่อว่าทุกท่านคาดหวังว่าท่านจะโตขึ้นและจะสามารถที่จะให้บริการได้ในวงกว้าง โตขึ้นจากสตาร์ทอัปไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศและแข่งขันได้ในระบบการเงินโลกด้วย ซึ่งหนีไม่พ้นว่าเมื่อท่านโตขึ้นท่านจะต้องถูกกำกับดูแลมากขึ้นให้เหมาะสมกับขนาดของธุรกิจ ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในระบบการเงินและท่านก็อยากจะรู้อยากจะเข้าใจกรอบกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ

การที่เราทำ regulatory sandbox ก็จะเป็นช่องทางที่จะทำให้ท่านสามารถค่อยๆ ขยายธุรกิจของท่านสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ต่างๆ และมีโอกาสที่ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ท่านจะต้องเผชิญเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น

ท้ายที่สุด ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เราเรียกว่าเป็นคนที่มีความรู้จำกัดในเรื่องนี้และเป็นคนที่เข้ามาใหม่ในธุรกิจของฟินเทค เราก็อยากที่จะใช้ regulatory sandbox เป็นโอกาสที่จะเรียนรู้เข้าใจในการทำธุรกิจของฟินเทคกลุ่มใหม่ๆ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านอดีตรัฐมนตรีกรณ์จะอนุญาตให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกชมรมฟินเทคด้วย เราจะได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้และเข้าใจกันมากขึ้น

ก็หวังว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องของฟินเทค ลดภาระด้านการกำกับและพวกที่เป็นกำแพงข้อจำกัดของการกำกับได้

ที่มาภาพ : CaF
ที่มาภาพ : CaF

ท้ายที่สุด จะขออนุญาตเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มทำ ซึ่งเราเชื่อว่าจะเอื้อต่อการทำธุรกิจฟินเทคใหม่มากขึ้น

อันแรกเลยก็คือ เรื่องของข้อจำกัดที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินหลายอย่างของประเทศไทยที่ไม่ได้พัฒนาเท่าทันที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกรรมทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเริ่มต้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางด้านที่เกี่ยวกับระบบการชำระเงิน หลายๆ ท่านอาจจะได้ยินว่าวันนี้เราเสนอกฎหมายใหม่คือ กม.ระบบการชำระเงิน หรือ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน วันนี้ผมเชื่อว่าปัญหาอันหนึ่งที่ทุกท่านปวดหัวอยู่เวลาจะเริ่มธุรกิจเกี่ยวกับระบบการชำระเงินก็คือมีกฎหมายที่หลากหลายเป็นเบี้ยหัวแตกจำนวนมาก ตั้งแต่ประกาศคณะปฏิวัติปี 2558 ยังไม่มีมาตรา 44 มีไปจนถึงพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน มีประกาศกระทรวงการคลัง มีพระราชกฤษฎีกาของกระทรวงไอซีที และมีความลักลั่นอยู่ในกรอบกฎหมายต่างๆ รวมทั้งมีช่องโหว่ของกฎหมายอีกด้วย ทำให้มาตรการเรื่องการกำกับดูแลระบบการชำระเงินอาจจะยังไม่ได้มาตรฐานสากล

เพราะฉะนั้น เรื่องแรกที่สำคัญและได้นำเสนอกรอบกฎหมายระบบการชำระเงิน ซึ่งวันนี้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคิดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในไม่ช้า

วัตถุประสงค์สำคัญอันหนึ่งของกฎหมายระบบการชำระเงินคือ มุ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทำกรอบการกำกับดูแลที่จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมระบบการชำระเงินเกิดขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ 1

เรื่องที่ 2 เราได้เริ่มทำกระบวนการที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ KYC หรือ Know Your Customer เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ในการที่จะให้บริการทางการเงิน และไม่ได้เป็นมาตรฐานในเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นมาตรฐานระดับโลกถ้าท่านจะออกไปแข่งขันในเรื่องทำธุรกรรมทางการเงิน

อิเล็กทรอนิกส์ KYC ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศแนวทางสนับสนุนสำหรับสถาบันการเงิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันนี้ก็จะทำให้มีการปรับปรุงวิธีการตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงข้อมูลอย่างเช่นของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ ทำให้ใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในเรื่องที่ 3 ที่เราทำ เราพยามผลักดันให้เกิดมาตรฐานกลางเกี่ยวกับการชำระเงินขึ้น ซึ่งในประเทศไทยหลายเรื่องยังไม่มีมาตรฐานกลางที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น เรื่องของคิวอาร์โค้ดที่ใช้ในเรื่องของธุรกิจการเงิน คาดว่าจะเสร็จภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ ก็จะมีมาตรฐานคิวอาร์โค้ดที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการทางการเงินเกิดขึ้นในประเทศไทย

ท้ายที่สุด ก็จะให้มีโครงสร้างพื้นฐานกลางที่ทันสมัยและสามารถต่อยอดบริการทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นกับสถาบันการเงินด้วยตัวเองหรือกับผู้ให้บริการที่เรียกว่า non-bank เช่น วันนี้เราทำงานกับผู้ให้บริการที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ money บริษัทที่เป็นบริษัทเทเลคอม ทำให้เกิดระบบการชำระเงินใหม่เกิดขึ้น

หรือแม้กระทั่งบริการอย่างเช่นระบบพร้อมเพย์ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนมากในวันนี้เป็นระบบกลางที่จะต่อยอดไปได้เยอะมาก เพราะว่าระบบเดิม อย่างที่ท่านทราบกัน หลังบ้านจะเป็นเหมือนกับเส้นสปาเกตตี้อยู่ และจะพัฒนาต่อยอดก็ยากมาก ทำอะไรก็จะมีความซ้ำซ้อนอยู่ ดังนั้น เราพยายามจะผลักดันให้เกิดระบบกลางขึ้น เพื่อที่จะทำให้มีแอปพลิเคชันใหม่ๆ ขึ้นมาต่อยอดได้

อีกเรื่องหนึ่งที่เราได้ทำไปแล้วและอยู่ในระหว่างกระบวนการ อันนี้ต้องขอบคุณหลายๆ ท่านในห้องนี้ที่ให้ข้อแนะนำ คือเรื่องของการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร กฎหมายของ NCB ที่ทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอย่างเช่น p-p platform สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกของเครดิตบูโรได้ อันนี้เราได้นำเสนอคณะกรรมการข้อมูลเครดิตและมีมติอนุมัติ และผมก็ได้ลงนามหนังสือขอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้ทางกระทรวงการคลังแล้ว กำลังอยู่ในกระบวนการ ดังนั้น จะมีหลายประเด็นที่เราได้ทำ

อีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าคงเป็นที่สนใจของหลายๆ ท่าน เช่นเดียวกัน คือ เมื่อก่อนธนาคารแห่งประเทศไทยจะคุมค่อนข้างเข้ม เวลาที่สถาบันการเงินมาตั้งพวกเวนเจอร์แคปปิตอลหรือ private equity ไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ เราเพิ่งประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และอนุมัติให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การลงทุนของสถาบันการเงินในธุรกิจที่เป็นฟินเทคหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน เรียกว่ามีการผ่อนคลายค่อนข้างมากแล้วจะมีผลในไตรมาส 4 ของปีนี้ ขณะนี้อยู่ในเรื่องของการแก้ไขข้อบังคับต่างๆ ที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น โดยสรุปผมคิดว่าเป็นที่น่ายินดีอย่างมากที่ได้เกิดชมรมฟินเทคในวันนี้ขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทยยินดียิ่งที่เราจะเอาเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาฟินเทคของประเทศไทย เพราะอย่างที่เรียนว่าวัตถุประสงค์ 4 ข้อที่ท่านรัฐมนตรีกรณ์ได้กล่าวเป็นวัตถุประสงค์หลักของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดต้นทุนของการทำธุรกรรมทางการเงินให้กับคนไทย การให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างหลากหลายครบถ้วนมากขึ้น การที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในระบบการเงินที่โปร่งใส เป็นธรรม และเราก็หวังว่าจะมีผู้ประกอบการฟินเทคของประเทศไทยที่ก้าวไปเป็นผู้ประกอบการที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก