ThaiPublica > บล็อก > ศึกชิงทำเนียบขาว (1): เดิมพันสุดท้ายของ “ฮิลลารี” กับคู่ท้าชิงอย่าง “ทรัมป์”

ศึกชิงทำเนียบขาว (1): เดิมพันสุดท้ายของ “ฮิลลารี” กับคู่ท้าชิงอย่าง “ทรัมป์”

27 กรกฎาคม 2016


พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เล่าประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการ International Visitor Leadership Program (IVLP) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2559

บรรยากาศการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถพบเห็นได้ทั่วไป นี่คือป้ายหาเสียงของเบอร์นี่ แซนเดอร์ส ผู้ว่าการรัฐเวอร์มอนต์ หนึ่งในผู้ชิงสมัครชิงสิทธิการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ลงชิงเก้าอีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45
บรรยากาศการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถพบเห็นได้ทั่วไป นี่คือป้ายหาเสียงของเบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้ว่าการรัฐเวอร์มอนต์ หนึ่งในผู้ชิงสมัครชิงสิทธิการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45

ระยะทาง กว่า 13,000 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางด้วยเครื่องบินนานกว่า 20 ชั่วโมง คือ “ความห่าง” ทางกายภาพ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา

แต่ถ้าเป็น “ความห่าง” ในเรื่องที่เป็นนามธรรมอย่างสิทธิเสรีภาพและบรรยากาศทางการเมืองล่ะ ในยุคที่รัฐบาลทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครองเมืองนี้ ทั้ง 2 ประเทศ มีความแตกต่างและห่างเหิน กันมากน้อยเพียงใด?

ในเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสบินไปเหยียบดินแดนแห่งเสรีภาพ เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังเข้มข้น แม้จะยังอยู่ในขั้นการชิงสิทธิ์การเป็นตัวแทนของ 2 พรรคการเมืองขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า “การเลือกตั้งขั้นต้น” ยังไม่ใช่ “การเลือกตั้งทั่วไป” ที่ผู้ชนะจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ตาม

ตลอด 10 วันได้พูดคุยกับแหล่งข่าว ราว 20-30 คน ตั้งแต่นักการเมือง นักวิชาการ อาจารย์ สื่อมวลชน อาสาสมัคร ชาวบ้านธรรมดา ฯลฯ ก็พยายามที่จะเชื่อมโยงและเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย

ผมได้เจออะไรมาบ้างระหว่างเดินทางไปดู “ศึกชิงทำเนียบขาว” ครั้งนี้

เดิมพันสุดท้ายของ “ฮิลลารี คลินตัน”

หลังโฆษกบนเวทีประกาศชื่อ เธอก็เดินขึ้นมาเปิดตัวต่อสาธารณชนด้วยท่วงท่ามาดมั่น ก่อนรับไมโครโฟนแล้วเริ่มต้นพูดด้วยน้ำเสียงอันทรงพลัง ลีลาการยกมือชี้นิ้วและวาดมือไปทางซ้ายทีทางขวาทีดึงความสนใจของผู้คนไปที่จุดเดียว เธอหมุนตัวไปรอบๆ เพื่อสบตากับคนนับพันที่มาเฝ้ารอตั้งแต่หัวค่ำ

ก่อนจะหยุดยิ้มแบบนางสิงห์ เมื่อเหลือบไปเห็นป้ายที่หนึ่งในผู้สนับสนุนของเธอชูอยู่เบื้องหลัง ว่านี่แหละ คือ Madam President …แล้วก็หันมาพูดต่อไป

หลังการปราศรัยที่ใช้เวลาราว 15 นาทีจบลง เสียงปรบมือและร้องเรียกชื่อเธอก็ดังกึงก้องสนามหญ้าของศาลาว่าการเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนีย จนอาคารอายุราวสองร้อยปีนี้สั่นไหว ก่อนที่ความวุ่นวายจะปรากฏขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้อยู่บนเวทีเตรียมเดินทางกลับ เพราะผู้คนหลายร้อยต่างกรูเข้าไปจะขอใกล้ชิดกับเธอให้ได้มากที่สุด

นั่นคือเหตุการณ์ค่ำวันที่ 25 เมษายน 2559 ซึ่งเราเข้าไปดู “ฮิลลารี คลินตัน” (Hillary Clinton) ปราศรัยหาเสียงเป็นครั้งสุดท้าย  ก่อนศึกใหญ่ Super Tuesday ที่จะมีขึ้นในวันถัดไป ท่ามกลางผู้ฟังกว่า 1,200 คน
[หมายเหตุ: Super Tuesday หมายถึงการเลือกตั้งขั้นต้นที่จะมีขึ้นพร้อมกันวันเดียวในหลายๆ รัฐ โดยมีกำหนดหย่อนบัตรวันอังคาร มีความสำคัญตรงที่มีคะแนนเสียงให้เก็บเป็นกอบเป็นกำ ในแต่ละปีเลือกตั้ง จะมีจำนวน Super Tuesday ไม่เท่ากัน โดยปีนี้มีจำนวน Super Tuesday ถึง 4 ครั้ง และ Super Saturday อีก 1 ครั้ง]

ในช่วงเวลาดังกล่าว การเลือกตั้งขั้นต้นกำลังอยู่ในช่วงที่เข้าด้ายเข้าเข็มเป็นอย่างยิ่ง ชาวอเมริกันตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้มาก เปิดรายการข่าวไปช่องไหนๆ ก็จะเจอรายการพิเศษเกี่ยวกับ U.S. Presidential Elections 2016 ซึ่งต่างกับบรรยากาศก่อนวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทย ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ราวฟ้ากับดิน

– ข้างพรรคเดโมแครต แม้ฮิลลารีจะมีคะแนนนำ แต่ “เบอร์นี แซนเดอร์ส” (Bernie Sanders) ผู้ว่าการรัฐเวอร์มอนต์ ก็ไล่ตามอย่างไม่ลดละ (ก่อนที่แซนเดอร์สจะยอมจำนน เมื่อพ่ายการเลือกตั้งในรัฐใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนีย ในอีก 2 เดือนถัดมา)

– ข้างพรรครีพับลิกัน 2 ผู้สมัครที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ อย่าง “เท็ด ครูซ” (Ted Cruz) ส.ว.รัฐเท็กซัส และ “จอห์น เคซิก” (John Kasick) ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ ประกาศจับมือกันรุมกินโต๊ะผู้นำอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” (Donald Trump) มหาเศรษฐี ที่คะแนนกำลังนำลิ่ว (ก่อนทั้งคู่จะประกาศถอนตัว หลังพ่าย Super Tuesday ครั้งนั้นอย่างยับเยิน)

ฮิลลารี คลินตัน ทุ่มให้กับการลงสมัครประธานาธิบดีครั้งนี้อย่างสุดตัว อาจเพราะรู้ดีว่า นับแต่เข้ามาโลดแล่นในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ กว่า 40 ปี ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เป็น ส.ว.รัฐนิวยอร์ก ไปจนเป็น รมว.ต่างประเทศ นี่คือโอกาสที่ดีที่สุด และจะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของชีวิต
ฮิลลารี คลินตัน ทุ่มให้กับการลงสมัครประธานาธิบดีครั้งนี้อย่างสุดตัว อาจเพราะรู้ดีว่า นับแต่เข้ามาโลดแล่นในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ กว่า 40 ปี ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เป็น ส.ว.รัฐนิวยอร์ก ไปจนเป็น รมว.ต่างประเทศ …นี่คือโอกาสที่ดีที่สุด และจะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของชีวิต?

การกลับมาแก้ตัวของฮิลลารี หลังแพ้เลือกตั้งขั้นต้นให้กับ ส.ว.หนุ่มที่มาจากรัฐบ้านเกิดของเธอเองอย่างรัฐอิลลินอยส์ อย่าง “บารัก โอบามา” (Barack Obama) เมื่อปี ค.ศ. 2008 ชนิดพลิกความคาดหมาย สื่ออเมริกันหลายสำนักระบุตรงกันว่า ฮิลลารีเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2016 เป็นอย่างดี

นักข่าวไทยที่อาศัยและทำงานอยู่ในสหรัฐฯ มานับสิบปี ระบุว่า ฮิลลารีได้นำบทเรียนจากความพ่ายแพ้เมื่อ 8 ปีก่อน มาใช้ในการเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างละเอียดรอบคอบและเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งใช้วิธีหาเสียงแบบดั้งเดิม นั่นคือ ออกหนังสือ Hard Choices (วางแผงปี ค.ศ. 2014 เล่าเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งสำคัญ สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ของฮิลลารี) แล้วใช้โอกาสเดินสายโปรโมตหนังสือหาเสียงไปในตัว ไม่รวมถึงการส่งทีมงานไปเคาะประตูบ้านในฐานเสียงที่เคยเป็นจุดอ่อนก่อนเลือกตั้งขั้นต้นนานนับปี และเมื่อการเลือกตั้งขั้นต้นเริ่มขึ้น เธอก็เน้นหาเสียงโดยพูดถึงนโยบายเป็นหลักแม้คู่แข่งจะพยายามดึงเข้าสู่เกมสาดโคลนอย่างไรก็ตาม

“ทั้งหมดทั้งมวล ทำให้ในช่วงต้นๆ ผลโพลคะแนนนิยมของเธอจะออกมาค่อนข้างดี หลายครั้งที่มีคะแนนนิยมห่างจากคู่แข่งถึง 2 หลัก” นักข่าวไทยรายนี้ระบุ

เหตุที่ฮิลลารีต้องลงทุนทำขนาดนี้ อาจเพราะมีการประเมินว่า ถ้าแพ้การเลือกตั้งอีก จะไม่มีโอกาสครั้งที่สาม ไม่มี Third time lucky สำหรับเธอ เพราะในปัจจุบัน ฮิลลารีก็มีอายุถึง 68 ปี 9 เดือน เกือบเท่ากับ “โรนัลด์ เรแกน” (Ronald Reagan) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ในวันเข้ารับตำแหน่ง คือ 69 ปี 11 เดือน (อายุเฉลี่ยประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเข้ารับตำแหน่ง คือ 54 ปี 11 เดือน)

และหากคราวนี้ต้องพลาดไปอีก ไม่เพียงภาพ “ผู้แพ้” จะติดตัวเธอไปตลอด ถ้าต้องรออีก 4 ปีข้างหน้า คนจำนวนไม่น้อยคงรู้สึกว่าเธอแก่เกินแกงไปเสียแล้ว

ด้วยการเตรียมการมาอย่างดี ทำให้ศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนนี้ เธอถูกยกให้เป็น “ตัวเต็ง” ชนิดว่านอนมาอีกครั้ง

แต่นั่นก็เป็นเหตุการณ์ก่อนที่นักธุรกิจผู้มีทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ คนนอกคอกของแวดวงการเมืองอเมริกัน อย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” จะปรากฏตัว !
[หมายเหตุ : กำหนดการประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมเครต (Democratic National Convention 2016) เพื่อเลือก “ฮิลลารี คลินตัน” เป็นผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรคอย่างเป็นทางการ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 กรกฎาคม 2559 ที่ Wells Fargo Center สนามกีฬาของทีมบาสเก็ตบอลและทีมฮอกกี้ประจำเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนีย นี่เอง]

ทำเนียบขาวในวันฝนพรำ - ปฏิทินการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกำหนดการค่อนข้างแน่นอน วันเลือกตั้งทั่วไปจะอยู่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของปีเลือกตั้ง และผู้ชนะจะเข้าร่วมพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดไป ก่อนจะเริ่มทำงานโดยทันทีในวันรุ่งนี้
ทำเนียบขาวในวันฝนพรำ – ปฏิทินการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกำหนดการค่อนข้างแน่นอน วันเลือกตั้งทั่วไปจะอยู่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของปีเลือกตั้ง (คือทุก 4 ปี/ครั้ง) และผู้ชนะจะเข้าร่วมพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดไป ก่อนจะเริ่มทำงานโดยทันที ในวันรุ่งขึ้น …ว่าแต่ในวันที่ 21 มกราคม 2560 ใครจะได้เข้ามานั่งทำงานในอาคารหลังนี้กันแน่?

การแข่งขันครั้งล่าสุดของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

กว่าครึ่งเดือนที่เราอยู่ในสหรัฐฯ แหล่งข่าวชาวอเมริกันหลายคนที่ได้พบกับพวกเราจะชิงเอ่ยถึง “โดนัลด์ ทรัมป์” ก่อนที่เราจะได้อ้าปากถามเสียอีก ด้วยมุมมองที่แตกต่างหลากหลายกันไป

สมาชิกพรรคเดโมแครตบางคนบอกว่า หากทรัมป์ได้เป็นผู้นำของประเทศนี้จริงน่าจะสร้างหายนะให้กับสหรัฐฯ อย่างที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง

สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนบอกว่า ถ้าทรัมป์ได้เป็นตัวแทนพรรคจริง อาจจะหันไปเลือกผู้สมัครจากพรรคคู่แข่งแทน

ฝรั่งที่เคยมาอยู่เมืองไทยกว่า 30 ปี เปรียบเทียบทรัมป์กับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่ง ซึ่งมีพื้นเพคล้ายๆ กัน คือเป็นมหาเศรษฐีที่มาลงเล่นการเมือง ปากไวพูดอะไรก่อนที่จะคิด และนิยมการใช้อำนาจสั่งการเด็ดขาดฉบับไว

แต่คนไทยที่ไปอยู่สหรัฐฯ นานหลายสิบปีอย่าง “นิตยา มาพึ่งพงศ์” หัวหน้าแผนกภาษาไทย ของสถานีวิทยุวีโอเอ (Voice of America) กลับเชื่อว่า เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งทั่วไปจริง ทรัมป์จะต้องเปลี่ยนท่าทีและนโยบายของตัวเองจากที่เคยใช้หาเสียงในการเลือกตั้งภายในของพรรครีพับลิกัน

“เพราะอย่าลืมว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศสหรัฐฯ ทั้งหมด มีความหลากหลายมาก เห็นได้จากโครงสร้างประชากรกว่า 323 ล้านคน นอกจากคนผิวขาวก็ยังมีคนละติน/ฮิสแพนิกถึง 17.4% คนผิวดำ 12.6% และคนเอเชีย อีก 4.7%” นิตยาให้ความเห็น

ในขณะที่มีคนจำนวนไม่น้อยไม่ชอบทรัมป์ เพราะมองว่าเป็นพวกปากเสีย พูดอะไรไม่คิด และประกาศนโยบายไม่เข้าท่าอยู่หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะนโยบายสร้างรั้วป้องกันชายแดนประเทศสหรัฐฯ กับประเทศเม็กซิโก ที่จะให้รัฐบาลเม็กซิโกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงนโยบายส่งกลับผู้หลบหนีเข้าเมืองมาใช้แรงงานทั้งหมด ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะทำให้สังคมสหรัฐฯ เกิดวิกฤติขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง

แต่ก็มีอีกหลายๆ คนที่ชื่นชอบทรัมป์ เพราะมองว่า เขาเป็นผู้สมัครคนเดียวของพรรครีพับลิกันที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ที่สำคัญ คะแนนเสียงที่ทรัมป์ได้รับในการเลือกตั้งขั้นต้นถึง 14 ล้านเสียง เป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธ

“วิลเลียม กัลสตัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายภายในประเทศ การรณรงค์ทางการเมือง และการเลือกตั้ง จากองค์กรวิจัยอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงอย่างสถาบันบรูกกิง (Brooking Institute) ระบุว่า จุดแข็งของทรัมป์อยู่ที่การกล้าพูดในสิ่งที่ชาวอเมริกันทั่วไปอยากได้ยิน แต่นักการเมืองอเมริกันกลับไม่มีใครกล้าพูด ไม่ว่าจะเรื่องปัญหาผู้ก่อการร้าย ปัญหาแรงงานต่างชาติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในวอลล์สตรีท ฯลฯ

ความเห็นของนักวิจัยรายนี้ สอดคล้องกับนักข่าวจากองค์กรสื่อท้องถิ่นในรัฐนิวแฮมป์เชียร์รายหนึ่ง ที่ระบุว่า ตัวเต็งผู้สมัครเชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีทั้ง 2 พรรค มีบุคลิกที่เหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกัน ในขณะที่ฮิลลารี แม้จะมีข้อดีคือมีประสบการณ์การทำงานสูง แต่ถูกมองว่าเป็นคนเย็นชา เจ้าระเบียบ และมีความเป็นนักการเมืองสูง (ในความหมายเชิงลบ คือ พูดไม่ตรงกับที่ใจคิด) แต่ทรัมป์ถึงจะดูโผงผาง น่ารำคาญ และสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดความแตกแยก แต่บางคนก็มองว่าเป็นข้อดีคือพูดตรงกับใจ หลายคนถึงขั้นเปรียบเปรยว่า ก็ไม่ต่างจาก “คุณลุงขี้เมาพูดจาเสียงดัง” ที่หลายคนน่าจะเคยเจอในชีวิตจริง

“เหตุที่ทั้งแซนเดอร์สและทรัมป์สามารถยืนระยะสู้กับพวกนักการเมืองแท้ๆ ได้นานแบบพลิกความคาดหมาย เพราะทั้ง 2 คนถูกมองว่าเป็น outsider สังคมอเมริกันกำลังเบื่อนักการเมืองที่ดีแต่พูดแต่ไม่ทำอะไรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง” นักข่าวรายนี้วิเคราะห์

 

สารคดีเรื่อง The Making of Donald Trump ของสถานีโทรทัศน์ช่อง History Channel ได้คลี่เส้นทางชีวิตตลอด 70 ปีของมหาเศรษฐีรายนี้ ที่เคยพบกับทั้งความสำเร็จและล้มเหลว ไม่ว่าจะในฐานะเจ้าของโรงแรม กาสิโน สนามกอล์ฟ ทีมอเมริกันฟุตบอล รายการเรียลิตี้โชว์ ไปจนถึงการประกวดนางงามจักรวาล แต่ไม่ว่าจะล้มมากี่ครั้ง สิ่งทรัมป์เป็นมาตลอดก็คือเขาไม่เคยหน่ายการแข่งขัน

ในสารคดีดังกล่าว ทรัมป์ไม่ปิดปังความต้องการจะลงเล่นการเมือง และเคยเข้าไปเสนอตัวเป็นผู้สมัครชิงประธานาธิบดีให้กับพรรคปฏิรูป (Reform Party) ในปี ค.ศ. 2000 ก่อนจะขอถอนตัวเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในพรรค

ย้อนกลับมาในปัจจุบัน แม้จะเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในพรรครีพับลิกันเช่นกัน ต่อการเสนอชื่อทรัมป์เป็นผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี “ตัวจริง” ของพรรค ไม่ใช่แค่ “ว่าที่” เห็นได้จากการที่แกนนำพรรคหลายคนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรครีพับลิกัน (Republican National Convention 2016) ที่มีขึ้นที่ Quicken Loans Arena สนามเหย้าของทีมแชมป์บาสเกตบอลเอ็นบีเอปีล่าสุด Cleveland Cavaliers ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ระหว่างวันที่ 18-21 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา

แต่ทรัมป์ก็ยังยืนยันจะเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นี้ต่อไป

เพราะเขาชนะการเลือกตั้งขั้นต้นมาแล้ว และเขาไม่เคยหน่ายการแข่งขัน

การแข่งขันจะยังไม่ยุติ เมื่อไม่รู้ผลแพ้ชนะ!

(ศึกชิงทำเนียบขาว ตอนที่ 2 ว่าด้วยระบบเลือกอเมริกาและจริงไหมที่สื่ออเมริกันเลือกข้าง)