ThaiPublica > เกาะกระแส > Thailand SDGs Forum#2: แนวโน้ม ความเสี่ยง ประโยชน์ทางธุรกิจ ต้องมาตรฐานโลกแต่บริบทไทยๆ

Thailand SDGs Forum#2: แนวโน้ม ความเสี่ยง ประโยชน์ทางธุรกิจ ต้องมาตรฐานโลกแต่บริบทไทยๆ

31 กรกฎาคม 2016


เนื่องด้วยมูลนิธิมั่นพัฒนา และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ตระหนักถึงการพัฒนาประเทศบนเส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย โดยภายหลังที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายใต้ทิศทางการพัฒนาใหม่ จึงได้ริเริ่มโครงการ Thailand SDGs Forum ขึ้น เพื่อสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนความคิดและหาทางออกร่วมกันของการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาในไทย โดยมีเป้าหมายที่จะรวบรวมแนวคิดแนวปฏิบัติในระดับองค์กรและรวบรวมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในไทย โดยทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม อันจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในไทย

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงาน “Thailand SDGs Forum#2: Business 2030: Prepare for Your Future” ในงานนี้ มีวงเสวนาในหัวข้อ "SDGs & Sustainable Business Trend of 2016" ซึ่งมีวิทยากรดังนี้ 1. นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด 2. นายนัท วานิชยางกูร  Partner, ERM และ ดร.ภาวิญญ์ เถลิงศรี Project Manager Inclusive Green Growth and Sustainable Development, United Nation Development Programme โดยมีนายธีระ ธัญญอนันต์ผล เป็นผู้ดำเนินรายการ (ภาพจากขวาไปซ้าย)
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงาน “Thailand SDGs Forum#2: Business 2030: Prepare for Your Future” ในงานนี้ มีวงเสวนาในหัวข้อ “SDGs & Sustainable Business Trend of 2016” ซึ่งมีวิทยากรดังนี้ 1. นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด 2. นายนัท วานิชยางกูร Partner, ERM และ ดร.ภาวิญญ์ เถลิงศรี Project Manager Inclusive Green Growth and Sustainable Development, United Nation Development Programme โดยมีนายธีระ ธัญญอนันต์ผล เป็นผู้ดำเนินรายการ (ภาพจากขวาไปซ้าย)

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงาน “Thailand SDGs Forum#2: Business 2030: Prepare for Your Future” ในงานนี้ มีวงเสวนาในหัวข้อ “SDGs & Sustainable Business Trend of 2016” ซึ่งมีวิทยากรดังนี้ 1. นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด 2. นายนัท วานิชยางกูร Partner, ERM และ ดร.ภาวิญญ์ เถลิงศรี Project Manager Inclusive Green Growth and Sustainable Development, United Nation Development Programme โดยมีนายธีระ ธัญญอนันต์ผล เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ผู้ดำเนินรายการ: ขอเริ่มที่ ดร.ภาวิญญ์ ว่าเรื่อง SDGs ในมุมมองทางสหประชาชาติ ทำไมลำพังแค่รัฐไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่ภาครัฐมีศักยภาพสูง ภาคธุรกิจและภาคเอกชนจึงต้องมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.ภาวิญญ์: เราได้ฟังแล้วว่าภาครัฐกำลังจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน แล้วภาคเอกชนเองก็มีวิสัยทัศน์ออกมาว่าจะทำอะไรต่ออีกใน 20-30 ปีข้างหน้า

ผมขอย้อนกลับไปสักนิดหนึ่งว่า จริงๆ แล้วที่เรามาคุยกันในวันนี้ พวกเราเข้าใจหรือเปล่าว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนคืออะไร จึงขอย้อนกลับไปว่าในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1980-90 มีประเด็นพูดกันเยอะมากว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนคืออะไร มีเรื่องของสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืนคือเรื่องของสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า ซึ่งหลายๆ ท่านอาจจะเข้าใจว่าเป็นประเด็นคู่ขนานกันมา

แต่จริงๆ แล้วทางสหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า “World Commission on Environment and Development” เพื่อมาตีความว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนคืออะไร

pp1

สรุปแล้วก็ออกมาว่า เป็นการพัฒนาเพื่อสนองต่อความต้องการในปัจจุบัน แต่อย่าไปลิดรอนความสามารถของชนรุ่นหลังที่เขาต้องการสนองความต้องการของเขาในอนาคตได้

อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นกรอบมากๆ ในแง่ของการดำเนินกิจกรรมอะไรก็ตาม ไม่ว่าในแง่ของปัจเจกบุคคล ในแง่ธุรกิจ ในแง่ภาคส่วนต่างๆ ว่ากรอบของเราที่เราทำอยู่ตรงนี้ เราอาจจะตั้งคำถามขึ้นได้ว่า สิ่งที่เราทำกำลังไปลิดรอนขีดความสามารถของชนรุ่นหลัง รุ่นหลาน รุ่นเหลน ของเราในอนาคตไหม

ตัวอย่างเช่น สมมติเราทำอะไรสักอย่างเพื่อค้าขาย แต่ไปกระทบกับเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสังคม แล้วเด็กรุ่นหลังที่เขาเกิดขึ้นมา มันไปเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนสังคม เขาอาจจะมีไอเดียต่างๆ ที่ดี แต่เขาไม่สามารถที่จะประกอบไอเดีย เพื่อสนองความต้องการของตนในอนาคตได้

นั่นเป็นเรื่องของคำนิยาม ซึ่งคำนิยามนี้ก็เป็นที่ยอมรับทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคมต่างๆ รวมถึงสหประชาชาติด้วย

ประเด็นความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของสิ่งแวดล้อม หลายๆ ท่านอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของป่าหรือเปล่า เป็นเรื่องของดิน น้ำ ทะเล จริงๆ จากภาพเป็นวงกลมที่คาบเกี่ยวกันอยู่ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

pp2

ยกตัวอย่างเช่น เราอยากจะทำธุรกิจที่เป็น inclusive financial (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม)ในแง่ของการจัดการเพื่อให้คนในสังคมมีการเข้าถึงเงินทุน แหล่งเงินทุนต่างๆ นั่นก็คือคาบเกี่ยวระหว่างเศรษฐกิจและสังคม

สิ่งที่ออกมาคือมันมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ยังไม่มีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเกี่ยวข้องว่าเวลาธุรกิจของคุณดำเนินไป คุณมองในเรื่องสิ่งแวดล้อมตรงไหนได้บ้าง คุณจะปล่อยเงินกู้อะไรก็ตามที่ทำให้เกิด environmentally friendly (เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ได้มากขึ้นไหม อันนั้นก็จะเข้าไปอยู่ในตัวการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ถ้าคุณจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวโดยไม่คำนึงเรื่องธุรกิจ ก็จะเป็นอะไรที่ไม่ยั่งยืนอยู่ดี อันนี้เป็นสามเสาหลักที่เขาคุยกัน ก็เลยมาถึงตัว SDGs เราก็จะเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมถึงมีเรื่องความมั่งคั่ง เรื่องของความเหลื่อมล้ำ ก็จะมีเรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อม และธุรกิจ รวมๆ กันอยู่

ความท้าทายและโอกาส แรงผลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

แต่ทีนี้ผมอยากจะนำเสนอว่า ปัจจุบัน เวลาเราพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราลืมนึกคิดไปถึง 2 ปัจจัยหลักที่อาจจะเป็นทั้งความท้าทายและเป็นโอกาสของเรา ปัจจัยแรกก็คือ เรื่อง “ความต้องการที่เพิ่มขึ้นมากในโลกนี้” ถ้าเราดูตามสถิติก็คือว่า ยูเอ็นเองหรือประเทศอย่างสหรัฐที่เขาทำวิจัยออกมาพบว่าประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้ามองจากตรงนี้ไปถึงปี ค.ศ. 2050 ประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณเกือบ 10 ล้านล้านคน

ถามว่าประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นโอกาสไหม ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ว่าเรามี market segment ที่ใหญ่ขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายของภาคธุรกิจ หลักๆ ก็คือว่า เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลก เราต้องการอาหาร เราต้องกินอาหาร แล้วต้องกินมากขึ้นด้วย

สิ่งที่เราผลิตทุกวันนี้อาจจะไม่เพียงพอแล้ว แม้แต่ประเทศไทยเรามองว่าเราเป็นประเทศที่เรียกว่าเป็น food security มีความมั่นคงทางอาหาร แต่หากมองไปในอนาคต อาจจะต้องคิดดูอีกทีว่า ที่เราดำเนินอยู่นี้จะมั่นคงจริงหรือเปล่า

สำคัญที่สุดก็คือว่า เมื่อทุกคนต้องการกินอาหารและอาหารต้องเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าตามสถิติที่ UN Food and Agriculture Organization ทำออกมาก็คือความต้องการเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะภูมิภาคไหนก็ตาม และเมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะผลิตเนื้อสัตว์ ผลิตข้าว ผลิตอะไรต่างๆ มีมากขึ้นในปี 2050 ตัวแปรสำคัญก็คือว่า แล้วถ้าคุณจะผลิตอาหารให้มากขึ้น เทคโนโลยีตามทันหรือไม่ ด้วยผืนดินที่จำกัด เราคงไม่มีโลกอีกใบหนึ่งที่จะใช้ปลูกข้าวแล้วส่งกลับมา ถามว่าผืนดินที่จำกัดทุกวันนี้พอจะสนองความต้องการในอนาคตของเราอีก 20-30 ปีข้างหน้าหรือไม่ นี่คือปัจจัยหลักๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกๆ ที่ทั่วโลกก็คือว่า เมื่อเรามีที่ดินจำกัด ผืนดินที่ดีที่ปลูกได้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า ความต้องการประชากรโลกเพิ่มขึ้น ก็ต้องใช้ผืนดินมากขึ้น เทคโนโลยีตามไม่ทันก็ต้องรุกป่า อันนี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย

ฉะนั้น สิ่งที่ท้าทายกับภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการผลิต การอาหาร เรื่องของการบริโภค ค้าปลีก อะไรต่างๆ ทุกวันนี้เขาดูทั้ง value chain แล้วว่าคุณมีความรับผิดชอบของแต่ละ chain ของคุณอย่างไร

นี่ก็จะเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจโดยตรงว่า ตัวขับเคลื่อนเรื่องประชากรโลกอาจจะหยุดยั้งได้ว่าเราทำดีแล้ว ไม่เพิ่มประชากร แต่คนอื่นเขาเพิ่ม แล้วจะไปกันยังไง ธุรกิจจะอยู่ยังไง

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นแรงขับดัน เป็นปัจจัยสำคัญหลักเลย ที่อาจารย์บัณฑูรพูดไปแล้วก็คือ เรื่องของ climate change แม้ว่าทุกวันนี้เราบอกว่าเราอยากจะใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น พลังงานสีเขียวขึ้น แต่เรามองกลับไปแค่พฤติกรรมก่อนครับว่าเวลาน้ำมันตก เรากลับไปใช้น้ำมันเหมือนเดิมหรือไม่

แต่ก่อนคนอาจจะใช้ E20 E85 แต่พอราคาน้ำมันลด ไม่เอาแล้ว กลับไปเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วพฤติกรรมของเราเองในแง่ของปัจเจกมันก็มีส่วนที่จะขับเคลื่อนการบริโภคน้ำมัน

ถ้าเราดูตามกราฟของ world energy ว่าจริงๆ แล้วตัวสีฟ้าๆ พวก green energy อะไรต่างๆ นั้นเริ่มมีแล้ว แต่การบริโภคยังไม่ค่อยพัฒนา โดยส่วนใหญ่ยังอยู่ที่น้ำมันเป็นหลัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอใช้น้ำมันมากขึ้นก็มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นเยอะ

จะเห็นชัดว่า แม้บางประเทศจะปล่อยน้อย เช่น จีน แต่ถ้าเรามาดูการเจริญเติบโต จีนแซงหน้าสหรัฐฯ แล้วในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ทุกสิ่งทุกอย่างกระทบหมดเลย ไม่ได้กระทบแต่ตัวเขา แต่กระทบเราด้วย

มันก็เป็นแรงผลักดันอีกตัวหนึ่งว่า ธุรกิจที่เรากำลังเดินๆ อยู่จะไปยังไง โดยแต่ก่อนที่เราคิดว่าเรามีเป้าหมายไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน อาจจะขับจักรยานพื้นราบ แต่ตอนนี้มันชันขึ้นมาแล้ว ชันด้วยความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เรื่องของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น

ดร.ภาวิญญ์ เถลิงศรี Project Manager Inclusive Green Growth and Sustainable Development, United Nation Development Programme
ดร.ภาวิญญ์ เถลิงศรี Project Manager Inclusive Green Growth and Sustainable Development, United Nation Development Programme

บางคนบอกว่า climate change จริงๆ เหรอ ยังมีคนพูดถึงมากเลย ช่วงปี ค.ศ. 1896-1900 ตัวฟ้าๆ ยังอยู่ เหลืองๆ เริ่มร้อนแล้ว พอมาเรื่อยๆ ปี ค.ศ. 1936-1940 ภาพถ่ายลงมาก็จะเห็นว่าเริ่มมีแดงๆ ขึ้นมาแล้ว พอมาในช่วง ค.ศ. 1986-1990 แต่ก่อนประเทศไทยยังไม่เหลืองเลย วันนี้เริ่มเหลืองขึ้นมาแล้ว

ก็ไปเรื่อยๆ ค.ศ. 2003-2007 ก็แดงขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนก็ถามว่าจะไปยังไงต่อ อย่างที่อาจารย์บัณฑูรบอกว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เรายังทำธุรกิจอย่างทุกวันนี้ แน่นอนครับ ภายในปลายศตวรรษที่จะถึงนี้มันจะแดงเถือกเลย 3-4 องศาแน่นอน

pp3

pp4
แม้ว่าเราจะไปมีความตกลงเรื่องของ Paris Agreement ที่พยายามลดลงมาไม่ให้ร้อนกว่านี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแผลไปแล้ว ยังไงเราต้องปรับตัวกับมัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเล ระดับน้ำแข็งที่ลดลง และตัวอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ก็เป็นความท้าทายของภาคธุรกิจเอง จะถามว่าเราเกี่ยวไหม เกี่ยวหมดเลย เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ก็เกี่ยวกับทุกคน ธุรกิจก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

อย่าให้แรงกดดันจากภายใน-นอกมาเคาะประตู

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถามว่าจะไปยังไงต่อในแง่ของอนาคต เราเองในแง่ธุรกิจเราจะเดินไปยังไง ผมคิดว่าตอนนี้มีแรงกดดันมาก มาจากองค์การระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยูเอ็น หรือองค์การการค้าโลก (WTO) เยอะแยะไปหมดที่กดดันเราว่า เราจะทำยังไงให้ไม่ไปกระทบกระเทือนต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ที่หนักอยู่แล้ว รวมทั้งเอ็นจีโอเองด้วย

เมื่อมามองในแง่ธุรกิจกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็มีการสำรวจออกมาว่าทำไมบริษัทจะต้องคิดเรื่องนี้ เราก็อยู่ของเราดีดี ทำไมจะต้องไปยุ่งกับเรื่อง SDGs นั่นนี่ ก็จะมี 2 ปัจจัยด้วยกันคือ 1. External Drives เป็นตัวขับเคลื่อนจากภายนอก

ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจรอให้ตัวขับเคลื่อนภายนอกมาเจอเขา ลำบากแล้วครับ เพราะว่าถ้าเราทำอะไรแล้วคนไม่เห็นชอบ แล้วเขาก็มาเหมือนกับเคาะประตูเราแล้ว เช่น เอ็นจีโอมาถามแล้วว่า ทำไมคุณทำอย่างนั้นอย่างนี้ พอเรารู้สึกว่ากระทบกับแบรนด์อิมเมจเรา เราถึงจะเริ่มทำอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือว่าขับเคลื่อนจากการควบคุมระหว่างประเทศ อะไรต่างๆ

แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องของ “Internal Drivers” (ตัวขับเคลื่อนภายใน) ว่าเราจะทำยังไงในแง่ของตัวเราเองที่เรามองไป แล้วเราคิดว่าเป็น proactive มากกว่า reactive ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประหยัดต้นทุน เราขยับไปที่เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วทำให้ต้นทุนของเราต่ำไหม มีเรื่องนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ มีเรื่องตลาดใหม่หรือไม่ หรือว่าจะทำเรื่อง Dow Jones Sustainability Index ก็เป็นตัวหนึ่งที่ว่าทำแล้วบริษัทเรามีพื้นฐานเรื่องนี้ดีขึ้น คนมาซื้อหุ้นเรามากขึ้น

นี่เป็นแค่ตัวขับเคลื่อนภายในต่างๆ ที่ผมปูพื้น แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะชี้ให้เห็นว่า ถ้ามันมาแบบตัวขับเคลื่อนภายนอกก็จะมาอย่างเช่น 3-4 ปีที่แล้ว ทั่วโลกบอกว่าห้ามซื้อปลาที่จับโดยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม แบบนี้ก็จะกระทบต่อธุรกิจ หลายท่านอาจจะนั่งอยู่ในที่นี้ ที่ส่งออกกุ้ง กุ้งกินปลาป่น จับมาจากไหน มีอีกหลายอย่าง

หรือแม้กระทั่งที่ตอนนี้เขามีการเก็บภาษีคาร์บอน การบินไทยบินเข้ายุโรปแต่ละเที่ยว โดนเก็บภาษี เป็นต้น ตรงนี้ก็จะเป็นอะไรที่เข้ามา แล้ว ถ้าเราไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน ก็อาจจะสั่นสะเทือนได้

แต่ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่ง เป็นตัวขับเคลื่อนภายใน ว่าเราจะทำยังไงเพื่อไปยืนอยู่บนจุดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยที่ดูแบบสง่างาม ก็อาจจะหลายตัวอย่าง พอไปอ่านก็รู้สึกว่าเรื่องราวน่าสนใจ คนก็รู้สึกว่ากินกาแฟแก้วหนึ่งไม่ใช่แค่ช่วยสตาร์บัคส์นะ ยังช่วยไปถึงเกษตรกรรากหญ้า อันนี้ก็จะเป็นอีกแนวหนึ่งที่ทำโดยมีตัวขับเคลื่อนภายในเกิดขึ้น

ผมจึงอยากจะบอกว่าเทรนด์จะมาเป็นช่วงๆ แต่ก่อนนี้เวลาเราทำธุรกิจะพูดถึงเรื่อง Health Safety (ความมั่นคงทางสุขภาพ) ของแรงงานของเรา พนักงานของเรา หลังจากนั้นก็จะพูดเรื่องคุณภาพ ก็จะมีตัว ISO อะไรต่างๆ ออกมา แล้วก็จะมาพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ตอนนี้มาเรื่องความยั่งยืน ซึ่งก็จะมีตัวชี้วัดอะไรต่างๆ ออกมา

เสวนาThailand SDGs Forum

การพัฒนาอย่างยั่งยืนเริ่มที่ “awareness” ความตระหนักกับทัศนคติ

แต่สิ่งที่ผมชอบอย่างหนึ่งก็คือว่า มีรายงานชิ้นหนึ่งเป็นเรื่องของ Business and Sustainable Development Goals จัดทำโดย John F. Kennedy School of Government ของ Harvard University

เขาพูดว่า ในแง่ธุรกิจ เวลาเราจะเริ่มก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเราควรมองตรงไหนก่อน แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเริ่มจากตัวเรา เหมือนกับหลายๆ ท่านที่พูดว่าต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เราปัดกวาดบ้านเราดีหรือยัง ภายในองค์กรเรา บางบริษัทอาจจะไม่ได้เริ่มจากตัวเขา แต่ไปเริ่มจากชุมชนเลย มี CSR ลงไปทำชุมชน แต่ถ้าตัวเรายังปัดกวาดตัวเราไม่ดีก็ยังไปไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกับคุณทำบ้านคุณดีแล้ว คุณไปดูที่ market place ที่คุณทำ ใน market คุณจะช่วยอะไรได้บ้าง จากนั้น supply chain ของคุณ หรือชุมชนที่คุณอยู่ อันนี้ก็เป็นลำดับของการดำเนินการธุรกิจว่าจะไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

องค์ประกอบที่จะเกิดขึ้นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผมขอย้ำอีกทีว่ามันต้องเริ่มจาก “awareness” ก็คือ ความตระหนักกับทัศนคติก่อน อันนี้บางทีอาจจะมาจาก CSR ของธุรกิจเอง หรืออาจจะมาจากผู้นำ ซีอีโอ แต่เขาบอกว่าสิ่งสำคัญก็คือ ธุรกิจจะไม่เกิดความยั่งยืนถ้าไม่แพร่กระจายไปสู่พนักงานทุกคนในองค์กร

หลังจากความตระหนักและทัศนคติแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ คุณอย่าทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นแค่ CSR มันจะไม่เกิดความยั่งยืน คุณต้องหา business case ที่คุณทำแล้วคุณก็ win ด้วย แล้วสิ่งแวดล้อม สังคม ก็ win ไปด้วย ซึ่ง business case แบบนั้นเขาบอกว่าให้ไปดูโมเดลต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ มีหลากหลายโมเดลมากมาย แล้วก็ market insight เหมือนกัน ถ้าคุณจะลงไปทำกับชุมชน คุณรู้จักชุมชนนั้นดีพอที่จะไปทำกับเขาหรือยัง ไปทำอย่างนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องของแบรนด์อิมเมจอย่างเดียว แต่ทำเพื่อประโยชน์ของชุมชนจริงๆ แล้วหลังจากนั้นหลายๆ บริษัทก็เริ่มจะมีมาตรฐาน มีกฎการปฏิบัติ

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือภาครัฐบาลต้องรับลูกด้วย เรื่องนโยบายต่างๆ ถ้าไม่มีตรงนี้ ก็ยากที่ธุรกิจจะเดินเอง แล้วสุดท้ายก็คือ เรามีขีดความสามารถที่จะขับเคลื่อนในแต่ละองค์กรมากแค่ไหน

ก็คือมีตัวอย่างบริษัทมากมาย ที่ทางสหประชาชาติเห็น เช่น Cemex เป็นบริษัทของเม็กซิโก ทำคล้ายๆ เอสซีจี ก็คือขายพวกวัสดุก่อสร้างต่างๆ แต่เขามองเห็นว่าเม็กซิโกในภาคชนบท แรงงานเขาอยากมีบ้าน แต่เขาไม่มีบ้าน เขายากจน จะทำยังไง Cemex ก็เลยให้การสนับสนุนในแง่ให้คนมาเรียนรู้ในการสร้างบ้านด้วยตัวเอง มีแนวคิด ระบบ บางอย่างที่ทำให้คนจนสามารถเข้ามาสร้างบ้านของเขาเอง โดย Cemex ให้การสนับสนุน

หรือโคคาโคล่า สิ่งที่เขาใช้เป็นตัวประกอบหลักเลยก็คือน้ำ ในการทำน้ำอัดลมต่างๆ แต่พอเขาไปทำที่ประเทศแอฟริกาซึ่งขาดแคลนน้ำ เป็นการแย่งชิงน้ำกันระหว่างชุมชนกับบริษัท บริษัทจะทำยังไง ก็มีตัวอย่างมาว่าเขาแบ่งปันน้ำจัดสรรอย่างลงตัว เขาก็เลยเกิดขึ้นได้ มีส่วนของความยั่งยืนที่จะช่วยชุมชน

หรืออย่างซิตี้แบงก์ นอกจากเรื่องปล่อยกู้ พูดเรื่อง inclusive finance แล้ว ซิตี้แบงก์มองว่าการลงทุนอะไรที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ จะให้ soft loan ที่มีเรทต่ำกว่าหรืออะไรต่างๆ อันนี้ก็จะเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้น

ผมขอจบว่า เวลาหลายๆ ท่านมองในแง่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอาจจะมองว่าบริษัทพวกนี้เป็นบริษัทข้ามชาติ เราจะไปทำอะไรอย่างนั้นได้ยังไง แล้วเราจะเริ่มยังไง

ผมขอยกตัววอย่างคุณ “เคน โอลเซน” (Ken Olsen) เขาเป็นพวกนักเรียนฉลาดๆ ของพริ๊นตัน ในช่วงปีนั้นเป็น president ของ DEC ซึ่งเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นเขาบอกว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลใช้ที่บ้าน ตอนนั้นเขาประกาศออกมา คนก็เชื่อ ตอนนั้น DEC ดังมาก แข่งกับ IBM แต่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่เราทำ เราคิดไป ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิด

อีกอันสุดท้าย ทุกคนรู้จักคนนี้ดี “มาร์กาเรต แทตเชอร์” (Margaret Thatcher) หญิงเหล็กแห่งสหราชอาณาจักร ตอนนั้นมาร์กาเรต แทตเชอร์ บอกว่า คุณรู้ไหม พรรค ANC (African National Congress) ซึ่งนำโดย “เนลสัน แมนเดลา” (Nelson Rolihlahla Mandela) ไม่มีทางจะมาปกครองประเทศแอฟริกาใต้ ใครเชื่ออย่างนั้นก็บ้าไปแล้ว แต่ก็เกิดขึ้นจนกระทั่งแมนเดลาเสียชีวิตไปแล้ว อันนี้เน้นย้ำให้เห็นว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นได้(ดูเอกสารเพิ่มเติม)

สิ่งที่ธุรกิจต้องโฟกัสเชื่อมโยง “ความเสี่ยง-ประโยชน์ทางธุรกิจ” กับ SDGs

ผู้ดำเนินรายการ: ภาพรวมก็คือโลกของเราไปต่อไม่ได้ แค่ปัญหาที่ยกตัวอย่างมาไม่กี่ข้อก็น่าตกใจ ก็ต้องเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนกระบวนการ คุณสฤณีก็ติดตามเรื่องของธุรกิจที่ยั่งยืนในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ นักเขียน และนักวิจัย มองแนวโน้ม SDGs อย่างไรครับ

สฤณี: สิ่งที่แตกต่างมี 2 เรื่อง ที่ถ้าถามว่า 3 ปีที่แล้วเราไม่มี วันนี้เรามีก็คือเรื่อง SDGs เป็นทิศทางพัฒนาใหม่ของสหประชาชาติ อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่อง Paris Agreement หรือ COP 21 ซึ่งประเทศไทยก็ไปประกาศเหมือนกัน สิ่งที่เราประกาศก็คือ ลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2030 แต่จริงๆ ก่อนหน้าที่เราจะไป COP 21 ก็เคยประกาศว่าเราทำได้แล้วประมาณ 7% ตอนนั้นเป้าเราคือ 2020 นี่คือก่อน COP 21

หลายท่านอาจไม่ทราบว่าเรามีแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ภาครัฐกำหนดและประกาศแล้ว มีตัวชี้วัดเยอะแยะที่น่าสนใจ เช่น บอกว่าเราจะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็น 40% ของประเทศ เป็นเป้าระยะกลาง และบอกว่าพยายามที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อตารางเมตรให้กับประชาชนในเมือง

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล

ฉะนั้น จะเห็นว่าหลายๆ ตัวชี้วัดที่อยู่ใน Climate Action Plan หรือแผนของเรา ก็อาจจะสอดคล้องพอสมควรกับตัว SDGs ที่ออกมา ก็เป็นภาพรวมสั้นๆ 2 เรื่องใหญ่ระดับชาติที่วันนี้เรามีแล้ว

สิ่งที่อยากจะชวนคิดคือ พอเราพูดถึง SDGs มันเยอะมาก 17 ข้อ 100 กว่าตัวชี้วัด ก็เลยอยากจะโฟกัสนิดหนึ่งว่าจริงๆ แล้วสำหรับไทยตอนนี้ที่น่าสนใจในส่วนของธุรกิจสิ่งก็คือมองสั้นๆ ว่าต้องเริ่ม 2 อย่าง

อย่างแรก คือ ต้องสามารถมองเห็นตัว “ความเสี่ยง” หรือความเสี่ยงต่างๆ ที่กระทบกับธุรกิจจากการทำงานของเราเอง ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการดูผลกระทบที่เราสร้างให้ชัดขึ้นกว่าเดิมมากๆ จึงจะเข้าใจว่าความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจของเรากับ SDGs คืออะไร อีกด้านหนึ่งก็คือตัว “ประโยชน์ทางธุรกิจ”หรือที่ ดร.ภาวิญญ์ใช้คำว่า business case

คิดว่าทั้งสองด้านนี้ ทางด้านความเสี่ยงและเรื่องประโยชน์ คิดว่าเป็นจุดตั้งต้นที่จะต้องเริ่มทำให้มันชัดเจน แล้วก็เป็นเรื่องของใครของมันในแต่ละธุรกิจ ในแต่ละบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบกัน

ถ้าเราพูดถึงความเสี่ยง แน่นอนว่ามีตัวชี้วัดว่ามีข้อมูลอะไรที่ออกมาเยอะขึ้น บริษัทป่าสาละก็พยายามรวบรวมและนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่คิดว่าเกี่ยวข้อง เช่นตัวอย่างจาก “World Risk Report” หรือ รายงานความเสี่ยงโลก ซึ่ง World Economic Forum ได้จัดทำมาแล้วหลายปี

ล่าสุดถ้าเจาะลงมาดูเขาบอกว่าในแต่ละทวีปแต่ละภูมิภาคมีความเสี่ยงอะไรที่เป็นความเสี่ยงสูงสุด ที่น่าสนใจคือ เราจะเห็นว่าประเด็นที่เป็นเศรษฐกิจล้วนๆ จะเริ่มเป็นส่วนน้อยแล้ว ประเด็นที่มีความเสี่ยงมากๆในทัศนะหลายๆ คนก็เป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นด้านสังคม ประเด็นความเสี่ยงทางการเมือง

ถ้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นซีอีโอระดับใหญ่ๆ ทั่วโลกกับนักวิชาการก็มองว่า 3 ข้อใหญ่ที่จะกระทบเอเชียแปซิฟิกก็คือเรื่องภัยธรรมชาติ เรื่องความผันผวนแปรปรวนของอากาศ แล้วก็เรื่องความล้มเหลวของธรรมาภิบาลภาครัฐ พูดอีกอย่างก็คือความไม่เชื่อมั่นในระบบรัฐ ก็กินความตั้งแต่ปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน ปัญหาการเมือง การไม่ทำงานต่างๆ

ฉะนั้น จะเห็นว่าเราก็อยู่ในโลกที่มันหนีไม่พ้นแล้วที่ว่า ประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เราไม่มีวันพูดได้อีกแล้วว่ามันไม่เกี่ยวอะไรกับธุรกิจ เพราะว่ามันส่งผลกระทบโดยตรง

เมื่อดูความเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 2015-2016 ก็คือปีที่แล้วถึงปีนี้ อันนี้ระดับโลกเลย เขาก็เปรียบเทียบสิ่งที่พุ่งขึ้นมาค่อนข้างแรง เขาเอาประเด็นต่างๆ มาจับวางว่าประเด็นแกนแนวนอนมีแนวโน้มที่จะเกิดค่อนข้างสูง แนวตั้งก็คือผลกระทบที่เกิด จะเห็นว่า สิ่งที่พุ่งฉิวเลยเส้นสีแดงก็คือการย้ายถิ่นฐานโดยไม่สมัครใจ ซึ่งอันนี้เราก็จะเห็นข่าวอยู่เนืองๆ ที่หลายประเทศมีความขัดแย้ง ความไม่สงบ

แล้วก็ประเด็นสีเขียวที่พุ่งขึ้นมาก็คือเรื่องความล้มเหลว เขาใช้คำว่า “ความล้มเหลวในการปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศ” เขาใช้ 2 คำแล้วตอนนี้ เวลาพูดถึง climate change เขาจะไม่ใช้คำว่าเราจะป้องกันแล้ว เพราะป้องกันไม่ได้ climate change เกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ mitigation บรรเทาผลกระทบ แล้วก็ adaptation คือปรับตัว อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในโลก

สำหรับในฝั่งประโยชน์ทางธุรกิจที่น่าสนใจก็คือ หลายๆ บริษัท หลายๆธุรกิจ ก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นความเสี่ยงอย่างเดียว ความเสี่ยงเราก็ต้องพยายามจัดการป้องกันหรือแก้ไข แต่ในความเป็นจริง พอทำสิ่งเหล่านั้นก็เกิดประโยชน์ทางธุรกิจขึ้นด้วย

ประโยชน์ทางธุรกิจไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของการจัดการความเสี่ยงให้ดีขึ้น แต่เริ่มสะท้อนถึง bottom line หรือกำไรสุทธิ ก็น่าสนใจ มีตัวอย่างจากรายงานที่ทำโดย Carbon Disclosure Project เป็นโครงการระดับโลกที่น่าจะเป็นที่ยอมรับในลำดับต้นๆ ในเรื่องของการจัดทำมาตรฐานการรายงานการเปิดเผยเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกของบริษัทต่างๆ เขาก็ทำรายงานออกมาเมื่อปีที่แล้ว เขาไปดูบริษัทจดทะเบียนเอสเอ็มอี 500 ขนาดใหญ่ที่มีสิ่งที่เรียกว่า Climate Action Plan ก็คือแผนการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมันก็ไม่ได้มีแค่การวัดหรือรายงานอย่างเดียว แต่ก็มีแผนว่าเราจะปรับตัวยังไง มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจยังไง

จะเห็นว่า 67% ของคนที่ทำแผนให้ชัด มี ROE (Return on Equity) ก็คือผลตอบแทนผู้ถือหุ้น สูงกว่าบริษัทที่ค่อนข้างจะทำเรื่องการรายงานได้น้อย อันนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งคิดว่าแนวโน้มที่เราจะเห็นระยะต่อไปก็คือเรื่องแบบนี้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ว่าเราจะไม่ได้แค่รู้ว่าบริษัทอะไรทำอะไร แต่ว่าจะมีรวบรวมนำเสนอ”ประโยชน์ทางธุรกิจ”ที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าทำแล้วได้อะไร มันไม่ได้กระทบแค่เรื่องของการปฏิบัติการแต่มันไปถึงเรื่อง bottom line ไปถึงเรื่องกำไรสุทธิ เรื่องผลตอบแทน เรื่องของอัตราการจ่ายเงินปันผล อันนี้ก็คิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก

ถ้าย้อนกลับมาดูประเทศไทย ธุรกิจไทยจะคิดเรื่องอะไรบ้าง จะเริ่มมองความเสี่ยงยังไง ก็คิดว่ามีหลากหลายแนวทาง แต่ว่าก็อาจจะเชื้อเชิญหลายๆท่านว่าเรามีงานวิจัยเรื่อง climate change ไม่น้อยที่พยายามจะสกัดหรือรวมรวมหรือประเมินผลกระทบของ climate change ต่อประเทศเราว่าคืออะไร แต่เราอาจจะยังไม่มีงานที่เชื่อมมาถึงภาคธุรกิจได้อย่างชัดเจนมากนัก จึงคิดว่าก็เป็นจุดหนึ่งที่เป็นช่องว่างอยู่

pp1

pp2

มีตัวอย่างจากงานวิจัยที่ใช้ตัวเลขของโลก สรุปสั้นๆ ก็คือว่า ประเทศไทยแถวไหนที่ร้อนก็จะร้อนขึ้น แล้วก็ร้อนนานขึ้น แถวไหนฝนตกก็จะมีโอกาสที่ฝนตกหนักหน่วงมากขึ้น มีโอกาสน้ำท่วมมากขึ้น ที่ไหนมีโอกาสที่จะเจอภัยแล้งก็จะแล้งหนักขึ้น แล้วมีการแปรปรวนผันผวนมากกว่าเดิม บางบริเวณที่ไม่เคยเจอภัยแล้งอาจจะเจอ

แต่แน่นอนว่า ธุรกิจอะไรจะเจอผลกระทบอะไรก็ดูสถานที่ตั้งของท่าน แต่ว่ามันไม่ใช่แค่สถานที่ตั้งแล้ว เพราะว่าเมื่อสักครู่เราพูดกันเรื่อง value chain, supply chain ต่อให้เราไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่ถ้าเกิด supply เราหรือวัตถุดิบเรามาจากจุดที่อาจจะมีความเสี่ยง เราขายของไปยังจุดที่อาจจะมีความเสี่ยง มันก็อาจจะกระทบไปหมด ก็เป็นประเด็น

และจากรายงานที่น่าสนใจ ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงในประเทศไทย แต่ถ้าเราไปดูรายงานระดับโลกที่เขาพูดถึงความเสี่ยงต่างๆ เราจะเห็นชื่อกรุงเทพฯ หรือชื่อประเทศไทย ก็จะมาเรื่องประมาณนี้ จากเรื่องพื้นที่ชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรุงเทพฯ คงไม่ใช่แค่เรื่อง climate change แต่ยังมีเรื่องการใช้ที่ดิน การสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ ที่อาจจะยังไม่เหมาะสม แต่นี่คือตัวอย่างความเสี่ยง แล้วก็มีการคำนวณออกมาแล้วว่ามูลค่าความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นมีตัวเลขเท่าไหร่ เหล่านี้เอง ในแต่ละธุรกิจก็ไปลองดู บางธุรกิจก็อาจกระทบมากหน่อย เช่น อสังหาริมทรัพย์บางพื้นที่ในกรุงทพฯ แต่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะมีความสำคัญมากขึ้น แล้วธุรกิจก็จำเป็นต้องเข้ามารับรู้แล้วก็เชื่อมโยงประเด็นความเสี่ยงกับธุรกิจตัวเองให้ชัดมากขึ้น

ประเด็นที่เป็นแนวโน้มใหญ่ของโลก แน่นอนว่าคือเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน supply chain พูดคำว่า supply chain ก็จะยาวมากในหลายๆธุรกิจ เพราะว่าโลกเราซับซ้อน บางทีต้นน้ำอยู่ไกลไปเยอะเลย แต่เราไม่เคยรู้จักเลย ก่อนที่สตาร์บัคส์จะทำมาตรฐานคาเฟ่ก็ไม่เคยรู้หรอกว่าเกษตรกรที่ปลูกกาแฟคือใครอยู่ที่ไหน แต่พอเผชิญแรงกดดันทั้งเรื่องของการโจมตีว่าสตาร์บัคส์รู้ไหมว่าคนปลูกกาแฟไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รู้ไหมว่าบางคนพยายามหาพื้นที่ปลูกกาแฟในที่สูง ก็อาจจะมีปัญหาตัดไม้ทำลายป่า สตาร์บัคส์ก็เริ่มมาจัดทำมาตรฐานพวกนี้เพื่อให้มองเห็น supply chain ของตัวเองมากขึ้น พอทำแล้วก็เห็นว่าเกิดประโยชน์

คล้ายกับในเมืองไทย เราเป็นข่าวใหญ่เรื่องประมง ซึ่งไม่ใช่ภาคประมงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงหลายๆภาคส่วนที่ใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นแน่นอน แล้วในบางประเทศเริ่มมีกฎหมายใหม่ๆ แล้ว อังกฤษก็มีกฎหมายเรื่องการห้ามใช้แรงงานทาสในธุรกิจ ในอุตสาหกรรม ฉะนั้น เป็นเรื่องทางกฎหมายแล้วในหลายๆๆเรื่อง

คนกรุงเทพฯ ปล่อยคาร์บอนต่อหัว ประเทศไทยอาจจะไม่ได้ดูเป็นประเทศที่มีปัญหาอะไรมากในเรื่องคาร์บอน เพราะเราเป็นประเทศไม่ใหญ่มาก แต่ที่จริงถ้าดูระดับเมืองเราปล่อยคาร์บอนต่อหัวมากกว่าเมืองที่ร่ำรวยอย่างปารีส จะเห็นว่าประเด็นความเหลื่อมล้ำก็ซ้อนทับกันอยู่กับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม

มีตัวชี้วัดมากมายที่วันนี้เริ่มมีการนำเสนอออกมา ฟังอาจารย์บัณฑูรบอกว่าเราต้องมีการจัดทำฐานตัวชี้วัดของตัวเราเอง อาจจะมีบางตัวที่ไม่เหมือนต่างประเทศเพิ่มเข้ามา แต่ว่าในระดับโลกเขาพยายามที่จะคุยกันแล้วว่าเราต้องทำอะไรบ้าง

สฤณี อาชวานันทกุล1

ฉะนั้น ความท้าทาย คิดว่าถ้าธุรกิจไทย คือไม่แน่ใจว่าจะเป็นเทรนด์ได้ไหม หรือว่าความตื่นตัวมีมากน้อยแค่ไหน แต่แน่นอนว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น ที่เราจะเห็นในประเทศไทยก็คือเรื่องภัยแล้ง เรื่องน้ำท่วม

เรื่องของแรงกดดันในห่วงโซ่อุปทาน ทั้ง supply chain ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสิทธิมนุษยชน อาจจะเรียกร้องให้บริษัทที่เกี่ยวข้องต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น มีมาตรฐานที่สาวกลับไปได้ว่าต้นน้ำไม่มีปัญหา

ประเด็นการมองให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความเสี่ยงและประโยชน์จากการทำธุรกิจของเราคืออะไรบ้าง โดยเฉพาะประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับตัวเองก็คือว่า วันนี้หลายบริษัทไทยเริ่มพยายามเข้าสู่มาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการจัดทำความยั่งยืน และก็พยายามเอาตัวเองไปอยู่ในดัชนี Dow Jones แต่บางทีก็สังเกตว่า แรงจูงใจในการทำรายงานของบางบริษัทเหมือนอยากที่จะได้ภาพลักษณ์ว่าเป็นมาตรฐานสากล โดยที่หลงลืมหลักการพื้นฐานที่สำคัญไป

จริงๆ ถ้าเราจะนำรายงานความยั่งยืนหรือเข้าสู่มาตรฐานอะไรก็ตาม หลักการพื้นฐานที่สำคัญก็คือฟังความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การมองให้ทะลุว่าธุรกิจเราสร้างผลกระทบอะไรบ้างต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตรงนี้คิดว่ายังมีช่องว่างอยู่ แล้วก็คิดว่าเป็นโอกาสที่หลายบริษัทจะได้เริ่มทำความเข้าใจมากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายที่คิดว่าเป็นปัญหาที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งก็คือ ทิศทางนโยบายรัฐ ความน่าสนใจก็คือว่านโยบายรัฐสอดคล้องหรือรองรับกลไกการมีส่วนร่วมได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเวลาเราพูดคำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือธุรกิจที่ยั่งยืน สิ่งหนึ่งที่สำคัญและเป็นฐานรากเลยก็คือ การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ซึ่ง SDGs ข้อสุดท้ายก็พูดเรื่องการมีส่วนร่วมไว้

โดยรวมๆ ก็เป็นประเด็นที่อยากให้จับตามอง แล้วก็อยากจะเห็นประเด็นเหล่านี้ในหลายธุรกิจ หลายๆบริษัทได้เริ่มมองหยั่งลึกมากขึ้น เราอาจจะได้เห็นแนวโน้มอะไรที่น่าตื่นเต้น โดยเฉพาะเรื่อง business case หรือโอกาสทางธุรกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับที่ผ่านมา(ดูข้อมูลเพิ่มเติม)

ความท้าทายกับ solution มาตรฐานโลกแต่บริบทไทยๆ

ผู้ดำเนินรายการ: สำคัญคือข้อมูลที่บริษัทต้องมองเพื่อบรรลุเรื่องความเสี่ยง เรื่องประโยชน์ ความเชื่อมโยงกับบริษัท บางบริษัทบอกว่าก็ดูข้อมูลแล้วแต่ไม่ทะลุ ไม่รู้จะเกี่ยวอย่างไร ฉะนั้น จะทำอย่างไรเพื่อจะได้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ก็ต้องอาศัยผู้แนะนำ คุณนัทได้เข้าไปให้คำแนะนำปรึกษามาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับภาคธุรกิจที่ยั่งยืน คงจะมีข้อแนะนำดีๆ และดูแนวโน้มทิศทางเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นอย่างไรครับ

นัท: ฟังวิทยากรทั้ง 2 ท่านแล้วคิดว่าหลักๆ เลยคือคำว่า solution สุดท้ายจะแก้ปัญหายังไง ต้องบอกว่าเรื่อง SDGs เป็นน้องใหม่มาก อายุจริงๆ ไม่ถึงปี แล้วก็มีเวลาอีก 14 ปี ในการทำเรื่องนี้ให้ถูกต้องไม่ใช่เฉพาะคนไทยนะครับ บริษัทไหนก็แล้วแต่ เวลาเอาเรื่องนี้มาทำแล้วทำแบบเร่งรีบ บางครั้งเสียความน่าเชื่อถือเหมือนกัน เพราะไปใช้ในทางที่ผิด ผมอยากเห็นภาพที่นำ SDGs ไปใช้แบบเมื่อตอนที่เราฟังเรื่องของแบงก์ TMB ผมอยากได้ภาพแบบนั้น ฉะนั้น พรีเซนเทชันของผมจะไม่โฟกัสเรื่องของ why แต่น่าจะคุยกันเรื่อง solution

นายนัท วานิชยางกูร  Partner, ERM
นายนัท วานิชยางกูร Partner, ERM

อย่างแรกจะบอกว่า จากที่เราทำงานกับบริษัทชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศทั่วโลก เขามองว่าเรื่องนี้อย่างแรกก็คือ มันมี shining light เริ่มเห็นแสงสว่าง SDGs 17 เป้าหมาย มันเป็นกรอบการทำงานที่ทุกคนบอกว่าวันนี้เป็นกรอบการทำงานของโลก

แล้วนิยามของคำว่าความยั่งยืนหรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนเริ่มชัดขึ้น นิยามที่เป็นตัวชี้วัดเป้าหมาย ธุรกิจชอบ ธุรกิจฟังแล้วเข้าใจมากกว่า แล้วก็มองว่าเราน่าจะดูเรื่องของการให้อะไรกับสังคมของเรา เรียกว่าเอาจุดแข็งของธุรกิจไปดูว่าสามารถให้อะไรกับสังคมหรือสามารถทำให้เกิดความยั่งยืนกับสังคมได้อย่างไร

แต่สิ่งที่ผมอยากจะพูดคือ ความท้าทายที่บอกว่าเป็นน้องใหม่ หลายๆ บริษัททั่วโลกเริ่มนำกลับมาพิจารณา บางบริษัททำแบบที่ทางป่าสาละบอกว่า อันตรายเหมือนกันในเรื่องเอามาตรฐานสากลมาใช้แล้วไม่ได้เข้าใจอย่างจริงจัง

ผมว่าความสับสนที่เกิดขึ้นตอนนี้หรือสิ่งที่สับสนหรือจะเรียกประเด็นความท้าทายก็ได้ อย่างแรก คือ เป็นอีกรายงานหนึ่งที่เราต้องทำหรือเปล่า เรามี GRI (Global Reporting Initiative) มี DJSI (Dow Jones Sustainability Index) เต็มไปหมด หรือSDGs เป็นอีกรายงานหนึ่งหรือเป็นระบบที่เราต้องทำหรือเปล่า หรือจะเป็นมาตรฐานอีกชั้นหนึ่งที่มาใส่ในบริษัทของเรา เป็นตัวต่อยอดของCSR ตัวต่อยอดของความยั่งยืน แล้ววันนี้ก็มี SDGs อีกตัวหนึ่ง ก็สู้เขา เอามาเชื่อมเข้าไป

pp2

pp2

pp4

จริงๆ จะบอกว่าอย่างนี้ครับ ที่น่ากังวลมากที่สุดก็คือคนที่เข้ามาฟังในฟอรัมวันนี้ เป็นคนที่ไม่มากก็น้อย เราใช้ว่าเป็น CSR หรือความยั่งยืน หรือคนที่มีความรู้อยู่ในพื้นที่ของเรื่องที่พูดคุยกัน คำถามคือ จะไปคุยกับคนที่เหลือในบริษัทยังไง เท่าที่ผมฟังมาบอกตรงๆ ว่าผมเป็นที่ปรึกษาอยู่ในสาขานี้ บางเรื่องก็ยากที่จะเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัพท์ของยูเอ็น ไม่ใช่ทุกตัวที่เข้าใจ

ฉะนั้น 17 เป้าหมายนี่ศัพท์ยูเอ็น ต้องยอมรับว่าเป็นศัพท์ที่กว้าง คนไทยเองก็ตีความก็หลากหลาย แล้วสุดท้ายคือจะทำยังไงให้ทุกคนเป็นแบบซีอีโอของ TMB แล้วจะทำยังไงให้เกิดความตั้งใจของผู้บริหารแบบนี้จริงๆ

อันนี้ผมว่าเป็นความท้าทาย ผมว่าต้องคุยตรงนี้ก่อนนะ เพราะมีหลายแบบที่บริษัทมีความกระตือรือร้นอยากจะทำ มีเวลาอีกตั้ง 14 ปี แต่ก็อย่างที่ TMB บอก ทำเลยไม่ต้องรอ แต่ระวังความเสี่ยงหน่อยแล้วกันว่าเราจะโปรโมทมันอย่างไร เพราะพอผิดแล้วดึงกลับมายากนะครับ

จะให้ดูว่าธุรกิจตอบสนองต่อความเสี่ยงนั้นอย่างไร ก็จะมีภาพของ Mining Industry (อุตสาหกรรมเหมือง) คล้ายๆ กับแผนของสมาคมธนาคารไทย อันนี้ก็เป็นของ Mining Association (สมาคมเหมือง) เขาก็เชื่อมตัวที่เป็นประเด็นหลักในการทำเหมืองกับ 17 เป้าหมายของยูเอ็น

แล้วหลายๆบริษัทก็เริ่มกำหนดประเด็นที่ต้องทำ ตัวอย่างที่ดึง 2 บริษัทนี้ให้ดูก็อยากจะบอกว่า ทั้ง DOW และ DSM เป็นบริษัทในอุตสาหกรรมเคมี แต่ถ้าสังเกตดูว่าสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของเขาคือการตอบสนองกับเป้าหมายใดใน SDGs ไม่เหมือนกันเลย ก็แสดงว่า 2 บริษัทนี้ไม่จำเป็นว่าจะมีความจุดแข็งหรือความแข็งแรงเหมือนกัน

แล้วมาดูว่า ERM แนะนำลูกค้ายังไงในเรื่องนี้ จะบอกว่าจริงๆ ลูกค้าแต่ละบริษัทที่เราให้คำแนะนำอยู่นั้น เริ่มต้นที่จุดที่ไม่เหมือนกันนะ บางบริษัทก็อยากจะทำตัวนี้ให้มันไปกับภารกิจของบริษัท นั่นหมายความว่าตัวตนของบริษัทเราคืออะไรกันแน่ แล้วจุดแข็งของเราคืออะไร ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราควรจะทำให้ดีขึ้น เพื่อที่จะนำไปสู่เป้าหมายไหนของ SDGs นี่คือตัวแรก

ตัวที่สองก็คือ แล้วมันไปเข้ากับตัว Reporting Mechanism หรือ Reporting System ในบริษัทเราอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น GRI, DJSI มาตรฐานเต็มไปหมดนะครับ คำถามคือ แล้วจะสอดรับกันยังไง

ตัวที่สาม เป็นสิ่งที่บริษัทถามกันเยอะ คือ แล้วเราจะวัดผลกระทบที่เรามีกับกิจกรรม กับการลงทุนของเราในเรื่องของความยั่งยืนอย่างไร

นายนัท วานิชยางกูร  Partner, ERM (กลาง)
นายนัท วานิชยางกูร Partner, ERM (กลาง)

วันนี้บางเรื่องเราวัดตรงๆ ไม่ได้ มันก็ต้องมี proxy พูดง่ายๆ ว่าทำสิ่งที่ไม่มีตัวตน (intangible) ให้สัมผัสได้ (tangible) มันก็ต้องมี proxy อะไรเป็น proxy ที่จะแปลงสิ่งที่ไม่มีตัวตนมาเป็นเงินหรือเป็นมูลค่าที่คนยอมรับ แล้วที่สำคัญ เรื่องไหนกันแน่ที่สัมพันธ์กับธุรกิจ

มันมีอยู่ 4 คำที่ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญ คำแรก คือ Mission (ภารกิจ) สองคือ Opportunity (โอกาส) สามคือ Engagement (การผูกภาระ) และสี่ Measuring Impact (การประเมินผลกระทบ)

ขออนุญาตยกตัวอย่างบริษัทไทย ปตท. เกิดอะไรขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโลกอันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ ปตท. บอกไว้ก็คือ ภารกิจของเขาคือต้องการจะเปลี่ยนจากองค์กรที่ใช้ฐานทรัพยากรมาเป็นฐานความรู้ แล้วการมีภารกิจแบบนี้มันให้อะไรได้ทั้งในเรื่องความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงาน เรื่องผลิตภัณฑ์ที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ แล้วมันก็ให้เรื่องการจัดการด้านอุปสงค์ สมัยก่อน ปตท. อาจจะโฟกัสในเรื่องของความมั่นคงพลังงาน ซึ่งเป็นด้านอุปทาน

ฉะนั้น อันนี้ก็เป็นตัวหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วภารกิจขององค์กรมีความหมายและเชื่อมโยงกับ SDGsไ ด้ดี แต่ถ้าสมมติเราไปเอาอะไรที่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาทำ ก็จะเหมือนกับบริจาคเพิ่ม

ตัวที่สองก็คือ โอกาส โอกาสอยู่ตรงไหน วันนี้วิธีการทำทิศทางโอกาสในบริบทก็คือ value chain ของเราเป็นอย่างไร ใครบ้างใน value chain ของเราที่จะมี contribute แล้วผมคิดว่า World Business Council for Sustainable Development ก็โปรโมทเรื่อง Scale Up มาหลายปี ก็คืออย่าทำคนเดียว ให้คนอื่นทำด้วยทั้ง value chain

อีกบริษัทหนึ่งของไทยที่อยากจะเอาความดีเขามาพูดก็คือ โอกาสสำหรับการ Engagement ผมมองว่าวันนี้พนักงานของเรา ถ้าดูพีระมิด ถ้าเรา Engagement เขาด้วยกำไร พูดง่ายๆ ก็คือการเจริญเติบโตของบริษัท ผมคิดว่ามันไม่ใช่ วันนี้นักลงทุนและพนักงานที่จะเข้ามาทำงานกับเรา ถ้าวัตถุประสงค์ของบริษัทเราไม่ชัดเจน เราก็จะผูกเขาไว้ลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กรุ่นใหม่ ที่ถ้าวัตถุประสงค์ของบริษัทไม่ชัดเจนว่าจริงๆ แล้วเราทำบริษัทนี้ไปเพื่ออะไรกันแน่ เราจะผูกกับเขาลำบากมาก

ฉะนั้นผมคิดว่า SDGs เป็นตัวเครื่องมือหนึ่งที่มาสนับสนุนในเรื่องการผูกพันธะว่าคุณสามารถจะสร้างอะไรให้เกิดกลายเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนของคุณได้บ้าง

แล้วก็สุดท้าย ก็ยังเป็นปัญหาสำคัญ แต่ผมคิดว่าตัววัดที่ผมได้ยิน 200 กว่าตัว คำถามคือ จะวัดกันยังไง คงต้องมีเครื่องมือขึ้นมา แล้ววันนี้ก็มีหลายค่ายที่เป็นสากลที่ทำเครื่องมือขึ้นมา เพื่อใช้ในการบ่งชี้ว่า วันนี้ นอกจาก Financial Value แล้ว Social Value กับ Natural Capital Value จะให้อะไรกับสังคมอย่างไร ก็จะมีหลายสำนักที่เราคุ้นเคยกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น GRI หรือ CDP แนะนำให้ไปดู National capital quatation… เขาเพิ่งประกาศNational capital valuation tool ออกมา

สุดท้าย ERM เราก็เริ่มเหมือนกัน แม้จะเป็นที่ปรึกษาเอง ถามว่า ERM เริ่มจากอะไร เริ่มจาก ERM Foundation ว่า Foundation ของเราสามารถทำให้เกิดเป้าหมายไหนบ้าง ไม่ทำหมด ไม่เกิน 3 แต่ที่จะทำจริงก็ไม่เกิน 3 ที่เราคิดว่าควรจะทำและทำให้เป็นรูปธรรมจริงๆ ซึ่งต้องรู้ก่อนว่าจุดแข็งของเราคืออะไร
(ดูข้อมูลเพิ่มเติม)