ThaiPublica > เกาะกระแส > Thailand SDGs Forum#2 “Business 2030 : New Normal, New Challenge – “บุญทักษ์ หวังเจริญ” สร้างวัฒนธรรมองค์กร “Make The Difference” เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Thailand SDGs Forum#2 “Business 2030 : New Normal, New Challenge – “บุญทักษ์ หวังเจริญ” สร้างวัฒนธรรมองค์กร “Make The Difference” เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

28 กรกฎาคม 2016


เนื่องด้วยมูลนิธิมั่นพัฒนา และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ตระหนักถึงการพัฒนาประเทศบนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย โดยภายหลังที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals :SDGs) ภายใต้ทิศทางการพัฒนาใหม่ จึงได้ริเริ่มโครงการ Thailand SDGs Forum ขึ้น เพื่อสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนความคิดและหาทางออกร่วมกันของการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาในไทย โดยมีเป้าหมายที่จะรวบรวมแนวคิดแนวปฏิบัติในระดับองค์กรและรวบรวมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในไทยโดยทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม อันจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในไทย

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 มูลนิธิมั่นพัฒนาร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดงาน Thailand SDGs Forum#2 Business2030: Prepare for Your Future โดยมีนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Business 2030 : New Normal, New Challenge”

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี

ยึดหลักการ “ต้องทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับทุกคน”

นายบุญทักษ์กล่าวว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สำคัญที่สุดต่อทุกๆ สังคม แล้วก็สิ่งที่ผมอยากจะแชร์กับพวกเราก็คือว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัว จริงๆ พวกเราทุกๆ คนแต่ละคนนี่มีส่วนร่วมทั้งสิ้นในการพัฒนาที่ยั่งยืน วันนี้ได้เห็นทุกท่านที่มาร่วมในจำนวนที่มาก ผมก็คิดว่าประเทศไทยน่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าครึ่งหนึ่งไปแล้ว เพราะว่าพวกเรามีความใส่ใจเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน

สิ่งที่ผมจะมาแชร์ในวันนี้ก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่ว่าคนหนึ่งคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร สิ่งที่แชร์เป็นกรณีศึกษาซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ถูก เป็นสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขต่อ หรือถ้าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อไหนก็ต้องขอโทษนะครับ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในเวลา 30 นาที

สิ่งที่อยากจะเริ่มต้นคือผมอยู่ในธุรกิจธนาคารมาตลอดชีวิต ไม่เคยทำอาชีพอื่นนอกจากธนาคาร สิ่งที่เริ่มทำก็คือในภาพใหญ่ เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ผมเป็นประธานสมาคมธนาคารไทย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มคิดว่าสมาคมควรจะมีแผน 5 ปีของเรา และแผนห้าปีของเราจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมของเรา ให้กับประเทศ

สิ่งที่เราเริ่มต้นสิ่งที่เราเริ่มต้น ก็ง่ายๆก็คือมองไปข้างหน้าว่า มองไป 5 ปี 10 ปีข้างหน้าว่า องค์ประกอบภายนอกมันจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง แล้วเราจะปรับตัวเราเองเพื่อรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในข้างหน้าได้อย่างไร อันที่เราเห็นมีองค์ประกอบเยอะแยะเลย เช่น เรื่องของประชาคมอาเซี่ยน(AEC) เรื่องของ CLMV กำลังจะเปิดกว้างขึ้น เป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งความรับผิดชอบของเราที่ประเทศไทย ซึ่งพัฒนามากกว่าจะต้องช่วยพัฒนาประเทศเหล่านั้นในการพัฒนาระบบการเงินขึ้นมา เรื่องของการที่ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจำเป็นที่จะต้องได้รับการคุ้มครองมากขึ้น เรื่องของการที่เราจะต้องให้ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ เรื่องของดิจิทัล แน่นอนดิจิทัลกำลังจะมาและจะมาอย่างเยอะมาก เรื่องของทำอย่างไรที่เราจะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

องค์ประกอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไล่ขึ้นมาว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วก็จากสิ่งที่คิดว่ากำลังจะเกิด เราก็แบ่งกลุ่มออกมาออกมาเป็นประมาณ 5 กลุ่มหลักๆ ว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จะต้องดำเนินการ

pp1

pp2

อันที่ 1 ก็คือเรื่อง More Digital คือเทคโนโลยีมันจะมาทำอย่างไรที่เราจะใช้เทคโนโลยีอันนี้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด ดิจิทัลปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้เงินสดเยอะมากและเงินสดเป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะมาก เราทำตัวเลข 10 ปี ค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายเงินสดเฉพาะระบบแบงก์อย่างเดียว ไม่พูดถึงภาคธุรกิจอื่นๆ มันประมาณ 160,000 ถึง 180,000 ล้านบาท ประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายจะเยอะมาก ทำอย่างไรที่เราจะนำเทคโนโลยีเข้ามาให้เป็นประโยชน์กับลูกค้าให้มากที่สุด ให้กับผู้บริโภคมากที่สุด ให้การทำธุรกรรมทั้งหลายใช้ดิจิทัลมันง่ายและสะดวกและมาพร้อมกับข้อมูล

หัวข้อที่ 2 คือเรื่อง More Regional ที่ว่า AEC เปิด ทำอย่างไร เราจะหมายถึงระบบธนาคารพาณิชย์จะสนับสนุนลูกค้าของเราในการที่จะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ทำอย่างไรเราจะช่วยประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาระบบการเงินระบบ Local Switching ระบบ Cheque Clearing ระบบตลาดทุน ตลาดเงิน ไม่ใช่ว่าเราจะได้ประโยชน์จากที่เขาเปิดอย่างเดียวแต่เรามีหน้าที่ช่วยประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาระบบการเงินของเขาด้วย เพราะถ้าเขาดีขึ้น เศรษฐกิจของเขาดีขึ้น มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย

อันต่อมาก็คือเรื่อง Inclusive ก็คือทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น ปัจจุบันในเรื่องของเงินฝาก 80% ของประชาชนไทยเข้าถึงบริการเงินฝาก แต่ว่าเรื่องของสินเชื่อโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมันมีประมาณแค่ 30-50% เท่านั้นที่เข้าถึงบริการทางสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ทำอย่างไรเราจะเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของการชำระเงินได้มากยิ่งขึ้น

อันถัดมาคือเรื่องของ Real Economy ทำอย่างไรที่จะสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้เรื่อง Financial Literacy ง่ายๆ คือรู้จักวิธีการออม, ออมเพื่อเกษียณ, ทำอย่างไรให้รู้จักมีวินัยทางการเงิน ไม่ให้เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว จริงๆ สิ่งที่ยากจะสอนคือว่ารู้จักหา รู้จักออม และรู้จักบริจาค

อันถัดมาก็คือเรื่องแบงก์จะมีคนอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์เป็น 100,000 คน สัมผัสผู้บริโภคทั่วประเทศ ทำอย่างไรที่เราจะควบคุมมาตรฐานของการให้บริการของระบบให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าจริงๆ ไม่บังคับขายประกันให้กับลูกค้า ประกันเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการอยู่แล้ว แต่ว่าให้ในสิ่งที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละคน

นี่ก็เป็นสิ่งที่องค์ประกอบต่างๆ กำลังจะเกิดขึ้นที่นี่

การพัฒนาที่ยั่งยืนพื้นฐานสำหรับผมมีอยู่ข้อเดียวเลย ง่ายๆ ก็คือ ต้องทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับ Stakeholders ก็คือให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

เพราะฉะนั้น อันนี้สิ่งที่เราก็เลยทำการสำรวจว่าเราทุกคนอยากได้อะไร ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับระบบธนาคารพาณิชย์อยากได้อะไร ลูกค้าก็บอกว่าเขาก็เห็นโอกาสที่จะเข้าไปขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ทำอย่างไรที่ระบบแบงก์จะมาช่วยเอื้อเรื่อง Funding เรื่อง Payment เรื่องอะไรต่างๆ, ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กบอกว่า ฉันกำลังขยายธุรกิจ แต่ว่าฉันไม่มีเงินทุนที่จะขยาย ทำอย่างไรที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ได้, Regional Bank แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศเพื่อนบ้านเขาก็อยากได้อะไรบ้าง เขาอยากได้ว่าถ้าเขามีลูกค้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ทำอย่างไรที่จะร่วมมือกับธนาคารในเมืองไทยในการให้บริการลูกค้าเขา ลูกค้าบุคคลมองว่าฉันทำธุรกรรมการเงิน จ่ายเงินทุกๆ วัน ทำอย่างไรที่จะให้จ่ายง่ายขึ้น ค่าธรรมเนียมลดลง อันนั้นคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ, Regulator แบงก์ชาติ ก.ล.ต. อยากให้ระบบธนาคารพาณิชย์รู้จักการ Self-Regulate คือนอกจากทำธุรกิจต้องรู้จักบริหารควบคุมพฤติกรรมของตัวเองว่าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าอย่างแท้จริง, นักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นธนาคารก็อยากให้เห็นการเติบโตของรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์โตขึ้นอย่างยั่งยืน

ทุกคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน บางครั้งดูเหมือนจะขัดแย้งกัน แต่ในความเชื่อผม ผมคิดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนเราสามารถหาทางออก ซึ่งจะทำให้เป็นสิ่งที่ win-win situation สำหรับทุกๆ คน จากนั้นมาเราก็พัฒนา นี่คือส่วนหนึ่งของการทำแผนห้าปี

Key Principles ง่ายๆ มีอยู่ 3 ข้อบอกว่าแบงก์ทั้งหลาย เราจะต้องร่วมมือกันในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ระบบการชำระเงินต่างๆ โครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัลต่างๆ ซึ่งจะทำให้ทุกๆ แบงก์มาใช้และเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้ ในข้อที่ 2 ก็คือ ในขณะเดียวกันเราร่วมมือกันไม่ใช่ฮั้วกัน เราหลังจากร่วมมือกันสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เราต้องแข่งขันกัน เพื่อสร้างสิ่งที่แตกต่างที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า และสิ่งที่จะทำมันมีเยอะมาก เพราะฉะนั้น ต้อง Prioritize โดยคอนเซปต์ผมง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราวางแผนที่จะทำอะไรเกิน 5 อย่าง มันจะไม่สำเร็จสักอย่าง

ถึงเวลา “Contribute back to the society”

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี

เพราะฉะนั้น จึงออกมาเป็น 5 ธีม หลักๆ ว่านี่คือสิ่งที่ระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยต้องทำ

1) Digitization คือทำดิจิทัลแบงกิ้งให้เกิดในเรื่องของเกี่ยวกับระบบการชำระเงิน โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน
2) Financial Inclusion คือการที่ให้ประชาชนทุกๆ คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก
3) Contribute back to the society ทำอย่างไรที่เราจะคืนกลับให้กับสังคมได้
4) เตรียมตัวของสมาคมให้พร้อมสำหรับเออีซี

และในทั้ง 4 เรื่องนี้มันจะไปเกี่ยวข้องเสมอกับเรื่องของกฎหมายที่เก่าแกที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาไปข้างหน้ามีอะไรบ้าง? กฎหมายที่ขัดแย้งกันมีอะไรบ้าง? นั่นเป็นสิ่งที่ต้องปรับต้องแก้ไขทั้งหมด

หากมาลงรายละเอียดในแต่ละอัน ใน Digitization ตอนนั้นประมาณ 2 ปีที่แล้วประมาณปี 2557 เราก็เริ่มต้นในสิ่งที่เรียกว่า Payment Service Office ในสมาคม เป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ดูเรื่องการพัฒนาระบบการชำระเงินต่างๆ ให้เกิดขึ้น เช่น ที่พวกเราตอนนี้จะได้ยินอย่างมาก เรื่องพร้อมเพย์, เรื่อง Chip and PIN Card, เรื่อง Chip Card บัตรเอทีเอ็ม ซึ่งมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น ในปลายปีจะมีเรื่องของ Dabit Card จะมีเรื่องของการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้น เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของการใช้ดิจิทัลแบงก์กิ้ง ลดการใช้เงินสด

ส่วนหัวข้อถัดมาก็คือเรื่อง Financial Inclusion ที่ว่าทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินปัจจุบัน 80% มีเงินฝากแต่การชำระเงินก็ไม่สะดวก พร้อมเพย์ที่ออกมาจะมีเรื่องของการโอนเงินเข้าเลขบัตรประชาชนได้ ซึ่งชาวบ้านในต่างจังหวัดก็จะได้ประโยชน์จากอันนี้ เงินช่วยเหลือจากภาครัฐก็สามารถโอนเข้าไปที่เลขบัตรประชาชนได้ เข้าถึงมือของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างเต็มที่ หรือเงินโอนให้เพื่อนฝูงญาติพี่น้อง แทนที่จะโอนเข้าเลขที่บัญชีก็โอนเข้าเบอร์มือถือได้ อันนี้คือพัฒนาเรื่องระบบการชำระเงินต่างๆ ในภาคธุรกิจ ในที่สุดก็จะมีเรื่องของทำอย่างไรให้ระบบการชำระเงินมาพร้อมกับข้อมูล ซึ่งเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพ

อันหนึ่งที่สำคัญมากคือเรื่องของการเข้าถึงเงินทุน เอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่ว่าจ้างงาน 80% ของประเทศ จำนวนเอสเอ็มอีมีประมาณ 3,000,000 รายได้ประเทศ แต่เข้าถึงบริการทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ได้ประมาณ 700,000 ราย ขณะที่ประมาณ 2,000,000 รายเข้าไม่ถึง ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีเหล่านั้นสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ได้ดีขึ้น มีตั้งแต่เรื่องของ บสย. ที่มาค้ำประกันสินเชื่อทำให้ธนาคารกล้าปล่อยในช่วงแรกก่อน เพราะเอสเอ็มอีไทยข้อมูลทางการเงินยังไม่ชัดเจน ระบบของธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ได้ชัดเจน แต่การมี บสย. มาค้ำในช่วงแรกก็ช่วยให้เราเข้าใจถึงสถานะของลูกค้า แต่ต่อๆ ไปก็อาจจะใช้ บสย. น้อยลงๆ

หรือกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งลูกค้าเอสเอ็มอีสามารถเอาสินค้าคงคลัง, ลูกหนี้การค้า ฯลฯ มาเป็นหลักประกันได้โดยไม่ต้องส่งมอบ อันนี้เป็นสิ่งที่เพิ่งออกมาเพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 เป็นกฎหมายที่ผมเองมีส่วนเกี่ยวข้องและเฝ้ารอมา 18 ปี กว่าจะออกมาในยุครัฐบาลชุดนี้ อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เกิด Financial Inclusion ได้

เรื่องถัดมาคือเรื่องการคืนกลับให้กับสังคม สิ่งที่เราคุยกันคือระบบธนาคารพาณิชย์ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินเยอะมาก ขายกองทุนรวม ขายประกัน ขายทุกอย่าง และถ้าเราไม่มีส่วนร่วมในการให้ความรู้ทางการเงินกับลูกค้ามันจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

เพราะฉะนั้น เรื่องการให้ Financial Literacy น่าจะเป็นหัวข้อหลักใหญ่ที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยควรทำ แล้วก็ธนาคารพาณิชย์ไทยมีทรัพยากร มี เครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ 7,000 – 8,000 สาขาทั่วประเทศ ทำอย่างไรที่เราจะใช้ทรัพยากรและเครือข่ายของเราในการที่จะให้ Financial Literacy กับประชาชนที่ว่าให้รู้จักการออม มีวินัยทางการเงิน ออมเพื่อเกษียณ เพราะประเทศไทยคนจำนวนเยอะมากไม่สามารถที่จะเกษียณได้พร้อมมีเงินที่ไม่เพียงพอ

อีกตัวหนึ่งในนั้นคือเรื่อง Code of Conduct ที่ว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีคนพนักงานเป็น 100,000 คน ทำอย่างไรให้แน่ใจว่าพนักงานทั้ง 100,000 กว่าคน เวลาให้บริการลูกค้าจะให้บริการที่ถูกต้องและเป็นธรรมกับลูกค้า เราจะเป็นองค์กรที่ Self-Regulate ซึ่งเริ่มต้นก็คือมันจะมีหน่วยงานขึ้นมาพูดเรื่อง Code of Conduct ก่อนแล้วก็มีเรื่องของการให้พนักงานทุกคน นี่เป็นแผนนะครับ ให้คนที่เข้ามาทำงานแบงก์ต้องมีสอบเรื่อง Code of Conduct เรื่อง Awareness ก่อนเริ่มต้น แล้วก็มีเรื่องของการบอกให้เข้าใจว่าที่ต้องทำมันดีกับแบงก์อย่างไร มันดีกับลูกค้าอย่างไร มันดีที่ยั่งยืนอย่างไร และต้องมีระบบมอนิเตอร์ตามหลัง อันนี้คือสิ่งที่เรียกว่าการทำ Code of Conduct ที่ดี

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี

เรื่อง AEC อย่างที่ได้เล่าไปคือเราต้องทำอย่างไรที่จะช่วยลูกค้าของเราไปลงทุนใน AEC ทำอย่างไรที่ช่วยประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาระบบ อย่างเช่นตอนนี้ประเทศลาวกำลังอยากจะตั้งระบบเหมือนกับระบบการ์ดของเราเขาเรียกว่า Switching สมาคมก็ไปช่วยเขาในการตั้งระบบ Local Switching เพื่อที่เขาจะได้มีบัตรเดบิต บัตรเครดิตใช้ในประเทศของเขา หรือเขาอยากจะออกตราสารการเงิน เนื่องจากประเทศเขามีการออมน้อย ทำอย่างไรให้เขามาออกในประเทศไทยก่อน ที่ทีเอ็มบีช่วยรัฐบาลลาวในการออกพันธบัตรรัฐบาลลาวในประเทศไทยก่อนประมาณ 4-5 ล็อตแล้ว หลังจากนั้นก็จะเริ่มกลับไปพัฒนาตลาดทุนในประเทศของเขาได้

และที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรที่เราจะฝึกฝนพนักงานของธนาคารให้สามารถมีความรู้ในการสนับสนุนลูกค้าที่ไปทำธุรกิจใน AEC และสิ่งที่เราได้รับคำเรียกร้องจากเพื่อนบ้านคือ เขาอยากจะส่งคนของเขามาฝึกฝนที่ประเทศไทยเรื่องเกี่ยวกับ Banking เราก็เป็นสิ่งที่เราน่าจะให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ ดังนั้น การที่เรามันไม่ใช่ให้กับสังคมเรา แต่กับสังคมเพื่อนบ้านเราด้วย

อันสุดท้ายก็คือ Regulatory คือกฎหมายต่างๆ เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่กฎหมายไม่ได้เปลี่ยนตาม ส่งผลทำให้เราไม่สามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ เพราะว่ากฎหมายไม่เอื้ออำนวย ตัวอย่างเช่น เช็คที่เราใช้กัน สมัยก่อนมันต้องส่งข้ามเขตเอาเช็คไปแลกกัน ตอนนี้เราเป็นภาพ ถ่ายเช็ควันนั้นเราก็แลกกันคืนนั้นแล้วก็หักบัญชีกันได้ แต่ต้องเก็บตัวเช็คอยู่ดีเพราะกฎหมายบอกว่าการฟ้องร้องต้องใช้ตัวเช็ค อันนี้แก้ไม่ได้อยู่ เรากำลังแก้อยู่ เพราะฉะนั้น พวกนี้เราต้องแก้ให้หมด เพื่อให้เราสามารถใช้อิมเมจเช็คได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หรือตัวใหญ่สุดอันนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคมากนิดนึง แต่แชร์ให้ฟังคือกฎหมายเรื่องล้มละลายและการบังคับทรัพย์จริงๆ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ คนมักมองดูว่าแบงก์จะเอาเปรียบประชาชน แต่ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์ต้องมองว่าแบงก์ทำหน้าที่เป็นตัวกระจายทรัพยากร เวลาคนเอาเงินมาฝากคือเอาทรัพยากรที่เหลือของเขามาไว้กับแบงก์ แล้วก็ไปปล่อยกู้คือเอาทรัพยากรนั้นไปกระจายแบงก์ทั่วโลก กระจายถูกกระจายผิดบ้าง ไม่เป็นไร

ปัญหาคือเวลากระจายผิด ถ้าเราไม่กระจายกลับ ไม่ Relocate ทรัพยากรที่กระจายผิด เศรษฐกิจก็จะพัง ประชาชนก็จะทุกข์ทรมาน เพราะฉะนั้นในคอนเซปต์อันนี้คือ ถ้ากระจายผิดก็จะต้องสามารถกระจายไปในทิศทางที่ถูกต้องได้มากขึ้น ได้เร็วขึ้น แต่กับกฎหมายของการฟ้องร้อง ฟ้องยึดทรัพย์ของประเทศไทย มันไม่มีประสิทธิภาพมาก ฟ้องยึดทรัพย์ใช้เวลา 5 ถึง 10 ปี เพราะฉะนั้น หมายถึงว่าทรัพยากรที่กระจายไปผิดจะเอากลับมาแล้วในใจใหม่ต้องใช้เวลา 5 ถึง 10 ปี เศรษฐกิจก็จะประสบความยากลำบาก

แต่ถ้ากฎหมายนี้ดีขึ้นคือยึดทรัพย์ได้เร็วขึ้น มันก็ต้องมีสิ่งที่เข้ามาคือล้มละลาย ล้มละลายจะต้องเป็นสิ่งที่ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะขอบอกว่าแบงก์อยากให้เขามายุ่งฉัน แบงก์ขอเวลาฉัน แบงค์อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ก่อนสักชั่วระยะเวลาหนึ่ง ให้ฉันมีโอกาสปรับตัวเอง ซึ่งถ้าเขาปรับตัวได้ทรัพยากรที่ว่ากระจายผิดก็จะกลายเป็นกระจายถูกเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า เพราะฉะนั้น กฎหมาย 2 อย่างนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเข้ามา

pp3

ในประเด็นถัดไป สิ่งต่างๆ ที่เราพูดถึงว่าเราอยากจะทำใน 5 สิ่งนี้ ถ้าเราพูดแล้วเราวัดไม่ได้ มันก็จะเป็นการพูดไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เราก็ออกมาว่าธนาคารจะต้องมี KPI ที่จะวัด เช่น KPI ของดิจิทัลบอกว่า ตัวหนึ่งในนั้นบอกว่าเราใช้อิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนต์อยู่แค่ 30% ใน 5 ปีข้างหน้าปี 2020 เราอยากให้เป็น 60-70% นี่เป็นตัวอย่าง หรือเรื่อง Inclusion เราบอกว่าปัจจุบันการเข้าถึงเงินทุนของเอสเอ็มอีอยู่ที่ประมาณ 50% เราต้องการให้เป็น 80% ใน 5 ปีข้างหน้า การที่เราปัก KPI แล้ววัดทุกๆ ปีว่าเราทำได้ตามนั้นหรือไม่ ในทุกๆ สิ่งที่เราเริ่มต้น อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราแน่ใจว่าสิ่งที่เราคิด เราทำได้จริง

อย่างที่ว่าก็คือเราทำทุกอย่างหมดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องมี Prioritization ออกมา อย่างเช่นในปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่เรามีแผนห้าปี เราก็ต้องบอกว่าต้องให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเป็น Governance ที่มาบังคับแผนห้าปีอันนี้ใน 5 ในสิ่งที่เริ่มนั้น แล้วค่อยเลือกวิธีบังคับใช้เรื่อง Payment Service Office ในปี 2558-2559 อันนี้ก็คือแผนที่กระจายออกไปในแต่ละปี ใน 5 สิ่งที่เราจะเริ่ม แบ่งออกมาเป็นย่อย 13 สิ่งแรกเริ่ม ซึ่งแต่ละ 5 สิ่งแรกเริ่มก็จะมีคนรับผิดชอบในนั้นไป

และเพื่อให้มันเกิดจริงๆ สิ่งที่เราตกลงกันก็คือว่า CEO ของแต่ละธนาคาร CEO จะรับในแต่ละเรื่องไม่ 5 เรื่อง และเป็นตัวผลักดันโดย CEO คนนั้นจะเป็นคนผลักดันเพราะว่าถ้าใช้ระดับ CEO ของแต่ละแบงก์เป็นคนผลักดัน โอกาสที่จะเกิดจะมีมาก แต่ไม่ใช่ว่า CEO คนนั้น สมมติ CEO คนนั้นมาจากแบงก์ทีเอ็มบีก็ไม่ใช่ว่าทำอยู่คนเดียว CEO คนนั้นจะเรียกสมาชิกทุกๆ แบงก์เข้ามาเป็นทีมงานที่ร่วม แล้วเราก็จะมี PMO ที่คอยตรวจสอบความคืบหน้าทุกๆ เดือน

อย่างเช่น เรื่อง Financial Inclusion จะเป็น CEO ของธนาคารกรุงเทพ เรื่อง Financial Literacy ก็จะเป็นเรื่องของ CEO ของกสิกรไทย เรื่อง Code of Conduct ก็จะเป็นธนาคารกรุงไทย เรื่อง AEC จะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ แล้วเรื่องความรู้ความสามารถของพนักงานจะเป็นของธนาคารธนชาติ ส่วนเรื่องกฎหมายต่างๆ เป็นของผม เพราะตอนนั้นผมเป็น สนช. อยู่ด้วย สิ่งที่ดีก็คือ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญเพราะฉะนั้นทุกๆ 6 เดือน CEO ทุกท่านก็จะไปรวมกันแล้วก็รายงานความคืบหน้าให้กับท่านผู้ว่า แล้วท่านผู้ว่าก็จะสอบถามเพิ่มเติมให้ความเห็นเพิ่มเติม

อันนี้เป็นสิ่งที่แชร์กับพวกเรา นี่คือทำอย่างไรที่แต่ละธุรกิจในอุตสาหกรรม มีส่วนร่วมในการที่จะทำให้อุตสาหกรรมที่ตัวเองอยู่นั้น มีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน และนั่นคือในภาพที่ใหญ่

สร้างวัฒนธรรมองค์กร “Make the Difference”

pp4

pp5

ที่นี้ขอแชร์อีกนิดนึงในภาพที่เล็กลงมาในแต่ละธุรกิจเอง อันนี้เป็นของทีเอ็มบีก็อยากจะแชร์ให้ฟัง สิ่งที่เราใช้ก็คือเป็น Brand Journey แล้วมันไม่ใช่โฆษณา ความหมายก็คืออะไรคือสิ่งที่เราจะมอบให้กับลูกค้า อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เริ่มต้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ขออนุญาตฉายหนังซ้ำ เริ่มต้นคือตอนที่เราจะช่วยสร้างคืนกลับให้กับสังคมได้ ตัวเราเองจะต้องมีความเข้มแข็งก่อน เพราะถ้าตัวเราเองอ่อนแอช่วยตัวเราเองไม่ได้ เราไม่น่าจะช่วยคนอื่นได้ อาจจะกลายเป็นภาระของสังคมด้วย

เพราะฉะนั้น ภายในเราเริ่มต้นคือเราสร้างวัฒนธรรมก่อน ทำอย่างไรให้คน 10,000 คนมีความเชื่ออันเดียวกัน คน 10,000 คนถึงจะมีศักยภาพ ไม่ใช่ว่าจะวิ่งชนกัน สิ่งที่เรากำหนดชัดๆ มีอยู่ 5 อย่างคือทุกคนต้องเห็น, ลูกค้าทุกคนต้องสามารถคุยกันได้อย่างเปิดกว้าง, รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างทุกคนต้องมุ่งสู่ความเป็นเลิศ, ทุกคนต้องรู้จักการบริหารความเสี่ยง, ทุกคนต้องมี Integrity ซึ่งในภาษาไทยแปลไม่ได้ตรงๆ แต่พอแปลได้ว่ามีคุณธรรมและจริยธรรม

“Lean” ก็เป็นระบบการทำงานของของเรา คือทำงานที่กระฉับกระเฉง ไม่ใช่เยินเย้อ ไม่ได้เอารูปแบบมากกว่าสาระ อันนี้จะทำให้เรามีความเข้มแข็ง พอเรามีความเข้มแข็งคำถามคือเราจะให้อะไรกับลูกค้า

พวกเราอาจจะเคยได้ยินก็คือแบรนด์ของเราก็คือ Make the Difference คือสิ่งที่เราจะมอบให้กับลูกค้า มันไม่ได้แปลตรงๆ ว่าทำสิ่งที่แตกต่าง มันเป็นศัพท์ที่มีความหมายทางวัฒนธรรม มันหมายถึงว่าทุกคนมีศักยภาพในการที่จะเปลี่ยนตัวเราเองให้ดีขึ้น กินอาหารดีขึ้น เปลี่ยนชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้น ใช้เวลากับเขาให้มากขึ้น ให้องค์กรดีขึ้น ให้สังคมรอบตัวดีขึ้นได้ พูดง่ายๆ คือทุกคนสามารถที่จะทำให้ถนนที่เราเดินผ่านดีกว่าก่อนที่เราเดินมา ทุกๆ คนมีศักยภาพทำได้

จากอันนั้นเป็นสิ่งที่เราใช้ในการทำ Brand จริงๆ มันเป็นสิ่งที่เราใช้ในการเปลี่ยนวัฒนธรรมในองค์กรด้วย ในทาง Brand สังเกตในช่วงที่ 7 ปีที่ผ่านมา ทีเอ็มบีออกผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่เคยมีในระบบธนาคารพาณิชย์เมืองไทย เช่น No Fee สามารถไปใช้ตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศ ทุกแบงก์ ทุกสาขาทั่วประเทศทั้งปี ไม่มีค่าธรรมเนียม อันนี้เป็นแนวคิดที่ไม่ใช่แค่ลดค่าธรรมเนียม แต่เป็นแนวคิดที่บอกว่าแบงก์ในเมืองไทยแบงก์ใหญ่ๆ ในเมืองไทยจะมีตู้เอทีเอ็มอยู่ประมาณ 8,000 ตู้ ตอนนั้นเรามีประมาณ 2,000 ตู้ ถ้าคิดแบบเดิมๆ คือไปซื้ออีก 6,000 ตู้ 3,000 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายมันมากกว่าที่ทุกครั้งที่ลูกค้าเราไปใช้ตู้แบงก์อื่นแล้วจ่ายค่าธรรมเนียมแบงก์อื่น คือมันยังถูกกว่าที่เราไปซื้อตูอีก 6,000 ตู้

เพราะฉะนั้น นี่เป็นสิ่งที่แนวคิดที่สร้างสิ่งที่มีคุณค่ากับ Stakeholders ทั้งหมด คือ หนึ่ง ธนาคารของทีเอ็มบีประหยัดกว่าที่จะไปซื้อ 6,000 ตู้ สอง ลูกค้าเราใช้ทุกตู้ได้ทั่วประเทศ สาม ธนาคารอื่นก็ยังได้ค่าธรรมเนียมจากทีเอ็มบี ทุกๆ คนดีขึ้นหมด มีคนเดียวที่ไม่ดีก็คือคนขายตู้เอทีเอ็ม แต่ที่เหลือทุกๆ คนดีขึ้นหมด นี่คือแนวคิด Make the Difference ของเรา

แล้วเราก็มีเงินฝากไม่ประจำออกมา เดิมสิ่งที่เรามีแต่ฝากประจำทั่วประเทศ เพื่อให้ดอกเบี้ยสูงต้องฝากประจำ ถอนก่อนกำหนดถูกปรับดอกเบี้ยเท่ากับบัญชีออมทรัพย์ แล้วก็บอกว่าฝากไม่ประจำบาทเดียวก็ได้ ถอนเมื่อไหร่ก็ได้ ดอกเบี้ยสูงเท่าฝากประจำ อันนี้เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เรามีบอกว่า No Slip ไม่ต้องไปเขียนสลิป ไม่ต้องไปกรอกสลิปที่สาขา แค่บอกพนักงงาน พนักงานก็พิมพ์ให้เรา

สิ่งต่างๆ ที่เราทำมาตลอดมันเป็นสิ่งที่ Make the Difference ให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าได้บริการที่ดีขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดก็คือว่ามีแบงก์ต่างๆ เริ่มเลียนแบบเรา ทำผลิตภัณฑ์แบบของเรา อันนั้นคือเป้าหมายสูงสุดของ Make the Difference ก็คือแบงก์ขนาดกลางสามารถผลักดันให้ระบบธนาคารพาณิชย์พัฒนาบริการที่ดีขึ้นได้ ไม่ใช่ว่าแบงก์ขนาดกลางทำอะไรไม่ได้ มีเฉพาะแบงก์ใหญ่ที่ทำได้

นี่คือสิ่งที่อยากให้เห็นว่าจริงๆ ทุกๆ คนมีสิทธิ์ที่จะ Make the Difference ได้ ทุกๆ คนมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

แล้วคอนเซปต์นี้ที่จะย้ายลงมาเป็นของพนักงานทั้ง 10,000 คนเราจะต้องมีดีเอ็นเอ 4 ตัว คือเรื่องคิดใหม่ทำใหม่, เรื่องคิดให้ฉลาด, เรื่องให้มันง่าย และที่สำคัญคือให้มันจริงใจ ทุกอย่างที่คิดจะต้องเป็นประโยชน์ที่แท้จริงกับลูกค้า อันนี้เป็นดีเอ็นเอ 4 ตัว เพื่อให้ทุกคนสามารถจะ Make the Difference ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน

คำถามคือ ทำอย่างไรให้พนักงานทั้ง 10,000 คน ตระหนักและเข้าถึงความรู้สึกนี้จริงๆ ทำอย่างไรให้ทุกคนรู้ว่าตัวเองทุกๆ คนมีศักยภาพในการที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

บุญทักษ์ หวังเจริญ2

อยากถามพวกเรา อยากฝากให้คิดดูว่าคนส่วนใหญ่รู้หรือไม่ว่าตัวเองมีศักยภาพในการที่จะ Make the Difference หรือคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพ หรือคนส่วนใหญ่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพแต่ไม่ใช้มัน จะเป็นประเด็นไหน? คนที่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพแต่ไม่ใช่มัน หรือคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพ

ในความเชื่อผมคือ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพ ถ้าคนรู้ว่าที่มีศักยภาพก็จะใช้มัน ดังนั้น ทำอย่างไรทำให้คนเรารู้ว่าตัวเองมีศักยภาพ นั่นคือสิ่งที่เราทำในทีเอ็มบีคือจากแนวความคิดว่าเรามีการประกอบการอยู่ในทุกๆ ชุมชนทั่วประเทศ เรามี 460 สาขาทั่วประเทศ เราก็ได้กำไรจากทุกๆ ชุมชน ทำอย่างไรที่เราจะคืนกลับมาให้ชุมชน

สิ่งที่เราทำก็คือเราตั้งสิ่งที่เรียกว่า”ไฟฟ้า” เป็นชุมชนเป็นศูนย์ให้เด็กในชุมชน เพราะเมืองไทยทุกๆ ชุมชนด้านหน้าถนนใหญ่เป็นตึกที่สวยงาม ด้านหลังจะเป็นชุมชนแออัดทั้งสิ้นทั่วประเทศเลย และเด็กในชุมชนแออัดก็ไม่มีสถานที่ที่จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ สิ่งที่เราทำก็คือเราสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในทำเลต่างๆ แล้วก็ให้เด็กในชุมชนแออัดมาใช้เวลาตอนเย็นทุกๆ เย็น แล้วก็เสาร์-อาทิตย์ มาเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับศิลปะดนตรี เรื่องเกี่ยวกับการทำครัวต่างๆ เพื่อทำให้เขาใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ รู้จักพัฒนาตนเองขึ้นมา

แล้วในคอนเซปต์ช่วงที่เราทำมา 4-5 ปี เราพบว่าการที่เราใกล้ชิดกับเด็กในชุมชน ทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาของชุมชน ตอนนั้นก็เลยมีความคิดว่าถ้าเรารู้ปัญหาของชุมชน แล้วชุมชนที่มีความเข้มแข็งอยากจะพัฒนาตนเองเรามีส่วนร่วมเข้าไปช่วยเขาได้ไหม? นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เราทำ เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว เรามีคอนเซปต์ที่เป็นอาสาสมัครของแบงก์ที่เข้าไปร่วมกับชุมชนในการช่วยพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

เช่น บางชุมชนมีพื้นที่ เราก็ไปช่วยเขา นี่ทั่วประเทศนะครับ เรื่องเป็นแปลงสาธิตสอนการปลูกพืชผักสวนครัวที่หารายได้ในเขตชุมชนนั้นนั้น หรือพวกยาสมุนไพร หรือเราไปที่เชียงใหม่มันมีป่าชื่อสันลมจอยที่อยู่ห่างตัวเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร ทางชุมชนเขาอยากให้ช่วยพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งปีนเขา เราก็ไปช่วยทำให้มันเป็นแหล่งท่องเที่ยว และชุมชนก็จะมีรายได้จากการขายของให้กับคนที่มาท่องเที่ยว

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งเราทำขึ้นแต่ละชุมชน ซึ่งวิธีการของเราก็คือเราเริ่มต้นให้พนักงานเขาจับกลุ่ม แล้วก็ระดมทุนเองด้วย แล้วไปใช้แรงงานในการทำกิจกรรมนั้นให้กับชุมชน ปีแรกเรามีแค่ 4 โครงการทั่วประเทศ มีอาสาสมัคร 900 คน พออันแรกทำไปคนที่เคยไปทำ ก็ชอบ เป็นครั้งแรกที่เขาเริ่มรู้ว่าเขามีศักยภาพในการที่จะ Make the Difference มีศักยภาพในการที่จะเปลี่ยนถนนที่เขาเดินผ่านให้ดีกว่าก่อนที่เขาเดินมาได้ ในปีถัดมา 2558 อาสาสมัครเพิ่มขึ้นเป็น 2,100 คน มี 18 โครงการ ขณะที่ปีนี้อาสาสมัครเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 คน 37 โครงการ มีการระดมทุนกันตั้งแต่จัดคอนเสิร์ต ทำเสื้อมาขาย มันทำให้แต่ละคนรู้ว่าตนเองมีศักยภาพที่คิดใหม่ๆ ได้ทำใหม่ๆ ได้

แล้วทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนส่วนรวมทำได้และทุกคนก็มีศักยภาพที่จะทำได้ (ดูข้อมูลเพิ่มเติม)

pp6

pp7