ThaiPublica > เกาะกระแส > นับถอยหลังประชามติ รธน.: “คำถามพ่วง” ประชามติ กับบทบาท ส.ว.เฉพาะกาล

นับถอยหลังประชามติ รธน.: “คำถามพ่วง” ประชามติ กับบทบาท ส.ว.เฉพาะกาล

17 กรกฎาคม 2016


ตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติ ที่มี 2 คำถามให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกากบาทเลือกคำตอบ ที่มาภาพ : http://www.ect.go.th/th/?page_id=8583
ตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติ ที่มี 2 คำถามให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกากบาทเลือกคำตอบ ที่มาภาพ: www.ect.go.th/th/?page_id=8583

บัตรออกเสียงประชามติ ที่ผู้ออกไปใช้สิทธิในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นอกจากจะต้องเจอคำถามว่า “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ทั้งฉบับ”

ยังจะเจออีกคำถามยาวๆ ที่ว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

เป็น “คำถามพ่วง” ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยการรับฟังความเห็นจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอขึ้นมา ตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 39/1 วรรคเจ็ด

สัปดาห์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ประชามติ (prachamati.org) ได้จัดกิจกรรมผ่านแฟนเพจ ให้ช่วยกัน “รีไรท์” คำถามพ่วงอันยืดยาวนี้ให้เป็นภาษาที่กระชับ ทุกคนอ่านรู้เรื่อง ซึ่งผลปรากฏว่า มีชาวเน็ตที่ร่วมกิจกรรมนี้ถึงกว่า 300 ความเห็น โดยความเห็นบางส่วนระบุว่า คำถามพ่วงที่ สนช. ตั้งมามีเนื้อหาค่อนข้างยืดยาว อ่านหลายครั้งก็ยังไม่เข้าใจ ขณะที่บางความเห็นระบุว่า ขนาดสนใจคลุกคลีกับการเมืองตลอดยังต้องอ่านหลายๆ รอบกว่าจะเข้าใจ

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้ขยายความคำถามพ่วง โดยจับโยงกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฯ มีสาระโดยสรุป 4 ประเด็น

  1. ตามร่างรัฐธรรมนูญฯ ผู้มีสิทธิเลือกนายกฯ มีเพียง ส.ส. ทั้ง 500 คน เท่านั้น แต่คำถามพ่วงจะให้ ส.ว. 250 คน มาร่วมเลือกนายกฯ ด้วย (ผ่านการใช้คำว่า “ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ”)
  1. ในบทเฉพาะกาล ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 269 กำหนดให้ คสช. เป็นผู้เลือก ส.ว. ชุดแรกทั้ง 250 คน ขณะที่ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ ส.ส. มากเกินไป จึงเป็นการยากที่จะมีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. มากกว่า 250 ที่นั่ง หรือเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (ดังนั้น คะแนนเสียงของ ส.ว. ซึ่ง คสช. แต่งตั้งจะมีความสำคัญมากในการเลือกนายกฯ-สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า)
  1. ในคำถามพ่วง “ในระหว่าง 5 ปีแรก” ให้ ส.ว. ไปร่วมกับ ส.ส. เลือกนายกฯ ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนนายกฯ ที่ ส.ว. ไปร่วมเลือกได้ แต่ตามร่างรัฐธรรมนูญฯ ส.ส. มีวาระเพียง 4 ปีเท่านั้น ดังนั้น หากประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้และคำถามพ่วง ก็จะแปลว่า ส.ว. ซึ่ง คสช. แต่งตั้งจะร่วมเลือกนายกฯ ได้อย่างน้อย 2 คน
  1. สำหรับ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ที่อ้างถึงในคำถามพ่วง ปัจจุบันยังไม่ได้จัดทำขึ้น แต่ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 275 กำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน เป็นผู้จัดทำ นอกจากนี้ มาตรา 162 ยังกำหนดด้วยว่า ครม. ชุดใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งจะต้องแถลงนโยบายซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว
[หมายเหตุ: หลังจากนี้จะขอเรียก ส.ว. ชุดแรก จำนวน 250 คน มีวาระ 5 ปี ที่ คสช. เป็นผู้สรรหา ว่า “ส.ว.เฉพาะกาล”]
ตามบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ส.ว. ชุดแรก จำนวน 250 คน คสช. จะเป็นผู้เลือกเองทั้งหมด ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000057225
ตามบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ส.ว. ชุดแรก จำนวน 250 คน จะมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เลือกเองทั้งหมด ที่มาภาพ: www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000057225

นางสิริพรรณ นกสวน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คำถามพ่วงเป็นการขอความเห็นชอบจากประชาชนเพื่อลดอำนาจของตัวเองในการเลือกผู้นำประเทศ คือนายกฯ และถ่ายโอนอำนาจนี้ไปให้กับ ส.ว. ที่มาจากการสรรหาโดย คสช. ซึ่งเป็นการตั้งคำถามแบบ “แยบยลและซ่อนกล” เอาไว้ โดยการใช้คำว่าให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกฯ

ใครตั้งคำถามพ่วง และตั้งด้วยวัตถุประสงค์อะไร ?

สำหรับเส้นทางคำถามพ่วงอันแยบยล ซ่อนกล และยืดยาวนี้ เริ่มมาจาก

  • วันที่ 1 มีนาคม 2559 ที่ประชุมร่วมกันระหว่าง คสช. กับ ครม. มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 รวม 5 ประเด็น หนึ่งในนั้นคือกำหนดให้ สนช. สามารถเสนอประเด็นคำถามเพิ่มเติม (คำถามพ่วง) ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้ โดยต้องรับฟังความเห็นจาก สปท. ก่อน
  • วันที่ 10 มีนาคม 2559 ที่ประชุม สนช. เห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว พ.ศ. 2557 สามวาระรวด
  • วันที่ 22 มีนาคม 2559 รัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติม มีผลบังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
  • วันที่ 1 เมษายน 2559 ที่ประชุม สปท. มีมติ 136:3 เสียง เห็นชอบกับประเด็นคำถามพ่วง ที่ว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ในระยะ 5 ปีแรก นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา” ตามที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท. เสนอ โดยมีสมาชิก สปท. อย่างนายคำนูณ สิทธิสมาน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ฯลฯ อธิบายสนับสนุนอย่างแข็งขัน พร้อมกับส่งมติดังกล่าวไปให้ สนช. ประกอบการพิจารณา
  • วันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ประชุม สนช. มีมติ 142:16 เสียง เห็นชอบกับประเด็นคำถามพ่วง ที่ว่า “เห็นด้วยหรือไม่ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าระหว่าง 5 ปีแรก ตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบบุคคลสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ” ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธาน เสนอ โดยมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำจากประเด็นคำถามพ่วงที่ สปท. เสนอความเห็นมา
  • 20 เมษายน 2559 ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการกำหนดวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เป็นวันที่ 7 สิงหาคม 2559 รวมถึงประเด็นคำถามหลัก และประเด็นคำถามพ่วง มีผลบังคับใช้ หลังประกาศลงในราชกิจจาฯ
คำถามพ่วง2
จุลสารการออกเสียงประชามติของ กกต. ได้อธิบายว่า ทำไมถึงต้องมีคำถามเพิ่มเติม (คำถามพ่วง) และคำถามเพิ่มเติม ถามว่าอะไร ที่มาภาพ : www.ect.go.th/th/wp-content/uploads/2016/06/referendum_booklet.pdf

สำหรับความเห็นของฝ่ายที่สนับสุนนคำถามพ่วงประชามตินี้

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท. กล่าวว่า คำถามพ่วงจะช่วยให้ ส.ว. 250 คน ไปช่วยกลั่นกรองนายกฯ ที่ไม่ฉลาด หรือประวัติไม่ดี เชื่อว่าจะช่วยแก้วิกฤติของประเทศได้จริง และทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบอย่างประเทศสากล

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปท. กล่าวว่า หากให้ ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกฯ แล้ว ย่อมมีความเป็นกลาง ถูกต้อง และเหมาะสม ตลอดจนสามารถยุติ “ปัญหาหรือข้อขัดข้อง” ในเรื่องของการเลือกบุคคลผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นนายกฯ ได้

อย่างไรก็ตาม มีเสียงเห็นแย้งจากหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง

นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต สมาชิก สปท. กล่าวว่า การกำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ว่า คำถามดังกล่าว จะเป็นคำถามเพื่อสนับสนุนหรือเอื้อให้เกิดการ “สืบทอดอำนาจ” ของรัฐบาลชุดปัจจุบันหรือไม่

นายนิกร จำนง สมาชิก สปท. ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย กล่าวว่า คำถามนี้อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนออกเสียงประชามติ “ไม่เห็นชอบ” กับร่างรัฐธรรมนูญได้ และบุคคลซึ่งถูกเลือกให้มาเป็นนายกฯ อาจไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน

ขณะที่ท่าทีของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ก็คือ พรรคเพื่อไทย (ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ เมื่อปี 2554 กว่า 15.74 ล้านเสียง) และพรรคประชาธิปัตย์ (11.43 ล้านเสียง) ต่างประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับ “คำถามพ่วง” ประชามติ นี้

หากพิจารณาจากสาระสำคัญในคำถามพ่วง จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดก็คือ “ส.ว.เฉพาะกาล” ทั้ง 250 คน ที่ทั้งหมดจะถูกคัดเลือกโดย คสช. และวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี นั่นแปลว่าจะมีโอกาสได้ร่วมเลือกนายกฯ (วาระ 4 ปี) อย่างน้อย 2 คน

นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270 ยัง “เพิ่มอำนาจ” ของ ส.ว.เฉพาะกาลเหล่านี้ นอกจากอำนาจหน้าที่ทั่วไปที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ยังรวมถึงอำนาจหน้าที่พิเศษในการผลักดันการปฏิรูปประเทศ และติดตามให้ ครม. ชุดใหม่ดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่ ครม. ชุดปัจจุบัน เป็นผู้จัดทำ

อีกเรื่องที่พึงพิจารณาก็คือ ในขณะที่เนื้อหาหลายๆ ส่วน ในบทเฉพาะของร่างรัฐธรรมนูญฯ กำหนดว่า หาก คสช. ครม. สนช. และ สปท. อยากจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จะต้อง “ลาออกจากตำแหน่ง ภายใน 90 วัน” นับแต่วันที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้มีผลบังคับใช้ (ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 263 วรรคเจ็ด, มาตรา 264 วรรคสาม, มาตรา 265 วรรคสาม และมาตรา 266 วรรคสาม)

แต่กลับไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งใดๆ เลย ถ้าอยากจะเป็น ส.ว. ที่ คสช. เป็นผู้เลือก

นั่นแปลว่า ผู้เสนอ “คำถามพ่วง” (อย่าง สนช. หรือ สปท.) ที่จะมีผลเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ ส.ว.เฉพาะกาล อาจเข้าไปเป็น ส.ว.เฉพาะกาล ได้เสียเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผลการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ด้วยว่า ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งฉบับ และจะเห็นชอบกับ “คำถามพ่วง” นี้ หรือไม่

โรดแม็ปสู่การเลือกตั้งที่ iLaw คำนวณไว้ว่า หลังวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ก็อาจต้องใช้เวลาถึงกว่า 480 วัน หรือ 16 เดือน ซึ่งแปลว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2560 ที่มาภาพ : http://www.ilaw.or.th/node/4070
โรดแม็ปสู่การเลือกตั้งที่ iLaw คำนวณไว้ว่า หลังวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ก็อาจต้องใช้เวลาถึงกว่า 480 วัน หรือ 16 เดือน ซึ่งแปลว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2560 ที่มาภาพ : www.ilaw.or.th/node/4070

หากคำถามพ่วงผ่านประชามติ จะเกิดอะไรขึ้น

ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งฉบับ และคำถามพ่วง ผ่านการทำประชามติพร้อมๆ กัน จะต้องมีการ “แก้ไขเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ” เพื่อเพิ่มเติมอำนาจของ ส.ว.เฉพาะกาล ให้สามารถเลือกนายกฯ ได้ จากเดิมที่ให้ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เป็นผู้เลือกนายกฯ

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คำนวณระยะเวลาว่า หากคำถามพ่วงผ่านประชามติด้วย จะทำให้โรดแม็ปไปสู่การเลือกตั้ง “ต้องเลื่อนไปอีกราว 60 วัน หรือ 2 เดือน” นั่นคือระยะเวลาที่ กรธ. จะต้องแก้ไขเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง 30 วัน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจพิจารณา ที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน

จากโรดแม็ปเลือกตั้งเดิม ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น “ภายใน 480 วัน หรือ 16 เดือน” หลังวันออกเสียงประชามติ หรือภายในเดือนธันวาคม 2560 แบ่งเป็น

  • เวลาทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฯ (ภายใน 30 วัน)
  • เวลาที่ กรธ. ใช้ในการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จำเป็นในการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส., พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว., พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ภายใน 240 วัน)
  • เวลาที่ สนช. ใช้ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 ฉบับ (ภายใน 60 วัน)
  • เวลาที่ กกต. ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง หลังร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้ (ภายใน 150 วัน)

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยังระบุว่า คำถามพ่วงยังอาจมีผลให้อำนาจของ คสช. ขยายออกไปอีก 8 ปี ผ่านทาง ส.ว.เฉพาะกาล ที่ คสช. เป็นผู้สรรหามาทั้งหมด

หากคำนวณระยะเวลาที่ คสช. มีอำนาจตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะรวมเป็นเวลาถึง 11 ปีเศษเลยทีเดียว !

ข้อมูลเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ พึงใช้ประกอบการพิจารณาก่อนจะ “กา” เลือก “คำตอบ” ในช่องใดสำหรับ “คำถาม” ประชามติ 7 สิงหาฯ นี้ ทั้ง 2 คำถาม เพราะจะมีผลผูกพันชีวิตของคนไทยทุกๆ คน ไปอีกหลายปีเลยทีเดียว

ที่มา ส.ว.เฉพาะกาล 250 คน “ผู้ถูกเลือก” จาก คสช.

ความจริง “ร่างแรก” ของร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งใช้เวลาถึง 4 เดือนในการจัดทำ ไม่ได้กำหนดให้มี “บทเฉพาะกาล” ให้ ส.ว. 250 คน มาจากการสรรหาโดย คสช. แต่อย่างใด

แต่กำหนดให้ ส.ว. 200 คน มาจากการคัดเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม

แต่บทเฉพาะกาลนี้ ถูกผลักดันโดย “ผู้มีอำนาจบางคน” ที่ส่งข้อเสนอมาช่วงต้นเดือนมีนาคม 2559 ก่อนที่จะครบกำหนดการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฯ ตามความเห็นและข้อเสนอแนะของฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ออกมาเป็น “ร่างสุดท้าย” สำหรับนำไปออกเสียงประชามติ ไม่ถึง 2 สัปดาห์

แม้จะอ้างว่า เป็นข้อเสนอร่วมกันขององค์กรแม่น้ำ 4 สาย ได้แก่ “คสช. – ครม. – สนช. – สปท.”

แต่แท้จริงแล้ว แม่น้ำทุกสายต่างก็ไหลออกมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน ก็คือ “คสช.”

โดยหนึ่งในข้อเสนอ เขียนไว้ชัดเจนว่า อยากให้ ส.ว. ชุดแรก 250 คน มาจากการสรรหาทั้งหมด โดยให้มีตัวแทนเหล่าทัพ รวม 6 คน เข้าไปเป็น ส.ว. โดยอัตโนมัติ

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ผู้ยืนยันว่า ส.ว. ชุดแรกต้องมาจากการสรรหาทั้งหมด ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เพราะเดิมถึงจะมี 2 สภา คือ ส.ส. และ ส.ว. แต่ก็คล้อยตามกันไปเรื่อย เพราะมาจากการเลือกตั้งด้วยกันทั้งคู่ เสนออะไรไปก็ผ่านหมด ถ้ามีสักสภามาจากการสรรหา จะได้มีคนทักท้วงได้บ้าง

ที่สุด กรธ. ก็ต้องยอมตามข้อเสนอของ คสช. แม้จะต่อรองว่า ให้สามารถเสนอรายชื่อกลุ่มอาชีพเข้าไปรับการสรรหาจาก คสช. ได้บ้าง

โดย ส.ว. กลุ่มแรกตามบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 269 หรือ “ส.ว.เฉพาะกาล” จะมีจำนวนทั้งสิ้น 250 คน มีที่มาจาก 3 กลุ่ม ซึ่งโดยสรุปเกือบ 100% จะต้องเป็นคนที่ถูก คสช. เลือก

  1. ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน มาจากเหล่าทัพต่างๆ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  2. ส.ว. ที่ คสช. คัดเลือกจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมา (ไม่เกิน 400 คน) โดยจะคัดให้เหลือ 194 คน
  3. ส.ว. ที่ คสช. คัดเลือกจากรายชื่อตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่คัดเลือกกัน (ไม่เกิน 200 คน) โดยจะคัดให้เหลือ 50 คน

หากร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ผ่านประชามติ ส.ว. ชุดแรกก็จะเป็นผู้ที่ คสช. สรรหามาเองทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องลุ้นว่า “คำถามพ่วง” จะผ่านประชามติด้วยหรือไม่!