ThaiPublica > เกาะกระแส > แบงก์ชาติแจงคำถามคาใจ “พร้อมเพย์” ปลอดภัย แค่เพิ่มช่องทาง “จองชื่อ” ใหม่ นอกจากเลขบัญชี

แบงก์ชาติแจงคำถามคาใจ “พร้อมเพย์” ปลอดภัย แค่เพิ่มช่องทาง “จองชื่อ” ใหม่ นอกจากเลขบัญชี

13 กรกฎาคม 2016


นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ภายหลังการเปิดตัวระบบการชำระเงินใหม่ของประเทศ “พร้อมเพย์” ซึ่งเป็นการใช้ “เลขมือถือ” และ “เลขบัตรประจำตัวประชาชน” มาเชื่อมโยงกับ “บัญชีธนาคาร” เพื่อให้สามารถ “รับโอนเงิน” จากเดิมที่ใช้ได้เพียง “เลขบัญชี” เท่านั้น ขณะที่ธุรกรรมโอนเงินออกจากบัญชียังคงใช้ช่องทางเดิม ไม่ว่าจะผ่าน ATM, สาขา, mobile banking, internet banking ซึ่งจะต้องมีระบบแสดงชื่อผู้รับโอน มีการยืนยันการโอนด้วยรหัสผ่านอีกครั้ง แต่หากโอนเงินผ่าน “พร้อมเพย์” ค่าธรรมเนียมการโอนจะต่ำกว่าการโอนเงินในรูปแบบปกติ

ขณะที่ความปลอดภัย ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูลที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาระบบ e-Payment เคยกล่าวว่า หลักการของพร้อมเพย์เป็นเพียงการ “จองชื่อ” ใหม่สำหรับทำธุรกรรมจากเดิมที่ต้องใช้เลขบัญชีเท่านั้น ซึ่งจดจำยากกว่า โดยไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลในมือถือหรือบัตรประชาชนแต่อย่างใด ขณะที่ตัวระบบภายในและความปลอดภัยของการโอนเงินยังคงเป็น “ระบบปิด” ภายในธนาคารเหมือนกับที่เคยเป็นมาและไม่สามารถเจาะเข้ามาจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เนื่องจากตัวระบบไม่มีการเชื่อมต่อใดๆ กับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

หากจะเจาะเข้ามาต้องเจาะผ่านหน้าธนาคารหรือต้องอาศัยความผิดพลาดจากมนุษย์ ซึ่งอาจจะเกิดจากผู้ใช้บริการหรือพนักงาน โดยส่วนของพนักงาน ธนาคารจะมีระบบตรวจสอบภายในให้สามารถตรวจสอบป้องกันการโกงได้ แต่ในส่วนของผู้ใช้บริการจะต้องมีความระมัดระวัง เช่น การตั้งรหัส การเก็บรักษารหัส เป็นต้น (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

promptpay10

promptpay8

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงความกังวลของประชาชนที่มีต่อระบบพร้อมเพย์ว่า ระบบพร้อมเพย์เป็นบริการทางเลือกใหม่ให้ประชาชน ธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ ใช้ในการรับเงินและโอนเงิน เพิ่มเติมจากการรับโอนเงินแบบเดิม โดยจะจ่ายค่าบริการที่ถูกลง

ขั้นตอนการลงทะเบียนและใช้งาน “พร้อมเพย์”

promptpay11

promptpay12

promptpay6

promptpay7

ในประเด็นความปลอดภัย นางฤชุกรกล่าวว่าธนาคารพาณิชย์ได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการพร้อมเพย์เป็นอย่างดีแล้ว แต่ในส่วนการใช้งานของประชาชนอาจจะยังมีช่องว่าง ซึ่งควรมีความระมัดระวังเพิ่มเติมด้วย เช่น การตั้งรหัสไม่ควรง่ายเกินไป, ไม่บอกรหัสกับผู้อื่นหรือเขียนเอาไว้ในที่เปิดเผย, ควรระมัดระวังรักษาอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ ที่ใช้เชื่อมต่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับระบบพร้อมเพย์เป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้ผู้อื่นเอาไปใช้งาน เช่นเดียวกับการดูแลบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็ม และผู้โอนเงินควรเรียนรู้ ศึกษา วิธีการใช้งานอย่างปลอดภัย เช่น การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนการยืนยันการโอนเงิน หรือการดัดแปลงมือถือต่างๆ หากความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของผู้ใช้บริการ ธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่รับผิดชอบความเสียหายได้(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ขณะที่ประเด็นเรื่องของความเป็นส่วนตัว สถาบันการเงินอยู่ภายใต้การกำกับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มาตรา 154 “ผู้ใดล่วงรู้กิจการของสถาบันการเงินใดเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมายหรือเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมาย อันเป็นกิจการที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” โดยที่ผ่านมา ธปท. ระบุว่ายังไม่เคยเกิดกรณีดังกล่าว แต่หากมีสามารถร้องเรียนมาที่ ธปท. ได้

ขณะที่ประเด็นว่าบัตรประชาชนซ้ำกัน นางฤชุกรกล่าวว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะระบบการออกเลขที่บัตรของกระทรวงมหาดไทยถูกกำหนดให้ซ้ำกันไม่ได้ แต่ในกรณีของนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดาอาจจะมีซ้ำอยู่ ซึ่งต้องจัดการในระยะต่อไป แต่เบื้องต้นระบบพร้อมเพย์จะเปิดสำหรับการโอนเงินระหว่างบุคคลธรรมดาก่อน

ทั้งนี้ เบื้องต้นมีผู้มาลงทะเบียนล่วงหน้าจำนวน 9.7 ล้ายรายแล้ว ประกอบด้วย บัตรประชาชน 8.1 ล้านราย และมือถืออีก 1.6 ล้านราย โดยจำนวนที่แน่นอนต้องรอให้ระบบกลางเปิดในวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ก่อน เนื่องจากอาจจะมีการลงทะเบียนซ้ำ 1 ไอดีมากกว่า 1 บัญชีต่างธนาคารกัน แต่เบื้องต้นแต่ละธนาคารสามารถตรวจสอบไม่ให้ซ้ำกันได้

อ่านรายละเอียดการชี้แจง “พร้อมเพย์” ของธปท.

promptpay7 promptpay8 promptpay9