ThaiPublica > คอลัมน์ > ทัศนะและคำตอบจากหนังสือชื่อ How Asia Works ทำไมบางชาติในเอเชียเลื่อนชั้นสู่ “พรีเมียร์ลีก”

ทัศนะและคำตอบจากหนังสือชื่อ How Asia Works ทำไมบางชาติในเอเชียเลื่อนชั้นสู่ “พรีเมียร์ลีก”

29 กรกฎาคม 2016


ปรีดี บุญซื่อ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนญี่ปุ่นนับล้านๆ คนไม่มีบ้านพักอาศัยเพราะการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร การผลิตอุตสาหกรรมมีเพียงเสี้ยวหนึ่งของการผลิตก่อนสงคราม มีคนญี่ปุ่น 5 ล้านคนว่างงาน การฟื้นตัวเศรษฐกิจยากลำบากมากขึ้นไปอีก เพราะญี่ปุ่นเป็นชาติที่ขาดแคลนวัตถุดิบอุตสาหกรรมแทบจะทุกอย่าง สงครามเกาหลีปี 1950 ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมาบ้าง เพราะกองกำลังสหประชาชาติใช้ญี่ปุ่นเป็นฐานปฏิบัติการส่วนหน้า แต่เศรษฐกิจมาพุ่งทะยานขึ้นอย่างจริงๆ ในปลายทศวรรษ 1950

ในช่วงระยะเวลาจาก 1955-1973 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตเฉลี่ยปีหนึ่งมากกว่า 10% แค่ระยะเวลา 20 ปี จาก 1950-1970 เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีขนาดเพิ่มขึ้น 20 เท่าตัว ปี 1968 ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก แซงหน้าเยอรมัน

อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นพัฒนาล้ำหน้ามากสุดแห่งหนึ่งในโลก ในช่วงทศวรรษ 1950 สินค้า “made in Japan” แปลว่า “ของถูก” แต่ญี่ปุ่นก็ยกระดับการผลิตอย่างรวดเร็ว จากสิ่งทอและอุตสาหกรรมเบาอื่นๆ ไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ล้ำหน้าสำหรับผู้บริโภค

howasiaworks 2 (1)

ทรานซิสเตอร์ที่คิดค้นโดยบริษัท Bell Laboratories ในปี 1948 แต่ Sony ซื้อเทคโนโลยีนี้มาปรับปรุงเพื่อผลิตวิทยุแบบพกพา จนญี่ปุ่นกลายเป็นเจ้าตลาดวิทยุทรานซิสเตอร์ ปี 1957 รถยนต์ชื่อ Toyopet ของ Toyota ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก พอถึงปี 1981 ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของโลก และก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ช่วงปลายๆ ทศวรรษ 1980 ที่ดินของ Imperial Palace ในกรุงโตเกียวมีมูลค่าพอๆ กับที่ดินทั้งหมดในรัฐคาลิฟอร์เนีย มีเรื่องตลกที่เล่ากันว่า ถ้าเอาพันธบัตรราคาแพงสุด 10,000 เยน มาพับแบบอัดแน่นสุด แล้วทิ้งลงบนถนนกินซ่า ค่าเงินก็ยังไม่พอกับค่าที่ดินในพื้นที่ที่พันธบัตรตกลงไป

“รัฐพัฒนา”

ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองเรียกว่า “รัฐพัฒนา” (Developmental State) ที่ต่อมาประเทศอื่นๆ อย่าง เกาหลีใต้ และไต้หวัน รวมทั้งจีน นำแนวคิดนี้ไปใช้ จนสามารถยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมรายได้สูง กลายเป็นสมาชิก “ชมรมประเทศร่ำรวย” ทั้งๆ ที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รายได้ต่อคนของเกาหลีใต้เท่ากับคนเอธิโอเปีย

ในหนังสือชื่อ How Asia Works: Success and Failure in the World’s Most Dynamic Region (Profile Books, 2013) ผู้เขียนคือ Joe Studwell กล่าวไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน และจีนในปัจจุบัน เกิดจากบทบาทของ “รัฐพัฒนา” ที่กำหนดแนวทางการแทรกแซงของรัฐ 3 ด้าน คือ การปฏิรูปที่ดิน การพัฒนาอุตสาหกรรม และการกำหนดทิศทางระบบการเงินธนาคาร ทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถก้าวพ้นจากชาติยากจนสู่ชาติมั่งคั่ง ขณะที่ประเทศเอเชียอื่นๆ มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน และอาจมีทรัพยากรมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้มีนโยบายแบบเดียวกันนี้ แม้ช่วงหนึ่งจะบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว แต่ก็ไม่สามารถรักษาภาวะนี้ได้อย่างยั่งยืน

มองในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในระยะที่ผ่านมา สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นใน ฮ่องกงและสิงคโปร์ ที่เป็นเกาะศูนย์กลางการเงิน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้เกิดแนวคิดแตกต่างกันเรื่องแนวนโยบายรัฐต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ธนาคารโลกนำตัวอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วของบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าเกิดจากนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม ที่รัฐเข้าแทรกแซงน้อยสุด ความคิดดังกล่าวนี้ ต่อมาเรียกกันว่า “ฉันทานุมัติวอชิงตัน” คือการจับมือกันระหว่าง ธนาคารโลก กองทุน IMF และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ผลักดันว่า นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม เหมาะสมกับทุกสภาพเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมีขั้นตอนการพัฒนาลำดับไหนก็ตาม

ตราบใดที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว การแตกต่างในนโยบายของรัฐเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงโต้แย้งกันอยู่ ไม่มีผลสรุปชัดเจน ในต้นทศวรรษ 1980 เกิดวิกฤติหนี้สินในลาตินอเมริกา บราซิลที่เคยเป็นตัวอย่างประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูงในทศวรรษ 1960 และ 1970 กลายเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า เป็นเรื่องอันตรายขนาดไหน หากจะวัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจากอัตราการเติบโตสูงอย่างเดียว เมื่อเกิดวิกฤติหนี้สินในลาตินอเมริกา เศรษฐกิจบราซิลพังลงทันที ค่าเงินตกฮวบ เงินเฟ้อพุ่งสูง และเป็นเวลาหลายปีต่อมาที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตรา 0% เพราะปรากฏว่า การเติบโตของบราซิลที่แล้วๆ มา เกิดจากการสร้างหนี้สิน ที่ไม่ได้นำไปลงทุนสร้างผลิตภาพของเศรษฐกิจ ที่จะสามารถแข่งขันได้อย่างแท้จริง

เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียปี 1997 ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจที่แกร่งกล้าแล้ว ส่วนเศรษฐกิจเกาหลีใต้และไต้หวันยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเพื่อไล่ตามบรรดาประเทศเหล่านี้ บางประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเลย หรือหากได้รับผลกระทบ ก็สามารถฟื้นตัวรวดเร็ว กลับคืนสู่การเติบโตอย่างแข็งขัน และก้าวรุดหน้าด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ล้วนประสบภาวะวิกฤติที่รุนแรง แบบเดียวกับที่บราซิลเคยเผชิญมาก่อน

ที่มาภาพ : http://www.mysinchew.com.my/files/mysinchew_bookcover.jpg
ที่มาภาพ : http://www.mysinchew.com.my/files/mysinchew_bookcover.jpg

Joe Studwell เขียนไว้ว่า วิกฤติเศรษฐกิจทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นโยบายการพัฒนาและแทรกแซงของรัฐด้านเศรษฐกิจทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความสำเร็จในระยะยาวกับความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชีย สำหรับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน การปฏิรูปด้านการเกษตรที่ต่างอย่างสิ้นเชิงจากสภาพเดิมๆ การสร้างความทันสมัยให้กับการผลิตอุตสาหกรรม และการกำหนดให้ระบบการเงินต้องรับใช้เป้าหมาย 2 อย่างนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ชนิดที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศเหล่านี้จะถอยหลังกลับสู่ยุคต้นๆ ของการพัฒนา

ส่วนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลไม่ได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปการเกษตร ไม่ได้สร้างบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตที่แข่งขันได้ในระดับโลก และยังไปยอมรับคำแนะนำจากองค์กรระหว่างประเทศ ให้เปิดเสรีภาคธุรกิจการเงิน ทั้งๆ ที่การพัฒนาของตัวเองยังอยู่ในระยะแรกๆ นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นชื่อ Yoshiharu Kunio เคยเตือนไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ว่า ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเสี่ยงที่จะเป็นแค่ ประเทศกำลังพัฒนาที่ “ด้อยเทคโนโลยี”

การปฏิรูปที่ดิน

ทำไมนโยบายเรื่องที่ดินทำกินจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาก Joe Studwell อธิบายว่า ประเทศที่อยู่ในช่วงต้นๆ การพัฒนา ประชากร 3 ใน 4 ทำงานในภาคเกษตร และอยู่อาศัยทำกินบนที่ดิน กรณีของญี่ปุ่น แม้จะเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ทศวรรษ 1870 ในสมัยเมจิ แต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แรงงานในญี่ปุ่นกว่าครึ่งหนึ่ง ยังทำงานด้านการเกษตร ในเมื่อมีทรัพยากรมนุษย์รวมศูนย์อยู่ที่ภาคเกษตรกรรม ประเทศที่ยังยากจนมีโอกาสทองทางเศรษฐกิจที่รออยู่ข้างหน้า ในอันที่จะหาทางเพิ่มผลผลิตในภาคเศรษฐกิจส่วนนี้

สำหรับประเทศที่การพัฒนาอุตสาหกรรมยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ปัญหาหลักๆ ของการเกษตรอยู่ที่ว่าประชากรเพิ่มขึ้นอย่างเร็ว หากปล่อยให้การผลิตด้านการเกษตรเป็นไปตามกลไกตลาด ผลผลิตจะตกต่ำหรือคงตัว เพราะความต้องการด้านที่ดินจะเพิ่มมากขึ้น เจ้าของที่ดินจะเก็บค่าเช่าแพงขึ้น นอกจากนี้ ยังหากินกับการปล่อยกู้นอกระบบเก็บดอกเบี้ยแพง ชาวนาเช่าที่ดินทำกินจึงขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนเพื่อให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เพราะต้องแบกรับภาระด้านค่าเช่า หนี้เงินกู้ รวมทั้งที่ดินทำกินก็ไม่มั่นคง

เครื่องมือสำคัญที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันนำมาดำเนินการคือการปฏิรูปที่ดิน ในกรณีของญี่ปุ่น การปฏิรูปที่ดินเกิดขึ้น ถือเป็นผลงานของนายพล Douglas MacArthur ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังพันธมิตร ที่ยึดครองญี่ปุ่น โดยสั่งการให้รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอแผนการปฏิรูปที่ดินชนบทต่อกองกำลังพันธมิตร ในที่สุด รัฐสภาญี่ปุ่นก็ผ่านกฎหมายปฏิรูปที่ดินในปลายปี 1945

สาระสำคัญคือจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 3 เฮกเตอร์ (ประมาณ 18 ไร่) ไม่ให้มีการถือครองที่ดินที่ตัวเองไม่ได้ทำกิน หรือ absentee landlord รับซื้อที่ดินคืนจากคนที่ถือครองเกินกฎหมายกำหนด โดยจ่ายในรูปพันธบัตรระยะเวลา 30 ปี มีครอบครัวที่เสียประโยชน์จากการปฏิรูปที่ดิน 2 ล้านครอบครัว แต่ที่ได้ประโยชน์ 4 ล้านครอบครัว

สำหรับญี่ปุ่นแล้ว การปฏิรูปที่ดินที่เป็นไปอย่างราบรื่นสันติ ทำให้เศรษฐกิจชนบทรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง ชนบทกลายเป็นตลาดรองรับการผลิตด้านอุตสาหกรรม รถกระบะขนาดเล็กของ Toyota และ Nissan หรือ รถมอเตอร์ไซด์ขนาด 50CC ของ Honda ล้วนผลิตขึ้นมาในตอนแรก เพื่อสนองตลาดในประเทศ คือลูกค้าในชนบทของญี่ปุ่น ต่อมาจึงจะส่งออกขายในตลาดโลก Charmers Johnson เขียนไว้ใน MITI and the Japanese Miracle หนังสือคลาสสิกเรื่องการพัฒนาของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกว่า ในทศวรรษ 1960 มีเพียงวิทยุทรานซิสเตอร์และกล้องถ่ายรูปที่เป็นสินค้าส่งออกของญี่ปุ่น ที่ไม่ได้อาศัยการขายตลาดในประเทศมาก่อน ดังนั้น หากไม่มีการเพิ่มขึ้นของผลผลิตจากเศรษฐกิจดั้งเดิมด้านการเกษตร ก็แทบจะไม่มีตลาดในประเทศที่จะรองรับผลผลิตอุตสาหกรรมสมัยใหม่

นักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่า การทำการเกษตรแบบที่ดินแปลงขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย ยางพารา หรือต้นปาล์ม แต่ Joe Studwell บอกว่า การเพาะปลูกพืชเกษตรที่เป็นอาหารหลัก จะได้ผลผลิตต่อหน่วยมากสุด เมื่อทำการผลิตในพื้นที่ต่อครัวเรือน เพราะพื้นที่เพาะปลูกจะได้รับการดูแลอย่างดี เหมือนกับที่คนเราดูแลการเพาะปลูกผักผลไม้ในสวนของเราเอง การทำการเกษตรแบบที่ดินแปลงใหญ่ในประเทศสังคมนิยมก็เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความล้มเหลว แน่นอนว่า การเกษตรแปลงเล็กแปลงน้อยไม่เหมาะกับพืชเศรษฐกิจหลายอย่าง ทั้งนี้ เพราะการดูแลพืชแต่ละอย่างแตกต่างกัน

การพัฒนาอุตสาหกรรม

howasiaworks-4

นโยบายด้านเกษตรสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพราะแรงงานคนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แต่ลำพังการอาศัยการผลิตด้านเกษตรกรรมอย่างเดียวไม่สามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มพัฒนาจึงต้องยกระดับการพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นตอนหนึ่ง จากประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ขั้นตอนนั้นคือการพัฒนาอุตสาหกรรม แม้ทุกวันนี้ เศรษฐกิจภาคบริการจะมีบทบาทนำในประเทศร่ำรวยแล้วก็ตาม สำหรับประเทศยากจนหรือกำลังพัฒนา การผลิตด้านอุตสาหกรรมยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าฐานะเศรษฐกิจประเทศของตัวเอง

Joe Studwell เขียนไว้ว่า มีเหตุผล 2 ประการที่การผลิตด้านอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนารายได้ต่ำ

ประการแรก การผลิตด้านอุตสาหกรรมที่อาศัยเครื่องจักร ทำให้ประเทศยากจนสามารถแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญสุดในช่วงต้นการพัฒนาเศรษฐกิจ คือการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือในการผลิต แต่ผู้ประกอบการสามารถลงทุนในอุตสาหกรรมที่อาศัยแรงงานไร้ฝีมือหรือกึ่งๆ มีฝีมือแทน คนงานสามารถฝึกฝนแบบขั้นต่ำ แล้วค่อยไปเรียนรู้ระหว่างการทำงาน จุดนี้เองที่แตกต่างจากธุรกิจภาคบริการบางอย่าง ที่คนทำงานต้องได้รับการฝึกฝนเรียนรู้มาก่อน จึงจะสามารถทำงานได้ เช่น ธุรกิจ Call Center เป็นต้น

ประการที่สอง การผลิตด้านอุตสาหกรรมมีความได้เปรียบกว่าธุรกิจภาคบริการ สินค้าอุตสาหกรรมสามารถส่งไปขายทั่วโลกอย่างเสรีมากกว่าธุรกิจบริการ ผู้ผลิตสามารถส่งสินค้าไปขายที่ไหนในโลกก็ได้ แต่การค้าบริการมีอุปสรรคมากกว่า ธุรกิจ Call Center หรือ Software อาจจะขายผ่านสายโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต แต่ธุรกิจบริการอื่นๆ ส่วนใหญ่ ต้องมีเรื่องการเดินทางของคนซื้อบริการมาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียเวลาและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในทางปฏิบัติ แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะรวบรวมกล้องถ่ายรูปจำนวนหนึ่งแล้วส่งไปซ่อมที่ญี่ปุ่น ในทางการเมืองก็มีอุปสรรคเรื่องการค้าเสรีภาคบริการ เพราะการค้าเสรีธุรกิจบริการอย่างแท้จริงจำเป็นต้องให้แรงงานเคลื่อนย้ายเสรีด้วย พวกที่ประกาศว่านิยมการค้าเสรี พอมาถึงจุดที่ต้องให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีแล้ว จะไม่เอาด้วยทันที

การผลิตด้านอุตสาหกรรมเพื่อการค้าเป็นแรงขับเคลื่อนการเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ปัญหาท้าทายต่อคนที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจรัฐคือ ทำอย่างไรจะกำหนดทิศทางการลงทุนของผู้ประกอบการให้มุ่งไปที่การผลิตด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยให้น้ำหนักเรื่องการแข่งขันในตลาดโลก โดยทั่วไป รัฐให้การดูแลอุตสาหกรรมการผลิตอยู่ 2 อย่าง คือ การคุ้มครองและการอุดหนุน อย่างที่ Ha-Joon Chang นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาที่มีชื่อของเกาหลีใต้กล่าวไว้ว่า การลงทุนของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเรียนรู้การผลิตด้านอุตสาหกรรม ก็เหมือนกับการลงทุนของผู้ปกครองในเรื่องการศึกษาของลูกหลานตัวเอง

Joe Studwell กล่าวว่า ทุกประเทศในเอเชียล้วนให้การโอบอุ้มการผลิตด้านอุตสาหกรรม แต่ทว่า มีเพียงประเทศเอเชียเหนือเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ เพราะมีมาตรการที่เขาเรียกว่า “วินัยการส่งออก” การอุดหนุนของรัฐและการปกป้องตลาดที่ให้อุตสาหกรรมใดหนึ่งขึ้นกับความสามารถในการส่งออก มาตรการนี้ทำให้รัฐบาลประเทศนั้นๆ รู้ว่าบริษัทผู้ผลิตอุตสาหกรรมไหนไปได้หรือไปไม่ได้ ในเกาหลีใต้ บริษัทที่ส่งออกต้องรายงานผลการส่งออกทุกเดือน หากบริษัทใดหนึ่งไปไม่รอด รัฐจะเข้ามาแทรกแซงที่เรียกว่า การจัดระเบียบอุตสาหกรรม หรือ industrial rationalization คือบังคับให้บริษัทผู้ผลิตที่อ่อนแอไปรวมกับบริษัทที่แข็งแกร่งกว่า ขณะเดียวกันก็มีหลายบริษัทที่ประสบความสำเร็จด้วยตัวเองในเรื่องการผลิตเพื่อส่งออก เช่น Sony และ Honda ของญี่ปุ่น Acer และ HTC ของไต้หวัน

มาตรการสนับสนุนของรัฐต่ออุตสาหกรรมในเอเชียเหนือ สะดวกคล่องตัวมากขึ้น เมื่อการตัดสินใจเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมหลักๆ และการค้าต่างประเทศมารวมอยู่ที่หน่วยงานรัฐแห่งเดียว คือ กระทรวงการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรม หรือ MITI ที่ลือชื่อของญี่ปุ่น คณะกรรมการวางแผนเศรษฐกิจ (Economic Planning Board-EPB) ของเกาหลีใต้ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Development Bureau-IDB) ของไต้หวัน และคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission-NDRC) ของจีน บทบาทของหน่วยงานรัฐในเรื่องนี้สำคัญมาก หนังสือ MITI and the Japanese Miracle ของ Chalmers Johnson ที่โด่งดัง เขียนเรื่องบทบาทของกระทรวง MITI ที่สร้างความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจให้กับญี่ปุ่น ช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมของเอเชียเหนือยังอาศัยปัจจัยสำคัญทางการเมือง Yoshida Shigeru คือนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งหลังสงครามโลก และมีบทบาทสำคัญทำให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มีเรื่องเล่ากันว่า Yoshida กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกว่า เป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นแม้จะเป็นผู้แพ้ในยามสงคราม แต่ยังสามารถเป็นผู้ชนะได้ในยามสันติ Yoshida เป็นผู้นำที่กำหนดแนวทางการพัฒนาหลังสงครามโลกให้กับญี่ปุ่น ที่เรียกกันว่า Yoshida Doctrine ที่มีสาระสำคัญว่า นับจากนี้ต่อไป ญี่ปุ่นจะมอบภาระหน้าที่การป้องกันประเทศให้สหรัฐฯ เป็นผู้ดูแล ญี่ปุ่นจะอาศัยประโยชน์จากการเมืองระหว่างประเทศที่แบ่งเป็น 2 ค่าย มาเอื้อประโยชน์ในการฟื้นตัวและพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ระบบการเงินธนาคาร

สำหรับประเทศที่การเกษตรยังเป็นเศรษฐกิจหลัก นโยบายปฏิรูปที่ดินมีความสำคัญ เพราะครัวเรือนเกษตรกรมีที่ดินทำกินของตัวเอง เป็นวิธีการเพิ่มผลผลิตการเกษตรได้เร็วสุด นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นมามีความสำคัญเพราะเป็นหนทางเร็วสุดที่จะยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้มีกิจกรรมสร้างมูลค่าสูงขึ้น นโยบายการเงินธนาคารมีความสำคัญ เพราะสามารถมุ่งเป้าการใช้ทรัพยากรที่จำกัดด้านเงินทุน ไปสู่เป้าหมาย 2 อย่างที่ว่ามา

Joe Studwell กล่าวว่า รัฐบาลประเทศในเอเชียเหนือ ตระหนักเป็นอย่างดีถึงความจำเป็นที่ระบบการเงินจะต้องให้การสนับสนุนการทำการเกษตร ที่สามารถทำให้ผลผลิตโดยรวมได้ปริมาณสูงสุด มากกว่าการลงทุนที่หวังผลตอบแทนสูงสุดจากการผลิตการเกษตรแบบทุนนิยมขนาดใหญ่ เห็นความจำเป็นที่ต้องมีนโยบายการเงินที่มุ่งลงทุนในอุตสาหกรรม โดยชะลอการหาผลกำไรระยะสั้นออกไปก่อน จนกว่ากระบวนการเรียนรู้ด้านการผลิตอุตสาหกรรมจะมีทักษะสูงขึ้นระดับหนึ่ง พูดอีกแบบหนึ่ง นโยบายการเงินที่ยอมรับผลตอบแทนต่ำในระยะสั้นจากการลงทุนด้านอุตสาหกรรม เพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่จะสามารถให้ผลตอบแทนสูงในอนาคต

ในปี 1945 หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม นายพล Macarthur ดำเนินการรื้อระบบการเงินของญี่ปุ่นใหม่ ยกเลิกระบบสถาบันการเงินที่คนไม่กี่ตระกูลเป็นเจ้าของ ที่เรียกกันว่ากลุ่ม Zaibatsu เห็นชอบการตั้งกระทรวงการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรม หรือ MITI ทำให้ระบบการเงินที่สร้างขึ้นใหม่สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมที่นำโดยรัฐ MITI จึงมีอำนาจอิทธิพลกำหนดแนวทางการปล่อยสินเชื่อของธนาคารและการจัดสรรเงินตราต่างประเทศว่าจะใช้ไปกับอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายอะไรบ้าง ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นใหม่ ที่มักเรียกกันว่า “ระบบธนาคารใหญ่” ( main bank system) เช่น Fuji Sanwa Daiichi Mitsui Mitsubishi และ Sumitomo มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิสาหกิจแบบใหม่ ที่มีธนาคารเป็นศูนย์กลาง เรียกว่า Keiretsu ธนาคารสามารถถือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตัวเองปล่อยกู้ และส่งคนเข้าไปบริหาร ความสัมพันธ์แบบระยะยาวระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน การยกระดับด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

Joe Studwell กล่าวสรุปว่า เมื่อมองย้อนกลับไป ความสำเร็จการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียเหนือ คือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และลำดับต่อไปคือจีน มาจากนโยบายง่ายๆ 3 ด้าน คือ การเกษตรแบบครัวเรือน การผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก และ ระบบการเงินที่สนับสนุนเป้าหมาย 2 ประการดังกล่าว คำถามมีอยู่ว่า ประเทศอื่นๆ ในเอเชียยังมีโอกาสหลงเหลืออยู่หรือไม่ ที่จะใช้การพัฒนาอุตสาหกรรมมายกระดับเศรษฐกิจตัวเองให้เป็นประเทศรายได้สูง

Joe Studwell กล่าวไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ ซึ่งมีความหมายสำคัญว่า ทุกวันนี้ ประเทศที่มีรายได้สูง ธุรกิจบริการกลายเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่มีบทบาทนำ การผลิตทางอุตสาหกรรมที่มีอยู่ก็ใช้แรงงานน้อยลง แต่สามารถมีผลิตผลมากขึ้น เพราะประสิทธิภาพการผลิตมีสูง แต่เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศอย่างอังกฤษจะไปขยายการผลิตด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะมีการผลิตด้านอุตสาหกรรมอีกจำนวนมาก สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยแรงงานที่มีทักษะฝีมือต่ำ และค่าแรงไม่แพง จุดตรงนี้แหละที่เป็นโอกาสทองของประเทศกำลังพัฒนา