ThaiPublica > คอลัมน์ > อวสานของบริษัท “ยักษ์ใหญ่” ขอต้อนรับเศรษฐกิจ ยุคจ้างงานแบบ “เทมป์” ใช้เสร็จแล้วทิ้ง

อวสานของบริษัท “ยักษ์ใหญ่” ขอต้อนรับเศรษฐกิจ ยุคจ้างงานแบบ “เทมป์” ใช้เสร็จแล้วทิ้ง

10 กรกฎาคม 2016


ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อไม่นานมานี้ เราได้ยินข่าวว่า บริษัท Mitsubishi Motors ของญี่ปุ่น ประสบภาวะล้มละลาย แต่กระแสการตกต่ำของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมต่างๆ ปรากฏให้เห็นมานานแล้วในสหรัฐอเมริกา บริษัทยักษ์ใหญ่มีชื่อเสียงมานานเกือบศตวรรษ ที่นักศึกษาจบมาใหม่ๆ เคยใฝ่ฝันอยากเข้าไปทำงาน ล้วนประสบกับภาวะล้มละลายมาแล้ว เช่น General Motors (GM) Chrysler Eastman Kodak หรือ American Airlines บางบริษัทก็ปิดกิจการล้มหายไปในชั่วพริบตา เช่น Enron Lehman Brothers หรือ Borders Book แม้แต่ Sony บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของญี่ปุ่น ก็ประกาศรื้ออาคารที่เคยเป็นเรือธงบนถนนกินซ่า เพื่อเปลี่ยนเป็นศูนย์วัฒนธรรมแทน

bigcom1
bigcom2

ภาวะร่วงโรยตกต่ำของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเหล่านี้ ที่เคยเป็นสัญลักษณ์เศรษฐกิจยุคอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจในโลกปัจจุบัน กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เหมือนกับการเคลื่อนของพื้นผิวโลก และสภาพภูมิศาสตร์เศรษฐกิจแบบใหม่กำลังจะเกิดขึ้น เวลาเดียวกัน ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เรียกว่า “ร่วมด้วยช่วยกัน” (sharing economy) ที่บริษัทธุรกิจสามารถกระจายการจ้างงานออกจากองค์กรตัวเองแทบจะทั้งหมด ในสหรัฐฯ บริษัทให้บริการรถแท็กซี่ชื่อ Uber มีหุ้นส่วนเป็นคนขับรถแท็กซี่แสนกว่าคน แต่บริษัทนี้มีพนักงานเพียง 2 พันคน บริษัท “ร่วมด้วยช่วยกัน” แบบนี้ ไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการโดยตรง แต่มีรูปแบบการทำธุรกิจเรียกว่า platform คือเป็นโครงสร้างที่ให้คนได้อาศัยพักพิงเพื่อทำงาน เหมือนกับ “แท่นนั่งร้าน” ที่คนงานใช้ปีนขึ้นไปทาสีอาคาร การทำธุรกิจแบบ “ร่วมด้วยช่วยกัน” ก็ง่ายๆ คล้ายกับการเล่นของเด็ก ที่เอาตัวพลาสติกเลโก้มาต่อกันมาเป็นรูปต่างๆ เมื่อไม่ต้องการแล้วก็รื้อถอนออกไป

แต่การทำธุรกิจรูปแบบใหม่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือ มีพลังที่สามารถสั่นคลอนการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแท็กซี่หรือห้างสรรพสินค้า เพราะเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสารทำให้อุปสรรคการเข้าสู่ตลาดที่เคยมีสูงสูญหายไปแทบจะหมดในทุกๆ ธุรกิจอุตสาหกรรม

การล้มสะลายของบริษัทยักษ์ใหญ่

การเติบโตของบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำของสหรัฐฯ เกิดขึ้นนับจากช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เพราะการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นตลาดเดียวที่มีขนาดใหญ่แบบเศรษฐกิจทวีป บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ประโยชน์จากการผลิตในปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเหล็กกล้า รถยนต์ หรือสินค้าบริโภค การปฏิวัติด้านการบริหารจัดการเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมา องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มีโครงสร้างเป็นลำดับชั้น จำเป็นในเรื่องการประสานงานหน่วยธุรกิจต่างๆ ที่อยู่กระจัดกระจายทั่วสหรัฐฯ โรงเรียนบริหารธุรกิจเกิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งสร้างนักบริหารอาชีพป้อนแก่บริษัทเหล่านี้ ขนาดธุรกิจที่ใหญ่โตทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องอาศัยการระดมทุนจากผู้ถือหุ้น ต่างจากธุรกิจในเยอรมัน ที่อาศัยทุนจากธนาคาร หรือในฝรั่งเศส ที่อาศัยการลงทุนของรัฐ

การเติบโตของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการจ้างงานที่ขยายตัวมหาศาล ในปี 1973 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ 25 บริษัท จ้างแรงงานถึง 10% ของแรงงานทั้งหมด อย่างเช่น General Motors มีพนักงาน 5 แสนคนในปี 1950 เพิ่มเป็น 8 แสนคนในปี 1973 การทำงานในบริษัทขนาดใหญ่หมายถึงความมั่นคงของการจ้างงาน คำว่า “งาน” หมายถึงเส้นทางอาชีพที่มีการเลื่อนตำแหน่งและรายได้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังหมายถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลและเงินก้อนเมื่อเกษียณจากงาน สวัสดิการต่างๆ ที่รัฐบาลประเทศในยุโรปเหนือหรือแคนาดามีให้กับประชาชนตัวเองนั้น แต่ในสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ทำหน้าที่เป็น “รัฐสวัสดิการ” ให้กับพนักงาน แทนรัฐบาล

แต่การเกิดขึ้นมาของอินเทอร์เน็ตทำให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจเปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิง บริษัทต่างๆ เห็นว่า การ outsource ให้คนอื่นทำด้านการผลิตและการกระจายสินค้าเป็นเรื่องที่สะดวกและต้นทุนถูกกว่า ตัวเองหันมาจับเฉพาะงานที่มีมูลค่าสูง เช่น การออกแบบ การตลาด และบริหารตราสินค้า บริษัทแรกที่บุกเบิกเรื่องนี้คือไนกี้ ที่มีพนักงานถึง 5 หมื่นกว่าคน แต่พนักงานพวกนี้ไม่ได้ทำงานด้านการผลิตสินค้ากีฬาของไนกี้เลย เพราะโอนการผลิตไปให้ซัพพลายเออร์ทั้งหมด ไนกี้เป็นตัวอย่างธุรกิจที่มักเรียกกันว่า “บริษัทเสมือนจริง” (virtual corporation) ต่อมาอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อดังๆ ก็เอาอย่างไนกี้ รวมทั้งอุตสาหกรรมยา มีรายงานว่า ยาสามัญต่างๆ ของบริษัทยาอเมริกันที่ขายในสหรัฐฯ 40% เป็นยาที่ผลิตในอินเดีย

ที่มาภาพ : http://www.nike.com
ที่มาภาพ : http://www.nike.com

การเติบโตของซับพลายเออร์ที่ทำหน้าที่ผู้ผลิตสินค้าหรือการกระจายสินค้า รวมทั้งการอาศัยบริการด้านระบบไอทีผ่าน cloud service เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการทั้งหมด แทนที่ธุรกิจแต่ละรายจะลงทุนเองด้านระบบไอที ทำให้อุปสรรคการเข้าสู่ตลาดในธุรกิจต่างๆ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่เคยครองตลาดอยู่สูญหายไป การผลิตในปริมาณมากเพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยสินค้าต่ำลงก็ไม่มีความได้เปรียบอีกต่อไป

ทุกวันนี้ ใครที่มีบัตรเครดิตและเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำธุรกิจอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะตั้งบริษัท เป็นผู้ผลิต หรือผู้จำหน่าย ในสหรัฐฯ บริษัทผลิตและขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ Vizio มีพนักงานแค่ 400 คน เพิ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2002 แต่สามารถขายโทรทัศน์ได้มากพอๆ กับร้านของ Sony ที่มีพนักงาน 1 แสนกว่าคน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นแรงกดดันต่อการอยู่รอดของบริษัทที่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิม การจะอยู่รอดได้ การดำเนินงานของบริษัทจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจ และที่สำคัญ รายได้ต้องสูงกว่ารายจ่าย หากมีธุรกิจรูปแบบใหม่ที่สามารถทำได้ดีกว่าวิธีการทำธุรกิจรูปแบบเดิม บริษัทเหล่านี้คงจะสูญหายไปในที่สุด แม้แต่การประกอบการที่ไม่ได้มุ่งผลกำไร สภาพการณ์ก็เป็นแบบเดียวกันนี้ หาก Wikipedia สามารถทำเรื่องแหล่งสั่งสมความรู้ได้ดีกว่า Encyclopedia Britannica บริษัทที่แม้จะมีอายุมานานกว่า 200 ปี ก็คงต้องปิดกิจการไป วงการธุรกิจก็เหมือนกับวงการกีฬา ไม่มีคำว่าเสียใจสำหรับคนที่พ่ายแพ้

ผลลัพธ์ที่เกิดตามมา

ความล้มเหลวทางธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือ วิธีการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยและแข่งขันได้น้อยลง มีความหมายทางสังคมหลายประการ

ประการแรก ความมั่นคงของการจ้างงาน สภาพการจ้างงานแบบเงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นตามขั้นบันได มีสวัสดิการรักษาพยาบาล และเงินก้อนเมื่อเกษียณอายุ พลอยสูญหายไปด้วยจากระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

ประการต่อมา การขาดโอกาสมีงานทำในบริษัทธุรกิจแบบดั้งเดิม หมายความว่า โอกาสที่คนทำงานจะเลื่อนฐานะทางสังคมขึ้นมาเป็นคนชั้นกลางก็ลดน้อยลงไปด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในสหรัฐฯ จะมีเสียงวิจารณ์ว่า ปัจจุบัน ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงมาก เพราะโอกาสการมีงานทำในปัจจุบันกระจัดกระจายไปทั่ว การจ้างงานส่วนใหญ่เป็นแบบ “ซับคอนแทรกต์” แบบ “ชั่วคราว” ที่ให้ผลตอบแทนเป็นค่าแรงขั้นต่ำ ขาดสวัสดิการ แม้แต่บริษัทมีชื่อเสียงอย่าง Amazon ก็ใช้วิธีการจ้างงานแบบนี้ ส่วนบริษัทใหม่อย่าง Uber แทบไม่จ้างงานเลย

การจ้างงานแบบชั่วคราว หรือ “เทมป์” (Temp) กลายเป็นวิธีจ้างงานที่นิยมแพร่หลายนับจากเริ่มศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เรื่องเศรษฐกิจที่ถูกนำมาพาดหัวหนังสือพิมพ์ คือ การลดขนาดองค์กร การปลดพนักงาน การปิดกิจการ และการย้ายการผลิตไปต่างประเทศ ดังนั้น ในแต่ละปี สัดส่วนการจ้างงานใหม่แทบทั้งหมดล้วนเป็นแบบชั่วคราว จนมีเสียงวิจารณ์ว่า ปัจจุบันเป็น “ยุคคนทำงานใช้เสร็จแล้วทิ้ง” (disposable worker) ผู้บริหารองค์กรก็มองพนักงานว่าเป็นหนี้สิน ไม่ใช่ทรัพย์สิน บริษัททั้งหลายหันไปให้คุณค่าความสำคัญกับผู้ถือหุ้น ทุกครั้งที่บริษัทในสหรัฐฯ ประกาศปลดคนงาน ราคาหุ้นบริษัทนั้นจะพุ่งสูงขึ้น

ทุกวันนี้ เราจึงไม่ได้ยินเรื่องบริษัทยักษ์ใหญ่ประกาศโครงการที่จะมีการจ้างงานจำนวนมาก เทคโนโลยีธุรกิจสมัยใหม่ รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อผู้ถือหุ้น ทำให้บริษัทต่างๆ ทำตัวให้เล็กลง หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินกับพนักงานในเรื่องต่างๆ หน้าที่การงานที่เคยเป็นเส้นทางของอาชีพ เมื่อรับผิดชอบมากขึ้น ก็มีเงินเดือนเพิ่มขึ้น กลายเป็นคำว่า “งาน” เฉยๆ

คำถามมีว่า ยังจะมีประเทศไหนในโลกที่ คนงานมีสวัสดิการที่ดี และยังสร้างบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจใหม่ๆ คำตอบคือ เดนมาร์ก ประเทศที่รัฐให้สวัสดิการแก่ประชาชนทั่วไป แต่กลับสะดวกที่จะทำธุรกิจใหม่หรือจะปิดธุรกิจเดิม เพราะผู้ประกอบการไม่ต้องไปห่วงว่า ธุรกิจที่ทำนั้นเมื่อล้มเหลวแล้วจะหมดเนื้อหมดตัว แต่การจะเอาวิธีการของประเทศหนึ่งมาใช้กับอีกประเทศหนึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละประเทศล้วนมีระบบนิเวศธุรกิจ (ecosystem) ที่จะสนับสนุนธุรกิจแตกต่างกันไป

การตกต่ำเสื่อมถอยของบริษัทที่ทำธุรกิจโดยมีโครงสร้างเป็นแบบแผน อาจจะรวมไปถึงการสิ้นสุดของความคิดเรื่อง “การบริหารจัดการ” แบบที่เราเคยรู้จัก Peter Drucker เคยเรียกการบริหารจัดการว่าเป็นนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 ซึ่งริเริ่มโดย General Motors ทำให้ศตวรรษที่ 20 เป็นยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมต่างๆ การบริหารจัดการทำให้องค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีโครงสร้างซับซ้อนสามารถบริหารและประสานงานพนักงานหลายหมื่นคน มีความชำนาญแตกต่างกัน แต่สามารถทำงานร่วมกัน ในการผลิตสินค้า เช่น รถยนต์

แต่ปัจจุบัน Wikipedia แสดงให้เห็นว่า การระดมและประสานงานคนนับล้านๆ คน อยู่กระจัดกระจายทั่วโลก ความรู้ความชำนาญก็แตกต่างกัน แต่สามารถทำงานร่วมกันได้ในการผลิตแหล่งความรู้ที่ใหญ่โตที่สุดในโลก โดย Wikipedia ไม่ได้มีการจัดองค์กรที่ซับซ้อนอะไรเลย เพราะมีพนักงานเพียง 35 คน

จะรับมือกับอนาคตใหม่อย่างไร

bigcom3

แม้การล้มละลายสูญหายของบริษัทยักษ์ใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น แต่วิธีการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีด้านไอทีกับอินเทอร์เน็ต และสามารถสั่นคลอนธุรกิจแบบดั้งเดิม มีให้เราเห็นในแทบทุกประเทศในโลก อย่างเช่น ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ ที่อาศัยระบบการขายทั้งหมดผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ Uber ที่ปัจจุบันทำธุรกิจในหลายประเทศ กระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีใครไปขัดขวางได้ เหมือนกับที่วิกตอร์ อูโก นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า “เราอาจลุกขึ้นมาขัดขวางกองทัพต่างชาติที่บุกมาโจมตี แต่เราไม่อาจจะต่อสู้กับความคิด ที่เวลาของมันได้มาถึงแล้ว”

วงการเศรษฐศาสตร์มีแนวคิดอย่างหนึ่งว่า การตั้งบริษัททำธุรกิจขึ้นมา แล้วดำเนินงานให้มีผลกำไร เพราะบริษัทนั้นรู้ว่า การจะผลิตสินค้าหรือบริการ โดยการเอาประโยชน์จากกลไกราคานั้น จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น บริษัทดั้งเดิมทั้งหลายล้วนยึดหลักการที่ว่านี้ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าต้องไปเจอคู่แข่งที่ต้นทุนค่าแรงงานไม่ใช่ค่าใช้จ่ายประจำ แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อเรียกใช้แรงงานเท่าที่จำเป็น เป็นบริษัทที่ไม่มีโครงสร้างองค์กรเป็นแบบแผน แต่มีรูปแบบองค์กรที่จัดตั้งแบบ “แท่นนั่งร้าน” (platform) หรือว่าไม่มีค่าใช้จ่ายลงทุนด้านไอทีเลย แต่ไปใช้ประโยชน์จากระบบ cloud service แทน เมื่อเผชิญหน้ากับบริษัทคู่แข่งแบบใหม่ที่ว่านี้ บริษัททำธุรกิจแบบดั้งเดิมจะรับมืออย่างไร ที่กล่าวมานี้คือรูปแบบใหม่ของการทำธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้น

ในอนาคตข้างหน้า ธุรกิจรูปแบบ platform หรือ sharing economy จะแพร่หลายไปสู่ธุรกิจสาขาต่างๆ มากขึ้น platform เป็นรูปแบบธุรกิจที่อาศัยโทรศัพท์มือถือ ระบบไอที และอินเทอร์เน็ต เพื่อประสานงานด้านการทำงานร่วมกันของคนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่กระจัดกระจาย รวมทั้งการติดต่อธุรกิจระหว่างคนซื้อคนขายบริการ Wikipedia เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ความร่วมมือของผู้คนนับล้านที่อยู่กระจายทั่วโลก โดยมีต้นทุนการประสานงานน้อยมาก แต่สามารถผลิตแหล่งความรู้ที่ใหญ่โตสุดในโลก และมีคนใช้งานมากที่สุด แต่ระบบไอทีและอินเทอร์เน็ตก็สามารถสร้างโอกาสการผลิตแบบต้นทุนต่ำให้กับธุรกิจ SME ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เช่นกัน เช่น เฟอร์นิเจอร์สามารถผลิตได้ถูกกว่าในท้องถิ่น เพราะไม่มีต้นทุนขนส่งมาจากโรงงานที่อยู่ไกลออกไป โดยที่การออกแบบมีความทันสมัย ตามความต้องการของลูกค้า เพราะสามารถเอาแบบมาจากทั่วโลกผ่านทางอินเทอร์เน็ต

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วดังกล่าว อะไรคือการศึกษาที่ดีสุด เพื่อฝึกฝนคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตข้างหน้า การศึกษาด้านศิลปศาสตร์ยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะการเรียนวิชาชีพเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งอาจล้าสมัยในไม่กี่ปีข้างหน้า นอกจากจะสอนให้นักศึกษารู้จักคิดอย่างมีเหตุมีผลแล้ว ศิลปศาสตร์ยังสอนให้คนเราเตรียมตัวรับมือกับชีวิตในระยะยาว โดยเฉพาะในยามที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คุณค่าของศิลปศาสตร์ดังกล่าวทำให้เป็นศาสตร์ที่มีอายุมายาวนานที่สุด นับจากยุคกรีซโบราณเป็นต้นมา

แต่ในปัจจุบัน ทักษะเฉพาะทางเกี่ยวกับความรู้ด้านอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาชีพต่างๆ เช่น การเข้าใจการทำงานของอินเทอร์เน็ต และระบบสื่อสารระหว่างเว็บไซต์ต่างๆ เป็นต้น เพราะทุกวันนี้ การทำธุรกิจหรือกิจกรรมขององค์กรต่างๆ ล้วนอยู่บนหน้าจออินเทอร์เน็ต

โลกปัจจุบัน คำว่า “ธุรกิจ” หรือ “ลูกจ้าง” มีความหมายเปลี่ยนไปจากที่เราเคยรู้จัก การศึกษาด้านศิลปศาสตร์บวกกับทักษะด้านอินเทอร์เน็ต น่าจะเป็นการเตรียมตัวที่ดีที่สุด

ในแง่ประชาสังคม การตกต่ำของบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ มีความหมายกว้างขวางทางสังคม บริษัทธุรกิจถือเป็นองค์กรสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมเราในหลายๆ ด้าน ประการแรก คือ การสร้างงาน ทำให้คนในวัยทำงานมีรายได้ ประการที่สอง คือ การผลิตสินค้าและบริการที่สังคมต้องการ ประการที่สาม การทำธุรกิจมีกำไรคือการสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคม ที่ไม่เคยมีมาก่อน และประการสุดท้าย ในประเทศตะวันตก บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสุดที่สนับสนุนกิจกรรมประชาสังคม ตั้งแต่โรงพยาบาล การวิจัย มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ และกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ