ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ย้อนผลสอบ ป.ป.ช. เสียง 5 ต่อ 4 ต่อสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้าน ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

ย้อนผลสอบ ป.ป.ช. เสียง 5 ต่อ 4 ต่อสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้าน ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

19 กรกฎาคม 2016


หลังจากที่ ร.อ. ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่งมอบสรุปผลศึกษาสัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ (เชิงพาณิชย์) พร้อมข้อเสนอแนะให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาประเด็นที่หายไปจากสื่อกลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง กรณีที่ ทอท. อนุญาตให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กรุ๊ป เข้าบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้าปลอดภาษี ณ อาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือไม่ ยังเป็นประเด็นข้อสงสัยของสังคม

คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องโถงชั้นล่าง อาคารรัฐสภา
คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องโถงชั้นล่าง อาคารรัฐสภา

ก่อนหน้านี้ “ไทยพับลิก้า” นำเสนอข้อมูลเอกสารการขอต่อสัญญาดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิของคิงเพาเพาเวอร์ล่วงหน้าอ่านรายละเอียดที่นี่

แหล่งข่าวจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศกล่าวว่า หากย้อนหลังกลับไปในช่วงกลางปี 2553 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยมีการพิจารณาประเด็นนี้ โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. สมัยนั้นมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก ในข้อหาร่วมกันหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ และกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม กรณี ทอท. อนุญาตให้กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เข้าบริหารกิจการร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรณภูมิ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

วันที่ 4 ตุลาคม 2554 สำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง 1 ป.ป.ช. สรุปสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 326-73/2554 ขอให้วินิจฉัยว่า โครงการบริหารกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นโครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท และต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ หรือไม่

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เข้าร่วมประชุม 9 คน มีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้

กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 คน เห็นชอบกับความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดวิธีการประเมินวงเงินลงทุนเอาไว้ ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เมื่อ ทอท. ต้องการประเมินวงเงินลงทุนของโครงการการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ดังนั้น บอร์ด ป.ป.ช. จึงนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ เรื่องเสร็จที่ 409/2546 เคยวินิจฉัยเอาไว้ว่า “ต้องนำมูลค่าที่ดิน อาคาร การปรับปรุงตกแต่งร้านค้า จัดหาเครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ ระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการจัดหาสินค้าคงคลังเพื่อจำหน่ายมารวมเป็นวงเงินลงทุนโครงการ” มาเป็นแนวทางในการประเมินวงเงินลงทุนโครงการบริหารจัดการกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์

กฤษฎีกาคำนวณมูลค่าการลงทุน

แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือตอบข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาในส่วนของอาคาร ไม่ได้ระบุรายละเอียดวิธีการไว้ ภายหลังบริษัทที่ปรึกษาได้ประเมินวงเงินลงทุนในส่วนของอาคารดังนี้

1. ตามสัดส่วนพื้นที่โครงการ

2. นำอายุการใช้งานอาคารโดยทั่วไปที่ 30 ปี มาหารมูลค่าก่อสร้างทั้งหมดแล้วคูณด้วยอายุสัมปทาน 10 ปี ซึ่งผลการศึกษาได้วงเงินลงทุนโครงการไม่ถึง 1,000 ล้านบาท โดยรายละเอียดสัดส่วนพื้นที่โครงการ อายุการใช้งานอาคาร มูลค่าก่อสร้างอาคารทั้งหมด ตลอดจนอายุสัญญาสัมปทาน สอดคล้องกับคำให้การพยานที่ได้ไต่สวนเพิ่มเติม

ดังนั้น ตามพฤติการณ์และการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ที่นำอายุการใช้งานอาคารมาคำนวณวงเงินลงทุน ยังฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ

กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมากจึงสรุปว่า “ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาประเด็นนี้เป็นอันตกไป”

การใช้พื้นที่จริงในสนามบินสุวรรณภูมิ_resize

ขณะที่กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 4 คน ได้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว และนายวิชา มหาคุณ มีความเห็นว่า “โครงการนี้มีวงเงินลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้จากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการฯ ปรากฏว่ามีการใช้พื้นที่บริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์จริง 25,827 ตารางเมตร มากกว่าที่ปริษัทที่ปรึกษาของ ทอท. คำนวณไว้เดิมที่ 20,000 ตารางเมตร ดังนั้น เมื่อนำไปรวมกับวงเงินลงทุนในส่วนอื่นๆ และมูลค่าอาคารที่ใช้ประกอบกิจการย่อมเกินกว่า 1,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้ ตามผลการศึกษาของ รศ.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช. (ศ.เมธี ครองแก้ว) ที่ได้เสนอต่อที่ประชุมครั้งที่ 260-7/2554 เมื่อวันอังคารที่ 25 มกราคม 2554 กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อยสรุปว่า “การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงมีเจตนาหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ตามที่มีการกล่าวหา”

ประเด็นที่ 2 การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้อง และบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด มีมูลเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือไม่

ประเด็นนี้ ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้

กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 คน เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ไม่มีมูลเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เนื่องจาก TOR ข้อ 1.4.1 (7) ระบุว่า “ทอท. จะเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนข้อเสนอทางเทคนิคดีที่สุด 2 อันดับแรก โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนตามที่คณะกรรมการ ทอท. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และต้องได้รับคะแนนด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 80 คะแนน จึงจะได้รับการพิจารณาเปิดซองด้านราคา”

ดังนั้น การที่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคในส่วนของการเสนอแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ โดยได้กำหนดตำแหน่งของกิจกรรมเชิงพาณิชย์แต่ละประเภท รวมพื้นที่ 25,687 ตารางเมตรนั้น ไม่อยู่ในหัวข้อหลักเกณฑ์การให้คะแนนทางด้านเทคนิค ส่วนกรณีคณะกรรมการคัดเลือกฯไม่ได้ตัดสิทธิบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ในการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคนั้น จึงเป็นไปตามข้อกำหนด TOR

ส่วนในเรื่องเงินประกันรายได้ขั้นต่ำปีที่ 1 ต้องเป็นไปตาม TOR ข้อ 2.1.2 ซึ่งกำหนดพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ของโครงการฯ ที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร กรณีที่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำปีแรก 1,431 ล้านบาท ส่วนบริษัทมาสเตอร์มายนด์ฯ เสนอ 1,210 ล้านบาท จึงเป็นการเสนออยู่บนพื้นฐานที่รับรู้ร่วมกันว่ามีขนาดพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร ดังนั้น การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาว่าบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เสนอเงินรายได้ขั้นต่ำปีที่ 1 สูงสุด จึงเป็นไปตามข้อกำหนดใน TOR

สรุป กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมากมีความเห็นว่า “พฤติการณ์และการกระทำของผู้ถูกกล่าวหายังฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับ ทอท. ข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาประเด็นนี้เป็นอันตกไป”

ที่มาภาพ : http://www.kingpower.com/
ที่มาภาพ: http://www.kingpower.com/

ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 4 คน ได้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, ศาสตราจารย์ เมธี ครองแก้ว และนายวิชา มหาคุณ เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีมูลเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค คณะกรรมการคัดเลือกฯ ทราบเรื่องที่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ได้ยื่นข้อเสนอใช้พื้นที่เกินกว่ากำหนดไว้ ซึ่งผิดไปจาก TOR และในการพิจารณาซองข้อเสนอราคาปรากฏว่า บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เสนอใช้พื้นที่ 25,687 ตารางเมตร เสนอผลตอบแทน 1,431 ล้านบาท คำนวณผลตอบแทนได้เท่ากับ 55,707 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่บริษัท มาสเตอร์มายนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด เสนอใช้พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร เสนอผลตอบแทน 1,210 ล้านบาท คำนวณผลตอบแทนได้เท่ากับ 60,500 บาทต่อตารางเมตร

ดังนั้น ในกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ให้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค และพิจารณาว่าบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำปีที่ 1 สูงสุด จึงไม่ถูกต้อง และต้องถือว่าคณะกรรมการ ทอท. ได้ทราบถึงการกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกฯ แล้ว แต่ยังอนุมัติให้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เข้าทำสัญญากับ ทอท. การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการกระทำใดๆ โดยมุ่งหมายให้มีการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรม

จากนั้น ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. สรุปผลการลงคะแนนเสียงเพื่อให้เป็นมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ โดยให้ถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. 5 เสียง ซึ่งเป็นเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการทั้งหมดว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก ร่วมกันหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ และกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมในโครงการร้านค้าปลอดอากรและโครงการบริหารกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ต่อมา ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 330-77/2554 วันที่ 18 ตุลาคม 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง โดยที่ประชุมได้อภิปรายและสอบถามอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้น ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพื้นที่ในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ เพิ่มเติม ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขอให้ที่ประชุมลงคะแนนเสียงอีกครั้ง เพื่อมีมติในประเด็นดังต่อไปนี้

1. โครงการร้านค้าปลอดอากรตามข้อกล่าวหา เป็นโครงการลงทุนที่มีวงเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงานฯ หรือไม่ ประเด็นนี้ที่ประชุมบอร์ด ป.ป.ช. ยังคงมีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย คือ

กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 คน ยังคงเห็นชอบตามความเห็นคณะอนุกรรมการไต่สวน ว่าโครงการร้านค้าปลอดอากรเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ

ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 4 คน ประกอบด้วย นายกล้านรงค์ จันทิก, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว และนายวิชา มหาคุณ มีความเห็นว่า โครงการร้านค้าปลอดอากรเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตามสัญญาเช่าพื้นที่ กำหนดจำนวนพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5,000 ตารางเมตร เป็นระยะเวลา 5 ปี แต่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ได้ใช้พื้นที่จริง 11,820 ตารางเมตร ภายในระยะเวลา 10 ปี แต่กลับมีการคำนวณมูลค่าการลงทุนเพียง 5,000 ตารางเมตร ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง

ดังนั้น มูลค่าการลงทุนควรจะต้องเกินกว่า 1,000 ล้านบาท และต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ทั้งนี้ ตามผลการศึกษาของ รศ.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช. (ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว) ได้เสนอต่อที่ประชุมครั้งที่ 260-7/2554 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 และตามความเห็นของนายกล้านรงค์ จันทิก และศาสตราจารย์เมธี คลองแก้ว ที่ได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 268-15/2554 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554

2. การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้อง และบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด มีมูลเป็นการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือไม่

ที่ประชุมบอร์ด ป.ป.ช. มีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้

กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 คน เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ 16 และ 17 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานตามคำสั่งคณะกรรมการ ทอท. ที่ 69/2547 ขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเสนอการขอต่อสัญญา เพื่อเข้าเป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ เป็นไปด้วยความเหมาะสม และเกิดประโยชน์ต่อ ทอท. แล้วให้รายงานผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการ ทอท. รับทราบและพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ยังได้พิจารณารายงานผลการศึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าวงเงินลงทุนโครงการร้านค้าปลอดอากรไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จึงไม่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ

เมื่อคณะทำงานตามคำสั่งคณะกรรมการ ทอท. ที่ 69/2547พิจารณาแล้ว เห็นควรดำเนินการตามผลการศึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิมที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท. จนเป็นที่ยอมรับได้ และเมื่อพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสียที่จะเกิดขึ้นต่อ ทอท. พบว่ามีข้อดีทั้งหมด 7 ข้อ ทำให้ ทอท. ได้รับประโยชน์สูงสุด

กรณีผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ 2-12 ในฐานะกรรมการ ทอท. ที่เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 3/2547 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2547 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เป็นผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรรายเดียว เป็นเวลา 10 ปี โดยได้พิจารณาจากรายงานผลการศึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าวงเงินลงทุนในโครงการร้านค้าปลอดอากรไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จึงไม่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ

นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์
นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์

จากรายงานของคณะทำงานฯ ที่เห็นชอบตามผลการศึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ ทอท. ยอมรับได้ เมื่อพิจารณาถึงผลดี-ผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อ ทอท. ซึ่งในรายงานนั้นได้แสดงผลดีถึง 7 ข้อ ทำให้ ทอท. ได้ประโยชน์สูงสุด ผู้ถูกกล่าวหาจึงพิจารณาอนุมัติให้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เป็นผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร

ดังนั้น ตามพฤติการณ์และการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ยังฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากีดกันไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับ ทอท. ข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาประเด็นนี้เป็นอันตกไป

กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 4 คน มีความเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าร้านค้าปลอดอากรเป็นโครงการลงทุนที่มีวงเงินเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกลับพิจารณาว่าเป็นโครงการลงทุนที่มีขนาดไม่ถึง 1,000 ล้านบาท และได้พิจารณาเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิม โดยไม่ได้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป ดังนั้น การกระทำจึงมีมูล เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

ป้ายคำ :