ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดไส้ใน TOR ดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิย้อนหลัง “คิง เพาเวอร์ ” เปลี่ยนคู่สัญญา เข้าข่ายผิดเงื่อนไข สปท.แจงรายละเอียดยิบ

เปิดไส้ใน TOR ดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิย้อนหลัง “คิง เพาเวอร์ ” เปลี่ยนคู่สัญญา เข้าข่ายผิดเงื่อนไข สปท.แจงรายละเอียดยิบ

7 กรกฎาคม 2016


kingpower

สืบเนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ประชุมมีมติให้นำสรุปผลศึกษาสัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ (เชิงพาณิชย์) ส่งให้ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พิจารณาเป็นวาระพิเศษเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ภายหลังการประชุม ร.อ. ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในฐานะประธานที่ประชุม กำชับสมาชิก สปท. ที่เข้าประชุม ห้ามให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

จากนั้น เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ร.อ. ทินพันธุ์ เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอบผลการศึกษาพร้อมข้อเสนอแนะของ สปท. ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณา มี 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

1. กรณีบริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) อนุญาตให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กรุ๊ป บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้าปลอดภาษี ณ อาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ทั้งๆ ที่โครงการลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท

2. กรณี ทอท. ไม่เชื่อมต่อระบบ Point Of Sale หรือ POS กับบริษัท คิง เพาเวอร์ เพื่อใช้ตรวจวัดยอดขายและคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องชำระให้ ทอท. เป็นระยะเวลา 9 ปี โดยในสัญญาเช่าพื้นที่ ข้อ 3.4 ระบุว่า “ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนี้อย่างเคร่งครัด”

และ 3. กรณี ทอท. ไม่เรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่จุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) จากบริษัท คิง เพาเวอร์ ในอัตรา 15% ของรายได้ หรือตามจำนวนเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้รับอนุญาตตกลงชำระให้ตามที่ระบุในสัญญา แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ประกวดราคา

แหล่งข่าวจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศกล่าวว่า นอกเหนือจาก 3 ประเด็นหลักที่อยู่ในบทสรุปสำหรับผู้บริหารแล้ว คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังตรวจสอบพบว่า ในปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่ ทอท. จัดประกวดราคา คัดเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์เพื่อเข้ามาบริหารพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ปรากฏข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นผู้ยื่นแบบแสดงคุณสมบัติผู้เสนอราคาด้วยแต่อย่างใด โดยมีเพียง 5 บริษัทเท่านั้นที่ยื่นซองประกวดราคา ได้แก่ กลุ่มบริษัท อิมพีเรียลพลาซ่า จำกัด, กลุ่มบริษัท มาสเตอร์ มายนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด, กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, กลุ่มบริษัท เอื้อวัฒนสกุล จำกัด และกลุ่มบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด

ภายหลังกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์ชั่นแนล จำกัด ชนะการประกวดราคา ได้มีการดำเนินการให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 เป็นผู้ทำสัญญากับ ทอท. ในวันที่ 25 มีนาคม 2548 แทน

การเปลี่ยนคู่สัญญาดังกล่าว อาจจะเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขข้อกำหนดโครงการ (TOR) ในเรื่องข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่ระบุเงื่อนไขไว้ว่า “…ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ด้านการบริหาร พัฒนาพื้นที่ หรือประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ร้านค้าสินค้า/บริการ (Retail Business) ขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4,000 ตารางเมตร ในสัญญาเดียวกันในปีหนึ่งปีใด หรือมียอดรายได้จากการขาย/หรือเชิงพาณิชย์ดังกล่าวปีหนึ่งปีใดมากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และต้องมีประสบการณ์ในการดำเนินงานในกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ตามข้างต้น เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี นับจากกำหนดวันที่ยื่นข้อเสนอโครงการ…”

นอกจากนี้ยังพบว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด มีทุนจดทะเบียนน้อยว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หลายเท่า แม้จะเป็นบริษัทในเครือแต่ก็มีสถานะความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทแม่ สิทธิเรียกร้องของ ทอท. ไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายจากบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้

ภายหลังการทำสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร ทอท. ชุดเดิม พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร ทอท. ชุดใหม่ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า โครงการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรและโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้ง 2 โครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ดังนั้น การอนุมัติและทำสัญญาดังกล่าว ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การทำสัญญาดังกล่าวอาจถือเป็นโมฆะ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ลำดับเหตุการณ์งานประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์

สำหรับความเป็นมาของโครงการคัดเลือกผู้บริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2548 ที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 2/2548 มีมติแต่งตั้งนายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรณภูมิ กรรมการประกอบด้วย นายสุเทพ สืบสันติวงศ์, นายบัญชา ปัตตนาภรณ์, นายสมชัย สวัสดีผล และนายนิรันดร์ ธีรนาทสิน เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ประกอบการโดยวิธีการประมูล พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านราคา รวมทั้งกำหนดแนวทาง ขอบเขต และรายละเอียด ในการคัดเลือกผู้ประกอบการ (TOR)

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 3/2548 อนุมัติข้อกำหนด TOR เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้เป็นกรอบและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ประกอบการ

วันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2548 ทอท. ส่งหนังสือเชิญผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนใน TOR จำนวน 326 ราย พร้อมกับเปิดจำหน่ายเอกสารประมูลงาน โดยมีผู้มาซื้อซองประมูล 15 ราย

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิยื่นซองประมูลงาน ตามที่กำหนดใน TOR ข้อ 1.2.5 และ1.2.6 กล่าวคือ 1. ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระเต็มไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท 2. มีประสบการณ์บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร้านขายสินค้าและบริการบนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4,000 ตารางเมตร (ในสัญญาเดียวในปีหนึ่งปีใด) หรือมียอดขายสินค้าหรือบริการไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และ 3. มีประสบการณ์ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ยื่นซองประมูลงาน

ปรากฏว่า มีกลุ่มผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ TOR กำหนดเพียง 5 ราย ประกอบด้วยกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กลุ่มบริษัท มาสเตอร์ มายนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด กลุ่มบริษัท สรรพสินค้า เซ็นทรัล จำกัด กลุ่มบริษัท เอื้อวัฒนสกุล จำกัด และกลุ่มบริษัท อิมพีเรียล จำกัด

สรุปผลคะแนนตามTORบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548 คณะกรรมการคัดเลือกฯ เปิดซองประมูลงานด้านเทคนิค และให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน TOR ปรากฏว่ากลุ่มบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก คือ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้คะแนน 90.25 คะแนน อันดับ 2 กลุ่มบริษัท มาสเตอร์มายนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้คะแนน 84.75 คะแนน ซึ่งใน TOR ข้อ 1.4.1 (6) กำหนดให้ ทอท. เปิดซองราคา เฉพาะกลุ่มบริษัทที่ได้คะแนนด้านเทคนิคดีที่สุด 2 อันดับแรก และต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 80 คะแนน

ทอท. ทำหนังสือเชิญบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก มาเปิดซองราคาในวันที่ 11 มีนาคม 2548 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ ทอท. ผลการเปิดซองราคาปรากฏว่า กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำปีแรก 1,431 ล้านบาท ส่วนกลุ่มบริษัท มาสเตอร์มายนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด เสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำปีแรก 1,210 ล้านบาท

วันที่ 15 มีนาคม 2548 ที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 5/2548 มีมติอนุมัติให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้รับอนุญาตเข้าดำเนินการ และบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นระยะเวลา 10 ปี

วันที่ 23 มีนาคม 2548 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท กรรมการบริษัทมี 5 คน ประกอบด้วย นายวิชัย รักศรีอักษร, นางเอมอร รักศรีอักษร, นายจุลจิตต์ บุณยเกตุ, นายสุวรรณ ปัญญาภาส และนายสมบัตร เดชาพานิชกุล

วันที่ 24 มีนาคม 2548 ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ใช้ทำสัญญาอนุญาตประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1,574.1 ล้านบาท

วันที่ 25 มีนาคม 2548 บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ชำระเงินค่าผลประโยชน์ตอนแทนล้วงหน้าให้ ทอท. 2,140 ล้านบาท รวมทั้งมีการลงนามในสัญญาที่ทศภ.1-01/2548 โดย ทอท. อนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

kingpower1

ป้ายคำ :