ThaiPublica > คอลัมน์ > รู้จักบล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีปฏิวัติสังคม

รู้จักบล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีปฏิวัติสังคม

18 กรกฎาคม 2016


สฤณี อาชวานันทกุล

วันนี้ดูเหมือนเราจะได้ยินชื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน และแทบทุกครั้งก็จะได้ยินสโลแกนเป็นสร้อยต่อท้าย เช่น “พลิกโลก!” “พลิกโฉม!” “ปฏิวัติวงการ!” ฯลฯ

ล่าสุด หลายคนกำลังตื่นเต้นหรือกังวลกับ “พร้อมเพย์” (PromptPay) ระบบโอนเงินรูปแบบใหม่ที่ใช้เบอร์มือถือหรือเลขบัตรประชาชนผูกกับเลขบัญชีธนาคาร

พร้อมเพย์ส่งผลให้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หันมาสนใจกับคำว่า “ฟินเทค” (FinTech) ซึ่งเป็นคำเรียกรวมๆ ถึงการใช้ซอฟต์แวร์เป็นหลักในการให้บริการทางการเงิน บริษัทฟินเทคเกิดใหม่โดยมากตั้งใจจะ “คว่ำ” ระบบการเงินแบบดั้งเดิม

ในบรรดาเทคโนโลยีฟินเทคทั้งหลาย ผู้เขียนคิดว่าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นและทรงพลังมากกว่า “บล็อกเชน” (Blockchain) เทคโนโลยีเบื้องหลัง “บิตคอย์น์” (Bitcoin) สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ ชื่อดัง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่รองรับว่าเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในไทย

บล็อกเชนสำคัญกว่าบิตคอย์น์หลายเท่า เพราะมันเป็นมากกว่าฟินเทค แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพจะ “ปฏิวัติสังคม” แทบทุกเรื่องและทุกระดับ!

เศรษฐกิจและสังคมสมัยใหม่ของเราตั้งอยู่บน “ความไว้วางใจ” ระหว่างกัน (ว่าจะไม่มีใคร “เบี้ยว” ข้อตกลง) แต่เราต้องอาศัย “ตัวกลาง” จำนวนมากมายหลายรูปแบบในการทำให้เรามั่นใจ เช่น เราอาศัยธนาคารเวลาโอนเงิน อาศัยทนายเวลาเจรจาทำข้อตกลงทางการค้า อาศัยนายหน้าอสังหาริมทรัพย์เวลาหาซื้อบ้าน ฯลฯ

บล็อกเชนมีศักยภาพที่จะทำให้ “ตัวกลาง” ทั้งหมดนี้ไร้ความหมาย! (ถ้าไม่ยกระดับตัวเองไปส่งมอบมูลค่าเพิ่มที่ซอฟต์แวร์ทำไม่ได้)

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด บล็อกเชนคือ “ระบบการจัดการฐานข้อมูล” สำหรับการยืนยันตัวตน เคลียร์ริ่งธุรกรรม สืบสาวร่องรอย และบันทึกความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ (เช่น สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างบิตคอย์น์) หรืออะไรก็ตามที่เปลี่ยนมือกันได้

ระบบบล็อกเชนตั้งอยู่บน “บัญชีธุรกรรม” (ledger) อิเล็กทรอนิกส์ บัญชีนี้เก็บไว้ในเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ เรียกว่า “โหนด” (node) แต่ละโหนดมีสำเนาบัญชีธุรกรรมของตัวเอง บัญชีนี้จึงกล่าวได้ว่า “กระจายศูนย์” (distributed) เพราะมันถูกก๊อปปี้ไปอยู่ในทุกโหนดในเครือข่ายในเวลาจริง อัพเดทล่าสุดพร้อมกันตลอดเวลา

ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ของใครเป็น “เจ้าของ” บัญชีธุรกรรมแต่เพียงผู้เดียว

บัญชีธุรกรรมนี้แตกต่างจากบัญชีทั่วๆ ไป ตรงที่มันบันทึกธุรกรรมทุกรายการตั้งแต่บัญชีนี้ถือกำเนิดมาเลยทีเดียว ไม่ว่าจะกี่สิบหรือกี่ร้อยล้านธุรกรรม จึงเป็นที่มาของคำว่า “เชน” (chain หรือ ห่วงโซ่) ใน “บล็อกเชน”

เกิดอะไรขึ้นเวลาที่มีธุรกรรมใหม่? ก่อนอื่น มันจะเข้าสู่เครือข่ายบล็อกเชนในรูปที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน (unconfirmed) ทุกโหนดจะรับรู้ว่า มีธุรกรรมใหม่เกิดขึ้นแล้วนะ โหนดประมวลผลแต่ละโหนดจะจัดธุรกรรมนี้ให้อยู่ในรูปของ “บล็อกข้อมูล” (block ใน “บล็อกเชน”)

การทำงานของบล็อกเชน - เปรียบเทียบเซิร์ฟเวอร์เป็นคน
การทำงานของบล็อกเชน – เปรียบเทียบเซิร์ฟเวอร์เป็นคน

ต่อมาโหนดประเภท “นักขุด” (miner) จะประยุกต์ใช้สมการคณิตศาสตร์ชั้นสูงเข้ากับข้อมูลในบล็อก แปลงให้มันเป็น “ลายเซ็น” อิเล็กทรอนิกส์เพื่อความปลอดภัย เรียกว่า “แฮช” และเอาแฮชมาต่อท้ายบล็อกเชน นอกจากนี้ยังเอาแฮชจากบล็อกสุดท้ายในเชนที่ก่อนจะถึงบล็อกปัจจุบัน มาสร้างแฮชใหม่เช่นกัน แฮชจึงเปรียบเป็น “ครั่งผนึกจดหมาย” – ถ้าเปลี่ยนข้อมูลในบล็อกเพียงตัวอักษรตัวเดียว แฮชก็จะเปลี่ยนไปทั้งหมด ในแง่นี้แฮชจึงช่วย “ยืนยัน” ว่าธุรกรรมล่าสุดเกิดขึ้นจริง และยืนยันว่าธุรกรรมหลังจากนี้ทั้งหมดถูกต้องด้วยเช่นกัน

การทำงานของบล็อกเชน - การยืนยันธุรกรรม
การทำงานของบล็อกเชน – การยืนยันธุรกรรม

สมมุติว่าเราอยากจะ “ปลอม” ธุรกรรม ด้วยการเปลี่ยนแปลงในบล็อกที่อยู่ในบล็อกเชนอยู่แล้ว แฮชของบล็อกนั้นก็จะเปลี่ยนไป ถ้าหากใครลองเช็คความถูกต้องด้วยการประยุกต์ใช้สมการคณิตศาสตร์ คนคนนั้นก็จะพบทันทีว่าแฮชนี้แตกต่างจากแฮชของบล็อกที่อยู่ในบล็อกเชน ฉะนั้นจึงรู้ได้ทันทีว่าอันนี้เป็นของปลอม

การผลิตแฮชนี้ในภาษาบล็อกเชนเรียกว่า การสร้าง “proof of work” หรือเรียกชื่อเล่นว่า “การขุด” (mining) เหมือนขุดเหมือง ทำให้โหนดที่เน้นทำหน้าที่นี้ได้ชื่อว่า “นักขุด” หรือ (miner) และเป็นวิธีที่ทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ล้วนๆ สามารถสร้าง “ความไว้วางใจ” ให้เกิดขึ้นสำหรับธุรกรรมทุกธุรกรรมได้ โดยไม่ต้องมีสถาบันตัวอย่างอย่างเช่นธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้องเลย

วิธีทำงานแบบ "กระจายศูนย์" ของบล็อกเชน
วิธีทำงานแบบ “กระจายศูนย์” ของบล็อกเชน

เนื่องจากบล็อกเชนมีขนาดมหึมาเพราะบันทึกธุรกรรมทั้งหมดตั้งแต่ครั้งแรกจนปัจจุบัน นั่นแปลว่าแฮ็คเกอร์ที่อยากจะแฮ็คบล็อกเชนจะต้องใช้พลังประมวลผลสูงมาก มากกว่าโหนดครึ่งหนึ่งของบล็อกเชนทั้งหมดรวมกัน ซึ่งก็เป็นไปได้ยากเพราะมีต้นทุนสูงลิบ ด้วยเหตุนี้เครือข่ายบล็อกเชนจึงมีความปลอดภัยสูงยิ่ง

วิธีสร้างแฮชของโหนด “นักขุด” ถูกออกแบบมาให้ใช้ทรัพยากร (พลังประมวลผล และไฟฟ้าที่ป้อนคอมพิวเตอร์) สูงมากและทำยาก แต่โหนดนักขุด (หรือพูดให้ชัดกว่าคือ คนหรือบริษัทที่เป็นเจ้าของโหนดนักขุด) ได้แรงจูงใจจากการได้ค่าธรรมเนียมหรือผลตอบแทนจากการสร้างแฮช ในกรณีของบิตคอย์น์บล็อกเชน แรงจูงใจนั้นอยู่ในรูปของบิตคอย์น์ซึ่งจะออกใหม่เป็น “รางวัล” ให้กับโหนดนั้นๆ

การได้บิตคอย์น์เป็นรางวัลนอกจากจะสร้างแรงจูงใจให้คนช่วยกันดูแลระบบให้มีความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นวิธีเพิ่มปริมาณเงินในระบบแบบ “กระจายศูนย์” คือไม่มีธนาคารกลางคอยตัดสินใจ ทุกอย่างเกิดจากโค้ดคอมพิวเตอร์ล้วนๆ

(แรกเริ่มเดิมทีนั้น “นักขุด” ได้รางวัลเป็นบิตคอย์น 50 หน่วย ต่อมาถูกหารครึ่งเหลือ 25 หน่วย และล่าสุดเหลือ 12.5 หน่วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะอุปทานของบิตคอย์น์ทั้งหมดทั้งโลกถูกออกแบบให้มีจำนวนจำกัด คล้ายกับทองคำ ไม่ใช่เงินตราที่พิมพ์ใหม่ได้เรื่อยๆ และมีความเสี่ยงจะเกิดเงินเฟ้อรุนแรงหรือ hyperinflation แต่แน่นอนว่า “นักขุด” หลายเจ้าก็ขุดต่อไปเพราะหวังว่ามูลค่าของบิตคอย์น์จะเพิ่มขึ้นในอนาคต)

แถวเซิร์ฟเวอร์ที่่ตั้งขึ้นเพื่อ "ขุด" บล็อกเชน (mining) ของ แชนด์เลอร์ กั๋ว (Chandler Guo) ผู้ก่อตั้ง BitBank ในจีน
แถวเซิร์ฟเวอร์ที่่ตั้งขึ้นเพื่อ “ขุด” บล็อกเชน (mining) ของ แชนด์เลอร์ กั๋ว (Chandler Guo) ผู้ก่อตั้ง BitBank ในจีน

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นแปลว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถสร้าง “ความไว้วางใจ” ให้กับธุรกรรมทุกประเภท จาก “โค้ดคอมพิวเตอร์” ที่ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ ไม่ต้องอาศัย “ตัวกลาง” หรือการตัดสินใจใดๆ ของ “คน” นอกจากนี้ การที่บล็อกเชนบันทึกประวัติศาสตร์ตั้งแต่ธุรกรรมครั้งแรกเริ่ม เท่ากับเป็นการสร้างและเรียกร้อง “ความโปร่งใส” ชนิดสุดขั้วจากทุกฝ่ายที่อยากทำธุรกรรม

ในเมื่อข้อมูลแทบทุกรูปแบบวันนี้สามารถแปลงให้อยู่ในรูปข้อมูลดิจิทัล บล็อกเชนจึงสามารถใช้สำหรับรองรับกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายได้มากมาย เพราะกิจกรรมแทบทุกชนิดในชีวิตของคนเราตั้งอยู่บนการแลกเปลี่ยนจากคนอื่น ฉะนั้นบล็อกเชนจึงสามารถรองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ ตราสาร สินเชื่อ ที่ดิน บ้าน สินค้า เอกสารยืนยันความถูกต้อง รวมทั้งข้อตกลงต่างๆ ด้วย ในทางที่เร็วกว่า ง่ายกว่า และถูกกว่าวิธีที่เราคุ้นเคยอย่างมหาศาล ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าบล็อกเชนจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของระบบประชาธิปไตยและการศึกษาได้ด้วย!

โปรดติดตามตอนต่อไป.