ThaiPublica > เกาะกระแส > กทม. จัดงบ 53 ล้านปั้น เป็น “มหานครแห่งอาเซียน” เริ่มจากทำแผนที่รถเมล์ – กส.บ. เดินหน้าปฏิรูประบบเดินรถฯ

กทม. จัดงบ 53 ล้านปั้น เป็น “มหานครแห่งอาเซียน” เริ่มจากทำแผนที่รถเมล์ – กส.บ. เดินหน้าปฏิรูประบบเดินรถฯ

4 กรกฎาคม 2016


ที่มาภาพ : เอกสารแผนการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556-2560
ที่มาภาพ: เอกสารแผนการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556-2560

บนพื้นที่ 1,569 ตร.กม. ของกรุงเทพฯ ผู้เดินทางสามารถเลือกใช้การเดินทางโดยเรือ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และรถตู้ รถโดยสาร รถเมล์ รถตุ๊กๆ รถสองแถวในซอย ไปจนถึงวินมอเตอร์ไซค์ แต่ระบบเส้นทางการขนส่งในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการทุกคนต้องเผชิญในเมืองใหญ่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายคมนาคมที่ไม่สัมพันธ์กัน จุดรอรถหรือเรือโดยสาร รวมถึงป้ายบอกเส้นทาง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางโดยใช้ “รถเมล์” ที่ต้องประสบปัญหาอย่างมากเมื่อต้องโดยสารรถเมล์ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย เนื่องจากบริเวณป้ายรถเมล์ส่วนใหญ่ไม่ได้บอกสายรถเมล์ที่ผ่าน และไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดว่ารถเมล์แต่ละสายมีเส้นทางเดินรถผ่านจุดใดบ้าง

จัดงบ 53 ล้านทำแผนที่รถเมล์ ปั้นกรุงเทพฯ มหานครแห่งอาเซียน

ภายใต้นโบาย 10+6 ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้วางงบประมาณให้กับนโยบาย “มหานครแห่งอาเซียน” สำหรับปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ไว้จำนวน 53 ล้านบาท ตามแนวทางที่จะให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน ข้อหนึ่งที่ทางกรุงเทพมหานครจะดำเนินการคือ การจัดทำป้ายบอกทาง แผนที่ ป้ายรถประจำทาง และจุดให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษทั่วกรุงเทพฯ รวมไปถึงงบประมาณในส่วนของนโยบาย “มหานครแห่งความสุข” จำนวน 4,265 ล้านบาท นอกจากจะนำมาใช้ปรับปรุงด้านการแพทย์ งบประมาณดังกล่าวได้ผนวกรวมไปถึงเรื่องการพัฒนาขนส่งมวลชนให้ทั่วถึง

แผนที่ป้ายรถเมล์

เพื่อรับกับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน กรุงเทพมหานครโดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 2.5 ล้านบาท เพื่อจัดทำแผนที่รถเมล์ Bus Route Map รูปแบบ 2 ภาษา (ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ) เบื้องต้นเป็นจำนวน 50 ป้าย ในพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสำคัญๆ ใน 7 โซนหลัก ได้แก่ เกาะรัตนโกสินทร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หมอชิต สะพานควาย สยาม ราชประสงค์ สีลม สาทร สุขุมวิท อ่อนนุช วงเวียนใหญ่ เพชรเกษม อย่างไรก็ตาม สจส. มีเป้าหมายติดตั้งป้ายแนะนำเส้นทางดังกล่าวไว้ที่จำนวน 200-250 ป้าย

โดยได้ว่าจ้างบริษัท รัชรส จำกัด เป็นผู้รับดำเนินการ จัดทำป้ายขนาด 1.20 x 1.80 เมตร เฉลี่ยป้ายละ 39,900 บาทประกอบไปด้วยงานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กงานโครงสร้างป้าย แผ่นพิมพ์แผนที่บอกเส้นทางเดินรถ พร้อมแผ่นป้ายสติ๊กเกอร์กันน้ำกันฝนงานปรับคืนสภาพทางเท้าให้กลับมาสมบูรณ์ และรายละเอียดอื่นๆ

ขณะเดียวกันก็ดำเนินการปรับเปลี่ยนศาลาพักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ โดยนำร่อง 4 จุด รวม 8 ศาลาที่พัก ตามรายงานจากเว็บไซต์แนวหน้า นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ได้ดำเนินการศึกษาข้อจำกัดของพื้นที่ ข้อจำกัดการเดินรถ และข้อจำกัดของระยะเวลาการใช้ของประชาชน เพื่อทำรูปแบบศาลาพักใหผู้โดยสารที่เหมาะสมกับพื้นที่ อาจมี 4 แบบ ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดดังกล่าว อาทิ พื้นที่น้อย-รถผ่านมาก พื้นที่น้อย-รถผ่านน้อย พื้นที่มาก-รถผ่านน้อย พื้นที่มาก-รถผ่านมาก สำหรับวงเงินต่อจุดอยู่ที่ 2-3 แสนบาทต่อป้าย

ทั้งนี้ ในอนาคต สจส. มีแผนการปรับป้ายทั้งหมดที่เป็นศาลาที่พักผู้โดยสารให้เป็นป้ายรถประจำทางที่สามารถบอกเส้นทางรถ สายรถเมล์ ว่าผ่านจุดใดบ้าง ไปจนถึงสายรถเมล์ในบริเวณใกล้เคียง มีแผนที่อย่างละเอียด มี Wifi ที่ชาร์จแบตเตอรี่ ตู้น้ำ ถังขยะ กล้อง CCTV สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ และอาจมีการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ประชาชนสามารถตรวจสอบเส้นทางผ่านโทรศัพท์มือถือ บอกเวลาที่รถจะมาถึงป้ายให้ทราบล่วงหน้า (อ่านรายละเอียดแผนการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556-2560)

อย่างไรก็ตามเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่กรุงเทพมหานครเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ฟากกรมการขนส่งทางบกได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่จะจัดทำ “แผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” โดยมีการเสวนาเสนอแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการเดินรถโดยสารสาธารณะ ไปเมื่อ 20 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา โดยดึง ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีดังกล่าวด้วย ดั้งนั้น หากมีการปฏิรูประบบบริหารจัดการการเดินรถโดยสารสาธารณะใหม่จริง เส้นทางการเดินรถแบบเดิมอาจมีการปรับเปลี่ยน สิ่งที่กรุงเทพมหานครลงทุนทำไปอาจต้องปรับใหม่อีกครั้ง

นานาปัญหาของคนใช้แผนที่ใหม่ – รถเมล์ไทย

สำหรับแผนที่รถเมล์ Bus Route Map ที่กรุงเทพมหานครได้จัดทำขึ้นนั้น จากที่ผู้สื่อข่าวได้ทำการลงพื้นที่สำรวจบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และบริเวณป้ายรถเมล์สยาม-มาบุญครอง พบว่าได้มีการติดตั้งป้ายแผนที่ดังกล่าวแล้ว ซึ่งป้ายดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) แผนที่ในบริเวณดังกล่าวและสายรถเมล์ที่ผ่าน 2) ผังรายการแสดงสายรถเมล์ในบริเวณนั้นและใกล้เคียง และ 3) ผังแสดงเส้นทางเดินรถแต่ละสายในบริเวณนั้นและใกล้เคียง

แผนที่ป้ายรถเมล์

การอ่านแผนที่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับผู้ไม่สันทัดในกรอ่านแผนที่อย่างประชากรไทยหลายท่าน เมื่อสอบถามผู้ใช้บริการระบุว่า ในส่วนแรกที่เป็นแผนที่เข้าใจง่าย สามารถทราบได้ว่าตนเองอยู่จุดไหน แล้วจะต้องเดินทางต่อไปอย่างไร สำหรับนักท่องเที่ยวเองแม้ไม่ใช้บริการรถเมล์แผนที่ดังกล่าวยังช่วยอำนวยความสะดวกให้เขาเดินทางไปในสถานที่ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น อาทิ จากมาบุญครองไปสยามพารากอน

อย่างไรก็ตาม ยังคงพบปัญหาจากผู้ใช้งาน คือ ป้ายมีความละเอียดข้องข้อมูลมาก หลายคนไม่เข้าใจต้องเดินไปถามนายสถานีอีกครั้ง ประกอบกับตัวหนังสือมีขนาดเล็ก ผู้ใช้งานส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจรายละเอียดการแบ่งสีในส่วนที่ 3) แต่สามารถเข้าใจในเบื้องต้นได้ว่ารถสายใดผ่านจุดใดบ้าง และด้วยข้อจำกัดของขนาดป้ายทำให้ผังที่ 3) แสดงเส้นทางเดินรถได้เพียง 27 สาย ขณะที่สายรถเมล์ที่ปรากฏในแผนที่และผังที่ 2) มีมากกว่า 30 สาย เส้นทางที่เหลือเป็นหน้าที่ผู้ใช้บริการต้องหาข้อมูลเพิ่ม

หลายคนมีข้อสงสัยว่า ส่วนที่ 2) และ 3) จะแสดงรายการสายรถเมล์บริเวณใกล้เคียงที่อยู่นอกแผนที่ทำไม เพราะไม่มีสายรถเมล์ดังกล่าวในแผนที่ แต่ผังในส่วนที่ 2) และ 3) เป็นแผนที่ในอีกรูปแบบที่อาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลจากส่วนที่แสดงในแผนที่ส่วนที่ 1) เช่น หากต้องการเดินทางไปยังถนนตกซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่นอกเหนือแผนที่แสดง เมื่อดูผังที่ 2) จะพบว่ามีรถเมล์สาย 1 ให้บริการ ระหว่าง ถนนตก-ท่าเตียน ซึ่งเมื่อตรวจสอบเส้นทางเดินรถตามผังที่ 3) จะทราบว่าสายรถเมล์ที่ปรากฏในแผนที่ส่วนที่ 1) ที่มีเส้นทางทับซ้อน และสามารถไปต่อรถเมล์สาย 1 ที่มุ่งหน้าสู่ถนนตกได้ เช่น รถเมล์สาย 15 สาย 16 สาย 36 หรือสาย 47 ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรเพื่อตรวจสอบเส้นทางเดินรถของรถเมล์ทั้ง 27 สายที่ปรากฏในส่วนที่ 3)

แผนที่รถเมล์ Buses Route Map เส้นทางสยาม-ราชประสงค์ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง
แผนที่รถเมล์ Bus Route Map เส้นทางสยาม-ราชประสงค์ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง

และจากการรวบรวมความเห็นของผู้ใช้บริการรถเมล์ในโลกออนไลน์ พบว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ ประสบปัญหา 10 ข้อหลัก ได้แก่

  • รถเมล์ไม่รับ-ส่ง ผู้โดยสารตามป้าย ทิ้งผู้โดยสารกลางทาง โดยเฉพาะ “รถเมล์ฟรี”
  • รถเมล์สายเดียวกันแต่ให้บริการต่างเส้นทาง ผู้โดยสารต้องสังเกตเองว่ารถคันดังกล่าววิ่งวนซ้ายหรือขวา ขึ้นทางด่วนหรือเป็นรถเสริมที่ให้บริการเพียงครึ่งทาง เช่น รถเมล์สาย 11 มีทั้งสาย 11 รถร่วมที่วิ่งไปทางประตูน้ำ, สาย 11 และ ปอ.11 ที่วิ่งเส้นทางเดียวกันไปสนามกีฬาแห่งชาติ, สาย 11 ที่สุดสายแค่ มศว ประสานมิตร
  • ป้ายรถเมล์ไม่แสดงสายรถเมล์ที่ให้บริการในเส้นทางดังกล่าว
  • ข้อมูลด้านข้างรถเมล์ไม่ชัดเจน และไม่เพียงพอที่ผู้โดยสารจะทราบว่ารถคันดังกล่าวจะผ่านสถานที่ที่ต้องการไปหรือไม่
  • ผู้โดยสารต่างถิ่นมักไม่ทราบชื่อของป้ายรถเมล์ที่ต้องแจ้งแก่กระเป๋ารถเมล์ ในกรณีที่เก็บค่าโดยสารตามระยะทาง ซึ่งกรณีชื่อสถานที่เป็นปัญหาไม่น้อยสำหรับระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ที่มีชื่อสถานที่ไม่ตรงกัน เช่น กรณีที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ป้ายบอกทางในเมืองไทยไม่เป็นสากล และสร้างความสับสนให้กับนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสถานที่เดียวกันแต่กลับเป็นคนละชื่อ เฉพาะสถานี BTS และ MRT ก็มีชื่อที่ต่างกันหลายสถานี เช่น สวนจตุจักร หมอชิต สุขุมวิท อโศก สีลม ศาลาแดง
  • ขับรถประมาทหวาดเสียว กิริยาวาจาของพนักงานทั้งคนขับและกระเป๋ารถเมล์ไม่สุภาพ เป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการบ่อยครั้ง
  • ไม่ทราบเวลาที่รถเมล์จะมาถึง ทำให้เสียเวลารอ
  • หมายเลขรถไม่ชัดเจน
  • บริเวณป้ายรถเมล์มีป้าย คัตเอาต์โฆษณา ตู้โทรศัพท์ หรือต้นไม้บังการมองเห็นรถของผู้รอรถ
  • ระบบส่องสว่างบริเวณป้ายรถเมล์ไม่เพียงพอ

กรณีต่างๆ ข้างต้นได้มีข้อเสนอให้นำรูปแบบการดำเนินการของต่างประเทศที่ได้ผลดีมาใช้ เช่น ญี่ปุ่น ที่แก้ปัญหาการทับซ้อนเส้นทางเดินรถด้วยการจัดจุดต่อรถเปลี่ยนไปโดยสารรถไฟเพื่อมุ่งตรงไปยังปลายทางหลักแห่งเดียว หรือกรณีของไต้หวันที่บนรถเมล์จะมีป้ายไฟกระพริบแสดงจุดต่อไปที่รถจะไปถึงให้ผู้โดยสารทราบ รวมทั้งมีแผนผังเส้นทางเดินรถที่เข้าใจง่ายไว้บริเวณป้ายรถเมล์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้หลายข้อเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการทำแผนที่บอกเส้นทาง

เรื่องของรถเมล์ยังไม่จบ ติดตามได้ในตอนต่อไป เกี่ยวกับแอปพลิเคชัน หรือการอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จัดทำโดยภาคประชาชนที่จะช่วยให้คนไทยใช้บริการรถเมล์ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งโมเดลจากจุดเล็กๆ อย่างรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อำนวยความสะดวกให้นิสิตทราบล่วงหน้าได้ว่ารถจะมาถึงเมื่อไร หรือโมเดลระดับจังหวัดอย่าง Chiangmaibus ที่พยายามเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัด ภายใต้สโลแกน “รถประจำทางเมืองเชียงใหม่ น่าใช้ ตรงเวลา ราคาประหยัด”