ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คนไทยได้อะไร จากการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกของ “ทีมเลสเตอร์”

คนไทยได้อะไร จากการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกของ “ทีมเลสเตอร์”

3 มิถุนายน 2016


บรรยากาศการแห่ฉลองถ้วยแชมป์อิงลิชพรีเมียร์ลีก ของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ Leicester City FC Thailand
บรรยากาศการแห่ฉลองถ้วยแชมป์อิงลิชพรีเมียร์ลีก ของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กแฟนเพจ Leicester City FC Thailand

แม้การคว้าแชมป์การแข่งขันรายการอิงลิชพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2015/2016 ของสโมสรฟุตบอล “เลสเตอร์ซิตี้” เป็นครั้งแรก ในรอบ 132 ปีของของอายุสโมสร จะสร้างความยินดีปรีดาให้กับทั้งชาวเมืองเลสเตอร์และชาวไทย ที่มีสัญชาติเดียวกับ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” เจ้าของสโมสร

แต่เมื่อวิชัยนำนักเตะ “จิ้งจอกสยาม” ทีมเลสเตอร์ เช่น แคสเปอร์ ชไมเคิล คริสเตียน ฟุคส์ เวส มอร์แกน และชินจิ โอคาซากิ เดินทางมาโชว์ตัวที่เมืองไทย พร้อมกับจัดกิจกรรมแห่ถ้วยแชมป์ใจกลาง กทม. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 กลับถูกคนไทยบางส่วนตั้งคำถามว่า “เจ้าของทีมเลสเตอร์เป็นคนไทยก็จริง แต่ในทีมไม่มีนักเตะไทยซักคน จะมาแห่ถ้วยใหญ่โตในบ้านเราเพื่ออะไร” ถึงขั้นมีคนนำไปตั้งเป็นกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป

คนไทยจะได้อะไรจากการแห่ฉลองแชมป์ครั้งนี้

ขณะที่ โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว BBC ประจำประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ทวีตภาพพนักงานของบริษัทดิวตี้ฟรี King Power ที่ถูกเกณฑ์ให้มาต้อนรับขบวนแห่ของทีมเลสเตอร์ (บางคนถูกจ้างให้มาต้อนรับด้วยเสื้อฟรีและเงิน 500 บาท) พร้อมตั้งคำถามว่า How many real fans will there be at this parade? (จะมีแฟนตัวจริงของทีมเลสเตอร์มาร่วมขบวนแห่สักกี่คน)

ข้อความส่วนหนึ่งที่ โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว BBC ที่ทวิตเกี่ยวกับการแห่ฉลองถ้วยแชมป์ในเมืองไทย ของทีมเลสเตอร์
ข้อความส่วนหนึ่งที่ โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว BBC ทวีตเกี่ยวกับการแห่ฉลองถ้วยแชมป์ในเมืองไทยของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้

แม้จะมีคอลัมนิสต์กีฬาไทยหลายคนช่วยหาคำตอบ พร้อมบอกว่า การที่ทีมเลสเตอร์ซึ่งเป็นม้านอกสายตาสุดๆ เริ่มต้นฤดูกาลด้วยอัตราต่อรอง 1:5,000 จากร้านพนันถูกกฎหมายในอังกฤษ (แทง 1 ได้ 5,000 คือไม่มีใครเชื่อว่าจะได้แชมป์แน่ๆ) กลับคว้าแชมป์ในท้ายที่สุด ถือเป็น “ปรากฏการณ์ในวงการกีฬาโลก” ที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นอีกได้หรือไม่

แต่คำถามข้างต้น นำไปสู่การตั้งอีกคำถามที่น่าค้นหาคำตอบ คือ

ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึง “คนไทย” ได้อะไร จากการคว้าแชมป์ของทีมเลสเตอร์ครั้งนี้

1. วิชัย ศรีวัฒนประภา และครอบครัว ได้อะไร

เป็นที่รู้จักในสังคมอังกฤษมากขึ้น

นับแต่เทกโอเวอร์ทีมเลสเตอร์ ในปี 2010 (ต้นฤดูกาล 2010/2011) ด้วยเงินประมาณ 39 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,900 ล้านบาท) แม้วิชัยและ “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” บุตรชาย ที่เป็นรองประธานสโมสร ได้รับการพูดถึงจากสื่ออังกฤษท้องถิ่นอย่าง นสพ. Leicester Mercury อยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับสื่ออังกฤษระดับประเทศอื่นๆ วิชัยก็ไม่ต่างอะไรจาก “นักลงทุนต่างชาติ” คนอื่นๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาซื้อทีมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ

กระทั่งฤดูกาลนี้ เมื่อทีมเลสเตอร์สร้างเซอร์ไพรส์ขึ้น สื่ออังกฤษชื่อดังหลายเจ้า อาทิ สำนักข่าว BBC, นสพ. Daily Mail, นสพ. The Mirror ฯลฯ ก็เริ่มรายงานประวัติความเป็นมาของวิชัยอย่างเจาะลึกมากขึ้น ทั้งการสร้างอาณาจักรดิวตี้ฟรี King Power ความสัมพันธ์กับคนในราชวงศ์อังกฤษผ่านกีฬาโปโล ลักษณะการใช้ชีวิตอันหรูหรา (เดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ต Gulfstream G650 ราคา 43 ล้านปอนด์ หรือเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัว) ความเชื่อส่วนตัวทางศาสนา ทั้งการนั่งสมาธิ การเชิญพระสงฆ์มาทำพิธี หรือผ้ายันต์ รวมไปถึงความใจป้ำในหลายๆ กรณี ทั้งการแจกโดนัทและเบียร์ฟรีในวันเกิด แจกชิป 1 พันปอนด์ (ประมาณ 50,000 บาท) หรือช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายของกองเชียร์เมื่อต้องไปดูเกมเยือน

แง่มุมต่างๆ ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ ทำให้วิชัยและครอบครัวเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมอังกฤษ

ความมั่งคั่งที่เพิ่มมากขึ้น

เฉพาะความมั่งคั่งส่วนตัว จากการประเมินโดยนิตยสาร Forbes ในปี ค.ศ. 2015 วิชัยมีทรัพย์สินทั้งหมดราว 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 87,500 หล้านบาท) เป็นเศรษฐีลำดับที่ 9 ของเมืองไทย แต่จากการประเมินแบบเรียลไทม์ล่าสุด วิชัยมีทรัพย์สินทั้งหมดราว 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 112,000 ล้านบาท) ขึ้นเป็นเศรษฐีลำดับที่ 4 ของเมืองไทย

แม้ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นกว่า 24,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของธุรกิจดิวตี้ฟรีที่ขยายตัวตามตลาดการท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่แน่นอนว่า บางส่วนย่อมมาจากมูลค่าของทีมฟุตบอลอาชีพในมือที่เพิ่มสูงขึ้น

บริษัทวิจัยชื่อดัง Private Company Financial Intelligence (PrivCo) ประเมินว่า มูลค่าของทีมเลสเตอร์หลังได้แชมป์อิงลิชพรีเมียร์ลีกน่าจะอยู่ที่ 436 ล้านปอนด์ (ประมาณ 21,800 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากมูลค่าตอนที่วิชัยเข้าเทกโอเวอร์เมื่อหกปีก่อน กว่า 11 เท่า โดย PrivCo ระบุว่า มูลค่าที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ทวีปยุโรป ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก รวมถึงมูลค่าของ “แบรนด์” ทีมเลสเตอร์ที่พุ่งสูงขึ้น

สถานะ และเกราะป้องกันทางการเมือง

วิชัยเป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่นักการเมือง และไม่เคยลงเล่นการเมือง แต่การเจริญเติบโตทางธุรกิจของวิชัยสอดคล้องกับคอนเน็กชั่นทางการเมืองที่ตัวเขามี การสนิทชิดเชื้อกับคนใหญ่คนโตในบ้านเมืองทุกสีทุกฝ่าย ทำให้ธุรกิจของวิชัยสามารถผูกขาดและรอดพ้นจากช่วงวิกฤติการเมือง “เสื้อเหลือง-เสื้อแดง” ระหว่างปี 2549-2551 มาได้

กระทั่งเขายื่นซื้อทีมเลสเตอร์ในปี 2553 เป็นกลุ่มทุนไทย รายที่ 2 ที่ยื่นซื้อทีมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ ต่อจาก “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ซื้อทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 2550 (ปัจจุบันทุนไทยเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ รวม 3 ทีม คือเลสเตอร์ซิตี้, เรดดิ้ง และเชฟฟิลด์เวนส์เดย์)

แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Reuters ประจำประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์ว่า การเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ ทำให้เขาได้รับการยอมรับนับถืออย่างมากในเมืองไทย (ซึ่งฟุตบอลอังกฤษได้รับความนิยมอย่างสูง) โดยสถานะดังกล่าวทำให้วิชัยกลายเป็น “international brand ambassador for Thailand” ไปโดยปริยาย ยิ่งทีมเลสเตอร์ประสบความสำเร็จเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นเกราะกันกระสุนให้กับตัวเขา จากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเมืองไทยต่อไป

หรือในมุมมองนักลงทุนรายหนึ่ง มองว่า การขาดแรงจูงใจทางการเมือง ทำให้วิชัยต่างจากทักษิณ เขาและอาณาจักร King Power จะยังประสบความสำเร็จทางธุรกิจต่อไป แม้ในสภาวะการเมืองไทยยุคปัจจุบัน (วิชัยยังปฏิเสธว่าจะไม่ไปเล่นการเมืองร่วมกับพรรคภูมิใจไทย หรือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ)

วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของอาณาจักรพ่อดิวตี้ฟรี King Power และประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ จะได้อะไรจากถ้วยแชมป์ใบนี้ ที่มาภาพ : http://goo.gl/6rYHkZ
การคว้าแชมป์อิงลิช พรีเมียร์ลีก ประจำฤดูกาล 2015/2016 ไม่เพียงทำให้คนอังกฤษรู้จัก วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าพ่อธุรกิจดิวตี้ฟรีของเมืองไทยมากขึ้น ยังทำให้แบรนด์ของ King Power เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติด้วย ที่มาภาพ: http://goo.gl/6rYHkZ

King Power ได้อะไร

ถึงนาทีนี้ คนอังกฤษส่วนใหญ่ (อย่างน้อย คนทั้งเมืองเลสเตอร์) ก็คงรู้แล้วว่า King Power คืออะไร เป็นธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองไทย และมีความเป็นมาอย่างไร

หลังจากคว้าแชมป์อิงลิชพรีเมียร์ลีก เชื่อว่ามูลค่า brand นี้คงพุ่งสูงขึ้น จากที่ไม่เป็นที่รู้จัก กระทั่งอัยยวัฒน์ยังบอกระหว่างสัมภาษณ์กับนิตยสาร a day ว่า ในตอนที่ซื้อทีมแรกๆ สื่ออังกฤษยังเขียนแค่ว่าเป็น Thai Businessman เท่านั้น แทบไม่มีใครเอ่ยถึงคำว่า King Power เลย

แต่ถึงวันนี้ มีสกู๊ปเกี่ยวกับประวัติของทั้งวิชัย อัยยวัฒน์ และมี King Power เต็มไปหมด
อัยยวัฒน์ยังกล่าวว่า ในแง่ธุรกิจ เขาคุ้มทุนตั้งแต่ทีมเลสเตอร์เลื่อนขึ้นจากแชมเปี้ยนชิพมาอยู่ในพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาล 2013/2014 แล้ว โดยเขาเปรียบเปรยว่า “หากเราลงทุนซื้อโรงแรม 50 แห่งในอังกฤษ King Power ก็คงมีคนรู้จักแค่เฉพาะในวงการโรงแรม แต่การซื้อทีมฟุตบอลในราคาเท่ากัน เราเป็นที่รู้จักในทุกวงการ เอาแค่เรื่องประชาสัมพันธ์ การตลาด ก็เกินมูลค่าการลงทุนไปแล้ว”

แม้จะยังไม่ปรากฎว่า King Power จะเข้าไปประมูลงาน หรือลงทุนทำธุรกิจอะไรในอังกฤษ แต่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล ปัจจุบันวิชัยได้รุกเข้าไปทำธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.kingpoweronline.com พร้อมจัดส่งสินค้าทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในสนามบินของเมืองไทยเพียงอย่างเดียว

อนาคตหากเขาจะไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียที่ฟุตบอลอังกฤษได้รับความนิยม “แต้มต่อ” ของ King Power ก็คงจะสูงกว่าในอดีตแน่นอน

จากความตั้งใจเดิมเข้าไปซื้อสปอนเซอร์คาดอกเสื้อแข่ง เป็นเวลา 3 ปี (ระหว่างปี 2010-2013) ใช้เงินทั้งสิ้น 3 ล้านปอนด์ (ประมาณ 150 ล้านบาท) ซึ่งไม่รู้ว่าสิ่งได้ที่กลับคืนมาสู่ King Power จะตีเป็นตัวเงินได้เท่าใด แต่การที่วิชัยเพิ่มเงินอีกก้อนหนึ่ง ซื้อทีมมาบริหารงานจนประสบความสำเร็จได้เช่นทุกวันนี้

เชื่อว่าเฉพาะ “มูลค่าแบรนด์” ที่เพิ่มขึ้นของ King Power ก็มากกว่าเงิน 3 ล้านปอนด์ ไปหลายเท่าตัวแล้ว

2. สโมสร เมือง และชาวเลสเตอร์ ได้อะไร

รายได้ของสโมสรเพิ่มขึ้น และสโมสรเป็นที่รู้จักมากขึ้น

Deloitte บริษัทผู้ให้บริการด้านบัญชีและคำปรึกษาที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ประเมินรายได้ของทีมเลสเตอร์ในฤดูกาลนี้ไว้ว่าจะอยู่ที่ราว 125 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6,250 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลก่อนถึงกว่า 20 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,000 ล้านบาท) แม้จะดูเป็นเงินที่ไม่มากมายอะไร แต่เงินก้อนใหญ่จริงๆ จะเข้ามาในฤดูกาลหน้า โดยแหล่งรายได้สำคัญ คือ 1. การเข้าร่วมแข่งขันในรายการยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และ 2. ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอด (T.V. rights) ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากสัญญาฉบับใหม่

โดย Deloitte ได้ประมาณการรายได้ของทีมเลสเตอร์ในฤดูกาล 2016/2017 ไว้ใน 3 กรณี

  • ผลงานแย่สุดๆ ก็จะมีรายได้อย่างน้อย 155 ล้านปอนด์ (ประมาณ 7,750 ล้านบาท)
  • ผลงานดีพอใช้ เช่น เกาะอยู่กลุ่มกลางตาราง จะทำให้มีรายได้จาก merit fees เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านปอนด์ ทุกๆ หนึ่งอันดับที่สูงขึ้น ไม่รวมถึงเงินโบนัสกรณีที่มีการถ่ายทอดสดบ่อยครั้ง โดยคาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ราว 180 ล้านปอนด์ (ประมาณ 9 ,000 ล้านบาท)
  • ผลงานสุดยอด เหมือนฤดูกาลนี้ คือรักษาแชมป์ไว้ได้ พร้อมกับเข้ารอบลึกๆ ของยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก จะการันตีรายได้อย่างน้อย 200 ล้านปอนด์ (ประมาณ 10,000 ล้านบาท)

ขณะที่สถานะ “ทีมอันดับ 1 แห่งอังกฤษ” ไม่เพียงทำให้ค่าตัวนักเตะในทีมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการประเมินของเว็บไซต์เอเยนต์นักฟุตบอลชื่อดัง tranfermarkt.co.ukเจมี่ วาร์ดี้” กองหน้าดาวซัลโวของทีม จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 9 ล้านปอนด์ (ราว 450 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่าจากตอนที่ซื้อตัวเข้ามา โดยมูลค่านักเตะทั้งทีมเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า (จาก 49.83 ล้านปอนด์ เป็น 95.25 ล้านปอนด์ ในปัจจุบัน) และยังจะทำให้การซื้อตัวนักเตะดีๆ เข้ามาสู่ทีมในอนาคตเป็นไปได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การคว้าแชมป์อย่างผลิกความคาดหมาย ยังทำให้สโมสรเป็นที่รู้จักมากขึ้น สำนักข่าว BBC รายงานว่า แฟนคลับของทีมเลสเตอร์มีเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะในไทยเท่านั้น เห็นได้จากจำนวนยอดผู้กดติดตามแฟนเพจทางการของสโมสร ที่เพิ่มขึ้นถึง 540% โดยกว่า 5 แสนคนที่กดติดตามเป็นชาวแอลจีเรีย สัญชาติเดียวกับ “ริยาด มาห์เรซ” ปีกดาวดังทีมชาติแอลจีเรีย

ขณะที่คนจากฮอลลีวูดเริ่มมาด้อมๆ มองๆ หวังจะใช้ plot การคว้าแชมป์สุดอัศจรรย์นี้ ไปนำเสนอในโรงภาพยนตร์

การพัฒนาเมืองและท้องถิ่น

เดิม เมือง Leicester (คนท้องถิ่นออกเสียงว่า เลส-ตาร์) เป็นเมืองที่ไม่ค่อยมีอะไรให้กล่าวถึงมากนัก ตั้งอยู่ตอนกลางของเกาะอังกฤษ จำนวนประชากรในเขตเมืองมีอยู่เพียง 3.3 แสนคนเท่านั้น (มากกว่าความจุของสนาม King Power สนามเหย้าของทีมเลสเตอร์ เพียง 10 เท่า) แม้จะมีทีมรักบี้อาชีพชื่อดังอย่างทีมเลสเตอร์ไทเกอร์ แต่สำหรับแฟนฟุตบอล เมืองนี้ถือเป็นเพียง “เมืองผ่าน” เท่านั้น ขึ้นเหนือไปไม่นานก็มีแมนเชสเตอร์-ลิเวอร์พูล หรือลงใต้มาเล็กน้อยก็ถึงกรุงลอนดอนแล้ว

ในโลกลูกหนัง ทีมเลสเตอร์ไม่เคยมีความสลักสำคัญใดๆ ทว่า นับแต่ฤดูกาล 2016/2017 เป็นต้นไป เลสเตอร์จะเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญสำหรับแฟนบอล ซึ่งแน่นอน แปลว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้น

แม้จะยังไม่มีสถิติยืนยันแน่ชัดว่า ผลงานที่พุ่งขึ้นของทีมเลสเตอร์ นับแต่คนไทยเข้ามาเป็นเจ้าของ ช่วยส่งผลต่อการพัฒนาเมืองเลสเตอร์เพียงใด แต่เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวที่คึกคักยิ่งขึ้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

จัตรัสใจกลางเมืองเลสเตอร์ ที่มาภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Leicester#Landmarks
จัตุรัสใจกลางเมืองเลสเตอร์ ที่มาภาพ: en.wikipedia.org/wiki/Leicester#Landmarks

3. คนไทยและประเทศไทย ได้อะไร

วิชัยและอัยยวัฒน์ให้สัมภาษณ์หลายครั้งหลายหน ยืนยันว่า หนึ่งในวัตถุประสงค์การเข้าเทกโอเวอร์ทีมของอังกฤษ ก็เพราะต้องการใช้ความเป็นมืออาชีพของทีมฟุตบอลอังกฤษเข้ามาช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไทย โดยเฉพาะพัฒนาฝีเท้าของนักเตะเยาวชนไทยให้ก้าวไปสู่ระดับโลก ไม่ใช่แค่ระดับอาเซียนเช่นในปัจจุบัน

ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จึงได้เห็นโครงการที่ “ครอบครัวศรีวัฒนประภา” ทำเพื่อเป้าหมายดังกล่าว เช่น

    • การแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ ระหว่างทีมเลสเตอร์กับทีมชาติไทย เมื่อปี 2010
    • โครงการ PE and English Soccer Camp ส่งโค้ชทีมเลสเตอร์มาอบรมนักเรียนโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล ที่เป็นโรงเรียนเก่าของอัยยวัฒน์ เมื่อปี 2011
    • โครงการ Leicester City International Academy (หรืออีกชื่อคือ Fox Hunt Leicester City Academy) ที่จะคัดเลือกเด็กไทยอายุไม่เกิน 16 ปี จำนวน 16 คน นำไปฝึกฝีเท้าที่อังกฤษเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง โดยรุ่นแรก ระหว่างปี 2014-2016 ขณะนี้อยู่ระหว่างรับสมัครรุ่นที่สอง
    • แต่งตั้ง “เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง” หัวหน้าโค้ชฟุตบอลทีมชาติไทย เป็น brand ambassador ของสโมสร ประจำประเทศไทย โดยเซ็นสัญญา 3 ปี พร้อมกับส่งไปดูงานการบริหารทีมเลสเตอร์ถึงประเทศอังกฤษ
    • โครงการ Leicester City Football Clinic ร่วมกับโรงเรียนชื่อดังใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ จัดคลินิกอบรมทักษะฟุตบอลให้กับเยาวชน ทั้งโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี (กทม.), โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (เชียงใหม่), โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม (พิษณุโลก), โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ขอนแก่น (ขอนแก่น), โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม (บุรีรัมย์), โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย (ภูเก็ต), โรงเรียนหาดใหญ่รัฐประชาสรรค์ (สงขลา), โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย (สุราษฎร์ธานี) และโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา (ชลบุรี) เมื่อปี ค.ศ. 2015
    • จับมือกับสถานีโทรทัศน์ Workpoint TV ทำรายการเรียลิตี้การคัดเลือกเยาวชนไทยไปฝึกฝีเท้าที่อังกฤษ (ในโครงการ Leicester City International Academy รุ่นที่ 2) โดยใช้ชื่อรายการว่า “Goal สานฝันเด็กไทยไปเลสเตอร์”

เป็นตัวอย่างของกิจกรรมที่ทีมเลสเตอร์ในยุคของวิชัยพยายามทำในเมืองไทย ขณะที่เจ้าพ่อคิงเพาเวอร์ก็ให้สัมภาษณ์ว่า “ต้องการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการวางรากฐานตั้งแต่ระดับเยาวชน เพื่อที่อนาคตจะเห็นทีมชาติไทยได้ไปร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า”

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังเตรียมใช้ประโยชน์จากการที่ทีมเลสเตอร์และ thai owner ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับนานาชาติ ด้วยการนำนักเตะของทีมมาชักชวนชาวต่างชาติให้มาเที่ยวเมืองไทย และเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จากเดิมที่ ททท. ซื้อโฆษณาจากทีมเพื่อโปรโมตโครการ Amazing Thailand อยู่แล้ว

นี่คือสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องได้รับ จากการที่ทีม “จิ้งจอกสยาม” ได้แชมป์ลีกฟุตบอลอาชีพที่มั่งคั่งและได้รับความนิยมที่สุดในโลก ในฤดูกาล 2015/2016 ที่ผ่านมา

[หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนที่ปรากฎในข่าวจะอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 25 บาทไทย, 1 ยูโร = 40 บาทไทย และ 1 ปอนด์ = 50 บาทไทย]