ThaiPublica > สัมมนาเด่น > ปัจจัยใดที่ทำให้เราปรับพฤติกรรม รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2)

ปัจจัยใดที่ทำให้เราปรับพฤติกรรม รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2)

4 มิถุนายน 2016


รายงานนี้เป็นประเด็นสรุปโดย “ป่าสาละ” ซึ่งเข้าร่วมงานสัมมนาระดับภูมิภาคในหัวข้อ วาระเร่งด่วน: การทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และสร้างความมั่นใจว่าแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ (Urgency in Action: Understanding human behavior and ensuring human rights and gender equality in the response to climate change) เมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Swedish International Development Cooperation Agency: SIDA)

(ตอนที่1)

เราเห็นข่าวแทบทุกวันถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ คลื่นความร้อนและความเย็นที่ทำให้อากาศแปรปรวนแบบคาดเดาไม่ได้ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนบางเกาะที่เคยมีอยู่เริ่มจมหาย น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์โดยไม่อาจหยุดยั้งจากทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของเมือง การเพิ่มขึ้นของประชากร ที่กดดันให้เกิดการเพิ่มขึ้นของพื้นที่การเกษตร

เรารู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง และรับทราบว่าเราต้องเปลี่ยนตัวเอง แต่น่าแปลกใจที่น้อยคนลุกขึ้นมาปรับพฤติกรรม

หากเราเป็นมนุษย์ที่ขับเคลื่อนโดยตรรกะและเหตุผล พวกเราคงต้องทำทุกวิธีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เดินทางให้น้อยลง ซื้อเฉพาะสิ่งของที่จำเป็น ในขณะเดียวกัน ก็แบ่งสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว แต่ภาพดังกล่าวยังดูห่างไกลจากความเป็นจริง แม้ว่าจะมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องและยาวนาน

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Swedish International Development Cooperation Agency: SIDA) เป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนาระดับภูมิภาคเมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ในหัวข้อ วาระเร่งด่วน: การทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และสร้างความมั่นใจว่าแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ (Urgency in Action: Understanding human behavior and ensuring human rights and gender equality in the response to climate change) เพื่อหาคำตอบว่าทำไม และปัจจัยใดที่จะสนับสนุนให้เราเปลี่ยนพฤติกรรม

การกระทำและความเป็นเหตุเป็นผล

เราเชื่อว่าความคิดของเราที่เกิดจากเหตุผลจะนำไปสู่การตัดสินใจซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลต่อการกระทำ ดังนั้น การกระทำและการตัดสินใจของเราในชีวิตประจำวันก็ควรจะสมเหตุสมผล แต่กระบวนการคิดของเราเรียบง่ายเช่นนี้จริงหรือ

Jeremy Shapiro แห่งศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบูราซา (Burasa Centre for Behavior Economics) นำเสนอว่า ‘ไม่ใช่’ เพราะในการคิด ตัดสินใจ ที่นำไปสู่การกระทำของเราแฝงไว้ด้วยอคติบางอย่างที่เราอาจไม่รู้ตัว เช่น เข้าใจข้อมูลผิดพลาด มีแรงกดดันจากสังคม หรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ทำให้กว่าที่ความคิดจะมาถึงขั้นตอนการกระทำ ก็อาจจะบิดเบี้ยวไปจากความตั้งใจเดิมที่ตัดสินโดยใช้เหตุผล

หลายคนอาจส่ายหน้าไม่เห็นด้วย แต่ Jeremy หยิบยกงานวิจัยที่ยืนยันความ ‘ไม่มีเหตุผล’ ของมนุษย์หลายชิ้นที่น่าสนใจ เช่น คนสองกลุ่มได้รับแบบสอบถามว่าจะบริจาคเงินเพื่อแก้ไขปัญหาความหิวโหยจำนวนเท่าไร โดยกลุ่ม A จะได้รับข้อมูลเชิงสถิติมหภาค เช่น ในแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตจากความอดอยากกี่คน ในขณะที่กลุ่ม B จะได้รับข้อมูลระดับบุคคล เช่น เรื่องราวความอดอยากแร้นแค้นในระดับบุคคล ผลการวิจัยพบว่าคนกลุ่ม B จะบริจาคเงินให้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ผลการศึกษาดังกล่าวยืนยันได้อย่างดีว่า กระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักเหตุผลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัย เช่น อารมณ์ ความรู้สึก และความสงสาร ณ ขณะที่รับทราบข้อมูล ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการคิด ตัดสินใจ และนำไปสู่การกระทำที่แตกต่างออกไป

ที่มาภาพ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบูราซา
ที่มาภาพ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบูราซา

อคติที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการคิด

“ก่อนหาทางเปลี่ยนพฤติกรรม เราควรคิดก่อนว่าเป้าหมายที่เราจะทำคือเปลี่ยนพฤติกรรมรูปแบบใด” Jeremy เสนอ และอธิบายเพิ่มเติมว่าสามารถแบ่งลักษณะของการเปลี่ยนพฤติกรรมออกเป็น 2 รูปแบบ แบบแรกสำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่ใส่ใจในประเด็นสังคมสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเน้นการสร้างความตระหนักรู้ในปัญหา ส่วนแบบที่สองสำหรับกลุ่มที่ตระหนักถึงปัญหาอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านั้นปรับความคิดสู่การปฏิบัติจริง

ทั้งสองรูปแบบต่างมีอคติ (biases) ที่แตกต่างกัน เช่น ในการสร้างความตระหนักรู้ เราอาจต้องเผชิญกับอคติบางอย่าง เช่น บรรทัดฐานทางสังคม (social norms) การให้ความสำคัญต่อปัจจุบันมากกว่าอนาคต (present bias) และการเลือกรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (saliency bias) ส่วนการกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติจริง เราอาจต้องเจอกับอคติ เช่น อคติในสถานะ (Status quo bias) หมายถึงการยึดติดกับสถานะปัจจุบันซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงจะทำให้รู้สึกว่าสูญเสียอะไรบางอย่าง ช่องว่างระหว่างความตั้งใจและการกระทำ (intention-action gap) และการผัดวันประกันพรุ่ง (procrastination)

หลายคนอาจยังนึกภาพไม่ออกว่าอคติเหล่านั้นมีจริงหรือไม่และส่งผลต่อพฤติกรรมอย่างไร Jeremy หยิบยกตัวอย่างงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างสิ่งที่บุคคลเชื่อและการกระทำของบุคคลนั้นๆ โดยได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 500 คนว่าการเก็บขยะที่พบเห็นอยู่ข้างทางเป็นความรับผิดชอบที่ควรกระทำหรือไม่ ร้อยละ 94 ตอบว่าเห็นด้วย แต่มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่หยิบขยะซึ่งถูกวางไว้โดยนักวิจัยไปทิ้ง

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทดลองสุ่มแจกใบสมัครงานผู้จัดการห้องทดลองให้กับสมาชิกคณะวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่เน้นงานวิจัย ในใบสมัครมีรายละเอียดทั้งประสบการณ์การทำงานและวุฒิการศึกษาเหมือนกันทุกอย่าง แต่แตกต่างเพียงชื่อผู้สมัครงานคือจอห์นซึ่งเป็นผู้ชายและเจนนิเฟอร์ซึ่งเป็นผู้หญิง ผลลัพธ์ของงานวิจัยชิ้นนี้น่าตกใจอย่างยิ่ง เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับใบสมัครงานประเมินให้จอห์นมีความสามารถ ศักยภาพ โอกาสในการถูกว่าจ้าง และเงินเดือนที่ควรได้รับสูงกว่าเจนนิเฟอร์อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนได้อย่างดีว่าความไม่เท่าเทียมทางเพศยังถูกฝังอยู่ในระบบคิด

ทั้งสองตัวอย่างสะท้อนให้เห็นถึง ‘อคติ’ ที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการคิดของมนุษย์ และการเปลี่ยนพฤติกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราดำเนินกิจกรรมโดยลืมนึกถึงอคติเหล่านั้นและไม่ได้หาทางทลายมันออกไป

ภาพยนตร์และสื่อออนไลน์ ช่องทางสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนพฤติกรรม

“การสื่อสารเป็นหนึ่งในเครื่องมือทรงพลังในการส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรม ทัศนคติ และการรับรู้ของมนุษย์ การสื่อสารที่ไม่ดีอาจสร้างความสับสน หรือแรงต้านในการเปลี่ยนพฤติกรรม” Brian Hanley จาก Internews กล่าว โดยยกตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น เว็บไซต์ข่าว geojournalism ที่ให้แปลงข้อมูลให้เป็นภาพบนแผนที่ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย และสามารถใช้สื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เราคาดหวัง รวมทั้งโซเชียลมีเดียที่มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมประชาชนจากโลกออนไลน์ให้มาร่วมแสดงจุดยืนในประเด็นด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เช่น การเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีปลาจำนวนมหาศาลตายบริเวณชายฝั่งของประเทศเวียดนาม

ในขณะที่ Diego Galafassi จากบริษัทผลิตภาพยนตร์สัญชาติสวีเดน FASAD เสนอว่าทางเลือกหนึ่งในการเปลี่ยนพฤติกรรมคนทั่วไปเกิดจากการสร้างความรู้สึกชั่วขณะที่ไม่ใช่แค่ความคิดหรือการตีความภาพที่เราเห็น แต่เป็นประสบการณ์ตรงที่เรารับรู้และรู้สึกได้โดยตรงว่าพฤติกรรมใหม่เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาและเป็นไปได้ เขาและทีมงานได้ดำเนินการสร้างภาพยนตร์ชื่อว่า AETERNA ซึ่งถ่ายทอด 3 ยุคสมัยของมนุษย์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เราสามารถปรับเปลี่ยนชุดความคิดของตนเอง

เช่นเดียวกับจักรชัย โฉมทองดี (Jacques-Chai Chomthongdi) จากองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย (Oxfam) ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยบอกเล่าประสบการณ์จากร้านคนจับปลา (FisherFolk) กิจการเพื่อสังคมที่รับซื้อสินค้าจากชาวประมงพื้นบ้านในราคาสูงกว่าตลาด จัดเก็บโดยไม่ใช้สารเคมี และนำมาขายให้กับคนชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ซึ่งจักรชัยมองว่า ชนชั้นกลางคือกลุ่มคนที่มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

การเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่ายและจำเป็นต้องใช้แรงผลักดันหลากหลายรูปแบบ การนำเสนอข้อมูลว่าภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรง และส่งผลกระทบทั้งในแง่สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทางเพศ อาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้คนทั่วไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

อาจถึงเวลาที่เราจะต้องคิดอย่างจริงจังว่าจะใช้กลไกใด และสื่อสารอย่างไร ให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การใช้ชีวิตในรูปแบบที่ยั่งยืนกว่า ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า ก่อนที่ระดับแก๊สเรือนกระจกในอากาศจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงจนไม่สามารถฟื้นฟูกลับคืนมาได้