ThaiPublica > เกาะกระแส > อังค์ถัดชี้ “การค้า-ลงทุนโลก” เปลี่ยน FDI 60% ย้ายสู่ “ภาคบริการ”– ไทยดันนโยบาย “ชาติการค้า” เชื่อมการเปลี่ยนผ่าน

อังค์ถัดชี้ “การค้า-ลงทุนโลก” เปลี่ยน FDI 60% ย้ายสู่ “ภาคบริการ”– ไทยดันนโยบาย “ชาติการค้า” เชื่อมการเปลี่ยนผ่าน

28 มิถุนายน 2016


ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงซบเซา โดยให้เหตุผลต่างพุ่งเป้าไปที่ “เศรษฐกิจโลก” ที่ชะลอตัว กระทบ “การค้า” และ “การส่งออก” ของไทย ไม่สามารถเติบโตในระดับสูงเหมือนกับช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เริ่มแสดงสัญญาณที่แตกต่างออกไปจากคำตอบเดิมๆ โดยเฉพาะโครงสร้างการค้าโลกโดยรวมที่ส่งสัญญาณไม่ฟื้นตัว แม้บางส่วนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอย่างช้าๆก็ตาม จากการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4 หรือครึ่งทางของปี 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายถึงโครงสร้างการค้าโลกว่าที่โยงมาถึงการส่งออกของไทยว่า 1)การปรับโมเดลเศรษฐกิจของจีนจากที่ก่อนหน้านี้มีความต้องการสินค้านำเข้าจำนวนมากเพื่อนำไปลงทุนภายในประเทศ แต่ช่วงหลังกลับมีความต้องการลดลงและเปลี่ยนมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าป้อนตลาดโลกแทน จึงทำให้การส่งออกของประเทศคู่ค้ากับจีนไม่เติบโต แม้ว่าประเทศจีนจะเติบโตที่ระดับสูง และ 2)การค้าภายในกลุ่มการค้าต่างๆ มีสัดส่วนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มอียู เป็นต้น ทำให้คู่ค้าที่อยู่นอกกลุ่มไม่สามารถแทรกเข้าไปในสายการผลิต หรือต้องเผชิญกับสายการผลิตที่สั้นลง

ธปท. ชี้สัญญาณ “เศรษฐกิจไทย” หันสู่ภาคบริการ

จากข้อมูลการส่งออกสินค้าและบริการของไทย เริ่มส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเคลื่อนตัวจาก “ภาคอุตสาหกรรม” ไปสู่ “ภาคบริการ” มากขึ้น โดยตัวเลขประมาณการใหม่ล่าสุดของ ธปท. ชี้ให้เห็นว่า “มูลค่าส่งออกสินค้า” ยังถูกปรับประมาณการลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า “ราคา” สินค้าส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นช่วยชดเชย “ปริมาณ” การส่งออกแต่ยังไม่เพียงพอ ในทางกลับกัน หากรวมปริมาณส่งออกสินค้าและบริการเข้าด้วยกัน ธปท. ประมาณว่ายังสามารถเติบโตได้กว่า 2% ประกอบกับตัวเลขการจ้างงานในภาคการบริการก็ปรับตัวดีขึ้นด้วย แสดงให้เห็นการเติบโตอย่างเข้มแข็งของภาคบริการ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขนักท่องเที่ยวของไทยที่ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาซึ่งเติบโตไปกว่า 176% และหากประเมินไปจนถึงปี 2560 ในช่วงเวลา 16 ปีคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 240%

อย่างไรก็ตาม ธปท.ระบุว่ารูปแบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอาจกระทบการลงทุนของเอกชน ซึ่งเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนกำลังรอให้กลับมาเดินขับเครื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง ขณะที่ภาคบริการโดยปกติไม่ต้องการเม็ดเงินลงทุนสูงเท่ากับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจย้ายไปสู่ภาคบริการมากขึ้น อาจจะทำให้เม็ดเงินลงทุนของเอกชนลดลงได้

“UNCTAD” ชี้ FDI เปลี่ยนเทรนด์ 60% สู่ “ภาคบริการ”

ด้านแนวโน้มการลงทุนของโลกล่าสุดตาม รายงานการลงทุนโลก 2559(World Investment Report 2016) โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นกัน รายงานระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ในปี 2558 อยู่ที่ระดับ 1.76 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 485,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการเติบโต 38% จากปีก่อนหน้า เป็นปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกในปี 2551-2552

รายงานชี้ว่า 60% ของการเติบโตของ FDI ในปี 2558 ทั้งหมด เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างประเทศ (Mergers and Acquisitions: M&A) โดยในปี 2558 มี FDI จากการควบรวมกิจการฯ 721,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ 432,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 289,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากตัดการลงทุนในลักษณะควบรวมกิจการหรือปรับโครงสร้างองค์กรดังกล่าว ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายทุนทางบัญชีมากกว่าการลงทุนจริง การเติบโตของ FDI โลกในปี 2558 จะลดลงเหลือเพียง 15% เท่านั้น อนึ่ง ในปี 2558 การลงทุนโครงการใหม่ๆ ยังอยู่ในระดับสูงที่ 43.5% ของการลงทุนโดยตรงทั้งหมด หรือประมาณ 766,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากแยกเป็นรายสาขาจะพบว่า ช่วง 25 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของ FDI ได้เคลื่อนจากภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ภาคบริการอย่างชัดเจน โดยในปี 2533 มี FDI เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วน 41% ของ FDI ทั้งหมดในปี 2533 และมี FDI เข้าสู่ภาคบริการเพียง 48.7% ที่เหลือเป็นอื่นๆ ต่อมาในปี 2548 FDI ที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมลดลงเหลือเพียง 30% ขณะที่สัดส่วนภาคบริการขยับขึ้นเป็น 61% และในปี 2557 ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน FDI เหลือเพียง 27% ขณะที่ภาคบริการขยับขึ้นไปสูงเกือบ 65% (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

WIR2016_FDI_by_Sector

WIR2016_FDI_by_Regions

“กลุ่มการค้าเสรี” ซ้ำเติมการค้า-การลงทุนโลก

รายงานการลงทุนโลก 2559 ยังชี้ให้เห็นว่า แนวโน้ม FDI ของกลุ่มการค้าเสรี “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน” หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และกลุ่มประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรีกับอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เริ่มลดลงจาก 27% ของ FDI ทั่วโลกในปี 2557 เหลือเพียง 19% ของ FDI ทั่วโลกในปี 2558 สวนทางกับกลุ่มการค้าเสรีอื่น อย่างเช่น “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” หรือ TPP ซึ่งได้ FDI ในปี 2558 เป็นสัดส่วน 34% เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ 27% หรือ “หุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก” หรือ TTIP ซึ่งได้ FDI ในปี 2558 เป็นสัดส่วน 46% เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ 31%

WIR2016_FDI_by_Econ_Groups

เมื่อดูรายละเอียดขนาดของ RCEP เริ่มไม่สอดคล้องกับปริมาณ FDI ที่เกิดขึ้น โดยในปี 2558 กลุ่มประเทศ RCEP มีจีดีพีรวมคิดเป็น 30% ของจีดีพีโลก แต่มี FDI เพียง 19% เท่านั้น นอกจากนี้ 30% ของ FDI ที่เกิดขึ้นเป็นการลงทุนกันระหว่างประเทศในกลุ่ม ขณะที่อีก 70% เป็นการลงทุนจากประเทศนอกกลุ่ม แตกต่างจากกลุ่มประเทศ TTIP และ TPP ที่มีการลงทุนการค้ากันระหว่างกลุ่มถึง 63% และ 36% โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ TPP ที่แม้จะลงนามข้อตกลงไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการเหมือนกลุ่มการค้าเสรีอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการภายในกลุ่มการค้าเสรี RCEP ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงที่ 43% ของการควบรวมกิจการภายในกลุ่ม RCEP ทั้งหมด ซึ่งในอนาคตจะช่วยให้กลุ่ม RCEP เชื่อมโยงผ่านการค้า การลงทุน และห่วงโซ่การผลิตภายในกลุ่มได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และกลุ่มอาเซียน ที่ปัจจุบันได้จัดตั้งบริษัทขึ้นในประเทศอื่นๆ ภายในกลุ่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการเชื่อมโยงดังกล่าวคาดว่าจะเข้มแข็งมากขึ้นหากได้ลงนามในข้อตกลง RCEP รวมไปถึงการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

ภาครัฐหนุนยุทธศาสตร์ “ชาติการค้า” พยุงการเปลี่ยนผ่าน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดงานสัมมนาระดมความคิดเห็นในหัวข้อ “ร่างยุทธศาสตร์ชาติการค้า” หรือ Trading Nation ตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ ในฐานะทีมวิจัยจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะแนวโน้มขนาดใหญ่ของโลก หรือ Megatrends จะเปลี่ยนไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลกในอีกไม่ถึง 30 ปี หรือแนวโน้มเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ รวมไปถึงภาคการค้าโลกที่กำลังชะลอตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในทางปฏิบัติ ภาคการค้าสำหรับไทยยังถือว่าเป็นจักรกลสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ว่าในท้ายที่สุดเศรษฐกิจไทยก็จะต้องเคลื่อนเข้าสู่ภาคบริการเช่นเดียวกัน โดยในปัจจุบันการค้าของไทยยังมีช่องว่างที่สามารถพัฒนาได้ ผ่านการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเป็นการผลิตสินค้าที่โลกต้องการมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยควรจะหันไปผลิตแผงวงจรรวม อาหาร ซึ่งมีความต้องการในตลาดโลกมากขึ้นอย่างมาก และค่อยๆ ลดการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ซึ่งความต้องการในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นจะแบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานสากล 2. การผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาด 3. การพัฒนาระบบและช่องทางการจำหน่าย 4. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้รองรับการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการกำกับดูแลของรัฐในภาคบริการที่ควรจะเปิดเสรีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งบริษัทหรือเปิดเสรีแรงงานต่างชาติที่มีทักษะ

อนึ่ง ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะถูกแปลงเป็นมาตรการเชิงปฏิบัติประมาณ 30 มาตรการ เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบได้ง่าย โดยจะมีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน พร้อม KPI วัดผลการทำงานเป็นคะแนนในช่วงเวลาต่างๆ เช่น 6 เดือน หรือ 1 ปี ทั้งนี้ คาดว่าร่างแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2559 ก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป