ThaiPublica > เกาะกระแส > ไทยขาดน้ำจริงหรือ “ดร.สุเมธ” ชี้ ฝน 100 หยด เก็บได้ 3 หยด อย่างไรก็ไม่พอ

ไทยขาดน้ำจริงหรือ “ดร.สุเมธ” ชี้ ฝน 100 หยด เก็บได้ 3 หยด อย่างไรก็ไม่พอ

26 มิถุนายน 2016


เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016” เพราะไทยกำลังประสบปัญหาด้านน้ำ ทั้งน้ำแล้ง และน้ำท่วม ดังนั้นการทบทวนการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปอย่างยังยืนจึงเป็นทางออกสำคัญ โดย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องสถานการณ์น้ำของประเทศไทย

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ฝน 100 หยด เก็บ 3 หยด อย่างไรก็ไม่พอ

จากประสบการณ์ของคนทำงาน และตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงงานแก้ไขปัญหา “น้ำ” ในพื้นที่ต่างๆ ดร.สุเมธ กล่าวว่า จริงๆ ประเทศไทยไม่ได้ขาดน้ำ เพราะหากดูตัวเลขรวมของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของประเทศ ปีหนึ่งๆ ประเทศไทยมีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 7-8 แสนล้าน ลบ.ม. เป็นประจำ แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นเป็นสิ่งแรกที่น่าพะวงคือ ความแปรปรวน

เหตุการณ์หนึ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ คือสภาวะอากาศแปรปรวนทั่วโลกขณะนี้ ทำให้เดิมอัตราการแปรปรวนที่มีอยู่ 9% บัดนี้ท่านอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าธรรมชาติกำลังลงโทษเราอยู่ ความแปรปรวนนั้นคำนวณออกมาแล้วเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า หรือประมาณ 24% ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ความซับซ้อนของปัญหาก็ทวีคูณพร้อมๆ ความเสี่ยงในเรื่องการบริหารน้ำที่เพิ่มขึ้น

“เวลาพูดถึงน้ำแล้วก็ต้องคิดถึงเขื่อน เขื่อนที่นักอนุรักษ์ไม่ค่อยชอบ แต่อย่างไรก็ตาม ภาชนะที่กักเก็บก็ต้องมี เขื่อนบนแผนที่ประเทศไทยอาจมีไม่ครบทุกล่องน้ำ แต่เขื่อนใหญ่ๆ ก็มีปรากฏอยู่ แต่เมื่อศึกษาตัวเลขต่างๆ แล้ว ปริมาณน้ำฝนที่บอก 7-8 แสนล้าน ลบ.ม. นั้น ลงไปในเขื่อนแค่เพียง 5.7% เท่านั้น นี่ก็เป็นปัญหาที่ประชาชนธรรมดาๆ อย่างผมก็งงเช่นกัน ว่าตกลงเราสร้างเขื่อนไว้กันอย่างไรถึงเก็บได้เพียง 5.7% เท่านั้น”

ดร.สุเมธกล่าวต่อไปว่า สำหรับภัยแล้งในปี 2558 ที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่าปริมาณฝนนั้นน้อยลงกว่าปกติถึง 15% และส่วนใหญ่ฝนตกท้ายเขื่อน ไหลเป็นน้ำผิวดินประมาณ 210,000 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ส่วนอีกเรื่องที่สังเกต และในฐานะสามัญชนอาจสรุปได้ว่า โครงสร้างหลักๆ ของน้ำไม่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรับน้ำกับปริมาณน้ำฝนในปัจจุบันที่แปรปรวนจาก 9% เป็น 24% ในขณะนี้ โดยเฉพาะภาคที่เห็น คือ ภาคเหนือนั้นมีความแปรปรวนของฝนและน้ำไหลลงอ่างสูงที่สุด ขณะที่เขื่อนใหญ่ๆ ต่างอยู่ในเขตภาคเหนือทั้งสิ้น ดังนั้น ต้องทำการปรับแก้การใช้ประโยชน์และจัดการน้ำต้นทุนที่ไหลลงอ่างให้เกิดประสิทธิภาพ แต่คำถามคือจะทำอย่างไร

เมื่อมองไปข้างหน้า จากปัจจุบันมีปัญหาอยู่แล้วนั้น ในอีก 10 ปีข้างหน้า (2567) ซึ่งเข้าสู่ Aging Society คือ คนแก่ไม่ยอมตาย และเด็กไม่ยอมเกิด ทำให้จำนวนประชากรคงจะคงที่อยู่ที่บวกลบประมาณ 67 ล้านคน แม้คนไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่กิจกรรมต่างๆ ยังคงขยายตัว โดยประมาณการณ์ว่ากิจกรรมในภาคเกษตรคงจะเพิ่มอีกประมาณ 31% ส่วนการขยายตัวด้านอุตสาหรรมมีการประมาณการณ์ว่าจะต้องการน้ำเพิ่มขึ้นอีกถึง 97% เพราะฉะนั้น การขยายตัวของอุตสาหกรรมนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล แล้วจะเตรียมการอย่างไร

วงจรน้ำ

“ในภาคตะวันออกหายไปหมด อ่างน้ำต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างให้อยู่ดีๆ ก็หายไป นั่นคือปัญหาน้ำไม่เพียงพอ เป็นปัญหาใหญ่นะครับ ถึงบอกว่าน้ำนั้นสำคัญต่อชีวิต อุตสาหกรรมก็ต้องการน้ำ เกษตรก็ต้องการน้ำ ชีวิตประจำวันก็ต้องการน้ำเช่นกัน ฉะนั้น เมื่อคำนวณแล้วประชากรเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่อีก 10 ปีข้างหน้าอย่างน้อยเราต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 35% โดยเฉลี่ย”

ทั้งนี้ สำหรับปริมาณน้ำ 7-8 แสนล้าน ลบ.ม. จากน้ำฝน ประเทศไทยมีที่เก็บกักน้ำขนาดใหญ่บรรจุได้ประมาณ 6-7 หมื่นล้าน ลบ.ม. ในทุกปี แต่มีน้ำไหลลงเฉลี่ยเพียง 42,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไม่เต็มอัตราที่มีอยู่ ขณะที่ความต้องการใช้งานมีประมาณ 1 แสนล้าน ลบ.ม. ตัวเลขแค่นี้คงเห็นภาพแล้วว่าบัญชีออมทรัพย์น้ำของเรากับปริมาณที่ต้องการใช้จ่ายไม่สมดุล ก็เป็นอีกปัญหาที่ต้องหาคำตอบว่าในภาวะนี้เราจะเลี้ยงดูลูกหลานได้อย่างไร ในเมื่อความต้องการเราต้อใช้ 100 บาท แต่มีทุนเพียง 40 บาท

นอกจากนี้ พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นอยู่นอกเขตชลประทานประมาณ 80% ส่วนพื้นที่เกษตรที่อยู่ในระบบชลประทานนั้นมีเพียง 18-20% เท่านั้น หมายความว่าชีวิตพวกท่านทั้งหลายที่อยู่นอกเขตชลประทาน (Non-irrigated areas) ต้องฝากไว้กับบั้งไฟ ฝากไว้กับการแห่นางแมว คือโชคชะตาชีวิตทั้งหมดขึ้นอยู่กับฟ้าฝน (Rainfed areas)

ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์กล่าวต่อไปว่าเมื่อดูรายภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องอาศัยพึ่งพาฟ้าฝนตามธรรมชาติสูงถึง 94% ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่นี้นั้นมีประมาณ 250,000 ล้าน ลบ.ม. แต่เก็บไว้ได้เพียง 8,100 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับว่าน้ำฝน 100 หยดที่ตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถเก็บไว้ได้เพียง 3 หยด ดังนั้น จะบ่นไม่ได้ว่าน้ำแล้ง น้ำไม่พอ เพราะเก็บน้ำไว้เพียง 3 จาก 100 เท่านั้น และนอกเหนือจากนั้น เมื่อฤดูฝนผ่านไปน้ำทั้งหลายก็ลงสู่แม่น้ำโขง ก็ทำให้ขาดอีกไม่น้อย

ดังนั้น ปัญหาที่อยากจะทิ้งไว้อีกข้อหนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝน ปริมาณการเก็บกักน้ำ และปริมาณการใช้น้ำ 3 ส่วนนี้คือกุญแจสำคัญของเรื่อง เพราะอันที่จริงเราได้น้ำจากฟ้ามากมาย แต่เก็บได้น้อย สุดท้ายก็จบลงด้วยการปรับทุกข์ว่าขาดน้ำ

“เกษตรกร ในอีกแง่มุมหนึ่ง เราใช้น้ำประมาณ 2,000 ลบ.ม. ต่อไร่ต่อปี ในขณะที่ประเทศจีนใช้เพียงครึ่งหนึ่งที่ไทยใช้ คือประมาณ 1,000 ลบ.ม. ต่อไร่ต่อปี ประเด็นนี้ก็ชวนคิดอีกว่าเกษตรเหมือนกันทำไมเราใช้ 2,000 ขณะที่เขาใช้ 1,000 ซึ่งอิสราเอลอาจจะใช้น้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะเขาใช้น้ำเป็นหยด ดังนั้น วิธีการใช้น้ำของเราก็เป็นเรื่องที่ต้องดูด้วย”

ดร.สุเมธกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เท่าที่สังเกต จากการตามเสด็จฯ คือ เมื่อน้ำมีกรมชลประทานก็จะปล่อยน้ำลงคลองส่งน้ำผ่านแปลงต่างๆ มากมาย ซึ่งสมมติว่าหากผ่านที่ดิน 30 แปลง จะพบว่ามีคนทำเกษตรเพียง 7 แปลง ที่เหลือไม่ได้ทำแต่เราก็สูบน้ำให้ ปล่อยออกไปหมดทำให้น้ำต้นทุนเหลือน้อย นี่เป็นภาพที่ผมเห็นมา 35 ปีแล้ว ตอนหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงบอกว่า แทนที่จะปล่อยไปตามท่อ แต่ละแปลงที่มีสระอยู่ไปเติมที่สระแทนได้ไหม เสร็จแล้วก็ปิด ให้เขาใช้น้ำจากสระที่เก็บกักในฤดูฝนก่อน เมื่อน้ำในสระพร่องจึงนำมาเติมให้

สรุปคือ เราน่าจะมาทบทวนวิธีการใช้น้ำของเราใหม่ ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้เหมือนกับว่าน้ำมีมากมาย แต่เราไม่ได้เก็บไว้มากมายขนาดนั้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องนึกถึงแล้ว

ทั้งนี้ ดร.สุเมธระบุถึงการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า หากหน่วยเล็กๆ คือ ชุมชน สามารถช่วยตัวเองในเรื่องต่างๆ นี้ได้ ภาระก็จะไม่ถูกนำส่งมาส่วนกลาง โครงการพระราชดำริจึงเน้นเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ให้สามารถยืนด้วยตัวเองได้ ซึ่งพบว่าได้ผลเหลือเกิน คือ ไม่ใช่ได้ผลเพียงพื้นที่นำร่อง 2-3 แห่ง แต่มี 600 กว่าแห่งที่สำเร็จ คือเมื่อชุมชนลุกขึ้นมาลงมือทำอะไรด้วยตัวเองแล้วปัญหามันตก ไม่ใช่เพียงรอความช่วยเหลือจากส่วนกลางเท่านั้น เพราะส่วนกลางเองก็ไม่มีกำลังพอที่จะช่วยอย่างทั่วถึง

ตัวอย่างชุมชนเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่พลิกฟื้นป่าที่เคยถูกแผ้วถางทำเกษตรเชิงเดี่ยว โดยการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง หันมาปลูกพืชหลากหลายมีกินตลอด เขาปรับเปลี่ยนการปลูกตามฤดูกาล ตามปริมาณน้ำที่มี สร้างรายได้เพิ่มประมาณ 80,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ทำให้เขาพ้นจากความยากจน ซึ่งในพื้นที่นั้นมีฝายกว่า 2,500 ฝายใน 297 ลำห้วย รักษาพื้นที่ไว้ได้ 258,000 ไร่ใน 41 ชุมชน

“เขาปลูกป่าไม่ใช่ป่าแบบวิชาการตามที่เราปลูกกัน ว่าพื้นที่ระดับนั้นต้องปลูกสนสองใบ เพราะชาวบ้านกินใบสนเปลือกสนไม่ได้ มันต้องมีความหลากหลายในป่าพอที่เขาจะหากินได้โดยไม่รู้จบ หากคุณเอาเนื้อไม้ไปปลูก คุณค่าอยู่ที่เนื้อไม้ วันหนึ่งพอต้นไม้โตได้ที่ต้นไม้ก็ต้องไป เพราะคุณค่าอยู่ตรงนั้น ฉะนั้นต้องทำให้มีความหลากหลายให้ได้”

ถนนน้ำเดิน

ขณะที่ภาคที่แห้งแล้งที่สุดอย่างตะวันออกเฉียงเหนือที่บ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ไม่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำอีกต่อไป เนื่องจากชาวบ้านแก้ปัญหาด้วยตนเองโดยทำการสำรวจทางลาดชันทั้งหมดว่าน้ำไหลไปไหนบ้าง แล้วทำการขุดคลองดักขวางไว้ ยาว 48 กิโลเมตร ประกอบกับทำแก้มลิงไว้เป็นระยะๆ แต่เมื่อน้ำหลากยังพบว่าน้ำยังท่วมถนน เขาจึงแก้ปัญหาโดยการทำถนนน้ำเดิน ก่อเป็นรางสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ให้รถยังพอสัญจรได้อยู่ และทำทางไหลลงสู่สระสำหรับกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทุกวันนี้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า เป็นเงิน 149,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี จากการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างเดียว

ตอบปัญหาการจัดการน้ำ ผ่าน 3 วงเสวนา – “Water Supply”

เพื่อตอบปัญหาการจัดการน้ำให้ได้อย่างยั่งยืน ผ่านวงเสวนาย่อยใน 3 หัวข้อ ได้แก่ Water Supply, Water Demand และ Water Management โดยจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นจึงได้ข้อสรุปดังนี้

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน สรุปว่า การให้ความสำคัญกับพื้นที่ต้นน้ำนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่เหนือสุด เพราะกลางน้ำสามารถมีพื้นที่ต้นน้ำในที่สูงที่เป็นแหล่งต้นน้ำให้ลำน้ำสาขาได้เช่นกัน ความสำคัญคือการทำให้น้ำอยู่กับป่าได้นานด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ สำหรับพื้นที่ต้นแบบนั้น สามารถดูได้จากโครงการดอยตุงของสมเด็จย่า ในพื้นที่น้ำลาว ใช้วิธีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อลดเกษตรเชิงเดี่ยว โดยชุมชนร่วมกับเกษตรในพื้นที่ เน้นไม้ท้องถิ่น ให้มีการดูแลโดยเจ้าของพื้นที่ ส่วนปัญหาไฟป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

ส่วนรูปแบบการกักเก็บน้ำในพื้นที่กลางน้ำ ทำได้โดยอ่างเก็บน้ำ และประตูระบายน้ำ โดยโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ขณะนี้คือฝายที่ต้องมีการขุดลอกเพื่อกำจัดตะกอน รวมถึงขุดลอกแหล่งน้ำ เน้นเชิงลึกและคำนึงถึงโครงสร้างวิศวกรรม กักเก็บน้ำในฤดูฝนและหามาตรการป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรในกรณีน้ำในแม่น้ำสูง สุดท้ายคือพื้นที่ปลายน้ำ แม้จะมีฝนมากแต่ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำเค็มรุก ต้องอาศัยการบริหารจัดการอาคารและใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาแก้ปัญหาน้ำเค็ม ส่วนอ่างเก็บน้ำที่ไม่มีระบบอย่างการใช้น้ำบาดาล ต้องมีการเติมน้ำเพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนอยู่เสมอ

Water Demand

นายกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่องสาม ผู้นำการอภิปราย โดยมีทั้งตัวแทนประชาชนกลุ่มต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการจัดการน้ำ ตัวแทนภาคเอกชน และภาครัฐ มาร่วมระดมความคิดที่เน้นไปในมุมของความท้าทาย และสิ่งที่อยากจะเห็นในการจัดการน้ำ ซึ่งความท้าทายที่ชัดเจนคือจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณใช้น้ำเพิ่มขึ้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นคือ การลดการใช้น้ำที่ฟุ่มเฟือยอย่างจริงจัง สำหรับน้ำเพื่อการเกษตร ต้องมีการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ ปรับวิธีการใช้น้ำให้สอดคล้องกับพื้นที่ และพืชที่ปลูก รวมถึงปรับวิธีเพาะปลูกเป็นแบบผสมผสาน

ปริมาณน้ำของประเทศ

ในส่วนของอุตสาหกรรม จะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของภาษีการใช้น้ำภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรมที่อยู่ปลายน้ำ เพื่อนำเงินส่วนนี้มาดูแลระบบนิเวศ คล้ายกับการจัดการเรื่องภาษีเหล้าและบุหรี่ ในส่วนของการรักษาสมดุลระบบนิเวศ มุ่งเน้นเรื่องการสร้างป่าเพื่อกักเก็บน้ำบนภูเขา เพราะเป็นทางที่จะได้น้ำมาโดยไม่ต้องกักเก็บใหม่ สร้างฝาย สร้างความหลากหลายของป่า ส่วนในภาคครัวเรือน การแก้ปัญหาน้ำเสีย อาจใช้กฎหมายบังคับให้มีระบบจัดการน้ำเสียในรูปของเทศบัญญัติ ที่สำคัญที่สุดคือ การถ่ายทอดข้อมูลความรู้ ต้องให้ทุกชุมชนสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ของตัวเอง และสื่อสารไปยังทุกคนทุกองค์กรอย่างเท่าเทียม เพื่อประสานบูรณาการเป็นระบบเดียวกันต่อไป

Water Management

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เป็นผู้นำการอภิปราย ได้ข้อสรุปจากความคิดเห็นที่มาจากชาวบ้านนอกเขตชลประทานว่า จำเป็นจะต้องมีการทราบปริมาณน้ำที่แท้จริง ที่สำคัญคือ คนในพื้นที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานะของปริมาณน้ำที่มีให้สมดุลแก่การใช้ชีวิต ในส่วนของพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง ต้องเร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาแก้มลิง และมีการสร้างกฎเกณฑ์ในการใช้น้ำร่วมกับพื้นที่ในเมือง ตลอดจนมีการเชื่อมโยงแหล่งน้ำดิบอย่างเป็นระบบ มีการสำรองน้ำที่ชัดเจน ซึ่งในตัวเมืองมีข้อเสนอให้ใช้ระบบไอที และต้องแก้ปัญหาน้ำรั่วไหลที่มีอัตราถึงร้อยละ 25-30

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐยังระบุว่า การทำแผนที่และการแก้ปัญหาที่ลุ่มน้ำขนาดเล็กให้ชัดเจน เป็นการแก้ปัญหาต้นน้ำได้ดี มีการบูรณาการร่วมกันทุกอย่าง และโยงไปกับระบบ Land Management ที่ดูแลเรื่องตะกอน การไหลของน้ำ ในส่วนพื้นที่ชลประทานนั้น สิ่งสำคัญคือต้องมองเรื่องความมั่นคง มีแผนระยะยาว มีแหล่งน้ำสำรองชัดเจน สุดท้ายคือการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีลักษณะเหมือนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ทำแผนน้ำในรอบ 4-5 ปี มีการทำนโยบายและจัดสรรงบประมาณได้อย่างเต็มรูปแบบ

ปัญหาเรื่องน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไขอย่างจริงจัง การเรียนรู้และทำความเข้าใจกับปัญหา ย่อมนำไปสู่แนวทางการแก้ไขและพัฒนาที่ได้ผล ไม่เพียงเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต การทำงานร่วมกันจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ตลอดไปจนถึงภาครัฐ เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง เช่นเดียวกับสายน้ำน้อยใหญ่ที่เชื่อมโยงถึงกัน เป็นต้นทุนสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในประเทศให้ยังคงมีลมหายใจต่อไป