ThaiPublica > สัมมนาเด่น > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้การประยุกต์ใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ใช่เพื่อเท่หรือถูกบังคับให้ทำ แต่ต้องดีสำหรับตัวเอง-ส่วนรวม

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้การประยุกต์ใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ใช่เพื่อเท่หรือถูกบังคับให้ทำ แต่ต้องดีสำหรับตัวเอง-ส่วนรวม

14 มิถุนายน 2016


English Version Keynote Speech by Dr Prasarn Trairatvorakul

ปาฐกถา ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล คณะกรรมการ มูลนิธิมั่นพัฒนา อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) : การประยุกต์ใช้ในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคและการดำเนินธุรกิจ” (Application of the SEP to Macro-Economic Management and Business Practices) ในงานประชุม “SEP in Business: G-77 Forum on the Implementation of the Sustainable Development Goals” ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ จัดโดย กระทรวงการต่างประเทศ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

ยินดีต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านสู่กรุงเทพมหานคร

ผมรู้สึกยินดีที่ได้รับเกียรติมาบรรยายให้ทุกท่านในที่นี้ฟังในเรื่อง “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy Philosophy (SEP)” ซึ่งเป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กับคนไทยเพื่อเป็นหลักคิดในการใช้ชีวิต ที่สำคัญหลักคิดนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับคนทุกระดับ ทุกบทบาทในสังคม

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาอาจมีความเข้าใจผิดว่า หลักการนี้เหมาะสำหรับประชาชนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น หรือไม่เหมาะกับโลกธุรกิจ เป็นต้น ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่กระทรวงการต่างประเทศได้หยิบยก “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นัยต่อการดำเนินธุรกิจ (SEP in Business) ซึ่งเป็นมิติที่มีการกล่าวถึงค่อนข้างจำกัด ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการประชุม G-77 เพื่อยกระดับความเข้าใจและขยายมุมมองต่อหลักปรัชญานี้ในระดับสากล

ปาฐกถาที่จะกล่าวถึงในวันนี้เรื่อง “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: การประยุกต์ใช้ในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคและการดำเนินธุรกิจ” (Application of the SEP to Macro-Economic Management and Business Practices) ผมขอแบ่งการบรรยายเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

1. วิกฤติเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศทำให้เราเห็นและกระตุ้นให้เราคิดถึงอะไร?

2. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคของไทยอย่างไร?

3. เราสามารถนำหลักปรัชญานี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจในยุคที่โลกไม่เหมือนเดิมได้อย่างไร?

1. วิกฤติเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศทำให้เราเห็นและกระตุ้นให้เราคิดถึงอะไร?

ท่านผู้มีเกียรติครับ

หากมองย้อนประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ หลายเหตุการณ์ รวมถึงวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เราได้ฉุกคิดถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์หรือวิกฤติที่เกิดขึ้น และทำให้เราได้หันมาทบทวนถึงวิถีการใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจ หรือการพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นบทเรียนในการวางแผนในระยะต่อไป

ก่อนจะกล่าวต่อไป ผมขอใช้เวลาสัก 2-3 นาที เพื่อเปิด Clip สั้นๆ ที่อาจช่วยทำให้พวกเราได้ฉุกคิดว่า พวกเราแสวงหาความเจริญเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจให้กับโลกนี้อย่างไร

Clip นี้เป็นตัวอย่างบางตอนของภาพยนตร์เรื่อง “The Big Short” ที่มาจากบทประพันธ์ของ Michael Lewis ที่เขียนจากเรื่องจริงในปี 2548 (ค.ศ.2005) ของชาย 4 คนที่เชื่อว่า มีฟองสบู่ในตลาดบ้านของสหรัฐฯ และคาดว่า ฟองสบู่นี้จะแตกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสื่อต่างๆ ยังมองไม่เห็น พวกเขาจึงพยายามหาทางทำกำไรจากสินทรัพย์ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก (ขาย Short หรือซื้อ Credit Default Swap) ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้กำไรมหาศาลจากราคาสินทรัพย์ที่จะตกลงในอนาคต และก็เป็นอย่างที่พวกเขาคาดอีก 2 ปีต่อมาฟองสบู่ในตลาดบ้านของสหรัฐฯ แตก ตามด้วยปัญหาสินเชื่อตึงตัว ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างจนเป็นเหตุสำคัญนำไปสู่วิกฤติการเงินโลก

ผมไม่แน่ใจว่า คุณจะมีความรู้สึกอย่างไร เมื่อได้ชมภาพยนตร์ดังกล่าว? แต่สิ่งที่ประธานาธิบดีโอบามากล่าวกับประชาชนสหรัฐฯ ในปี 2551 (ค.ศ.2008) คือ

“Parts of the reason this crisis occurred is that everyone was living beyond their means – from Wall Street to Washington to even some on Main Street.

CEOs got greedy.

Politicians spent money they didn’t have.

Lenders tricked people into buying home they couldn’t afford and some folks knew they couldn’t afford them and bought them anyway.

We’ve lived through an era of easy money, in which we were allowed and even encouraged to spend without limits, to borrow instead of save

We’ll have to set priorities as never before, and stick to them. This also means promoting a new ethic of responsibility.

ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า

สาเหตุที่เกิดวิกฤติครั้งนี้ขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะทุกคนใช้จ่ายเงินเกินฐานะและความสามารถในการหารายได้จริง ผู้บริหารของบริษัทมีความโลภ นักการเมืองใช้จ่ายเงินทั้งที่รัฐบาลไม่ได้มีเงิน คนปล่อยกู้หลอกให้คนซื้อบ้าน ทั้งที่พวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าบ้านได้ และแย่ไปกว่านั้น คนซื้อบ้านบางคนรู้ตัวว่า ไม่สามารถจ่ายค่าบ้านได้แต่ก็ยังจะซื้อ ก่อนวิกฤติพวกเราอยู่ในยุคที่เงินทองเป็นของหาง่าย พวกเราถูกกระตุ้นให้ใช้จ่ายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด แทนที่จะเก็บออม

แต่ยุคนี้เราต้องวางแผนการใช้เงินโดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญของรายจ่าย และมีวินัยในการใช้จ่ายตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนใช้จ่ายเงินในกรอบที่ตนเองสามารถรับผิดชอบได้ การรักษาวินัยเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการส่งเสริมจริยธรรมใหม่ในเรื่อง “ความรับผิดชอบ”

บรรยากาศประชุม G772

ท่านผู้มีเกียรติครับ

กลับมาที่ประเทศไทยปี 2540 ถ้าย้อนกลับไปดูในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจไทยมีความเจริญรุ่งเรือง จนได้รับการยกย่องเป็น “ตัวอย่างของความสำเร็จ” ในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ทว่า “ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเปราะบาง” เพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้นตั้งอยู่บนยอดของ “บันไดเมฆ” เพียงไม่กี่เดือนที่เราถูกโจมตีจากนักเก็งกำไร เงินบาทอ่อนค่าจนต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว มีผลให้ไทยก้าวสู่วิกฤติทางการเงินซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ธนาคารและสถาบันการเงินหลายสิบแห่งถูกปิด บริษัทหลายร้อยแห่งเผชิญกับภาวะล้มละลาย ประชาชนและชุมชนต่างๆ ได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า โดยเฉพาะในยุคนั้นเราแทบไม่มีกลไกทางสังคมที่ช่วยปกป้องหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนนัก

ภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2540 เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อมอบแนวทางแก้ปัญหาให้กับประเทศ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“…การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตนเองได้ให้มีพอเพียงกับตนเอง …”

“…การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่นไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์…”

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระราชดำรัสเตือนพวกเรามาก่อนหน้านี้หลายครั้ง แต่พวกเรากลับไม่เข้าใจ จนกระทั่งปี 2540 พวกเราถึงเข้าใจในพระราชดำรัสเตือนของท่านอย่างลึกซึ้ง พระราชดำรัสของท่านเสมือน “เสียงระฆัง” ที่ปลุกสติคนไทยให้ตื่นขึ้น และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้เข้ามาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอย่างจริงจัง จนทำให้เกิดการปรับกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นก้าวสำคัญของการแสวงหาแนวทางการสร้างความเจริญเติบโตอย่างสมดุลให้กับประเทศ

2. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคของไทยอย่างไร?

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ตั้งแต่ปี 2540 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศ และถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ วันนี้ผมขอกล่าวถึงการประยุกต์ใช้หลักปรัชญานี้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของไทย ภายใต้กรอบของหลักปรัชญานี้ที่ท่านอาจทราบกันอยู่แล้ว 3 ส่วนหลัก ได้แก่

(1) ความพอประมาณ (Moderation)
(2) ความมีเหตุมีผล (Reasonableness)
(3) ความมีภูมิคุ้มกันในตน (Prudence)

ซึ่งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของไทยให้ความสำคัญใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่

ส่วนแรก การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจจริง (Strengthening Resilience of Domestic Real Sectors) ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คนไทยใช้เงินเกินกว่าฐานะและศักยภาพที่จะหาได้จริง มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็นเกินกว่าที่ควร และมองโลกแง่ดีด้านเดียวจนขาดสมดุล บริษัทหลายแห่งลงทุนมากเกินตัวและก่อหนี้ต่างประเทศมาก

แต่โชคดีที่พวกเราเจ็บแล้วจำ

หลังวิกฤติ ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินปฏิรูปและปรับตัวเองอย่างมาก เพื่อให้ฐานะการเงินกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง กล่าวคือ ข้อมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยลดลงจากร้อยละ 43 ในปี 2540 เหลือประมาณร้อยละ 2 ในปี 2558 และสัดส่วนหนี้ต่อทุนของภาคธุรกิจลดลงจาก 5.1 เท่า ในปี 2540 เป็น 1.3 เท่า ในปี 2558

สิ่งที่ผมอยากจะเน้นคือ

(1) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องประหยัดรัดเข็มขัดอยู่ตลอดเวลา แต่ที่จริงแล้วคุณสามารถซื้อสินค้าที่คุณชอบได้ตราบใดที่คุณมีรายได้สุทธิมากพอ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราต้องมีความพอประมาณไม่ใช้จ่ายเงินเกินกว่าฐานะที่แท้จริง

(2) แม้ว่าหลักปรัชญานี้จะมีต้นกำเนิดจากภาคเกษตร และภาคชนบท แต่หลักปรัชญานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับภาคเศรษฐกิจอื่น อาทิ ภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ การค้าระหว่างประเทศ

ประสารG77_2

ส่วนที่สอง การพัฒนาระบบการเงินเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial System Development for Sustainable Growth) ประเทศไทยมีเส้นทางการพัฒนาระบบการเงินที่ยาวนาน และมีความคืบหน้าในการพัฒนาที่สำคัญใน 5 มิติ คือ ประสิทธิภาพ (Efficiency) ธรรมาภิบาล (Governance) การกระจายตัว (Diversification) การเข้าถึง (Access) และการเชื่อมโยง (Connectivity)

ขอขยายความในเรื่องการเชื่อมโยง ผมคิดว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการปิดประเทศจากเวทีโลก เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกในปัจจุบัน ระบบต่างๆ มีการเชื่อมโยงและรวมตัวกันมาก เราควรจะมองหาโอกาสและใช้ประโยชน์จากพัฒนาการนี้ ซึ่งที่ผ่านมา เราเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินของโลก เพราะรู้ว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าต้นทุนที่อาจจะเกิดขึ้น

แน่นอนว่า โลกาภิวัฒน์ (Globalization) เป็นความจริงของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และไม่มีประโยชน์ที่จะไปฝืน หรือทวนกระแส

ส่วนที่สาม การสร้าง “สถาบัน” ที่แข็งแกร่งขึ้น (Building up Strong Institutions)บทเรียนอันเจ็บปวดอีกอันที่เราได้เรียนรู้จากวิกฤติคือ เราเปิดเสรีระบบการเงินทั้งที่ประเทศยังไม่มีความพร้อม กล่าวคือ “เราเปิดเสรีระบบการเงินโดยไม่มีการเตรียมเครื่องมือที่จะดูแลระบบการเงินเพียงพอ และไม่มีกรอบนโยบายที่เหมาะสม”

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ความล้มเหลวนี้ทำให้ผมนึกถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสไว้ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน … เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป…”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีความพยายามอย่างมากในการทุ่มเทเพื่อพัฒนาและวางรากฐานระบบ “สถาบัน” ให้แข็งแกร่งเพื่อให้ระบบการเงินมีความเข้มแข็งสามารถรองรับต่อแรงกระแทกหรือแรงเสียดทานจาก Shocks ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่สำคัญคือ การนำกรอบนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) มาใช้ในปี 2543 ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นและทำให้ประชาชนมั่นใจว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางมีกระบวนการพิจารณาและตัดสินใจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

นอกจากนี้ ในปี 2551 มีการแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเพิ่ม “ความเป็นอิสระ” ในการดำเนินนโยบายควบคู่กับการปรับปรุงให้มีระบบ “ตรวจสอบและกลไกถ่วงดุล” ที่เหมาะสม และ ธปท.ได้พยายามปรับปรุงการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้ได้มาตรฐาน มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้มีส่วนได้เสียว่า การดำเนินงานของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ เป็นไปอย่างมีเหตุมีผล และรอบคอบ

และเมื่อเร็วๆ นี้มีการโอนงานกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เพื่อให้ทุกสถาบันการเงินอยู่ภายใต้มาตรฐานการกำกับดูแลที่สอดคล้องกัน

ส่วนที่สี่ การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ความเท่าเทียม และความยั่งยืน (Pursuing Growth with Macro-stability, Equity and Sustainability)

ท่านผู้มีเกียรติครับ

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาช่วยยกระดับประเทศไทย จากประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคจนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง นับเป็นผลการพัฒนาที่น่าพึงพอใจหากมองในมุมนี้ กล่าวคือ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวประมาณ 14 เท่า ความยากจนลดลงอย่างมาก และมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนไทยในภาพรวมดีขึ้นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี การพัฒนาก็ใช่ว่าจะไม่มีต้นทุนเลย

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (The World Wildlife Fund) ประมาณการว่า ระหว่างปี 2516 ถึงปี 2552 ป่าไม้ของไทยลดลงถึงร้อยละ 43 ขณะเดียวกัน ปี 2556 Credit Suisse จัดอันดับให้ไทยอยู่อันดับ 6 ของประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันมากที่สุด ซึ่งประเมินว่า คนรวยสูงสุด 10% แรกของประเทศถือสินทรัพย์มากถึงร้อยละ 75 นี่ไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงพอใจ

ที่สำคัญ จากประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นอยู่บ่อยๆ ว่า เมื่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมแตกต่างกันมาก โอกาสที่คนในสังคมจะแตกความสามัคคีก็จะมีมากขึ้น และนี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ไขและให้ความสำคัญ

ก่อนจะจบส่วนนี้ ผมขอเน้นว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้คัดค้านแนวคิดการสร้างความเจริญเติบโต แต่ก็ไม่ได้มุ่งสนับสนุนการพัฒนาที่เน้นแต่การเติบโตมากๆ โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ มีความเท่าเทียม และมีความยั่งยืน คือปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อความก้าวหน้าของประเทศไทยในระยะยาว

ประสารG77_10

3. เราสามารถนำหลักปรัชญานี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจในยุคที่โลกไม่เหมือนเดิมได้อย่างไร?

ท่านผู้มีเกียรติครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้รับเชิญไปปาฐกถาในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ หัวข้องานคือ “ธุรกิจไทยในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม” ซึ่งผู้จัดได้เชิญ CEOs ของบริษัทคนไทย 4 ท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย

ผมได้เรียนรู้อะไรจากพวกเขา?

CEO ท่านแรก : สหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองกับประเทศไทยเพราะเราไม่มีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายได้ทันท่วงที จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารทะเลของไทยและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง แม้ผู้ประกอบการจะพยายามปรับปรุงตามข้อเรียกร้องอย่างดีที่สุด แต่ผู้บริโภคก็ไม่สามารถแยกความแตกต่างในวิธีปฏิบัติ หรือกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการเพราะผู้ประกอบการและผู้บริโภคอยู่ห่างกันเป็นครึ่งโลก

เรื่องนี้บอกอะไรกับเราหรือมีนัยอย่างไร?

ทุกวันนี้การทำธุรกิจซับซ้อนมากขึ้น ในอดีต CEOs มีหน้าที่เพิ่มกำไรให้เป็นที่พอใจของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ในโลกยุคที่ไม่เหมือนเดิม CEOs จำเป็นต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ผู้บริโภค ชุมชน ประชาชนของประเทศอื่น พูดง่ายๆ คือ ต้องคิดถึง ผู้ที่เกี่ยวข้อง “ทุกคน”

CEO ท่านที่สอง : ในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและอาศัยความเร็วในการช่วงชิงความได้เปรียบ ขณะเดียวกัน ก็มี “ความคิด” มากมายผุดขึ้นมาเพื่อจะรักษาความสามารถในการแข่งขัน แต่สิ่งที่สำคัญกว่า “ความคิด” คือ การผลักดันให้สิ่งที่คิดสำเร็จได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

CEO ท่านที่สาม : ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การที่ศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจะย้ายมาอยู่ที่เอเชีย และความตื่นตัวเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนโลกในอนาคต หมายความว่า CEO จะต้องพร้อม “ปรับตัวตลอดเวลา” (Dynamic) และ “มีวิสัยทัศน์กว้างไกล” (Forward-looking)

CEO ท่านที่สี่ : “ภาวะผู้นำ” เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในโลกที่ไม่หยุดนิ่ง และสิ่งที่ต้องยอมรับคือ “การเปลี่ยนแปลง” ไม่ได้เป็น “ทางเลือก” แต่เป็น “ความจริงของชีวิต”

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เมื่อพิจารณาสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก CEOs ทั้ง 4 ท่าน จะเห็นว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการปรับตัวของภาคธุรกิจในโลกยุคที่ไม่เหมือนเดิม เพราะจุดแข็งของหลักปรัชญานี้คือ การให้ความสำคัญกับ “องค์รวม” ของสิ่งต่างๆ ในลักษณะบูรณาการ (Holistic Approach)

ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น?

ด้านความครอบคลุม : หลักปรัชญานี้ไม่เพียงครอบคลุมประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในทุกระดับของสังคมด้วย

ด้านมิติเวลา : หลักปรัชญานี้ให้ความสำคัญกับธรรมชาติของสรรพสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติธรรมดาและการมองไปข้างหน้าถึงอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ด้านทรัพยากรมนุษย์ : หลักปรัชญานี้ให้ความสำคัญกับ “ทรัพยากรมนุษย์” และ “ทัศนคติ” (Mindset) กล่าวคือ นอกจากองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และความมีภูมิคุ้มกันในตน ที่กล่าวมาแล้ว “Mindset” ที่หลักปรัชญานี้ให้คุณค่าคือ การมีความรู้ คุณธรรม ความเพียร ความซื่อสัตย์ การมีสติ ซึ่ง Mindset เหล่านี้เป็นองค์ประกอบของธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมี “สติ” (Mindfulness) คือคุณสมบัติที่จำเป็นของผู้นำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้นำสามารถคิดอย่างสร้างสรร ตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและแก้ไขปัญหาได้ถูกทิศทางแม้อยู่ภายใต้ความกดดัน

ท่านผู้มีเกียรติครับ

หัวใจของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ แนวคิด “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งอยู่ในความสนใจของธุรกิจทั่วโลก ในปัจจุบันผู้บริหารในภาคธุรกิจไม่สามารถคำนึงถึงเฉพาะผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น แต่ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในสังคม รวมทั้งสามารถที่จะคืนกำไรสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า แนวคิดนี้เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถครองใจผู้บริโภคหรือประชาชนในวงกว้างได้

ผมขอกล่าวถึงสิ่งที่ Niall FitzGerald อดีต CEO ของบริษัทยูนิลีเวอร์เคยกล่าวไว้:

“Corporate Social Responsibility (CSR) is a hard-edged business decision. Not because it is a nice thing to do or because people are forcing us to do it,
but because it is good for our business”

ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า

“ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นนโยบายทางธุรกิจที่สำคัญ เพราะการทำ CSR ไม่ใช่เพราะอยากเท่ หรือเพราะถูกบังคับ แต่เพราะการทำ CSR เป็นสิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจของเรา”

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างอื่นที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มของโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ เช่น Dow Jones Sustainable Index (DJSI) ซึ่งจัดอันดับบริษัทชั้นนำของโลกที่นำแนวคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” มาใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ดี หรือในไทย บริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG ที่มีประวัติยาวนานในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการ และในช่วง 5 ปีผ่านมา (ปี 2554-2558) DJSI จัดอันดับให้ SCG เป็นที่ 1 ของโลกในสาขาอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง

ท่านผู้มีเกียรติครับ

หากจะกล่าวว่า ที่ผ่านมาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถูกปรับใช้โดยไม่ถูกวิจารณ์

ก็อาจจะเป็นการกล่าวเกินจริง ผมคิดว่า ความท้าทายคือ จะนำหลักปรัชญานี้มาใช้อย่างไรให้เกิดประสิทธิผล และจะสามารถสื่อสารรวมทั้งอธิบายหลักปรัชญานี้ให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้อย่างไร โดยเฉพาะแนวคิดที่สำคัญเช่นเรื่อง “ทางสายกลาง” ทางสายกลางนัยคือ ไม่น้อยเกินไป (Too little) ไม่มากเกินไป (Too much) หรือไม่สุดโต่งเกินไป (Too extreme) นักวิจารณ์มักจะถามว่า “ตรงกลาง” ที่เราพูดถึงอยู่ตรงไหน

ผมขอให้ทุกท่านลองนึกภาพการขับรถ เรารู้ว่า หากความเร็วเกินระดับหนึ่งเราจะไม่สามารถควบคุมรถได้ เราจึงไม่ขับรถเกินความเร็วที่กำหนด ในขณะเดียวกัน เรารู้ว่า ถ้าเราขับรถช้าเกินไป รถของเราก็อาจถูกชนท้าย และอาจทำให้รถที่ตามหลังอื่นๆ ชนกันเป็นลูกโซ่ ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศจึงมีการจำกัดทั้งความเร็วสูงสุดและต่ำสุด

สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ เราเลือกขับที่ความเร็วระดับปานกลางไม่เร็วหรือไม่ช้าเกินไป เพราะเรารู้ว่า อาจเป็นอันตรายได้ถ้าเราเหยียบหรือถอนคันเร่งมากเกินไป

ประสารG77_8

ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมขอสรุปสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดในวันนี้

ที่ผ่านมา โดยทั่วไปยังมีความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคลาดเคลื่อนว่า ประยุกต์ใช้ได้เฉพาะในภาคเกษตร หรือในชนบทเท่านั้น แต่สิ่งที่ผมกล่าวในวันนี้พยายามแสดงให้เห็นว่า หลักปรัชญานี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการจัดการเศรษฐกิจมหภาค และภาคธุรกิจ

ในการจัดการเศรษฐกิจมหภาค หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้คัดค้านในการสร้างความเจริญเติบโต ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการปิดตัวจากเวทีโลก แต่เพื่อช่วยให้ประเทศเติบโตได้ในระยะยาว ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องคำนึงถึงการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ความเท่าเทียมกัน และความยั่งยืน

ในการดำเนินธุรกิจ หลักปรัชญานี้ไม่ได้คัดค้านเรื่องการแข่งขัน หรือสนับสนุนให้ลดการลงทุน (Divestment) แต่เพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาว CEO จำเป็นต้องคิดเรื่องการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง

สุดท้ายนี้ ขอจบปาฐกถานี้ด้วยการปรับคำพูดของ Niall FitzGerald อีกครั้ง

Applying the SEP to macro-economic management and business practices is a hard-edged decision.
Not because it is a nice thing to do, or people are forcing us to do.
But it is good for our country and good for our business.

ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า

“การประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคและการดำเนินธุรกิจเป็นนโยบายสำคัญ เพราะการนำหลักปรัชญานี้มาใช้ไม่ใช่เพราะจะทำให้ดูเท่ หรือเป็นสิ่งที่ถูกบังคับให้ทำ แต่เพราะการดำเนินงานตามหลักปรัชญานี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศและธุรกิจของเรา”

ขอบคุณมากครับ