ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อ “โลกดิจิทัล” กำลังเป็นเรื่อง “ธรรมดา” – คาดปี ’59 ตลาดช้อปออนไลน์ไทย 2.4 แสนล้าน อานิสงส์ “Mobile Commerce”

เมื่อ “โลกดิจิทัล” กำลังเป็นเรื่อง “ธรรมดา” – คาดปี ’59 ตลาดช้อปออนไลน์ไทย 2.4 แสนล้าน อานิสงส์ “Mobile Commerce”

3 มิถุนายน 2016


นางนพวรรณ เจิมหรรษา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
นางนพวรรณ เจิมหรรษา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 นางนพวรรณ เจิมหรรษา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าตลาดการซื้อของออนไลน์ของไทยในปี 2559 จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 20% จาก 200,000 ล้านบาทเป็น 240,000 ล้านบาท โดยได้อานิสงส์จากการเติบโตของสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โครงข่าย 3 จี และ 4 จี ทำให้เกิดการพัฒนาช่องทางการชำระเงินและช่องทางการรับส่งสินค้าที่สะดวกมากขึ้น เรียกว่าเป็น “Mobile Commerce” ต่างจากสมัยก่อนหน้านี้ที่โทรศัพท์มือถืออาจจะมีราคาแพงและเข้าถึงยากกว่าปัจจุบัน

อีกด้านหนึ่ง กลุ่มธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ อาทิ กลุ่มเทสโก้โลตัส บิ๊กซี ทรู ฯลฯ ได้ก้าวเข้ามาทำธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์ และโครงการ National e-payment ของรัฐบาลจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมการเงินแบบดิจิทัลที่ลดการใช้เงินสด

“โลกในปัจจุบันคิดว่าทุกคนน่าจะเคยลองซื้อของออนไลน์กันบ้าง เรียกว่ามันเป็นเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ช่วงหลังเรากลับเห็นว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างธรรมดาแล้ว มีการสำรวจก็เห็นว่าเกินครึ่งจะต้องเคยลองซื้อของทางออนไลน์สักครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบอะไร แม้แต่คนอายุเยอะที่เราคิดว่าจะใช้เงินสดเป็นหลัก แต่จากข้อมูลของกสิกรเราเห็นชัดเลยว่ามีการใช้จ่ายตั้งแต่คนอายุ 20-60 กว่า แล้วคนอายุเยอะใช้จ่ายมากกว่าคนรุ่นใหม่เสียอีก ที่ประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อครั้ง แต่อาจจะซื้อไม่ค่อยบ่อย ขณะที่คนรุ่นใหม่ อายุ 25-30 คน จะใช้ที่ 3,000-4,000 บาทต่อเดือนและถี่กว่า เป็นพวกแอปพลิเคชัน สติ๊กเกอร์ต่างๆ” นางนพวรรณกล่าว

เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่า การใช้จ่ายออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตกสิกรไทยในปี 2558 มีมูลค่า 27,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2557 ประมาณ 22% มีมูลค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบัตรต่อเดือน 9,600 บาท ซึ่งหมวดหลักที่นิยมใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตกสิกรไทย ได้แก่ สายการบิน องค์กรภาครัฐ เช่น การจ่ายภาษี การท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง และประกัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายมูลค่าการใช้จ่ายออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตกสิกรไทยในปีนี้ว่าจะเติบโตประมาณ 25% มีส่วนแบ่งตลาดเป็น 31% คิดเป็นมูลค่าราว 34,000 ล้านบาท

ส่วนบัตรเดบิตกสิกรไทยผ่านออนไลน์ มีการเติบโตในปี 2558 อย่างก้าวกระโดดกว่า 50% จากปี 2557 และเทียบกับปี 2557 ที่โตจากปี 2556 ได้ 20% และปี 2556 ที่เติบโตเพียง 10% จากปี 2555 ส่งผลให้มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตกสิกรไทยในปี 2558 คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นกว่า 40% จาก 70,000 คนต่อเดือน เป็น 100,000 คนต่อเดือน โดยหมวดหลักในการใช้จ่าย คือ การท่องเที่ยว การดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และการซื้อโฆษณาบนออนไลน์ ตามลำดับ

สุดท้าย ธุรกิจดิจิทัลแบงกิ้ง (โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต) ปัจจุบันกสิกรมีฐานลูกค้า 9 ล้านราย และมีมูลค่าธุรกรรมคิดเป็น 3.9 ล้านล้านบาทในปี 2558 โดยมีกลยุทธ์สำคัญคือ ออกฟีเจอร์การใช้งานใหม่ๆ ให้ลูกค้าปรับได้ตามความต้องการของแต่ละคน (Personalization) และสามารถทำธุรกรรมทางการเงินที่ต้องการบนสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว นอกจากนั้นได้ทยอยออกฟีเจอร์ใหม่รองรับการช้อปปิ้งออนไลน์ให้สะดวกมากขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนวงเงินโอนและวงเงินถอนต่อวันของบัตรเดบิตได้ด้วยตนเอง สามารถอายัดบัตรได้ทันทีกรณีบัตรหายหรือถูกขโมย และสามารถดูรายการเดินบัญชีย้อนหลัง เป็นต้น พร้อมกันนี้ ลูกค้าสามารถรับสิทธิ์ Reward PLUS ซึ่งจะมีสิทธิพิเศษในการรับส่วนลดและแลกซื้อสินค้ามากมายเมื่อทำธุรกรรมครบ 3 ครั้งต่อเดือน โดยคาดว่าในปีนี้จะสามารถเพิ่มฐานลูกค้าได้อีกราว 3.4 ล้านราย

“ตลาดออนไลน์ต้องบอกว่าของกสิกรไทยโตมา 20% มา 3-4 ปีติดต่อกันแล้ว แต่ที่น่าสนใจคือบัตร เพราะคนจะคิดว่าเป็นแค่บัตร ATM กดเงินเท่านั้น เราก็พยายามบอกว่ามันซื้อสินค้า มันรูดได้ มันก็โตขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก แต่ฐานของการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายรูปแบบอื่นๆ ก็ถือว่าไม่มาก เทียบกับเงินสดที่ยังหมุนเวียนอยู่ในระบบ อย่างปี 2557 กสิกรไทยมีบัตรเดบิต 10 ล้านใบ ใช้กันแค่ 2,400 ล้านบาท แต่แค่นี้ก็ถือว่าเยอะที่สุดในตลาดแล้ว พอปี 2558 มันกระโดดมา 50% ทันที” นางนพวรรณกล่าว

นอกจากนี้ กสิกรยังมีระบบการรับชำระเงินออนไลน์ หรือ K-Payment Gateway มีปริมาณธุรกรรมเฉลี่ย 80,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 11 ล้านรายการ และตั้งเป้าหมายเติบโตในปีนี้อีก 23% ทั้งนี้ ลูกค้าธุรกิจหันมาใช้บริการ K-Payment Gateway ของธนาคารมากขึ้น โดยธนาคารเน้นการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนระบบชำระเงินบนดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซให้มีช่องทางรับชำระเงินที่หลากหลาย สะดวกสบาย และมั่นใจได้ถึงประสิทธิภาพ

ขณะที่การเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech นางนพวรรณกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาถึงแม้จะเติบโตระดับ 2 หลักติดต่อกันมานาน แต่เม็ดเงินในตลาดของธุรกรรมดิจิทัลยังถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับระบบการเงิน ดังนั้น หาก FinTech เข้ามาจะช่วยเสริมสร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่ายังมีทางเลือกอื่นๆ อีก ซึ่งรวมไปถึงทางเลือกที่ธนาคารนำเสนอด้วยและจะช่วยให้เศรษฐกิจก้าวกระโดดเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ ต่างจากเดิมที่ยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป