ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > 3 โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเชีย

3 โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเชีย

10 มิถุนายน 2016


IMG_0747
นายสเตฟาโนส โฟทีโอ ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ “ความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเชีย”

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิมั่นพัฒนา มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และกลุ่มบริษัท ช.การช่าง จัดงานประชุมวิชาการ เรื่อง “ความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเชีย” เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปีซึ่งถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการมุ่งหาคำตอบร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายนี้ในบริบทของเอเชีย โดยเฉพาะเมื่อภูมิภาคนี้กำลังเผชิญหน้าจากปัญหาหลายด้าน ที่จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน

เช่นที่นายสเตฟาโนส โฟทีโอ ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ “ความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเชีย” ที่ระบุว่ากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ ด้วยภาคบริการที่มีสัดส่วนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสูงขึ้น ทว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ต้องควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มต้องไม่อยู่บนพื้นฐานของการสร้างผลผลิตที่ใช้ทรัพยากรมหาศาล เช่น น้ำมัน ป่าไม้ เหมืองแร่ ฯลฯ

“เราจำเป็นต้องใช้ทรัพยากร เรามีเหตุผลในการจะใช้ทรัพยากรไปได้อีก 20 ปีข้างหน้า แต่เราพบว่ามีความแตกต่างกันมากๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของประเทศในภูมิภาค ”

ที่ญี่ปุ่น ในมูลค่าจีดีพี 1 เหรียญสหรัฐ มีการใช้ทรัพยากรในการผลิตเพียง 0.5 กิโลกรัม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวัสดุชีวมวลและทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่เวียดนามใช้ทรัพยากรในการผลิต 9 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 18 เท่าของญี่ปุ่น ตัวเลขนี้ไม่ได้สะท้อนว่าเวียดนามมีประสิทธิภาพในการผลิตต่ำที่สุด ปัจจุบันยังมีอีกหลายประเทศที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรต่อจีดีพี บางประเทศสูงถึง 25-27 กิโลกรัม เฉพาะในภูมิภาคระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและประเทศที่มีประสิทธิภาพต่ำสุดมีความแตกต่างกันถึง 67 เท่า

“ในภูมิภาคของเรา เรายังสามารถเรียนรู้ในการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังปรับปรุงประสิทธิภาพได้อีก โดยที่ยังไม่ต้องคิดนวัตกรรมใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตด้วยซ้ำ”

สิ่งที่ท้าทายการพัฒนาของเอเชีย

ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาฯ ยังชี้ให้เห็นว่า 3 มิติที่กำลังท้าทายการพัฒนาของเอเชีย คือ 1. ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร 2. การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ และ 3. ความไม่เท่าเทียม ซึ่งทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน

ประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรที่เกินกว่าความสามารถในการฟื้นฟู การทดแทนการทำลาย ทั้งการขุดขึ้นมาใช้ รวมไปถึงการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหานี้อยู่ในสถานการณ์ที่เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ โดยหากประเมินภาพรวมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะพบว่า โดยรวมการแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ปัญหาการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติจะยิ่งท้าทายขึ้นในอนาคต จากการคาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้เราจะมีชนชั้นกลางมากถึง 1,000 ล้านคน ในภูมิภาคนี้เรามีคนรวย ชนชั้นกลาง และคนจน แต่ชนชั้นกลางเป็นคนที่ขับเคลื่อนการบริโภค นั่นหมายความว่า ถ้ามีชนชั้นกลางเพิ่มอีก 1,000 ล้านคน นั่นหมายถึงทรัพยากรธรรมชาติที่จะต้องหมดไป แนวคิดเรื่อง “การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” จึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริง

เป็นความจริงที่ประเทศกำลังพัฒนาสามารถลดความยากจน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าการเติบโตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เราเห็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับ 7% 10% หรือ 12% สำหรับประเทศไทยก็เคยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง โดยเฉพาะก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แต่กว่าที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ก็ใช้เวลา อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่าการเติบโตนี้ไม่ได้มีการแจกจ่ายอย่างเท่าเทียม ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นยังมีคนจำนวนน้อยที่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวไม่ได้เป็นแต่เพียงความเท่าเทียมด้านรายได้ แต่ยังหมายถึงโอกาสและการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ อีกด้วย

“ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นยังมีคนจำนวนน้อยที่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยจากตัวเลขพบว่า สำหรับประเทศในภูมิภาค ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างที่เพิ่มขึ้นยังไม่เห็นสัญญาณด้วยว่าจะดีขึ้นได้อย่างไร”

“สร้างการมีส่วนร่วม” ก้าวเดินสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

การจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ จากการประชุมเมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมานั้น ให้บทบาทรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบหลักและเป็นผู้นำ แต่รัฐบาลอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอและหากจะต้องการให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ ต้องให้ภาคเอกชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งอันนี้เป็นวิธีการวางแผนกระบวนการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นี่เป็นหนทางเดียวในการก้าวไปข้างหน้าและพิสูจน์แล้วว่าจำเป็นที่ต้องเสริมพลังความแข็งแกร่ง และเป็นสิ่งที่เราให้ได้ 3 มิติของการพัฒนา และทำให้สิ่งที่เริ่มต้นคุยกันมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วเป็นจริงได้

“เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเราคุยกันมาเมื่อ 30 ปีที่แล้วจนปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับแล้วว่า ความยั่งยืนไม่สามารถแยกจากสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเศรษฐกิจ คนเชื่อว่าเราจะต้องนำเศรษฐกิจมาก่อนและสิ่งที่พัฒนาคือการเจริญเติบโตระยะสั้น แต่ถ้าจะให้การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องบูรณาการสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าไปเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”

คือความจริง หรือแค่ความฝันสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs

ในการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายน เพื่อยอมรับร่วมกันของทิศทางใหม่ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ข้อซึ่งครอบคลุมมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สิ่งที่พูดกันมากที่สุดในการทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ คือการที่ SDGs ได้เข้าเป็นกระบวนการวางแผนขององค์การสหประชาชาติ สำหรับประเทศเอเชียแปซิฟิก ปัจจุบันหลายประเทศมีการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนพัฒนาประเทศ มีการตั้งคณะกรรมการในการประสานงาน มีประเทศที่เปลี่ยนแปลงทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว

จากการศึกษาของอังค์ถัด ประมาณการว่า การสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้นั้น สำหรับประเทศกำลังพัฒนา จะต้องใช้งบประมาณถึง 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอาจดูเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าจีดีพีของโลกที่มีมูลค่า 80.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบกับรายได้ประจำปี 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเพียงรายได้ของบริษัทใหญ่ของโลกเพียง 7 บริษัท ดังนั้น เงิน 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินที่สามารถจะทำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกสู่ความยั่งยืนได้ โดยต้องใช้สำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และให้ความสำคัญกับการจะใช้เงินอย่างไรมากกว่าการตั้งคำถามถึงงบประมาณว่าจะมาจากที่ไหน ในอีกด้านของการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและการตัดสินใจจากมุ่งสู่กำไรมาเป็นการมุ่งสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย

ความท้าทายใหญ่ที่สุดของประเทศกำลังพัฒนา คือ การบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมทางรายได้ โดยใช้ยุทธศาสตร์สร้างความแข็งแกร่งใน 3 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ยังได้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น การให้การสนับสนุนประเทศเล็กๆ ให้บูรณาการการพัฒนาในทุกมิติ ตลอดจนการติดตามและทบทวนเป้าหมายร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชียเพื่อวัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความยั่งยืน

“มักมีคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเพียงความใฝ่ฝัน ทำไม่ได้ และเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ การวิจารณ์แบบนี้ไม่เป็นธรรม เพราะ SDGs เป็นเพียงกรอบในการทำงานและไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จ ทุกประเทศต้องประเมินจาก 17 เป้าหมายตามกรอบและดูแนวคิดว่าจะนำมาใช้ได้อย่างไร เชื่อว่าจะทำให้ความใฝ่ฝันนี้บรรลุเป้าหมาย” ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาฯ กล่าวในที่สุด

ดิศนัดดา
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึง การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ลามียา
ลามียา มอร์เชด ผู้อำนวยการบริหารยูนุสเซ็นเตอร์ บังกลาเทศ (ขวา)และโมนิกา ซี (ซ้าย)ตัวแทนจากมูลนิธิพุทธเมตตา ฉือจี้ ประเทศไต้หวัน บนเวทีเสวนา

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง – กรามีน – ฉือจี้ 3 องค์กรต้นแบบ พัฒนาจากฐานราก

บนเวทีประชุมยังมีการแบ่งปันประสบการณ์ในงานพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรต้นแบบ 3 องค์กร จาก 3 ประเทศ ได้แก่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ จากประเทศไทย ธนาคารกรามีน จากบังกลาเทศ และมูลนิธิพุทธเมตตา ฉือจี้ จากไต้หวัน ทั้ง 3 องค์กรได้รับการยอมรับในระดับสากล จนสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกและแก้ปัญหาในชุมชนและสังคมในพื้นที่เป้าหมายขององค์กร แล้วยังเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จและสามารถพึ่งพาตนเองได้

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สามารถพัฒนาจนพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินบริจาค และสามารถแก้ปัญหาพื้นที่การทำงานดอยตุงที่เคยเป็นแหล่งขนยาเสพติด ป่าเสื่อมโทรม มาสู่การสร้างพื้นที่ป่า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จนกลายเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งแรกในประเทศเมื่อหลายสิบปีก่อน และขยายโมเดลความสำเร็จสู่หลายภูมิภาคทั่วโลก

ธนาคารกรามีน จากบังกลาเทศ เป็นธนาคารคนจนที่มีผู้หญิงยากจนเป็นเจ้าของ ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 8,845,771 คน มีสาขา 2,568 แห่ง จาก 81,392 หมู่บ้านในบังกลาเทศ ที่ไม่เพียงสามารถสร้างความเข้มแข็งด้านการรวมกลุ่มทางการเงิน แต่ยังสร้างโมเดลใหม่และมุมมองในการทำธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อสังคม “ธุรกิจเพื่อสังคม” (Social Business) และทำให้ มูฮัมหมัด ยูนุส เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

มูลนิธิพุทธเมตตา ฉือจี้ ประสบความสำเร็จจากการระดมทุนจากคนรวยไปช่วยเหลือคนจน อายุกว่า 50 ปี มีอาสาสมัครและทำงานอยู่ใน 54 ประเทศรวมถึงประเทศไทย โดยให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขใน 94 ประเทศ รวมถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น เอกวาดอร์ เซอร์เบีย ฯลฯ

บทสรุปจากเวทีพบว่า ปัจจัยความสำเร็จของทั้ง 3 องค์กรนั้นมาจากหลักคิด “การไม่คิดถึงตัวเอง” “การคิดและลงมือทำจากข้างล่าง” และ “เป็นการพัฒนาที่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

“ความสำเร็จของกรามีนมาจากการพัฒนาที่มาจากข้างล่าง ข้างล่างในที่นี้หมายถึงประชาชน เป็นความต้องการของประชาชน ไม่ได้มาจากใครสั่ง ไม่ได้มาจากข้างบน และนี่เป็นแก่นแกนที่กรามีนใช้ทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา” ลามียา มอร์เชด ผู้อำนวยการบริหารยูนุสเซ็นเตอร์ บังกลาเทศ กล่าวถึงวิธีคิดในการทำงานของธนาคารกรามีน ในหลายประเทศทุกคนคาดหวังให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตลอดเวลา แต่การทำงานของ มูฮัมหมัด ยูนุส ทำให้คนตื่นตัวและรู้สึกว่านี่เป็นปัญหาของเขาและเขาต้องลงมือจัดการปัญหานั้นด้วยตัวเอง ในหลายกรณีศึกษาของยูนุสเซ็นเตอร์จะเห็นว่ามากกว่าการแก้ปัญหาพื้นฐาน แต่เป็นความพยายามในการเปลี่ยนวัฒนธรรมในการมองปัญหา เช่น การขายโยเกิร์ตราคาถูกเพื่อลดภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ที่แทนที่เราจะแจกโยเกิร์ต เราให้ผู้หญิงเชื่อและยอมจ่ายเงินเล็กน้อยเพื่อให้องค์กรยังอยู่และสามารถผลิตโยเกิร์ตราคาถูกได้ต่อไปและนั่นหมายถึงความช่วยเหลือที่จะขยายไปสู่คนอื่นด้วย

ด้าน ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นเรื่องความยั่งยืนมายาวนาน โดยทรงเน้นย้ำการมีส่วนร่วมมาเป็นเวลา 70 ปี มูลนิธิได้ใช้วิธีการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้โมเดล 3S ซึ่งดำเนินการเป็นลำดับ ได้แก่ 1. ความอยู่รอด (Survive) ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐานของการมีชีวิตรอด ในงานพัฒนาของดอยตุงเราให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้อง ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับปรุงทักษะและความสามารถทางด้านเกษตรกรรม ในการทำงานกับเกษตรกร 2. ความพอเพียง (Sufficiency) ในพื้นที่ที่ทำงาน ได้เข้าไปแก้ปัญหาช่วยชาวบ้านให้ออกจากการเป็นหนี้นอกระบบ สามารถพึ่งพาตัวเองได้และมีเงินมากพอ ในการขับเคลื่อนระดับนี้เราสร้างธุรกิจโดยให้เกิดการรวมกลุ่มผลิตอาหาร หัตถกรรม ท่องเที่ยว และพัฒนาจนทำให้เกิดแบรนด์ดอยตุง ซึ่งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) แห่งแรกของไทย 3. ความยั่งยืน (Sustainability) การบริหารดอยตุงจนเป็นองค์กรที่มีความอิสระและมีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้โดยที่ปัจจัยภายนอกไม่สามารถมีผลกระทบได้ ปัจจุบัน นอกจากดอยตุงจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ ยังขยายไปทำงานกับพันธมิตรธุรกิจระดับโลกและขยายโมเดลความสำเร็จไปอีกหลายประเทศ

“ประเทศไทยเราแก้ปัญหานี้มา 70 ปี เราเรียนรู้ เราลองผิดลองถูก การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่เรื่องเฉพาะของโครงการใหญ่ๆ ไม่ได้เรื่องเฉพาะของรัฐ แต่เราก็ต้องยอมรับการพัฒนายั่งยืนในฐานะปัจเจกบุคคลด้วย เพราะโลกกำลังอยู่ในภาวะที่เปลี่ยนผ่าน ที่มุ่งไปสู่ปัญหาและความล้มเหลว เราอาจจะเป็นทั้งส่วนหนึ่งของปัญหาและเป็นส่วนหนึ่งของทางออก ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำ เพราะธรรมชาติจะไม่เอื้อให้เราอีกแล้ว แต่จะเอาลูกหลานของเราเป็นตัวประกันถ้าเราไม่ทำ” ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าว