ThaiPublica > Sustainability > Contributor > อุปสรรคของการปฏิรูปที่แท้จริง (6): มายาคติเกี่ยวกับซีเอสอาร์

อุปสรรคของการปฏิรูปที่แท้จริง (6): มายาคติเกี่ยวกับซีเอสอาร์

20 มิถุนายน 2016


สฤณี อาชวานันทกุล

ห้าตอนที่ผ่านมาตลอดสองเดือน ผู้เขียนยกตัวอย่าง “มายาคติ” หรือความเข้าใจผิดที่ยังแพร่หลายในระดับฐานคิด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะถ้าจะก้าวไปในทิศที่ยั่งยืนกว่าเดิม

ทุกวันนี้ “ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ” หรือชื่อย่อ “ซีเอสอาร์” ในประเทศพัฒนาแล้วกำลังเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ช้าบ้างเร็วบ้างแล้วแต่ความตื่นตัวของสังคมแต่ละประเทศ นั่นคือ จากที่ซีเอสอาร์เคยถูกมองว่าเป็นกิจกรรมที่ “ทำก็ดี ไม่ทำก็ไม่เป็นไร” ซึ่งแยกขาดจากการทำธุรกิจหลัก กลายเป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” ในศตวรรษที่ 21 และต้องบูรณาการเข้ากับทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน - Sustainable Development Goals
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน – Sustainable Development Goals

เพราะสังคมสมัยใหม่หลายประเทศมองเห็นผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการทำธุรกิจอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เกิดจากตัวเอง และเกิดจากความไม่เอาไหนของภาครัฐ

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจไปสู่ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” ที่สอดคล้องกับแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (ซึ่งนิยามกว้างๆ คือ การพัฒนาที่ไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองต่อความต้องการของตัวเอง) จึงกลายเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ของธุรกิจ

พูดอีกอย่างคือ แนวคิด “ธุรกิจที่ยั่งยืน” ช่วยสร้างกรอบ “ทิศทาง” ที่ควรเดิน ให้กับการแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ของธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ความเข้าใจเรื่อง “ซีเอสอาร์” และ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” ในไทยยังคลาดเคลื่อนอยู่มาก ทั้งในภาคธุรกิจโดยรวม และภาคส่วนอื่นๆ นอกโลกธุรกิจ

ในภาคธุรกิจ บริษัทจำนวนมากยังเข้าใจผิดว่า ลำพังการได้รางวัลต่างๆ ในประเทศที่เกี่ยวกับซีเอสอาร์ และการจัดทำ “รายงานความยั่งยืน” ตามมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลสากล ก็เพียงพอแล้วที่จะใช้เป็น “ข้อพิสูจน์” ว่าตัวเองกำลังเดินอยู่บนเส้นทางสู่ “ธุรกิจที่ยั่งยืน”

บริษัทไทยที่ติดดัชนีความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Index ประจำปี 2557 ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000108736
บริษัทไทยที่ติดดัชนีความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Index ประจำปี 2557 ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000108736

โดยหารู้ไม่ว่า รางวัลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเพียง “กุศโลบาย” กระตุ้นให้บริษัทตื่นตัว ฉุกให้ครุ่นคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงวิถีธุรกิจอย่างจริงจัง มิใช่ตราประทับรับรองว่าบริษัทนั้นๆ “ยั่งยืนแล้ว” แต่อย่างใด

ข้อพิสูจน์ว่ากำลังออกเดินบนถนนสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง อยู่ในการเปลี่ยนวิถีธุรกิจไปในทางที่ยั่งยืนกว่าเดิม ซึ่งก็ต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ผ่านมานั้น “ไม่ยั่งยืน” อย่างไร มีส่วนสร้างปัญหาอะไร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่างๆ คาดหวังอะไรจากบริษัท

ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรม เพราะแต่ละอุตสาหกรรมย่อมสร้างผลกระทบไม่เท่ากัน

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมันที่ต้องการพิสูจน์ว่ากำลังเดินบนถนนสู่ความยั่งยืน จะต้องประกาศแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีเป้าหมายชัดเจนเป็นรูปธรรม และเพิ่มการลงทุนหรือสนับสนุนพลังงานสะอาด ในระดับที่ไม่น้อยกว่าพันธะของรัฐบาลซึ่งประกาศต่อประชาคมโลก

บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่เปิดเผยความเสี่ยงจากการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันแบบ fracking ที่มาภาพ: http://disclosingthefacts.org/
บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่เปิดเผยความเสี่ยงจากการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันแบบ fracking ที่มาภาพ: http://disclosingthefacts.org/

บริษัทอาหารที่ต้องการพิสูจน์ว่ากำลังเดินบนถนนสู่ความยั่งยืน จะต้องประกาศแผนการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนที่มีเป้าหมายชัดเจน วางขั้นตอนตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบไม่ได้มาจากการทำลายป่าสงวน การจับปลาเกินขนาด และมีมาตรการช่วยเหลือคู่ค้าและเกษตรกรให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนไปพร้อมกันกับบริษัท

ตัวอย่างการสื่อสารเรื่องความสำคัญและการดำเนินงานด้านการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ของอาหารทะเลของบริษัท Target ที่มาภาพ: http://www.sustainablebrands.com/news_and_views/articles/target-commits-100-sustainable-seafood-2015-infographic
ตัวอย่างการสื่อสารเรื่องความสำคัญและการดำเนินงานด้านการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ของอาหารทะเลของบริษัท Target ที่มาภาพ: http://www.sustainablebrands.com/news_and_views/articles/target-commits-100-sustainable-seafood-2015-infographic

สถาบันการเงินที่ต้องการพิสูจน์ว่ากำลังเดินบนถนนสู่ความยั่งยืน ก็จะต้องบูรณาการประเด็นผลกระทบด้านธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม เข้าไปในกระบวนการประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ก่อนการอนุมัติสินเชื่อธุรกิจ คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้มาตรฐานสากล และหาวิธีสอดแทรกความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) เข้าไปในการส่งมอบบริการทางการเงิน ไม่ใช่จัดกิจกรรมให้ความรู้เป็น “กิจกรรมซีเอสอาร์” นอกสาขา ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ล่อหลอกให้ลูกค้าเป็นหนี้มากเกินควร หรือซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่อยากได้ต่อไป

ถึงแม้ว่าซีเอสอาร์ในเนื้อแท้จะต้องฝังเป็นเนื้อเดียวกันกับการดำเนินธุรกิจ หรือที่กูรูบางท่านใช้คำว่า “CSR in-process” ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทุ่มงบประมาณประชาสัมพันธ์ของบริษัทหลายแห่งให้กับการทำ “กิจกรรมซีเอสอาร์” หรือ “CSR after-process” มีส่วนทำให้คนจำนวนมากยังเข้าใจผิดว่า “ซีเอสอาร์” มีความหมายเท่ากับกิจกรรมประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการกุศล หรือกิจกรรม “คืนกำไรสู่สังคม” เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการดำเนินธุรกิจหลัก

หลายคนพอเห็นบริษัททำกิจกรรมซีเอสอาร์มากๆ ก็แซ่ซ้องสรรเสริญว่าบริษัทนั้นเป็น “บริษัทที่ดี” โดยไม่เคยสำรวจตรวจตราหรือตั้งคำถามว่า การดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทมีความรับผิดชอบเพียงใด ยั่งยืนเพียงใด (กิจกรรมซีเอสอาร์นั้นหลายกิจกรรมก็สร้างประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ลำพังกิจกรรมซีเอสอาร์ไม่เพียงพอต่อการตัดสินว่าบริษัทนั้น “ดี” หรือไม่เพียงใด)

ผู้เขียนเห็นว่าความเข้าใจผิดหรือมายาคติเกี่ยวกับซีเอสอาร์เช่นนี้ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปภาคธุรกิจให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม สร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกว่าเดิม (กฎหมายแข่งขันทางการค้าปัจจุบันเป็นเพียง “เสือกระดาษ” เท่านั้น) ตลอดจนยกระดับกลไกคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานสากล

ที่เป็นอุปสรรคเพราะมันเบี่ยงเบนความสนใจของคน ออกจากประเด็นสำคัญข้างต้นที่จำเป็นต้องปฏิรูป ไปชื่นชมเพียงกิจกรรมซีเอสอาร์ฉาบฉวยเท่านั้น

มายาคติข้อนี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงกว่าเดิมในรัฐบาล คสช. เนื่องจากหลายนโยบายของรัฐบาลนี้ “ร่วมมือ” กับบริษัทใหญ่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะนโยบาย “ประชารัฐ”

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยตั้งคำถามในคอลัมน์นี้ว่า ประชาชนจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า “ประชารัฐ” จะไม่กลายเป็นเวทีที่รัฐเอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับเอกชนบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และในเมื่อธุรกิจเข้ามาสนิทชิดเชื้อกับรัฐอย่างเป็นทางการ เราจะคาดหวังได้อย่างไรว่า รัฐและเอกชนจะส่งเสริมสนับสนุนการปฏิรูปเพื่อแก้ “ปัญหาโครงสร้าง” ทั้งหลายที่ภาคธุรกิจมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง?

ผ่านไปสามเดือน วันนี้คำตอบเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ประชารัฐ” ดูจะกำลังกลายเป็นเวทีฉาบฉวยที่รัฐเพียงแต่เข้ามาช่วยบริษัททำกิจกรรมซีเอสอาร์ ทั้งที่ไม่ใช่ธุระอะไรของรัฐ (สุ่มเสี่ยงจะเกิด “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” แบบที่เราเคยเห็นในรัฐบาลก่อนๆ ด้วยซ้ำไป)

หรืออาจจะแย่กว่านั้นอีก คือ ขอให้บริษัทพะยี่ห้อ “ประชารัฐ” เวลาทำกิจกรรมซีเอสอาร์ หรือไม่ก็ให้หน่วยงานราชการออกเงินช่วยบริษัทที่กำลังทำธุรกิจของบริษัทเอง ในทางที่มิได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น หรือยั่งยืนกว่าเดิมแต่อย่างใด

ยกตัวอย่างเช่น ปลายเดือนพฤษภาคม 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จับมือสมาคมการค้าปัจจัยการผลิต 7 สมาคม ขายปุ๋ยและสารเคมีกำจัดวัชพืชในส่วนลดพิเศษให้กับเกษตรกร โดย “ในส่วนของรัฐบาลจะช่วยค่าส่งเสริมทางการตลาดให้กับเอกชน แม้ช่วงนี้ทุกบริษัทมีโปรโมชัน ลด แลก แจกแถม อยู่แล้ว แต่ให้มาทำโครงการร่วมกัน” (ข่าวฐานเศรษฐกิจ)

กระทรวงเกษตรฯ ลงนาม MOU “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร” ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php/th/news-ministry/2012-08-15-09-40-18/item/103570-103570
กระทรวงเกษตรฯ ลงนาม MOU “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร” ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php/th/news-ministry/2012-08-15-09-40-18/item/103570-103570

นอกจากมาตรการทำนองนี้จะไม่แตะปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตรเกินขนาดแต่อย่างใด ยังสุ่มเสี่ยงที่จะซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงกว่าเดิม เพราะสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรใช้สารเคมีมากขึ้น

“นกย่อมไม่เห็นฟ้า ปลาย่อมไม่เห็นน้ำ” ฉันใด นักธุรกิจก็มักจะมองไม่เห็นปัญหาที่ตนมีส่วนก่อฉันนั้น

ด้วยเหตุนี้ ยิ่งมายาคติเกี่ยวกับซีเอสอาร์ครอบงำสังคมไทยลึกลงเท่าไร ความเข้าใจและฉันทามติที่จำเป็นจะต้องเกิดเกี่ยวกับการปฏิรูปภาคธุรกิจไทย ก็จะยิ่งเลือนร่างห่างไกลออกไปเรื่อยๆ เท่านั้น.